การเขียนบทความและสารคดี


บทความ (น.) คือ ข้อเขียนซึ่งอาจจะเป็นรายงานหรือการแสดงความคิดเห็น ส่วน สารคดี ( น.) คือ เรื่องที่เรียบเรียงขึ้นจากความจริง ไม่ใช่จากจินตนาการ เช่น สารคดีท่องเที่ยว สารคดีชีวประวัติ.

ความหมายของบทความ

                บทความ  คือ  ความเรียงที่เขียนขึ้นโดยมุ่งเสนอความคิด ความรู้ที่เป็นข้อเท็จจริง มีหลักฐานปรากฏชัดเจน เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในขณะนั้น  อีกทั้งผู้เขียนยังได้แทรกข้อเสนอแนะเชิงวิจารณ์หรือสร้างสรรค์เอาไว้ด้วย  บทความเป็นงานเขียนที่ปรากฏคู่กับหนังสือพิมพ์  เพราะบทความเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์เป็นส่วนใหญ่  บทความเริ่มเป็นที่นิยมเขียนและอ่านกันในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  แต่ก็แพร่หลายอย่างรวดเร็ว  รูปแบบการเขียนบทความคล้ายกับเรียงความ  และถึงแม้เนื้อหาสาระของบทความส่วนใหญ่จะได้จากข่าวสด  แต่วิธีเขียนบทความก็ต่างจากวิธีเขียนข่าวอีกเช่นกัน  ผู้อ่านบทความนอกจากจะได้ความรู้ความคิดแล้วยังได้รับความเพลิดเพลินอีกด้วย

               สรุป  บทความคือความเรียงหรือร้อยแก้วประเภทหนึ่ง  ซึ่งผู้เขียนเสนอสาระที่เป็นข้อเท็จจริง  และความคิดเห็นของผู้เขียนอย่างมีเหตุผล  รวมทั้งเสนอแนวทางแก้ไข และ / หรือ ข้อคิดอย่างมีหลักการที่ดี  (คือต้องมีทั้งหมด 3 อย่าง ข้อเท็จจริง ความคิดเห็น แนวทางแก้ไข/ข้อคิด)  แต่ถ้าบทความสั้น และเขียนทุกวันเป็นประจำ อาจมีแต่ข้อคิด ไม่มีแนวทางแก้ไข

 

โครงสร้างของบทความ 

         ความนำ

         รายละเอียด

         สรุปประเด็น

        บทความและคอลัมน์ทั่วไป (บางทีอาจเรียกว่า บทวิเคราะห์  ถ้าเป็นการวิเคราะห์เจาะลึกในเรื่องต่าง ๆ  เช่น ข่าว) จะมีลักษณะเป็นพีระมิดหัวตั้ง

 

วัตถุประสงค์ของบทความ 

                วัตถุประสงค์ของการนำเสนอบทความและบทวิเคราะห์คือ

  1. แสดงทัศนะ
  2. เสนอแนวทางแก้ไข
  3. โต้แย้งแสดงเหตุผล ด้วยภาษาและลีลาน่าเชื่อถือ สุภาพแต่หนักแน่น ไม่แสดงอารมณ์

 

ลักษณะที่แตกต่างกันและเหมือนกันของบทความ เรียงความ และข่าว

  1. รูปแบบ  เรียงความและบทความมีรูปแบบในการเขียนเหมือนกัน คือ มีโครงเรื่องอัน

ประกอบด้วยส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป หรือคำลงท้าย  การตั้งชื่อหัวเรื่องอาจเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน  ส่วนข่าวเป็นการเสนอเรื่องรวมหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง สาระสำคัญของข่าวอยู่ที่ย่อหน้าแรกของการเขียนข่าว คือความนำ  ส่วนย่อหน้าต่อๆมา มีความสำคัญลดหลั่นกันลงมาตามลำดับ จนกระทั่งถึงย่อหน้าสุดท้ายอาจตัดทิ้งไปได้โดยไม่เสียความ ถ้าเนื้อที่กระดาษจำกัด

                2.    ความมุ่งหมาย  บทความเขียนขึ้นเพื่อเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วไปในขณะนั้น  ส่วนเรียงความเป็นการเขียนเพื่อมุ่งแสดงความรู้และความคิดเกี่ยวกับเรื่องที่เขียนเป็นสำคัญเท่านั้น  นอกจากนี้ เรียงความมักจะเขียนเพื่อเป็นการฝึกทักษะด้านการแสดงความคิด  ภาษา และการเรียบเรียงข้อมูล  และเพื่อส่งเข้าประกวดแข่งขันชิงรางวัล หรือการสอบ   แต่บทความส่วนใหญ่เป็นการเขียนที่เป็นวิชาชีพที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และนิตยสาร

                3.    เนื้อเรื่อง  หัวข้อเรื่องของบทความต้องทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ อยู่ในความสนใจของผู้อ่านขณะนั้น  เวลาผ่านไปเพียงสัปดาห์หนึ่งหรือมากกว่านั้นก็อาจล้าสมัยไปแล้ว  ส่วนเรียงความจะหยิบยกเอาเรื่องใด ๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมเขียนก็ได้  และหัวข้อเรื่องเดียวกันนี้ก็จะเขียนเมื่อใดก็ได้ ไม่ถือว่าล้าสมัย  ส่วนข่าวมีอายุอยู่เพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้น ถ้าเสนอข่าวช้าไปแม้วันเดียวก็ถือว่า “ตกข่าว” แล้ว

                4.    วิธีเขียน  วิธีเขียนเรียงความนั้นใครๆ ก็รู้จักวิธีการเขียนและสามารถเขียนได้  ส่วนมากเป็นการเขียนแบบเรียบๆไม่โลดโผน  แต่บทความจะต้องมีวิธีเขียนอันชวนให้อ่าน ให้ติดตามเนื้อเรื่อง  ส่วน การเขียนข่าวต้องตอบปัญหา 6 ข้อ คือ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร และทำไม  ต้องเสนอข่าวเท่าที่เกิดขึ้นจริง เขียนอย่างสั้นและตรงไปตรงมา ไม่มีข้อคิดเห็นของผู้เขียน ไม่มีแม้แต่ชื่อผู้เขียนข่าว และต้องเป็นข่าวสดจริง ๆ

       ภาษา  ภาษาในบทความ เรียงความ และข่าว จะต่างกันอยู่บ้าง  เรียงความจะใช้ภาษาทางการ

       บทความและสารคดีอาจใช้ภาษาทางการ กึ่งทางการ จนถึงสนทนาได้  ส่วนข่าวมีการใช้ภาษาที่แตกต่างกันไปตามสื่อ  ภาษาที่ใช้ในบทความและสารคดีจะต่างจากภาษาข่าว  แต่ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของบทความและสารคดีด้วย

 

ประเภทต่าง ๆ ของบทความและสารคดี

 

 

        สรุปโดยพิจารณาจากจุดประสงค์ของการนำเสนอประกอบ จะแบ่งได้เป็นแบบต่างๆ ต่อไปนี้

  1. เชิงวิชาการ
  2. เชิงวิเคราะห์วิจารณ์
  3. เชิงแสดงความคิดเห็น
  4. เชิงอธิบาย
  5. เชิงบอกเล่า 

        บทความและสารคดีในรูปแบบทางวารสารศาสตร์ หรือบทความในหน้าหนังสือพิมพ์ อันได้แก่ คอลัมน์ต่าง ๆ ซึ่งวิจารณ์ข่าว และ / หรือ แสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ หรือวิเคราะห์เจาะลึกในเรื่องต่าง ๆ  เป็นประจำ อาจแบ่งเป็นแนวต่างๆ  ดังต่อไปนี้

  1. แนวเล่าเรื่อง  (Narrative)
  2. แนววินิจสาร (Interpretative)  แยกออกมาจากแนวเล่าเรื่อง  ต้องตีความ  หาข้อมูล สัมภาษณ์  ฯลฯ  เล่าเรื่องหนัก ๆ ให้น่าสนใจ
  3. แนวสนองปุถุชนวิสัย (Human Interest)  เน้นความเจิดจ้าและภาพในจินตนาการของผู้อ่าน
  4. แนวสืบเสาะพิเศษ หรือเจาะลึก (scoop)
  5. แนววิเคราะห์วิจารณ์  ต่างจากแนวอื่นตรงที่เป็นภววิสัย (Objective) มากกว่า คือพยายามเป็นกลาง ไม่แสดงความคิดเห็นของผู้เขียนด้านเดียว แต่ภาษาไม่จำเป็นต้องเป็นทางการ

การแบ่งประเภทโดยใช้เกณฑ์นี้ต้องระวังเพราะกล่าวปนกันทั้งบทความและสารคดี

 

ลักษณะที่แตกต่างกันของบทความและสารคดี 

       บทความและสารคดีในวงการหนังสือพิมพ์ปนกัน  (คือไม่ใช่บันเทิงคดี)  ปกติจะเรียกว่าบทความเมื่อลงหนังสือพิมพ์  เรียกว่าสารคดีเมื่อลงนิตยสาร  แต่บทความและสารคดีมีข้อแตกต่างอย่างกว้าง ๆ คือ

       บทความ   มีจุดประสงค์ให้ความคิดเห็น แสดงความคิดเห็นส่วนตัว อาศัยประสบการณ์   มักเขียนเพื่อผู้อ่านทั่วไป จึงเป็นเรื่องพื้น ๆ ทั่ว ๆ ไป  เนื้อหาของความคิดเห็นไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ได้  ในที่นี้หมายถึงบทความทั่วไปในหนังสือพิมพ์  แต่ในความหมายกว้างจะมีบทความวิชาการซึ่งต้องพิสูจน์ได้

       สารคดี   มีจุดประสงค์ให้ความรู้  บอกความจริงที่เป็นอยู่  หรือความรู้ทางวิชาการ  หรือบอกให้

ทราบถึงข้อมูลที่เป็นความจริง โดยมีการอ้างอิง   สารคดีมักเขียนเพื่อผู้อ่านเฉพาะกลุ่ม

นักเขียนบทความโดยมากสังกัดหนังสือพิมพ์ แต่นักเขียนสารคดีอาจเป็นอิสระ 

 

วิธีเขียนบทความและสารคดีโดยทั่วไป 

          เนื่องจากบทความและสารคดีมีลักษณะและวิธีเขียนที่คล้ายคลึงกันบางส่วน ในที่นี้จะกล่าวถึงรวมกัน

  1. บีบจุดเด่น  (focus)  ของเรื่องให้แคบ  เมื่อเปรียบเทียบกับข่าว  ข่าวจะต้องตอบคำถาม  ใคร-   

ทำอะไร - ที่ไหน - เมื่อไร - อย่างไร - ทำไม   แต่บทความและสารคดีต้องเลือกตอบคำถามข้างต้นเพียงคำถามเดียว

2.    สร้างแก่น  (theme)

3.    สร้างลีลา  (style) เฉพาะตน

4.    สร้างเอกภาพ (unity)

5.    เชื่อมระหว่างย่อหน้า  (transitions)

6.    วิธีสรุป  (ending / conclusion)  จบได้หลายอย่าง  เช่น 

       6.1  จบด้วยเนื้อความย่อ หรือจุดสำคัญ (climax) ของเรื่อง 

       6.2  จบด้วย flashback  ย้อนหลัง  เช่น  ยกเอาประโยคนำ (lead) มาจบ (จะกล่าวต่อไป)

7.    รูปแบบของความนำมีหลายประเภท (จะกล่าวต่อไป)

 

การตั้งชื่อบทความและสารคดี

                ลักษณะชื่อเรื่องที่ดีโดยทั่วไป คือ เหมาะแก่กาลเทศะ  คมขำ  จำง่าย  คลุมเนื้อเรื่องได้ดีที่สุด

                วิธีตั้งชื่อ

  1. ตั้งชื่อตรงกับเนื้อเรื่อง  หรือจับประเด็นสำคัญ ตรงจุดมุ่งหมาย
  2. ใช้คำคล้องจอง  หรือมีสัมผัส  หรือเล่นคำ
  3. ใช้คำกริยาแสดงอาการน่าสนใจ  หรือใช้คำที่เร้าใจ  ชวนสะดุ้ง
  4. ใช้คำตรงข้ามมาคู่กัน หรือขัดกัน
  5. ใช้คำพังเพย  สุภาษิต  คำคม  คำขวัญ
  6. ตั้งชื่อเรื่องเป็นคำถาม
  7. ตั้งชื่อให้ผู้อ่านร่วมมือปฏิบัติตาม  หรือเข้าถึงผู้อ่านโดยตรง
  8. พรรณนาให้เห็นภาพ  (มักเป็นภาพสวยงาม)
  9. ใช้ชื่อคนเป็นชื่อเรื่อง

                สรุป  การตั้งชื่อเรื่องต้องการความสะดุดใจ (Striking lead)

 

วิธีขึ้นต้นและวิธีลงท้าย

รูปแบบของการขึ้นต้น หรือความนำ มีหลายประเภท

  1. ข่าว
  2. คำถาม
  3. ข้อความที่บอกเจตนาหรือจุดมุ่งหมาย
  4. สรุปใจความสำคัญของเนื้อเรื่อง
  5. ข้อความที่กระทบใจ หรือแปลกประหลาดโลดโผน
  6. เรื่องเล่า / ตำนาน / นิยาย  ฯลฯ
  7. สุภาษิต / คำพังเพย / บทประพันธ์ / คำกล่าว / อุปมาอุปไมย ฯลฯ
  8. ทักทายหรือปราศรัยกับผู้อ่าน
  9. พื้นความหลัง หรือเล่าเรื่องดั้งเดิม
  10. บทพรรณนา
  11. เกร็ดขำขัน
  12. ข้อความที่ตรงกันข้าม

ส่วนวิธีลงท้ายก็มีหลายประเภทเช่นกันคือ

  1. ตอบคำถาม (ที่ตั้งไว้)
  2. สรุปใจความสำคัญ
  3. เรียกร้องขอความร่วมมือ
  4. แสดงมติ  ความคิดเห็น  หรือความประสงค์ของผู้เขียน
  5. ใช้บทประพันธ์  สุภาษิต ฯลฯ  ลงท้าย
  6. เล่นคำ มีสัมผัสในข้อความ
  7. ใช้รูปประโยคที่สะดุดใจ (striking)

 

ลักษณะเฉพาะของบทความ 

                ลักษณะทั่วไปของบทความ (ไม่ใช่สารคดี) 

  1. ต้องเป็นเรื่องที่ผู้อ่านส่วนมากกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนั้น อาจเป็นปัญหาที่คนกำลังอยากรู้ว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไร หรือมีผลอย่างไร หรือเป็นเรื่องที่เข้ายุคเข้าสมัย

   2.  ต้องมีแก่นสาร มีสาระ อ่านแล้วได้ความรู้หรือความคิดเพิ่มเติม มิใช่เรื่องเลื่อนลอยไร้สาระ

   3. ต้องมีทัศนะ ข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะของผู้เขียนแทรกไว้ด้วย

   4. มีวิธีเขียนชวนให้อ่าน อ่านแล้วท้าทายความคิด พร้อมกันนั้นก็สนุกเพลิดเพลินจากความคิดในเชิงถกเถียงโต้แย้งนั้น

   5. เนื้อหาสาระและสำนวนภาษาเหมาะสำหรับผู้อ่านที่มีการศึกษาอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะผู้อ่านที่มีการศึกษาน้อยจะนิยมอ่านข่าวมากกว่าบทความ

ลักษณะเด่น

  1. เป็นความเรียงร้อยแก้วที่นำเสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะบนพื้นฐานของการโต้แย้งแสดงเหตุผล
  2. มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสาธารณชนในวงกว้าง และยังไม่มีข้อยุติที่จะยอมรับร่วมกัน
  3. ย่อยข้อมูลจำนวนมากมาเป็นแนวทางของการมองปัญหาอย่างชัดเจน สั้น กระชับ มีลักษณะที่ทำให้ผู้อ่านหาข้อสรุปได้

ลักษณะโดยย่อของบทความทั่วไปตามที่ควรจะเป็น

  1. น่าสนใจ
  2. ขนาดกะทัดรัด
  3. มีสาระ  มีแก่นสาร  สามารถพิสูจน์ได้
  4. ศึกษาเรื่องที่จะเขียนให้เข้าใจลึกซึ้ง  (โดยเฉพาะทางวิชาการ)

ในหนังสือพิมพ์ทั่ว ๆ ไป (ไม่ใช่นิตยสารหรือวารสาร)  บทความจะมีลักษณะดังนี้

  1. สั้นกว่าสารคดี
  2. ใช้ย่อหน้าสั้น ๆ  เพราะหน้าหนังสือพิมพ์มีที่จำกัด
  3. เขียนเพื่อผู้อ่านทั่วไป จึงเป็นเรื่องพื้น ๆ ทั่ว ๆ ไป  (แต่สารคดีเขียนเพื่อผู้อ่านเฉพาะกลุ่ม)
  4. อาจนำเรื่องเล็ก ๆ ที่คนมองข้ามมาแต่งเติมให้น่าอ่าน  ไม่ต้องอ้างอิงมาก
  5. เน้นที่ตัวเหตุการณ์
  6. นิยมคัดคำพูดหรือจดหมายของบุคคลอื่น หรือผู้ที่เป็นข่าวมาลงโดยไม่ตีความ
  7. มีการจัดระเบียบโครงเรื่องและภาษาไม่ค่อยเรียบร้อยสละสลวยเท่าสารคดี  เนื่องจากเวลาส่งต้นฉบับจำกัด

 

คุณสมบัติของบทความที่ดี

  1. มีข้อมูลน่าเชื่อถือ และรอบด้าน
  2. มีข้อคิดเห็นที่สมเหตุสมผล ผ่านการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ
  3. มีข้อเสนอแนะหรือข้อยุติที่เป็นไปได้

ระดับในการแสดงความคิดเห็นมี 3 ระดับ (บทความทั่วไปอาจมีไม่ครบ 3 ระดับก็ได้)

  1. ระดับอธิบายความ ได้แก่การเสนอข้อมูล
  2. ระดับวิพากษ์วิจารณ์
  3. ระดับเสนอแนวทางแก้ปัญหา

พลังของบทความและบทวิเคราะห์อยู่ที่

  1. ความคิดที่ชัดเจน
  2. ความรู้ที่น่าเชื่อถือ
  3. ภาษาที่เหมาะสมและมีน้ำหนัก

 

ข้อควรคำนึงเกี่ยวกับการใช้ภาษาในบทความ

       1. ภาษาประกอบด้วยคำ ซึ่งอาจมีความหมายนัยเดียวหรือหลายนัย และอาจดิ้นได้

       2. ภาษาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

       3. ภาษามีหลายระดับ

จึงต้องระวังภาษาให้มีคุณสมบัติดังนี้

  1. ความหมายถูกต้องตามที่คิด
  2. เข้าใจง่าย  อ่านหรือฟัง  เข้าใจสะดวก
  3. เหมาะสมแก่กาลเทศะ  ฐานะของบุคคล
  4. มีระเบียบแบบแผนถูกหลักภาษา (ต่างจากพาดหัวข่าว)
  5. มีพลังมีเสน่ห์ ให้ผลสมดังตั้งใจ

นอกจากนี้ยังต้องระวังดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงภาษาพูด  ถ้าเขียนในหนังสือพิมพ์
  2. ไม่ควรใช้อักษรย่อ
  3. หลีกเลี่ยงคำคะนอง (slang)  ศัพท์เฉพาะกลุ่ม (jargon)  และภาษาต่างประเทศ ถ้าทำได้
  4. ถ้าเป็นบทความเชิงวิจารณ์  ควรเสนอความคิดเห็นด้วยใจเป็นกลาง  ใช้ภาษาสุภาพ ไม่ประชดประชัน
  5. ลงท้ายด้วยภาษาที่กินใจให้แง่คิด ชวนคล้อยตาม

 

บทบรรณาธิการ (Editorial)

              คือเรียงความหรือบทความขนาดสั้นที่บรรณาธิการ (หรือผู้ใดผู้หนึ่งในกองบรรณาธิการ)  เขียนขึ้นเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์หรือสถานการณ์ ในนามของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น  สะท้อนให้เห็นทิศทางของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น 

              อยู่ในหนังสือพิมพ์รายวัน  เป็นคนละอย่างกับบทบรรณาธิการ (ซึ่งจะเรียกว่า จากบรรณาธิการ บรรณาธิการแถลง ฯลฯ)  ของนิตยสารหรือวารสาร  ซึ่งจะแจ้งเนื้อหาของหนังสือเป็นส่วนใหญ่  ไม่มีการแสดงความคิดเห็น

              บทบรรณาธิการมักมีชื่อเรื่องด้วย และมีเนื้อที่อยู่ประจำทุกฉบับ (อาจอยู่ในหน้า 2 หรือ 3 หรือ 4) โดยมักมีชื่อหนังสือพิมพ์ และฉบับที่ วันที่ กำกับอยู่ข้างบน

จุดมุ่งหมายของบทบรรณาธิการ

  1. รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นที่สนใจ
  2. แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ที่เป็นข่าว
  3. อธิบายเหตุการณ์ / สถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเป็นที่กล่าวขวัญ
  4. ชี้ข้อบกพร่องของหน่วยงานต่าง ๆ และกระตุ้นให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน
  5. เสนอแนะวิธีปฏิบัติ
  6. คัดค้านความคิดเห็นหรือนโยบายที่ไม่เหมาะสมของหน่วยงานต่าง ๆ  โดยกล่าวในทางที่เป็นประโยชน์
  7. เปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้วินิจฉัยหรือพิจารณา หรือวิเคราะห์เหตุการณ์ได้อย่างเป็นธรรม เป็นการกระตุ้นสติปัญญาผู้อ่าน

 

ลักษณะของภาษา

        ลักษณะของบทบรรณาธิการเป็นบทความเชิงวิชาการ แต่ไม่ควรใช้ศัพท์วิชาการมากเกินไป เพราะผู้อ่านคือมวลชน มีหลายระดับ ระดับความรู้ก็ต่างกัน จึงควรใช้ภาษาทางการ  หลีกเลี่ยงภาษาปาก  คำคะนอง  อักษรย่อ และคำต่างประเทศ ถ้าเป็นไปได้

 

ส่วนต่าง ๆ ของบทความ บทวิเคราะห์ และบทบรรณาธิการ

  1. ชื่อเรื่อง
  2. คำนำ
  3. เนื้อเรื่อง
  4. สรุป

 

อ้างอิง

ศุภรางศุ์ อินทรารุณ. (ม.ป.ป.). เอกสารประกอบคำสอนรายวิชาการเขียนสารคดี.

                        ชลบุรี : ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยบูรพา.


คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 418214เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2011 20:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท