วิชาการสายรับใช้สังคมไทย : ๒๒. PBL กับการทำงานวิชาการรับใช้สังคมไทย



          PBL ย่อมาจาก Project-Based Learning   ท่านสามารถเรียนรู้เรื่อง PBL ได้จาก YouTube ที่นี่   หรือจะค้นเรื่องมาอ่านก็ได้ที่นี่  

          PBL คือการเรียนโดยการลงมือปฏิบัติ หรือโดยการทำงานนั่นเอง   โดยมักเป็นงานสมมติ ที่ครูออกแบบหรือตั้งคำถาม เพื่อให้นักเรียนลงมือค้นคว้าเอง   โดยทำกันเป็นทีม   แล้วนำเสนอเป็นชิ้นงานหรือผลงาน   เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ 21st Century Skills และได้เรียนอย่างสนุกสนาน น่าตื่นเต้นเร้าใจ   โดยที่โจทย์จะต้องช่วยให้นักศึกษาทำโครงงานอย่างตื่นเต้นเร้าใจ

          แทนที่จะเอากรณีสมมติมาให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเรียน   เราสามารถเอาปัญหาจริงของชุมชนหรือสังคมมาให้นักศึกษาทำ   ยิ่งเป็นปัญหาที่ชาวบ้านต้องการแก้ไขยิ่งดี  ก็จะกลายเป็นว่า นักศึกษาเข้าไปทำงานรับใช้ชาวบ้านด้วย และได้เรียนรู้ทักษะสำหรับศตวรรษที่ ๒๑ ด้วย  และเรียนรู้วิชาให้แน่นขึ้นด้วย   โดยอาจารย์ทำหน้าที่เป็นโค้ช  และอาจมีโค้ชมาจากภายนอกมหาวิทยาลัยด้วย

          กลายเป็นการทำงานจริงๆ – งานวิชาการรับใช้สังคมไทย

          และเป็นการเรียนรู้ของนักศึกษาด้วย  เกิดความมีชีวิตชีวาขึ้นในมหาวิทยาลัย

          ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เขามีที่ดินกว้างขวางกว่า ๙ พันไร่   ใฝ่ฝันที่จะให้มีบรรยากาศเป็น "เมืองมหาวิทยาลัย"  คือมีความคึกคักมีชีวิตชีวา   ซึ่งหมายความว่าต้องมีกิจกรรม และมีผู้คนเข้าไปทำกิจกรรมร่วมกันทุกวัน   ไม่เว้นวันหยุดราชการ

          ผมฝัน (จินตนาการ) ว่าในกิจกรรม PBL ของนักศึกษา   มีการรับงานจาก อบต. ๓ อบต. ในโจทย์เดียวกัน   สมมติว่าเป็นเรื่องการลดปัญหาเด็กอ้วนในชุมชน   อบต. ออกเงินให้มหาวิทยาลัยเข้าไปดำเนินการเป็นเวลา ๑ ปี   จ่าย อบต. ละ ๑ แสนบาท   มหาวิทยาลัยจัดให้เป็นโครงการ PBL ของนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ของคณะแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ และสาธารณสุขศาสตร์ ให้ทำงานร่วมกันเป็นเวลา ๑ ปี   ให้ดำเนินการในวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุด   โดยให้ นศ. และอาจารย์ที่เป็นโค้ช หรือ facilitator ตกลงเวลากันเอง   รวมทั้งให้ออกแบบวิธีทำงานเองด้วย   โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อครบ ๑ ปี เปอร์เซ็นต์ของเด็กอ้วนจะลดลงร้อยละ ๒๐  และชุมชนนั้นรู้วิธีแก้และป้องกันปัญหาด้วยตนเอง   รวมทั้งให้เตรียมทำวิดีโอความยาวไม่เกิน ๒๐ นาทีเพื่อบอกเล่าวิธีป้องกันเด็กอ้วนในบริบทของสังคมไทย   หากทีมใดผลงานดีจะได้รับการสนับสนุนให้ไปนำเสนอในเวทีที่เหมาะสมในประเทศหรือต่างประเทศ

          ทีมที่ผลงานเข้าขั้น และมหาวิทยาลัยนำวิดีโอขึ้น YouTube ในนามของมหาวิทยาลัยจะได้รับการบันทึกผลงานใน transcript เพื่อเป็นเกียรติประวัติ

          นักศึกษาที่ไปทำงานให้แต่ละ อบต. มี ๖ คน คือ ๒ คนจากแต่ละคณะ

          มหาวิทยาลัยได้เจรจากับมูลนิธิสยามกัมมารวย ว่าทีมที่มีผลงานเด่นจะได้รับเกียรติไปนำเสนอในมหกรรมพลังเยาวชน

          ผมฝันเห็นมีมหาวิทยาลัยเอาจินตนาการนี้ไปปัดฝุ่น  ดัดแปลงและดำเนินการ   และมีการจัดการกระตุ้นช่วยเหลือแบบที่ให้ทีม นศ. ช่วยเหลือตนเองให้มากๆ   โดยอาจารย์ที่เป็นโค้ชช่วยแนะวิธีค้นหาความรู้สำหรับให้ทีมงานออกแบบการดำเนินการของตน   โดยน่าจะแนะว่าจะคิดถึง อสม. ไหม   จะไปปรึกษาสถานีอนามัยในท้องถิ่นอย่างไร   จะมีการประกวดเด็กสุขภาพดีในตำบลไหม   จะไปชวนครูบางคนมาร่วมเป็นทีมงานไหม ฯลฯ   อาจารย์แค่แนะอยู่ห่างๆ โดยไม่เข้าไปทำให้  

          มหาวิทยาลัยมีงบประมาณ (จาก อบต.) ให้ ทีมงานใช้เพียง ๓ หมื่น สำหรับการทำงาน ๑๒ เดือน โดยนักศึกษาจะใช้เป็นค่าอะไรก็ได้   ที่เห็นว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สมควร   และให้ทำบัญชีไว้ รวมทั้งเก็บหลักฐานการใช้จ่ายเงินที่มี ให้ตรวจสอบได้  โดยถือว่าเป็นทักษะอย่างหนึ่งของการทำงานในศตวรรษที่ ๒๑ คือมีความยืดหยุ่นคล่องตัว แต่ต้องให้โปร่งใสตรวจสอบได้    

          มหาวิทยาลัยหวังว่า อาจารย์ที่ไปช่วยเป็นโค้ช จะคลุกคลีกับสมาชิก อบต. จนอาจรับทำงานวิจัยบางชิ้นให้แก่ อบต. ได้โจทย์วิจัย ทุนวิจัย และอาจได้ผลงานวิจัยตีพิมพ์ใน PLOT เป็นผลงานวิชาการรับใช้สังคมไทยที่มีคุณภาพสูง

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๐ ธ.ค. ๕๓


         
        

หมายเลขบันทึก: 417986เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2011 11:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท