บทเรียนข้ามปี >>> ก็อยากทำอะไรตามใจ(องค์)กู...บ้าง


ณ ตอนนั้น ฉันมีความรู้สึกเหมือนเราต้อนคนไข้ให้ยอมรับสิ่งที่เราเลือกให้เขา...ไม่ใช่สิ่งที่เขาเลือก...บ้าชะมัด!

เป็นเรื่องที่โดนใจเต็มๆ...เหตุเกิดเมื่อเดือนสุดท้าย ปลายปีที่แล้ว ในห้องผ่าตัด

เหตุที่เล่าเรื่องนี้มิได้มีเจตนาจะโจมตีใครหรือวิชาชีพใด... แต่อยากนำมาเล่าเพื่อเป็นการถอดบทเรียนชีวิตการทำงานของวิสัญญีพยาบาล ที่อาจมีเพื่อนๆได้ประสบเช่นกัน

ผู้ป่วยหญิงวัยสาว แข็งแรงดี มาทำการผ่าตัดปรับลวดที่ fixed กระดูกข้อมือ

การทำให้ไม่เจ็บขณะผ่าตัดเธอได้รับคำแนะนำเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นเทคนิค Brachial plexus block ซึ่งประเมินว่าเหมาะสม แต่ทีมเราก็ไม่วายที่จะแนะนำเทคนิคดมยาสลบทั้งตัว(GA : General Anesthesia)เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพิ่มเติมไว้ด้วยเพราะหากการ block ล้มเหลวหรือทำได้ไม่สมบูรณ์ เธออาจต้องได้รับการพิจารณาให้ยาสลบ ผู้ป่วยท่านนี้เข้าใจในคำแนะนำดีมากๆ

 

แต่เมื่อเวลาจะเริ่มทำหัตถการจริงๆ...ผู้เขียนเชิญอาจารย์แพทย์มาทำหัตถการเนื่องจาก พชท.ติดเรียน ได้รับคำตอบว่าไม่ถนัดที่จะทำ block ซึ่งเป็นเหตุผลปกติที่สามารถนำมาประกอบการพิจารณาการเลือกเทคนิคให้ผู้ป่วยได้เนื่องจากหากเราไม่มีความชำนาญอาจเกิดความเสี่ยงตามมา

...คำตอบของแพทย์ดังกล่าวตามมาด้วยการมอบหมายให้ผู้เขียน “ให้ดมยาสลบไปเลย”

 

ถามว่าผู้เขียนทำได้หรือไม่ สิ่งนั้นไม่ใช่ปัญหาเพราะเราประเมินและเตรียมความพร้อมสำหรับการดมยาสลบไว้ก่อนแล้วเสมอแม้ว่าจะใช้เทคนิค block

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ผู้ป่วยท่านนั้นข้องใจ!

“ทำไมล่ะ ทำไมไม่ block ให้ ฉันไม่อยากดมยาสลบ”

“อาจารย์ท่านนี้บอกว่าท่านไม่ชำนาญการให้ยาชาเฉพาะส่วน(block)ค่ะ”

 

ผู้เขียนเริ่มอึดอัดใจในฐานะคนกลาง สิ่งที่ทำได้คือลองพยายามพูดคุยชี้แจงกับผู้ป่วยเพิ่มเติม...พยายามเท่าที่ทำได้ ทั้งที่ลึกๆแล้วอึดอัด กดดันมากมาย...

ผู้เขียนพูดคุยเพิ่มเติมเรื่องของความกลัวของผู้ป่วย เธอตอบว่าเข้าใจดีหมดแล้วทุกอย่างสำหรับภาวะแทรกซ้อนทั้งสองเทคนิค และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอเลือก block… และเธอก็ยังยืนยันขอเลือกเทคนิค block

เธอถามกลับหลายคำถามเช่น

คำถาม : “ทำไมไม่ block ให้?”

ตอบเธอได้หรือไม่ว่า

คำถาม : “ฉันจะฟื้นช้าหรือไม่?”

คำตอบ : “เราจะเลือกใช้ยาสลบที่หมดฤทธิ์เร็วที่สุดเมื่อเลิกใช้”

คำถาม : “ฉันคลื้นไส้อาเจียนง่ายมาก และไม่อยากอาเจียนเลย”

คำตอบ : “ยาสลบส่วนใหญ่มีผลข้างเคียงได้แก่อาการคลื้นไส้ อาเจียน แต่เราจะให้ยาลดอาการดังกล่าว”

 

สิ่งที่เป็นคำถามของผู้ป่วย คือสิ่งที่เราให้ข้อมูลเรื่องภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดเมื่อดมยาสลบทั้งสิ้น... ชัดเจนมากว่าการให้ข้อมูลพื้นฐานของเราได้ผลดีเกินคาดจริงๆ... confirm...

ณ ตอนนั้น ผู้เขียนมีความรู้สึกเหมือนเรากำลังต้อนคนไข้ให้ยอมรับสิ่งที่เราเลือกให้เขา...ไม่ใช่สิ่งที่เขาเลือก...บ้าชะมัด!

 

คำถาม : “ฉัน...ไม่อยากดมยาสลบ”

คำตอบ : “งั้นเราจะลองเรียนปรึกษาอาจารย์อีกครั้งนะคะว่าคุณไม่ยินดีเรื่องการดมยาสลบ อาจารย์อาจพิจารณาปรึกษาอาจารย์ผู้ชำนาญกว่าเรื่อง block มาทำให้” นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีระหว่างผู้ป่วยและแพทย์

 

ผู้เขียนโทรฯกลับไปหาอาจารย์ท่านเดิมด้วยความคับข้องใจ อธิบายว่า

“ผู้ป่วยอยากให้ block ... ไม่ค่อยยินดีกับการที่จะถูกดมยาสลบ”

“งั้นก็บอกคนไข้ไปว่า...หมอก็ไม่ยินดีที่จะ block... แต่ยินดีที่จะดมยา”

...ได้ยินเท่านั้น!... ผู้เขียนก็รู้สึกคอตีบ กลืนน้ำลายลงคอด้วยความยากลำบาก...และไม่ได้อยากฟังอะไรมากไปกว่านั้นอีก

 

หวนกลับมาที่ผู้ป่วยตรงหน้า อธิบายให้ทราบอีกครั้งว่า อาจารย์ยืนยันอย่างไร

คนไข้มีสีหน้าบ่งบอกว่า เธอยังสับสน...ผู้เขียนเองก็อยู่ในสภาพไม่แตกต่างจากเธอ

 “เราคงมีความรู้สึกไม่ต่างกัน หลับนะคะ เราจะให้คุณหลับสลบและจะดูแลคุณใกล้ชิดเป็นอย่างดี...ไม่ต้องวิตก” เป็นคำพูดที่ผู้เขียนบอกผู้ป่วย

 

สีหน้าผู้ป่วยคลายกังวลลงบ้าง แต่ดูว่าไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ และด้วยข้อจำกัดของเวลาทำงานที่ถูกกำหนดให้การเริ่ม case เย็นที่ช้ากว่านี้ไม่ได้แล้ว มิเช่นนั้นผู้ป่วยอาจถูก off case ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำผ่าตัดวันนี้เพราะเลยเวลามากแล้ว

เราเริ่มการฉีดยาเข้าเส้นเลือดตามเทคนิคการระงับความรู้สึก ใช้เวลาทำผ่าตัดราว 30-40 นาที ซึ่งการทำผ่าตัดไม่เสร็จในเวลาราชการ ผู้ป่วยจึงได้รับช่วงการดูแลต่อโดยทีมทำงานนอกเวลา

 

ผู้เขียนไม่ห่วงเรื่องการดูแลขณะสลบเพราะไม่ว่าใครดูแล เราเชื่อมั่นว่าทุกคนกระทำภายใต้มาตรฐานเดียวกันเสมอ แต่ไม่วายบอกน้องในทีมว่าให้ดูแลและติดตามเยี่ยมผู้ป่วยรายนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อไขข้อข้องใจที่เธออาจมีค้างคาในใจ จากนั้นรีบไปพบแพทย์หัวหน้าเวรเพื่อส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยรายนี้ เล่าให้ฟังถึงปัญหาที่เกิด แล้วเน้นเรื่องของการใส่ใจในความรู้สึกของผู้ป่วยเป็นพิเศษเมื่อเสร็จผ่าตัด

 

อาจารย์ท่านนั้นได้ยินเสียงของผู้เขียน เธอออกมาอธิบายขยายความอีก...

“ทำไมล่ะ... คนไข้กลัวอะไร ทำไมจะดมยาสลบไม่ได้ เราอธิบายให้เขาเข้าใจได้นี่นา”

“พี่อธิบายหมดแล้ว เรื่องนั้นไม่มีปัญหา พี่พยายามอย่างที่สุดที่จะให้เขาพยายามเข้าใจเรา ไม่ให้เกิดปัญหาตามมา”

“แล้วทำไมคนไข้ถึงยังไม่ยินดีดมยา”

“อาจารย์ต้องลงไปเห็นเองแล้วจะรู้  พี่คิดว่าพี่ทำให้เต็มที่แล้วนะ อธิบายเหตุผลให้แล้ว (ในใจน่ะคิดว่าอาจารย์น่าจะลงไปอธิบายเองนะ...) ตอนนี้เพียงอยากฝาก dent ให้ช่วยไปดูผู้ป่วยด้วย...เพราะเคสนี้(ผู้ป่วยยอมรับ)ไม่ง่าย”

“นี่แหละ...เพราะ dent ไปให้ข้อมูลเธอทางเดียว ไม่เผื่อดมยาเลย” อาจารย์ว่า

“เปล่าเลย ผู้ป่วยได้ข้อมูลทั้งสองทางตามมาตรฐาน แถมแพทย์ผู้ผ่าตัดเองก็ให้ข้อมูลเธอว่าคงแค่ block” ผู้เขียนอธิบายเพิ่มเติม แล้วหันหลังกลับ ได้ยินแต่เสียงอาจารย์ยังคงพูดกับ dent ต่อ...ซึ่งผู้เขียนไม่ได้สนใจ

 

ผู้เขียนกลับมานั่งทำงานในห้องอาหารที่ชอบใช้เวลาช่วงเย็นหลังเลิกงานทำงานที่ชอบต่อทุกวัน...เหมือนเดิม

ราว 1 ชั่วโมงจากนั้นน้องที่อยู่เวรแวะมาบอกว่าผู้ป่วยตื่นดี ไม่มีปัญหาอะไร

ถัดมาอีกราวครึ่งชั่วโมงขณะผู้เขียนกำลังเตรียมตัวกลับบ้าน อาจารย์ท่านนั้นเดินผ่านมาหน้าห้องและตรงมาที่ผู้เขียน เธอบอกว่าเธอลงไปดูคนไข้แล้ว

“...(... : ชื่อเธอ) ไปคุยกับคนไข้แล้วนะ ก็ดูเขาไม่มีปัญหาอะไรนี่”

“... เรามีพยานได้ยินกันเต็มห้อง” ขี้เกีียจอธิบายขยายความมากกว่านี้จริงๆ เพราะพูดไปหมดแล้ว

“อืมมม..แต่เท่าที่คุยกับเขาตอนตื่นก็ดูเขาไม่ธรรมดาจริงๆด้วยแหละ...(... : ชื่อเธอ) ขอโทษ...”

“ไม่มีอะไรก็ดีแล้วค่ะ เพราะพี่พยายามอธิบายมากมายให้เธอเข้าใจ แต่เธอยังไม่หายข้องใจเรื่องที่ต้องดมยาน่ะ พี่ถึงอยากให้อาจารย์หาโอกาสไปพูดคุยด้วยตนเอง ดีแล้วที่อาจารย์ลงไปดู”

แล้วผู้เขียนก็กลับบ้าน… ด้วยอารมณ์เดียวกับบันทึกนี้ "คนไข้...คู่ชกที่เสียเปรียบ" เมื่อหลายปีก่อน

...แต่เมื่อเวลาผ่านไป...ข้ามปี ก็พอรู้และบอกตัวเองได้ว่า มันเป็นหน้าที่ที่เราพึงทำ พึงช่วยให้ทุกอย่างลงตัวและหมดปัญหา...

ไม่หอบปัญหามาข้ามปีก็ดีแล้ว...อิอิ

(ขอขอบคุณตัวละครชีวิตทุกตัวที่กล่าวมาในที่นี้)

หมายเลขบันทึก: 417802เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2011 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ขอบคุณ "พี่ติ๋ว" ที่เล่าเรื่องนี้ค่ะ

เพราะเคยมีประสบการณ์กับ "เหตุการณ์และความรู้สึก" แบบนี้เหมือนกัน

กลืนไม่เข้า..คายไม่ออก..

ชอบมากจริงๆค่ะ...คำว่า

"กลืนไม่เข้า..คายไม่ออก.."

ขอบคุณค่ะ

เคย block มาแล้วค่ะ แต่ไม่สำเร็จ แอบได้ยินพยาบาลบ่นๆ ให้กันฟังว่ายาหมดอายุ

แต่ก็ไม่ข้องใจอะไรทั้งนั้นค่ะ เชื่อมั่นในการรักษา ดมยาสลบก็ไม่เห็นเป็นไร หลับไปปลอดภัยดี......สมัยนี้ทำอะไรก็เป็นเรื่องไปหมดนะคะ

สวัสดีค่ะ คุณติ๋ว  เพื่อนรัก

เป็นกำลังใจให้เสมอค่ะ  เป็นธรรมดา  ที่หลายสิ่ง ที่ถูกใจ แต่ไม่ถูกต้อง  แต่ บางสิ่ง ถูกต้อง แต่ไม่ถูกใจค่ะ

มีความสุขมากๆๆนะคะ  สุขภาพแข็งแรงนะคะ

 

*** ขอบคุณเรื่องราวดีๆที่แบ่งปันค่ะ

ความรู้สึกที่กลืนไม่เข้า คลายไม่ออกแบบนี้ นักศึกษาวิสัญญีพยาบาลอย่างผม ต้องแบกรับทุกวันเลยครับอาจารย์ จนบางวันเริ่มท้อ แทบไม่อยากไปทำงาน (เรียน) ตอนนี้ความรู้สึกคงคุณค่าในตัวตน ลดลงไปทุกวัน ขาดความมั่นใจอย่างแรงเลยครับอาจารย์ (สงสัยใกล้ ๆ ผมคงได้พบจิตแพทย์เข้าสักวันครับอาจารย์ 55555)

from

นักศึกษาวิสัญญีพยาบาลสถานฝึกอื่น ที่เข้ามาขโมยความรู้ครับ (ยังสู้เฟ้ย ดาหน้าเข้ามาเลย ม่ะ )

สวัสดีค่ะ คุณครูนาย

ขอบคุณมากๆนะคะที่เข้าใจพวกเราค่ะ

ครูอ้อยเพื่อนรัก

ถูกต้องอย่างครูอ้อยว่าค่ะ...แต่เมื่อใดที่สวมบทบาทของครู พฤติกรรมที่แสดงออกที่เหมาะสมจะเป็นแบบอย่างที่ดีของลูกศิษย์ในภายหลังค่ะ

ขอบคุณครูอ้อยค่ะ

สวัสดีปีใหม่ คุณกิติยาค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ น้องninninkungX14

ความคับข้องใจเกิดได้ในทุกช่วงของชีวิตค่ะ

สำหรับน้องนั้นต้องฝึกเผชิญความเครียดค่ะ เราต้องอยู่และผ่านให้ได้กับความเครียดแต่ละสถานการณ์นั้นๆ...และเมื่อหวนกลับไปหลังจากผ่านมันมาได้ เราจะภูมิใจในตัวเอง มันเป็นการแสดงความ maturity ของตัวเราค่ะ

...แต่ก็นั่นแหละนะ มนุษย์ก็มีหลุดได้...แต่คงไม่ใช่น้องในเวลานี้เพราะงานของเราต้องเผชิญความเครียดอย่างมากในทุกเรื่อง จึงต้องฝึกฝนค่ะ

ขอให้อดทนและเข้มแข็งในการฝึกอบรมนะคะ ไม่มีการฝึกอบรมวิสัญญีพยาบาลในสถาบันใดที่โรยด้วยกลีบกุหลาบแน่นอนค่ะ...ฟันธง! อิอิ

โชคดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท