ชีวิตที่พอเพียง : 77. เรียนเป็นทีม


        วันก่อน ศ. ดร. ยอดหทัย เทพธรานนท์ บอกว่ายังเล่าเรื่องชีวิตตอนเรียนแพทย์น้อยไป     ที่จริงผมเคยเขียนเล่าเรื่อง "เมื่อผมเรียนแพทย์" เผยแพร่ให้ นศพ. รุ่นแรกของ มอ. อ่านในช่วง พ. ศ. ๒๕๑๖ - ๑๗   เขียนเล่าละเอียดมากเพราะเวลาผ่านไปเพียง ๑๐ ปีเศษๆ     ต้นฉบับสูญหายไปหมด     และจะให้เล่าละเอียดอย่างนั้นในตอนนี้ทำไม่ได้แล้ว

         สิ่งที่ฟื้นได้อย่างหนึ่งคือตอนอยู่ปี ๓ (เดี๋ยวนี้เรียก ปี ๕) เราจัดระบบติวกันเองในหมู่เพื่อนที่อยู่หอผู้ป่วย (เรียกว่า วอร์ด - ward) เดียวกัน     กลุ่มเราเป็นพวกที่ชื่อขึ้นต้นด้วย ว แหวน    มีคนเรียนเด่นมากอยู่ ๒ คน คือวลี กับวิจารณ์    ช่วงที่เราทำกันเป็นช่วงที่อยู่หอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง  ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่โรงพยาบาลมานาน     บางคนอยู่จนรู้จักหมอ พยาบาล และเรื่องราวในโรงพยาบาลมากมาย

         เราตกลงกันว่าให้แต่ละคนสรุปเรื่องราวของผู้ป่วยของตน     รวมทั้งไปค้นความรู้จากตำราเกี่ยวกับผู้ป่วยคนนั้น     เอามาเล่าให้เพื่อนฟัง หมุนเวียนไปเรื่อยๆ     ทำให้เราไม่ต้องอ่านตำราเองทั้งหมด     ทุ่นแรงไปได้เยอะ     คนที่ฟื้นความจำเรื่องนี้ขึ้นมาคือ รศ. นพ. วิชัย วนดุรงค์วรรณ     เจ้าของโรงพยาบาลศรีวิชัย  ซึ่งมีถึง ๕ โรง      อ. หมอวิชัยกับผมไปพูดด้วยกันที่ มศว. เมื่อประมาณ ๒ ปีมาแล้ว     ท่านเอ่ยขึ้นว่าผมเป็นคนช่วยติวทำให้ท่านซึ่งเรียนไม่เก่งสามารถสอบผ่านมาได้     คำกล่าวนี้เกินจริง     แต่ก็ช่วยฟื้นความหลัง

        เรียนเก่งไม่เก่งไม่ค่อยบอกความสำเร็จในอนาคตได้มากนัก     อ. หมอวิชัย เป็นผู้นำทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาของประเทศ     ปีนี้มหาวิทยาลัยมหิดลมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาให้     และท่านประสบความสำเร็จสูงมากในด้านธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน

        ตอนเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ     เราไปดูหนังสือที่บ้านเพื่อนเป็นประจำในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์     บ้านที่ไปบ่อยคือบ้านวีรวิทย์ โค้วตระกูล (ตอนนี้เปลี่ยนเป็นบุญญพิสิฏฏ) ที่อยู่แถวๆ คณะครุศาตร์จุฬาฯเดี๋ยวนี้     กับบ้านธงธวัช อนุคระหานนท์ ที่ซอยมั่นสิน ที่อุรุพงศ์     ทั้งสองแห่งนี้เวลานี้เปลี่ยนแปลงไปหมดจนบอกยากว่าบ้านอยู่ตรงไหนแน่    วันหนึ่งเราไปบ้านธงธวัช  เราคุยกันและเอ่ยถึงเพื่อนว่า "อ้ายดา" (เจษฎา เมืองสมบัติ)     คุณแม่ของธงธวัชมาได้ยินเข้าพอดีและตกใจมากว่าเราเรียกธงธวัชว่าอ้ายดา ซึ่งเป็นชื่อพ่อ    พ่อของธงธวัชชื่อธาดา เป็นข้าราชการ     ธงธวัชเรียกเจษฎาว่าอ้ายเจษ    ในขณะที่พวกเราเรียกอ้ายดา     พวกเราเรียกเพื่อนด้วยคำนำหน้าว่าอ้ายทุกคน     ผมก็เป็นอ้ายจาน    ธงธวัชมาแปลกกว่าเพื่อน โดนเพื่อนตั้งสมญาว่าอ้ายแร้ง  เพื่อนเรียกกันติดปากทุกคน     แต่เวลาไปบ้านธงธวัชต้องเรียกเบาๆ อย่าให้คุณพ่อคุณแม่ได้ยิน

         ผมเป็นคนหูตาไม่ว่องไว (หมายความว่าไม่รู้ความเป็นไป) ในเรื่องการเตรียมตัวสอบเข้าหรือสอบชิงทุน    ก็ได้วีรวิทย์ซึ่งมีพี่สาวเยอะ     (คนหนึ่งเป็นอาจารย์คณะครุศาสตร์จุฬาฯ คือ ศ. ดร. สุรางค์ โค้วตระกูล)     คอยบอกข่าวและลู่ทางต่างๆ ให้ 

วิจารณ์ พานิช
๙ กค. ๔๙ 

หมายเลขบันทึก: 41764เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2006 09:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท