บทเรียน 6 ปี สึนามิ กับการรู้เท่าทัน และการจัดการภัยพิบัติ เพื่อทางเลือกทางรอดของชุมชน


ชุมชนจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติ

บทเรียน 6 ปี สึนามิ กับการรู้เท่าทัน และการจัดการภัยพิบัติ  เพื่อทางเลือกทางรอดของชุมชน

 ใกล้ครบรอบ 6 ปี สึนามิหลายหน่วยงานจัดกิจกรรมเพื่อรำลึก รวมทั้งเสริมสร้างความตระหนักและความพร้อม รวมทั้งการฝึกซ้อมอพยบที่จะเกิดขึ้นที่จังหวัดชายฝั่งอันดามัน ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องด้วยหลายๆเวทีที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง ได้แก่ เข้าไปสังเกตุการณ์การฝึกซ้อมรับมือภัยอุทกภัยและดินถล่มที่ ต.กระบี่น้อย จ.กระบี่ โดยกรมทรัพยากรธรณี ร่วมเวทีเสวนาเจาะลึกภัยพิบัติ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติ  เวทีแลกเปลี่ยนประสบการการทำงานในเรื่องสัญญาณเตือนภัย โดย adpc และเวทีสัมมนา การปฏิรูปการจัดการภัยพิบัติโดยเครือข่ายภาคประชาชน และผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ

 มีประเด็นที่สำคัญ 2-3 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติ คือ 1 การปรับตัวของภาครัฐต่อการจัดการภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับยุทธศาสตร์ของรับบาลในเรื่องการรับมือภัยพิบัติที่ภาคประชาชนจะต้องช่วยกันนำเสนอแนวทางให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างบูรณาการและไม่ให้เกิดการเหลื่อมล้ำ 2 การเกิดขึ้นของเครือข่ายภาคประชาชน และการตื่นตัวของหน่วยงานภาคเอกชน ต่อความร่วมมือในการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย โดยที่ภาครัฐยังไม่มีการเตรียมการเหมือนเช่นเคย 3 ข้อมูลการเตือนภัยไม่ได้สร้างให้เกิดความเข้าใจต่อประชาชนทั่วไปที่จะรับมือ ภัยธรรมชาติที่มันรุนแรงขึ้น ท้องถิ่นไม่สามารถรับมือได้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงในหลายพื้นที่  4การให้ความสำคัญกับ safety Community   5 นักวิชาการหลายสาขาออกมาให้ข้อมูลในเรื่องภัยพิบัติ ตั้งแต่ระบบสุริยะจักรวาล การเปลี่ยนแปลงของโลก การทำลายทรัพยากรของมนุษย์ ทำให้เกิดกระแสหลายด้านต่อสังคมทั้งในเชิงความเชื่อ ไสยศาสตร์ ต่างดาว 6นอกจาก climate Changes ตัวการเร่งให้เกิดความรุนแรงของภัยพิบัติที่สำคัญอีกอย่างคือ Local Changes ผลกระทบเชิงลบจากการเจริญของชุมชนเมือง และการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ สุดท้ายเราก็ได้ข้อสรุปหนึ่งว่า “ วิธีการลดผลกระทบจากภัยพิบัติที่ดีที่สุด คือการรู้จักภัยธรรมชาติในพื้นที่ให้มากที่สุด ”

 เวทีสัมมนา ปฏิรูปการจัดการภัยพิบัติ โดยเครือข่ายภาคประชาชน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ได้สรุปปัญหาของการจัดการภัยพิบัติที่ผ่านมาโดยเฉพาะน้ำท่วมใหญ่ทุกพื้นที่ในปีนี้ พบว่า ในส่วนของการดำเนินการช่วยเหลือของภาครัฐยังไม่เป็นระบบแยกส่วนกันทำงาน เกิดปัญหาทับซ้อนเป็นเหตุให้การช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึงในทุกที่ มีการคอรัปชั่นเกิดขึ้น โดยที่ภาครัฐก็ไม่มีแผนในการเตรียมการที่จะรับมือในขณะที่มีการเตือนภัยกันเป็นระยะๆ รัฐบาลและท้องถิ่นก็ยังไม่เตรียมการบ่งบอกถึงความไม่เท่าทันของรัฐในการที่จะรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ  สำคัญที่สุดคือการให้ข้อมูลการเตือนภัยอย่างเท่าทันแก่ประชาชนยังไม่ทั่วถึง ประชาชนไม่สามารถที่จะรับทราบสัญญาณการเตือนภัยต่างเหล่านั้นได้อย่างเท่าทัน ในทางกลับกันประชาชน/ชุมชนเองก็ยังไม่เกิดความตระหนักในการที่จะเตรียมการรับมือและรู้เท่าทันสถานการณ์ภัย ทั้งนี้จากบทเรียนสึนามิทำให้ภาคประชาชนเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตัวเอง เครือข่ายความร่วมมือต่างๆ ต่างให้ความสำคัญกับการประสานงาน การทำงานร่วมกัน รวมทั้งการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่มีมากขึ้น สามารถนำความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ที่ถูกมองข้ามได้อย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตามปัญหาของการทำงานการจัดการภัยพิบัติก็ยังพุ่งเป้าไปที่การทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่ยังไม่บูรณาการการทำงานทั้งในระหว่างหน่วยงานภาครัฐกันเอง ระหว่างรัฐบาลกลางกับท้องถิ่น รวมทั้งกับภาคประชาสังคม

 โดย ดร.พิจิตต รัตกุล ผู้อำนวยการ adpc มองว่าภัยพิบัติที่ผ่านมาทำให้รัฐบาลเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้านคือ 1 การกระจายอำนาจ ยอมรับความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม 2 ยอมรับการเกิดขึ้นของภัยพิบัติ และคิดถึงการที่เราจะรับมือกับมันได้อย่างไร  3 ช่วยให้เกิดการพัฒนาความเข้มแข็งของหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 4 มีการพัฒนาบุคลากรของท้องถิ่น เช่นชุดกู้ภัย หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน  5 การร่วมเป็นหุ้นส่วนกับภาคประชาสังคมทั้งในและนอกประเทศในการทำงานเรื่องภัยพิบัติ 6 การพัฒนาระบบการเตือนภัย ทั้งนี้เห็นว่ารัฐบาลต้องสนับสนุนให้ท้องถิ่นวางแผนปฏิบัติเอง การจัดการงบประมาณของท้องถิ่นเอง 7 ที่สำคัญคือการบูรณาการงานเตรียมความพร้อมให้เข้าไปอยู่ในทุกๆที่ เช่น การศึกษา การคมนาคม เป็นต้น

 ในส่วนข้อเสนอของภาคประชาชนต่อการปฏิรูปการจัดการภัยพิบัติสาระสำคัญๆได้แก่  1 การจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติ 2 การสร้างความพร้อมในการเตือนภัย  3 การฟื้นฟูหลังภัยพิบัติที่เท่าเทียมขจัดความเหลื่อมล้ำทางกฎหมาย สิทธิบุคคล  4 การทบทวนโครงการของรัฐที่จะส่งผลกระทบและก่อให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นจากภัยพิบัติ  5 ยกเลิกกฎหมายที่ไม่สอดคล้องและเป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือฟื้นฟู และ5 ให้นำเรื่องภัยพิบัติเข้าสู่วาระแห่งชาติ

 ในขณะที่นายสาทิตย์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ รับว่าปัญหาเกิดขึ้นจริง และเครือข่ายภาคประชาชนก็มีส่วนร่วมอย่างมากในการดำเนินการช่วยเหลือฟื้นฟูภัยพิบัติที่ผ่านๆมา โดยจะนำข้อเสนอจากภาคประชาชนเข้าสู่การประชุมเพื่อจัดทำงบประมาณประจำปี 55 ในหมวดยุทธศาสตร์การรับมือภัยพิบัติ รวมทั้งให้ช่วยกันคิดว่าหากรับบาลมีงบประมาณให้ ตำบลละ 1 ล้านบาทให้ตั้งเป็นกองทุนสำหรับชุมชนในการจัดการภัยพิบัติจะมีข้อเสนอและแนวทางอย่างไรต่อไป

 ในขณะเดียวกันในเวที เจาลึกภัยพิบัติ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยมูลนิธิสภาเตือนภัยฯ ได้นำข้อมูลหลายด้านมานำเสนอโดยเริ่มจาก ดร.ก้องภพ วิศวกรองค์การนาซ่าความสัมพันธ์ระหว่างอวกาศกับการเปลี่ยนแปลงบนโลก”ว่า ปีที่ผ่านมา ระบบสุริยะจักรวาลเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก มีพลังงานต่างๆเข้ามาในระบบสุริยะจักวาล นาซ่าส่งดาวเทียมขึ้นไปศึกษาพบความเปลี่ยนแปลงมวลลมสุริยะลดลงอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ต่างๆ เช่น ดาวอังคารเกิดภาวะโลกร้อน น้ำแข็งละลาย ดาวพฤหัส มีความสว่างเพิ่ม ความร้อนสูงขึ้น ส่วนโลก ก็พบปริมาณรังสีคอสมิกมาก มีปริมาณฝุ่นละลองเพิ่มสูงขึ้น และปริมาณฝนดาวตก และวัตถุพวกอุกาบาตรเข้ามาในโลกมากขึ้น รวมถึงตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศนอกโลก ชั้นบรรยากาศของโลกลดลง ส่งผลให้โลกมีความไว้ต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนอกโลก และแกนโลกมีการเคลื่อนตัวจากเดิม ช่วงต้นปี หรือปี ต้องระวังเรื่องภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น จากปฎิกิริยาของดวงอาทิตย์ที่จะส่งผลกระทบต่อโลก จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กของโลกจนทำให้โลกเกิดความร้อนเพิ่มสูงขึ้น

 ดร.วัฒนา กันบัว ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาทะเล สำนักตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา“พายุหมุนเขตร้อน คลื่นพายุกระทบฝั่ง และน้ำท่วม” ว่า พายุหมุนเขตร้อน เป็นพายุที่อยู่ในทะเลเขตร้อน มีปัจจัยจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เหมาะสมอยู่ที่ 26-27 องศาเซลเซียส โดยพายุหมุนเขตร้อนจะเกิดในน้ำทะเลลึก และเคลื่อนตัวเข้าฝั่งกลายเป็นสตอร์มเซิร์จ โดยเส้นทางการเกิดพายุจะเกิดไม่ซ้ำที่กันขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงเดือน ปัจจุบันกรมอุตุนิยมวิทยาใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท วางเครื่องมือเตือนภัยพิบัติทางทะเลซึ่งสามารถเตือนภัยได้ล่วงหน้า 7 วันก่อนพายุจะเคลื่อนเข้ามายังชายฝั่ง

 ด้าน ดร.เสรี ศุเพทราทิตย์ ผอ.ศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิริธร กล่าวว่า ประเทศไทยมีข้อมูลมากมายแต่ยังขาดการนำมาบริหารจัดการ ถ้าสามารถบริหารจัดการได้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เช่น ข้อมูลตรวจจับเรดาร์กลุ่มฝนและปริมาณน้ำฝนซึ่งต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์

 ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ระบุถึงสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆของโลก และคาดการณ์สำหรับอนาคตโดยการนำข้อมูลสถิติที่จัดเก็บในรอบ70ปี มาคาดการณ์การเกิดขึ้นของภัยพิบติ และเตือนให้ประชาชนต้องรับรู้ และเท่าทันกับการรับมือ เช่นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว แนวเคลื่อนตัวของเปลือกโลก เช่น กาญจนบุรี ก็ควรปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนที่สามารถรับแรงสันสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ และภาครัฐควรให้ความสำคัญกับข้อมูลต่างเหล่านี้ด้วย สุดท้ายเวทีสรุปทางรอดของชุมชน จำเป็นจะต้องรู้จักกับภัยในพื้นที่ของตนเองให้ดีที่สุดนั่นเอง

โจทย์ที่เกิดขึ้นกับงานการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติ คือต้องสร้างให้เกิด  safety Community  ชุมชนที่มีความมั่นคงในวิถีชีวิต และความพร้อมรับมือภัย เพื่อความปลอดภัยของคนในชุมชน การจัดการทรัพยากรของชุมชน งบประมาณของท้องถิ่นในการวางแผนการจัดการระยะยาว เช่นในรูปแบบของกองทุนภัยพิบัติ ความพร้อมของระบบ สัญญาณเตือนภัย การสื่อสาร ภาษาที่ทำให้เกิดความเข้าใจได้อย่างชัดเจนของชุมชนทั่วไป รวมทั้งข้อมูลข่าวสารด้านภัยพิบัติที่จำเป็นจะต้องสอนให้ชุมชนมีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล โดยการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาประกอบข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และสถิติ  สำคัญที่สุดคือการปรับการดำเนินชีวิตที่อาจจะนำไปสู่การเร่งการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และการปรับตัวเพื่ออยู่รอดในสถานการณ์ที่สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง 

 

ประสาร สถานสถิตย์

มูลนิธิรักษ์ไทย

23 ธันวาคม 2553

คำสำคัญ (Tags): #ภัยพิบัติ
หมายเลขบันทึก: 416190เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2010 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ...

ผมมีความทรงจำกับเหตุการณ์สึนามิมากมายครับ

ดีใจที่หลายคน ยังคิดถึงแม้มันจะเจ็บปวดทุกครั้งเมื่อยามคิดถึง

ดีใจที่มีบทเรียนให้เราเข้าใจ และพัฒนา ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท