รัฐไทยกับไฟใต้ ในทรรศนะของ ศาสตราจารย์ ดร.ครองชัย หัตถา


บทความนี้ได้ทำหน้าที่เป็นคุณลิขิต นำความรู้จาก ศ.ดร.ครองชัย หัตถา มาถ่ายทอดต่อ

        ๒๑ ธันวาคม ๕๓ ได้เข้าฟัง ศ.ดร.ครองชัย หัตถา  บรรยาย "รัฐไทยกับไฟใต้" ซึ่งจัดโดย สำนักวิทยบริการ

        ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับอาจารย์ก่อนครับที่ได้รับโปรดเกล้าเป็นศาสตราจารย์คนล่าสุด ของวิทยาเขตปัตตานี หลังจากวิทยาเขตปัตตานีว่างเว้นไม่มีศาสตราจารย์มานาน นับ ๒๐ ปี หลังจากศาสตราจารย์จำเริญ เจตนเสน จากไป  ก็ไม่มีใครอีกเลย จนกระทั่งมี ศ.ดร.ครองชัย หัตถา และนับเป็นศาสตราจารย์คนแรกของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ด้วย

       ท่าน ศ.ดร.ครองชัย หัตถา  สังกัดภาควิชาภูมิศาสตร์ ในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  เป็นผู้ที่ทำการศึกษาวิจัยด้าน "ภูมิประวัติศาสตร์"  เกี่ยวกับรัฐปัตตานี จนเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการว่าเป็นผู้รู้จริงในเรื่องนี้

       ศ.ดร.ครองชัย หัตถา  จบการศึกษาปริญญาเอก ด้านปฐพีวิทยา จาก ม.ก. เมือปี ๓๒

       ผมติดตามงานเขียนของอาจารย์มาตลอด มีอยู่หลายเล่มที่อาจารย์เผยแพร่ออกไปแล้วได้รับการอ้างอิงมากที่สุด เช่น เรื่องประวัติศาสตร์ปัตตานีตั้งแต่โบราณถึงยุค ๗ หัวเมือง มัสยิดกรือเซะ  อาณาจักรลังกาสุกะ และบทความอีกหลายเรื่อง ภูมิลักษณ์อ่าวปัตตานี  ได้การยกย่องเป็นอาจารย์ดีเด่น ปี ๓๒ นักวิจัยดีเด่นปี ๕๒

       ต่อไปนี้เป็นคำบรรยายที่ผมสรุปมาเล่าสู่กันฟัง  ถ้าเก็บประเด็นได้ไม่ครบ หรือผิดเพี้ยนไปจากที่บรรยาย ผมรับผิดชอบคนเดียวครับ

         อาจารย์บอกว่า ชื่อที่จั่วอาจน่าเบื่อ  ถ้าเป็นเช่นนั้นเท่ากับเป็นความพ่ายแพ้ แต่เราก็ชิน จะจบเมื่อไรก็ไม่กระเทือน แต่เราจะดูดายไม่ได้

         โดยการศึกษาในสถาบันของอาจารย์ อาจารย์ยอมรับว่าไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ การศึกษาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนก็เท่าๆกับคนอื่น  แต่สนใจประวัติศาสตร์ก่อนที่สถานการณ์ภาคใต้เกิดขึ้นเมื่อปี ๔๗ ศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับรายวิชาภูมิประวัติศาสตร์ ในหลักสูตรของคณะฯ

         แรงบันดาลใจเพราะมีเพื่อนชาวจีนมาตามหาอาณาจักรหลั่งยะซู  เมื่อชาวจีนคนนั้นกลับไปแล้ว จึงค้นคว้าต่อ

          อาณาจักรลังกาสุกะ หรือ อาณาจักรหลั่งยะซู  คือพี่/พ่อของปัตตานี  ก่อนที่จะเข้าสู่การปกครองของสยาม

          รัฐไทย ชื่อก็บอก  ในอดีตก็จะเป็นรัฐแบบชาติพันธุ์ แถบนี้นอกจากรัฐปัตตานี  มีรัฐสงขลา  รัฐปัตตานีก็มีสถานะเช่นเดียวกัน

          จึงไม่แปลกใจที่นักวิชาการยืนข้างไฟใต้ ไม่มีใครยืนข้างรัฐไทย

          ไฟใต้มีมานานแต่ติดๆดับ  แต่ปี ๔๗ เป็นต้นมา ติดลุกโชนไม่เคยหยุด

          สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีหลายวง  วงรอบนอกอย่างที่เห็นเป็นข่าวคือความรุนแรง  วงในสุดเป็นความรู้สึกว่าครั้งหนึ่งที่เป็นรัฐปัตตานี   การคิดปัจจุบันไม่ใช่เพื่อแยก แต่เป็นการขอคืน ดังที่มีเขียนบนถนนว่า "เอาแผ่นดินของกูคืนมา"  อาจารย์บอกว่าเคยพบการเขียนชนิดสดๆร้อนๆ หนีเข้าหมู่บ้านเห็นหลังไวๆ

          ปัญหาขณะนี้ เกิดจากความไม่ไว้วางใจ ดังมีคำพูดที่ว่า "ซีแยลาว"

          สถิติ เหยื่อเหตุการณ์ที่เสียชีวิต เป็นมุสลิม-พุทธ พอๆกัน ปัจจุบัน (2553) มุสลิมเริ่มมากกว่า

          การดำเนินการขณะนี้ ถ้ารัฐไม่รับผิด ไม่ขอโทษ ไฟใต้ไม่ดับ

          อย่างกรณีตากใบ ในรายงานบอกว่าตายเพราะขาดอากาศหายใจ จบเพียงบรรทัดนั้น โดยสรุป อากาศคือผู้ผิด

          อาจารย์บอกว่าท่านเป็นคนเดือนตุลา ๑๖ แต่ไม่ได้เป็นวีรชนเพราะไม่ได้ไปธรรมศาสตร์ในวันนั้น  จึงทนไม่ได้ที่เห็นเหตุการณ์แบบนี้  การได้ผ่านเหตุการณ์ตุลา 16 จึงทนได้กับการถูกตราหน้าว่าเป็น "ซีแย"

          ทนไม่ได้ที่สยามทำเป็นทองไม่รู้ร้อน  ไฟใต้ที่รัฐไม่เคยทำความเข้าใจ และเชื่อว่าจะไม่หยุดตราบใดที่ไม่เชื่อแบบอาจารย์  เพราะรัฐอื่นๆ เข้มแข็งกว่าปัตตานี เช่น รัฐนครศรีธรรมราช รัฐสงขลา  และมุสลิมที่นั่นก็มีความรู้สึกดีๆ กับสยาม ทั้งๆที่เคยมีสงครามต่อกัน

           เหตุทีเกิดขึ้น สงขลาจบด้วยดีเพราะพระนารายณ์มาปราบ จัดการกับผู้ถูกปราบอย่างดี โดยให้เป็นเจ้าเมืองอื่นๆ

           ปัตตานี แตกต่าง เพราะไม่ให้เกียรติกับคนที่หมดอำนาจ คนเหล่านั้นจึงก่อเหตุไม่หยุด

           จากที่ฝ่ายก่อการโฆษณาใช้คำว่า "ยึดครอง" รัฐไทยจะต้องอธิบาย  อาจารย์บอกว่าเคยเสนอให้พัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ปัตตานี แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากสยาม  ในขณะที่อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา  อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย สามารถดำเนินการได้

           ตัวอย่างมาเลเซีย มี musium ระดับอำเภอ   ผอ.ศอ.บต. (นายภาณุ อุทัยรัตน์)อดีตผู้ว่าปัตตานีเคยรับปากสมัยเป็นผู้ว่าฯ ปัตตานี ว่าจะให้ทำ musium แต่ตอนหลังเงินที่คิดว่าจะทำ musium เอาไปทำกิจกรรมส่งเสริมเลี้ยงปลาดุกเสียแล้ว

           มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยสถาบันวัฒนธรรมศึกษา  เคยคิดจะทำในสมัยอาจารย์สมบูรณ์ ธนะสุข เป็นผู้อำนวยการ  ก็ไม่สำเร็จ  อาจารย์เสนอว่า มอ.ควรทำ Musium ทำไมนักศึกษาไม่สนใจ

           อาณาจักรล้านนาดำรงอยู่และดับไปเหมือนปัตตานี แต่ล้านนาถูกจัดการที่แตกต่าง จึงเรียบร้อยจนถึงทุกวันนี้

           เคยมีป้าย "สยามยึดครองปัตตานี พ.ศ.๒๓๒๗" สะท้อนให้เห็นว่ารัฐไม่ทำให้รู้สึกเหมือนรัฐอื่น เช่น ล้านนา ถ้าขึ้นป้ายอย่างนี้ก็ถือเป็นความล้มเหลวของรัฐไทย ถ้าอยู่ใกล้ มอ.ก็ถือเป็นความล้มเหลวของ มอ.

           ภาษายาวี สีที่พ่นบนป้ายจราจรข้างถนน อ่านว่า"เมอเดก้าอัลฟาตอนี" แปลว่า "รัฐปัตตานีต้องได้รับเอกราช" แสดงว่ายังมีไฟใต้อยู่ แต่คำพูดของผู้บริหารที่ว่า"เดี๋ยวนี้สงบแล้ว" จึงเป็นคำพูดที่ยังห่างไกล

           ป้ายผ้าที่เขียนว่า "ฟาตอนีเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย" จึงถูกชูต่อหน้านายกรัฐมนตรีมาเลย์-ไทย  เพียงเพื่อต้องการฉีกหน้านายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์

           จากประวัติศาสตร์พบว่ามีการทำสัญญายกปัตตานีให้สยาม ยกสี่หัวเมืองให้อังกฤษ

           จึงกล่าวได้ว่าประวัติศาสตร์ปัตตานี จึงเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตอยู่

           นักรัฐศาสตร์จะต้องช่วยแก้ปัญหา  ประเด็นแรก ไม่จำเป็นต้องเป็นเขตปกครองพิเศษทั้งใน-นอกรัฐธรรมนูญ   เพราะถ้าแยกเขตปกครองเป็นรัฐปัตตานี คงต้องย้ายวัด ๒๘ วัด ที่ร่วมสมัยกับมัสยิดกรือเซะออกไป

            รัฐปัตตานีในอดีตเคยอยู่ร่วมกันมานานกับศาสนาอื่น  การแก้จึงควรทำให้เป็นธรรมเสีย

            เรื่องเหล่านี้จึงควรให้การศึกษา  ให้เข้าใจประวัติศาสตร์ปัตตานี ให้ทุกคนมีที่ยืน  ในทำนองเดียวกัน ถ้ารัฐไทยคิดว่าวัฒนธรรมอืนๆ ไม่ใช่ไทย  ปัญหานี้ก็ไม่จบ

            ประเด็นที่ ๒ คนที่ไปอยู่ที่อื่น เช่น ที่เคยถูกกวาดต้อนไปอยู่คลองแสนแสบ  จะเอากลับมาไหม

            ป้ายที่มีมือมืดแขวนไว้เขียนเป็นภาษามาเลย์ว่า  "kami akan tuntut hak kami dengan mati-matian" แปลได้ว่า  เราจะต่อสู้แม้สุดท้ายคือความตาย

           เคยแซวผู้บริหารหน่วยงานที่ชื่อ "ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ไฟใต้"  ว่าระวังอยู่หลายปีแล้ว  เมื่อไรจะดับสักที

           การให้ความรู้ ให้การศึกษาที่ถูกต้อง ให้ทัศนคติที่ดี คือ วงกลมชั้นในหรือให้แก่น จึงจะแก้ได้  ความรู้สึกเหล่านี้คือสิ่งที่จุดตรวจของหน่วยเฉพาะกิจแม้มีมากก็หาไม่เจอ เพราะจะไม่มีทางเจอความรู้สึกของคน  ทั้งที่ สงขลา ล้านนา ดับแล้ว แต่ปัตตานียังลุกโชน

           เพราะเราไม่เชื่อว่าคนในท้องถิ่นปกครองดูแลกันเองได้

           อาจารย์บอกว่าเคยไปถามความรู้สึกของคนที่โบกมือเมื่อทหารผ่าน  มี ๓ แบบ ๑)ดีมาก อุ่นใจ  ๒)โบกเพราะเป็นหน้าที่พลเมือง ถ้าไม่โบกจะถูกสงสัย  ๓) โบกเพื่อลุ้นว่าจะไปเจอระเบิดตรงไหน  ที่เคยมีระเบิดตำรวจ ทหาร ก็ฝังก็อยู่หน้าบ้านชาวบ้าน  เป็นไปได้หรือที่ชาวบ้านไม่รู้ไม่เห็น

           เมื่อเกิดทำร้ายกัน จึงเกิดเหตุเอาคืน ทั้งฝ่ายรัฐ-ไฟใต้  แล้วเมื่อไรจะจบ

           เคยอบรมประวัติศาสตร์ให้นักเรียน ในรอบปี ๕๒ จำนวน ๑๒ รุ่น ๖๐๐ กว่าคน  เคยอบรมประวัติศาสตร์ให้อุสตาด

          เคยอบรมให้เยาวชนในโครงการบันนังสตาร์โมเดล รู้ว่าเขาไม่อยากฟังแต่ต้องทำ เพราะรู้สึกว่าเราต้องรับผิดชอบต่อสังคม  เช่น เดียวกันกับที่อาจารย์ไม่เคยใช้ตรา มอ. บนปกหนังสือ เพราะต้องรับผิดชอบต่องานของเราเอง

          เหตุการณ์ความรุนแรง การฆ่าเชือดคอ จึงแสดงถึงความเจ็บปวดมาก แสดงถึงความแค้นที่มีมากมายนัก แต่รัฐแก้โดยการจัดมาอบรม รับเบี้ยเลี้ยงแล้วกลับ อย่างนี้เมื่อไรจะแก้ได้  ส่งเงินมาถม ๑.๔ แสนล้านในรอบเจ็ดปี จะแก้ไขได้อย่างไร

           หากจะแก้ไขให้ได้ ต้องแก้ให้ตรงจุด

           การที่อาจารย์ทำไปอย่างนั้น  อาจารย์บอกว่าจึงทำให้มีชื่ออยู่ที่ สมช. เพราะอาจารย์ถูกจับตาเป็นพิเศษ

           จากที่เคยศึกษาวิจัยพบว่ามัสยิดกรือเซะถูกสร้างสมัยลิ่มโต๊ะเคี่ยมยังอยู่เมืองจีน  จึงสรุปได้ว่ามัสยิดกรือเซะสร้างโดยช่างพื้นเมือง  แต่ประวัติศาสตร์ที่รู้กันอย่างปัจจุบันบอกว่ามัสยิดกรือเซะสร้างโดยลิ้มโต๊ะเคี่ยม  เพราะคนที่เขียนตำนานมัสยิดกรือเซะ คือขุนประดิษฐ์พจน์สารบาญ ซึ่งมีเชื้อสายจีน เขียนเมื่อประมาณ 60 ปีที่ผ่านมานี่เอง อาจารย์เชื่อว่าเจ้าแม่ไม่เคยสาบจริง

          ปัจจุบันคนจีนจึงต้องรับเคราะห์  เพราะคนจีนเชื่อว่าเจ้าแม่สาบแช่งบนแผ่นดินอัลเลาะห์  จึงเป็นการเอาน้ำมันราดลงบนกองไฟ  ความเชื่อนี้จึงบรรลุเป้าหมายของผู้ก่อการ

          ประวัติศาสตร์ที่ปรากฏอยู่จึงเป็นพลังขับเคลื่อนด้านลบให้ไฟใต้  ทั้งๆ ที่ประวัติศาสตร์ควรเป็นพลังขับเคลื่อนด้านบวก

          หนังสือที่ชื่อ "ปัตตานีในศรีวิชัยเก่ากว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์" สามารภกล่าวได้ว่าเป็นความเท็จ เพราะปัตตานีร่วมสมัยกับอยุธยา  เป็นหนังสือที่ใส่เชื้อเพลิงให้ไฟใต้  ทำเพื่อการค้า รับไม่ได้  รัฐแรกสุดในภาคใต้คือลังกาสุกะ ซึ่งเป็นอาณาจักรรุ่นเดียวกับสุโขทัย  อันดับสองคือตามพรลิงค์ ถัดมาคือศรีวิชัย

          การดับไฟใต้ให้ได้ รัฐชาติพันธุ์ ต้องไม่เกิด รัฐไทยต้องไม่สร้างให้รู้สึกว่าต้องเป็นเหมือนกันหมดจึงจะเป็นไทย  เพราะไม่เช่นนั้นไฟใต้ไม่จบ

หมายเลขบันทึก: 415881เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2010 00:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มิถุนายน 2012 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เนื้อหาดีนะคะ แต่รายละเอียดเราเองก็ไม่รูเหมือนกัน ขอบคุณที่เอามาลงให้อ่านค่ะ

     ผมใช้วิธีการโน้ตย่อด้วย notepad ขณะฟังน่ะครับ  ถ้าถอดเทป เชื่อว่าสำนวนอาจารย์ลื่นกว่านี้ครับ  ด้วยเหตุนี้สำนวนจึงห้วนๆ ตามประสาผมนั่นแหละ  แต่สาระที่จับประเด็นได้ขอยืนยันว่าครบถ้วนตลอดที่ท่านพูดประมาณ 1 ชั่วโมงครับ

         หลังจากผมบันทึกนี้เมื่อปลายปี 53   อีกเกือบ 2 ปี มีการบรรยาย "ปาตานี: จากประเทศนิวาสถานแห่งสันติสุขสู่จังหวัดปัตตานี" เมื่อ วันที่ 15 – 16 มิถุนายน 2555 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำให้เห็นอีกมุมในการพูดถึงประวัติศาสตร์ปัตตานี ที่หยิบยกเฉพาะช่วง ประมาณร้อยกว่าปีมากล่าวถึง  ไม่รู้จะกล่าวช่วงเหตุการณ์เพื่อให้ชอบธรรมหรือเปล่า  ทำไมนักประวัติศาสตร์ไม่พูดถึงประวัติศาสตร์สมัยอาณาจักi "หลังยะซู" หรือ "ลังกาสุกะ" ว่ามีชีวิตความเป็นอยู่และอารยธรรมอย่างไร มีอะไรแสดงร่องรอยของความเจริญบ้าง  ไม่เข้าใจจริงๆ  หรือว่าประวัติศาสตร์ปัตตานีมีแค่ย้อนกลับไปเพียงไม่เกิน 200 ปี  ทั้งๆ ที่พื้นที่แถบนี้เป็นที่ตั้งของ "อาณาจักรลังกาสุกะ" ซึ่งเจริญรุ่งเรื่องมาตั้งแต่ประมาณ พศ. 700-1400 ปี (คศ. 157 - 857)  การพูดถึงประวัติศาสตร์เพียงบางช่วงบางเวลาจึงดูจะไม่สอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อความเป็นไปให้ "สันติสุข"

      เดิมพื้นที่แถบนี้เป็นเมืองพุทธ  ยุคที่มีเจ้าเมืองเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม  พึ่งมีประมาณปี พศ.2000 (คศ 1457) หรือประมาณ 500 กว่าปีมานี่เอง คือ สมัยของ "พญาอินทิราราช" โอรสของราชาศรีวังสาแห่งเมืองโกตามหลิฆัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท