ชีวิตอินเทอร์น : เปิดหูเปิดตา


หยั่งรากการจัดการความรู้สู่ชีวิตชุมชน

 

   เมื่อวันนี้ ( ๒๘ ก.ค. ๒๕๔๙) ได้มีโอกาสติดตาม น้ำ และ จ๋า ไป "จับภาพ" อบต.วัดดาว  ที่อ.บางปลาม้า  จ.สุพรรณบุรี   ความคาดหวังในครั้งนี้ก็คือการตามไปดูกระบวนการจัดการความรู้ของ Best Practice อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ว่าการนำ KM ลงสู่ชุมชนมีลักษณะอย่างไร  และ Best Practice ในเรื่องแนวคิดในการสร้างให้คนในชุมชนเกิดการเรียนรู้ ของนายก อบต. วัดดาว  อ.บางปลาม้า  จ.สุพรรณบุรี  ที่ชื่อ ปะทิว รัศมี
 
 แยกถนนที่จะเป็นทางเข้าสู่วัดดาว อยู่ก่อนถึงแยกอำเภอบางปลาม้า วัดตั้งอยู่คนละฝั่งถนนกับโรงเรียน ใกล้กับโรงเรียนมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน  ทั้งวัดและโรงเรียนร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่  โครงการ" โรงเรียนผู้นำตำบลวัดดาว" ครั้งที่ ๓ เป็นเวทีการจัดการความรู้สู่การทำประชาคมอย่างมีส่วนร่วม  ที่มีผู้เข้าร่วมอบรมประมาณ ๓๕ คน  และมีสมาชิกจำนวนไม่น้อยที่ไปเข้าร่วมโครงการโรงเรียนผู้นำฯ มาแล้วถึง ๒ ครั้ง  ครั้งแรกเป็นหลักสูตรพลังกลุ่ม โดยใช้กิจกรรมพัฒนาศักยภาพ  จัดขึ้นที่อ.กำแพงแสน  จ.นครปฐม  ครั้งต่อมาเป็นกิจกรรมเสริมสร้างคุณธรรมของผู้นำ จัดขึ้นที่ที่เขาใหญ่  กระบวนการทั้งหมดนี้จัดขึ้นเพื่อให้ผู้นำ ทั้งที่อยู่ในสายปกครอง ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน  ผู้นำในสายสายบริหาร ได้แก่ สมาชิกอบต. และ ผู้นำตามธรรมชาติ ได้แก่ สมาชิกกลุ่มต่างๆที่มีอยู่ในตำบล ได้รู้จักกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีทักษะ และเกิดภาวะของความเป็นผู้นำชุมชนขึ้นในตนเอง เกิดผู้นำที่คิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น รักถิ่นฐานบ้านช่องของตน พร้อมที่จะนำพาสมาชิกของชุมชนไปในทางที่ดีงาม เป็นประชาคมที่เข้มแข็ง งานนี้จึงเป็นงานจัดการความรู้เพื่อการสร้างคนที่ส่งผลไปถึงความอยู่รอดของชุมชนในระยะยาว  เป็นงานยากที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย  สิ่งที่อาจารย์ทรงพล และ นายกฯ ลงแรงลงใจลงไปกับกลุ่มคนที่มีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำชุมชน (ที่ไม่ใช่ผู้นำที่ได้มาโดยตำแหน่ง) ก็คือการ"สร้างที่เหตุ" เพื่อให้เกิดผลที่ต้องการ  กระบวนการนี้จึงต้องมีความต่อเนื่อง ยาวนาน ตัวชี้วัดที่ได้จึงไม่ใช่แค่จำนวนครั้ง หรือจำนวนคน ที่มาเข้าอบรม แต่ปลายทางต้องวัดกันที่คุณภาพของคนที่เปลี่ยนแปลงไป

 เมื่อเป้าหมายอยู่ที่การสร้างคน กระบวนการจัดการความรู้ที่จัดขึ้นจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยหลักการที่ว่า การเรียนรู้ต้องมีส่วนร่วม  เมื่อใช้"เกมลูกบอลเป็นพิษ"มาสุ่มตัวอย่างเพื่อให้ได้คนที่จะออกมาบอกความคาดหวังของการเข้าร่วมโครงการในวันนี้แล้ว ก็ได้ทบทวนสิ่งที่ได้ร่วมทำกันไปแล้วในเวทีโครงการพัฒนาศักยภาพ ที่กำแพงแสน ด้วยการนำวีดิทัศน์มาฉายให้ดู เริ่มจากกิจกรรมการสำรวจจุดอ่อน จุดแข็งของตนเอง แล้วจึงเข้าสู่กิจกรรมหลัก ได้แก่กิจกรรม "แม่น้ำพิษ" ที่สอนให้เข้าใจเรื่องการทำงานเป็นทีม และการสื่อสาร / กิจกรรม "ตัวต่อมหาสนุก" และ กิจกรรม "สี่ทิศ" (หมี-กระทิง-เหยี่ยว-หนู)ที่สอนให้เข้าใจเรื่องความหลากหลายของคน / กิจกรรม "เดินฝ่าตะปู" ที่สอนเรื่องการไว้วางใจซึ่งกันและกัน / กิจกรรม "สายธารชีวิต" ที่สอนให้รับฟังกันและกันอย่างลึกซึ้ง / กิจกรรม "นั่งสมาธิ" และ "นอนพักตระหนักรู้" ที่สอนให้รู้จักกับสติ การออกจากความค้นชินเดิมๆ และการมีโอกาสได้ทบทวนตัวเองถึงสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว  เมื่อจบกิจกรรมนี้แล้ว อาจารย์ทรงพลก็ได้พาเข้าสู่คำถาม เราเป็นใคร / ใครเป็นใครในชุมชนของเรา / ทุน และทุกข์ ที่แท้จริงของหมู่บ้านของเราคืออะไร / ถ้าอบต.คือรัฐบาลของหมู่บ้าน ที่มีงบประมาณ รัฐบาลนี้มีความสามารถในการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ไหม / ท่านเคยคิดหรือไม่ว่าหมู่บ้านคือประเทศของท่าน ตำบลคือประเทศของท่าน / หมู่บ้านของท่านพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืนได้ หรือว่ากำลังจะล่มสลาย

 อาจารย์ทรงพลย้ำว่า เงิน และ ความรู้เป็นสิ่งที่ต้องมาคู่กัน ทุนความรู้คือสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว ต้องการเพียงการจัดระบบและการทำให้เป็นขั้นตอน ทำให้เห็นพลังที่มีอยู่แล้วในตัวเราและหาทางคิดต่อว่าจะสกัดออกมาอย่างไรให้เกิดประโยชน์แก่ตนและชุมชน  ปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วไปคือคนเดี๋ยวนี้"จนปัญญา" ถ้ามองจากวิธีคิด คนสมัยก่อนจะเริ่มด้วยคำถามเมื่อจะเริ่มลงมือทำอะไรสักอย่างว่า "มีปัญญาหรือเปล่า" ในขณะที่คนยุคนี้จะเริ่มด้วยคำถาม "มีเงินหรือเปล่า" และมักมองออกไปนอกตัว นอกชุมชน ไม่ค่อยเรียนรู้จากคนใกล้ตัว แต่คนที่เป็นผู้นำต้องรู้ก่อนว่าความรู้ของชุมชนมีอยู่ที่ไหนบ้าง ถ้ามีไม่พอค่อยหาจากข้างนอกเข้ามาเพิ่มเติม
 
 จากนั้นอาจารย์ก็ได้ให้สมาชิกแบ่งกลุ่มย่อยระดมสมอง โดยมีโจทย์คือ ให้กลุ่มคุยถึง"ความรู้และความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเอง" แล้วเตรียมนำเสนอในภาคบ่าย เพื่อให้ทุกคนได้โอกาสในการฝึกคิด ฝึกพูด ฝึกฟัง  หลังจากที่นำเสนอแล้วก็ดูวีดิทัศน์ทบทวนกิจกรรมคุณธรรมของผู้นำที่ไปร่วมฝึกฝนด้วยกันมาที่เขาใหญ่ จากนั้นเข้าสู่การคิดโจทย์สุดท้ายคือ "ประชาคมหมู่บ้านที่ดี หน้าตาเป็นอย่างไร เทียบเคียงกับมะนาวดี ดูที่ตรงไหน"  เมื่อทุกกลุ่มนำเสนอแล้วอาจารย์ก็สรุปของทุกกลุ่มว่า หากต้องการผลคือ ได้ข้อสรุปที่พึงใจ  ผู้เข้าร่วมอยู่ตลอดรายการ  ผู้เข้าร่วมพอใจกับการประชุม ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งจบ   ต้องสร้างเหตุคือ ผู้จัดต้องชัดเจน และมีการเตรียมความพร้อม  ต้องทำให้ผู้เข้าร่วมได้รับทราบอย่างทั่วถึง และเห็นประโยชน์ของการมีส่วนร่วมในที่ประชุม  สุดท้ายต้องมีการเตรียมเนื้อหา กระบวนการ วิธีการพูดคุย สถานที่ และ บรรยากาศให้พร้อมด้วย  อาจารย์กล่าวปิดท้ายไว้ว่า ตอนนี้ทุกคนมีความรู้ มีทักษะในการเป็นผู้นำที่ดีกันบ้างแล้ว   มีเงินงบประมาณสนับสนุนจากอบต.  มีพี่เลี้ยงคือสรส. ที่จะมาคอยแนะนำให้รู้วิธีการหาข้อมูล การอ่าน การใช้ และการวิเคราะห์ข้อมูล สอนให้เขียนโครงการ และพาทำไปด้วยกันบ้างในบางช่วง  เพื่อจะช่วยกันสร้างให้ทุกท่านให้มีความมั่นใจที่ช่วยกันสร้างประชาคมที่มีความเข้มแข็งขึ้นมาด้วยตัวของท่านเอง

 เป็นประสบการณ์ล้ำค่าจริงๆที่ได้มาเห็นวิธีการหยั่งรากการจัดการความรู้สู่ชีวิตชุมชน ที่ทั้งอาจารย์ทรงพล นายก อบต. และกลุ่มผู้นำชาวบ้าน มารวมกันเป็นสามประสาน และต่างก็เป็นมิตรที่มีพันธะต่อกันในการสร้างประชาคมให้มีความเข้มแข็ง  และแกร่งพอที่จะกำหนดทางเดินชีวิตของตนให้ก้าวไปบนเส้นทางของความยั่งยืนโดยใช้การจัดการความรู้เป็นฐาน

 

หมายเลขบันทึก: 41475เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2006 13:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 00:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แอบย่องมาเพื่อเรียนรู้...เรื่องราวดีๆจากเรื่องเล่า...

และนำไปปรับใช้...กับตนและองค์กร...

ขอบพระคุณนะคะ...สำหรับคลังความรู้คลังนี้ที่มาบอกเล่า...

  • เพิ่งตามมาเก็บเกี่ยว หลังจากพบตัวจริง ที่  มมส. ซึ่งท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ ชมมากว่า เยี่ยมมาก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท