นับดาวเรียนรู้ KM ปฏิบัติ ดวงที่ 3


ส่องกล้องนครศรีฯ เรื่อง KM กับ HRD

            ในงาน มหกรรม KM ราชการไทย ก้าวไกลสู่ LO สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียน รับหน้าที่ เป็นคุณลิขิต ในห้องประชุม C ภาคเช้า ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง มีคุณธวัช หมัดเต๊ะ จาก สคส. เป็นผู้ดำเนินรายการ ลปรร.ประเด็น  KM กับการพัฒนาบุคลากร (HRD) ของ จังหวัดนครศรีธรรมราช  

             ซึ่งในเวทีมีตัวแทน KM ได้แก่ คุณเอื้อ คือ ท่านผู้ว่าฯ วิชม    ทองสงค์   คุณอำนวย คือ อาจารย์จำนง    หนูนิล   และคุณกิจ คือ คุณพัชณี    พนิตอังกูร เป็นวิทยากรเล่าเรื่อง KM ในกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง ของจังหวัดในมิติของ HRD...

             ผู้เขียนได้สัมผัส ทีมงานในเวทีนี้เป็นครั้งแรก และยินดีกับภาคราชการ และชุมชน ที่ได้บรรลุผลสำเร็จ มีความภาคภูมิใจ มีกำลังใจ ที่จะพัฒนายกระดับต่อไป และยังถ่ายทอด ให้บุคคลอื่น กลุ่มอื่นพลอยมีกำลังใจไปด้วย เนื่องจาก การที่คนทุกคนมีทักษะ KM ก็เป็นส่วนหนึ่ง ของ Learning Organization (เขาว่ากันอย่างนั้น)    ดังนั้น ราชการไทย คงไม่ไกลเกินฝันที่วาดไว้   สำหรับประเด็นเรื่องเล่า อีกไม่นานคงหาอ่านได้ ในรายงานสรุปฯจาก สคส. ที่มีทีมทำงานอยู่แล้ว 

             ในที่นี้ผู้เขียนขอ ส่องกล้อง วิทยากร ดีกว่านะคะ     รวมถึงการทำหน้าที่บันทึกเรื่องเล่าของตนเอง ...ผู้เขียนเพ่งสมาธิไปที่ การจดแบบสกัดเรื่องเล่า เวลานั้น เราสนุกกับการฟัง แทบจดตามไม่ทัน ยังไม่มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ เกิดขึ้นทันที เพราะ เวลาน้อย เนื้อหาเยอะ และเป็นเรื่องใหม่ ผู้เขียนบันทึกได้ 10 แผ่น เมื่อนำมาสรุปงานส่ง จึงเกิดการมองแยกแยะ และมองรวบยอด และคิดต่อไปพร้อมกัน เป็นที่มา ของบันทึกนี้ค่ะ  

             ผู้เขียนประทับใจทุกท่าน   ในบทบาท KM ที่ท่านเล่นอยู่ (Competency เหมาะสม)    ทุกท่าน เล่าบนพื้นฐานของความจริง ไม่ได้สวยหรูอะไร   แต่มองหาช่องทางเป็น   ถึอว่า เป็นการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ให้ความสำคัญกับ การจัดตั้งทีมงาน เน้นเรื่องคนดีเป็นที่ยอมรับของชุมชน จะเป็นแกนนำประสานชาวบ้าน  พัฒนาชาวบ้านได้   บางครั้งท่านผู้ว่าฯต้องไปพูดปลุกระดม ชาวบ้านให้มอง ท่านทำถูกและคงทำได้ดี(ท่านพูดเชื่อมโยงเหตุผลได้ดี และสรุปจับประเด็นได้ดี เจาะใจกลาง...)ในฐานะผู้นำ   ที่สำคัญทีมวิทยากร ไม่ละเลย ที่จะเอ่ยถึง เพื่อนร่วมทีมงาน ที่คงจะมีบทบาทสำคัญในความสำเร็จ แต่ไม่ได้มาในที่นี้  เช่น ปราชญ์ชาวบ้านเครือข่ายยมนา ทีมนักวิชาการ จากงานการศึกษา ที่คอยให้ความช่วยเหลือ เพื่อความมั่นใจว่า จะไม่เดินหลงทาง นี่คือ การไม่เอาหน้า ย่อมเกิดทีมเวอร์คที่ดี จริงๆ ท่านเอ่ยถึงหมด  ผู้เขียนคิดเช่นนั้น

             แต่ผู้เขียนเอง ที่ไม่นำมาเอ่ยทั้งหมด เพราะเราฟังต่อ ก็หลุดหายไปบางส่วน สกัดเฉพาะเด่นมา  ทุกท่านเล่าด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นสุข จนเราสัมผัสได้ แม้ในเรื่องเล่า  จะมีที่มาของปัญหา เช่น ความยากจนของชาวบ้าน  การที่ชาวบ้านพึ่งตนเองไม่เป็น และการดูงานของทีมทำงานแบบดูไม่เป็น (ทำลายกำลังใจตนเอง ไม่เกิดพลังความคิด) เป็นต้น ขณะนี้ ก็ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งทางนครศรีฯ ก็ขอเสนอแนะ แลกเปลี่ยน ในที่ประชุม ไม่น่าแปลกเลย ที่จบการประชุมแล้ว ไม่มีข้อเสนอแนะเลย

             แต่ผู้เขียนมี... ถ้าได้สัมผัสพื้นที่ก็จะมีข้อเสนอแนะที่ชัดเจนกว่านี้    ในที่นี้ ผู้เขียนจะนำเสนอในลักษณะการวิเคราะห์ และเล่าความนึกคิดของผู้เขียนเท่านั้น  

             ผู้เขียนเคยเจอท่านอาจารย์นักวิชาการชาวภาคใต้ท่านหนึ่งจากสงขลา ในเวทีวิทยุชุมชน ท่านยกประเด็นว่า "รู้ไหม ทำไม นครศรีธรรมราช จะไม่มีวันแตกแยก และรวมอยู่ได้ ?"   คนในโต๊ะอาหาร มองท่านงงๆ ท่านจึงบอกว่า  "เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาเป็นศูนย์รวมจิตใจ คือ วัด...และพระธาตุ..."   ผู้เขียนยิ้ม แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านอีก 2-3 ประโยค

             ในเวทีครอบครัวเข้มแข็ง ก็มีปราชญ์โดดเด่นหลายท่าน ที่มาจากภาคใต้ ผู้เขียนถามท่านหนึ่งจากจังหวัดตรัง ว่า "ท่านสร้างทายาททางความคิดหรือยัง?" ท่านตอบยิ้มๆ ช้าๆ ว่า "มีแล้ว" ผู้เขียน จึงสนับสนุนว่า "ดีค่ะ" ในกลุ่มนี้ผู้เขียนพบว่า เด่นหลายท่าน แตกต่างกันไป

             ถ้ารวมไปถึง เวทีวิทยุชุมชน ผู้เขียนมองเชิงสถิติ ว่า ภาคใต้มีกลุ่มคนที่คิดลึกซึ้งเยอะที่สุด ที่ผู้เขียนสุ่มตัวอย่าง ใน 3 เดือนนี้ อีกกลุ่ม คือ น่าน ที่รวมทีมได้อย่างมหัศจรรย์ ด้วยใจ จากหลากหลายอาชีพในชุมชน เพื่อรักษา ชุมชน ให้ลูกหลาน ได้อยู่อย่างเป็นสุข แน่นอนว่า มีเสนาธิการระดับต้องยกนิ้วให้

             ตอนรถตู้จากน่าน ซึ่งทีมครอบครัวรักลูกจ้างภายในกันเอง  ให้ส่งผู้เขียนในฐานะทีมวิทยากร (จาก สคส.) เดินทางจากชะอำถึงบ้านที่กรุงเทพฯ ผู้ เขียนจึงได้คุยกับคนขับรถ ว่า "ที่น่าน มีศูนย์รวมใจอะไร?" คำตอบหนีไม่พ้น "พระธาตุ"  เขาคุยให้ฟังถึงความสุขในการอยู่ที่น่าน  ...เงินไม่ค่อยสำคัญ ในขณะที่ ที่กรุงเทพฯ อะไรก็เป็นเงินไปหมด เราต้องจ่ายค่าทางด่วนในวันนั้น หลายด่านมาก รวมเงิน เป็น ร้อยบาทขึ้นไป เพื่อซื้อเวลา   ผู้เขียนจึงบอกเขาว่า.... เด็กกรุงเทพฯ 1 บาท จะไม่ยอมจ่าย จะบอกว่า ไม่มีเศษ มีแบงค์ใหญ่ ขอเพื่อน แต่คนต่างจังหวัด ไม่มีเงิน มากรุงเทพฯ จะไปไหน ควักจ่ายค่ารถ ได้เป็นร้อยบาท ห้าร้อยบาท โดยไม่เสียดาย ทั้งที่อยู่บ้านนอก ไม่ค่อยใช้เงินกันนัก

             คล้ายกับพื้นที่ ที่ยังคงธรรมชาติ มีศูนย์รวมจิตใจ และมีคนดี ก็จะเกิดสิ่งที่ดีงาม งอกเงยต่อไป... เปรียบกับ ในเวทีนวัตกรรมหุ้นส่วนฯ ที่ผู้นำชาวบ้าน มาเล่าให้ฟังว่า ศูนย์รวมใจถูกย้ายสถานที่ ถูกทำลาย เป็นเหตุให้ เชื่อว่า เป็นที่มาของ ความแตกแยกของชาวบ้านต่างหมู่บ้าน เกิดปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย เช่น มลพิษ แต่ปัจจุบัน ก็ลุกขึ้นมารวมตัวแก้ไขกันเอง ช่วยตนเอง โดยใช้ KM เช่นกัน

             ...อาจมีอีกหลายมิติธรรมชาติที่มองมนุษย์โลกอย่างเรา ว่ากำลังคิดอะไร? และทำอะไร? กันอยู่นะคะ เพื่อจะได้...ให้...เราอย่างเหมาะสม

หมายเลขบันทึก: 41429เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2006 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • เชื่อว่าศูนย์รวมจิตใจของแต่ละจังหวัดสำคัญมากครับ เหมือนกับศูนย์รวมจิตใจของคนไทยของเราตอนนี้ครับ
ถ้าเราช่วยกันค้นหา ในทุกระดับของโครงสร้างสังคม   รวมถึงการพัฒนาตนเองกัน จนไปยืน ณ จุดศูนย์รวมได้  ก็คงดีไม่น้อยนะคะ  สังคมไทย คงยั่งยืน มั่นคง และแข็งแรง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท