ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง
นาย ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง (เอ) หลักเมือง

กศน.อำเภอเมืองประจวบฯ ร่วมพิธีประดับเหรียญกล้าหาญบนธงชัยเฉลิมพล กองบิน ๕


พิธีประดับเหรียญกล้าหาญบนธงชัยเฉลิมพล กองบิน ๕ และวางพวงมาลาอนุสาวรีย์วีรชนฯ

พิธีประดับเหรียญกล้าหาญบนธงชัยเฉลิมพล กองบิน ๕            จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และพิธีวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์วีรชน        ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ 

           เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ นายศุภัชณัฏฐ์  หลักเมือง ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอเมือง-ประจวบคีรีขันธ์ และบุคลากร กศน.อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ได้ร่วมพิธีพิธีประดับเหรียญกล้าหาญบนธงชัยเฉลิมพล กองบิน ๕ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  และพิธีวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์วีรชน ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔   ที่นับเป็นหน่วยทหารสังกัดกองทัพอากาศหน่วยแรก ที่ได้รับพระราชทาน      เหรียญกล้าหาญประดับบนธงชัยเฉลิมพล โดยประธานในพิธี คือ พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เกียรติประวัติของวีรชน ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔  ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขณะที่ฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายอักษะกำลังโรมรันต่อสู้กันในภาคพื้นยุโรป อยู่นั้น ญี่ปุ่นได้ถือโอกาสประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ เปิดฉาก รุกรานประเทศในแถบเอเชีย และแปซิฟิก โดยถือเอาวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ เปิดฉากสงครามรุกคืบหน้าพร้อมกัน ทั่วทั้งภูมิภาค สำหรับประเทศไทยก็หาได้รอดพ้นจากการรุกรานครั้งนี้ญี่ปุ่นได้ยื่นคำขาดขอเคลื่อนทัพผ่านประเทศไทย เพื่อเป็น ทางผ่านไปพม่าและมาลายู แต่ญี่ปุ่นไม่รอคำตอบที่ยื่นขอต่อ รัฐบาลไทยโดยได้เคลื่อนกำลังทางบกรุกเข้าทางด้าน อรัญประเทศ และกำลังทางเรือยกพลขึ้นพร้อมกันใน ๖ จังหวัดชายทะเลภาคใต้ คือ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี ญี่ปุ่นปฏิบัติการจู่โจมแบบสายฟ้าแลบ ท่ามกลางความเงียบสงัดของเช้ามืดของ วันที่ ๘ ธันวาคม เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์สงครามได้อุบัติขึ้น ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กำลังทหารญี่ปุ่น ๑ กรมผสม เดินทาง    โดยเรือรบทอดสมอหลบอยู่ด้านหลังเขาล้อมหมวกเพื่อเตรียมยกพลขึ้นบกยึดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และกองบินน้อยที่ ๕ เพื่อเป็นเส้นทางเดินทัพผ่านเข้าประเทศพม่าทางช่องทางด่านสิงขร ณ. เวลาประมาณ ๐๔.๐๐ น. กำลังของข้าศึกได้เข้าประชิดถึงตัวแล้วจึงทราบว่าเป็นกำลังทหารของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ เวลาประมาณ ๐๕.๐๐ น. กำลังทหารฝ่ายญี่ปุ่นพยายามเข้ายึดพื้นที่ จึงเกิดการสู้รบขั้นตะลุมบอน กำลังทางอากาศของกองบินน้อยที่ ๕ พยายามนำเครื่องบิน จำนวน ๗ เครื่อง บินขึ้นทำการต่อสู้และถูกขัดขวางจากข้าศึก มีเพียง พ.อ.อ.แม้น ประสงค์ดี สามารถนำเครื่องบินแบบฮอร์ค ๓ ขึ้นบินเป็นผลสำเร็จ แต่ไม่สามารถทิ้งระเบิดเพื่อทำลายเรือฝ่ายญี่ปุ่นได้ เนื่องจากสภาพอากาศไม่อำนวยมีเมฆฝนปกคลุม จึงนำเครื่องบินไปลงที่สนามบินบ่อฝ้าย       อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ส่วนกำลังภาคพื้นยังมีการสู้รบกันอย่างหนัก วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๘๔ เวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น.    ผู้บังคับการกองบินน้อยที่ ๕ ได้ประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่าเป็นรองฝ่ายญี่ปุ่นในทุกด้าน จึงสั่งให้เผากองรักษาการณ์และคลังน้ำมัน เพื่อมิให้ฝ่ายข้าศึกใช้ประโยชน์แล้วรวบรวมกำลังพลที่เหลือพร้อมทั้งครอบครัวไปรวมกันที่เชิงเขาล้อมหมวกใช้เป็นที่มั่นสำรอง และให้ส่งเสียงไชโยโห่ร้องดังกึกก้องประดุจว่าทางราชการได้ส่งกำลังทางเรือมาช่วยเสริมกำลังให้ ทำให้ฝ่ายทหารญี่ปุ่นล่าถอยไปตั้งมั่นอยู่     เพราะเกรงว่าจะตกอยู่ในวงล้อมของฝ่ายไทย วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๘๔ เวลาประมาณ ๑๒.๐๐ น.   ร.ต.ท.สงบ พรหมรานนท์ พร้อมด้วยบุรุษไปรษณีย์พยายามนำโทรเลขของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารสูงสุด แจ้งกับผู้บังคับกองบินน้อยที่ ๕     ให้ทราบว่าทางรัฐบาลยินยอมให้ฝ่ายญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไปยังประเทศพม่าได้    แต่ ร.ต.ท.สงบ ฯ ถูกกระสุนปืนจากการสู้รบเสียชีวิต ทางจังหวัดจึงได้สั่งให้บุรุษไปรษณีย์ว่ายน้ำนำโทรเลขจากอ่าวประจวบไปขึ้นที่บริเวณเชิงเขาล้อมหมวกและสามารถส่งโทรเลขได้เป็นผลสำเร็จเมื่อเวลา ๑๓.๐๐ น. เหตุการณ์สู้รบจึงยุติลงเวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น. กำลังพลของกองบินน้อยที่ ๕ และของฝ่ายญี่ปุ่นได้รวมพลที่บริเวณสนามบิน    เพื่อปรับความเข้าใจซึ่งกันและกันพร้อมทั้งสำรวจความเสียหายของทั้งสองฝ่าย

ภายหลังการสู้รบ ฝ่ายทหารญี่ปุ่นซึ่งมีกำลังมากกว่าถึง ๑๐ เท่า เสียชีวิต ๔๑๗ คน ในขณะที่     ฝ่ายไทยเสียชีวิต ๔๒ คน ซึ่งประกอบด้วยทหารอากาศ ๓๘ คน ยุวชนทหาร ๑ คน ตำรวจ ๑ คน และ ครอบครัว ๒ คน เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติในวีรกรรมการต่อสู้อันห้าวหาญของนักรบแห่งกองบินน้อยที่ ๕ ซึ่งยอมเสียสละชีวิตเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทย กองทัพอากาศจึงได้สร้าง อนุสาวรีย์ “วีรชน ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔“ บริเวณที่เกิดการสู้รบ ณ กองบิน ๕ ในปัจจุบัน โดยสร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อ ๖ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ และกองทัพอากาศได้พัฒนาปรับปรุงให้มีความสง่างามยิ่งขึ้นในพื้นที่เดิมเสร็จเรียบร้อยเมื่อ ๘ ธันวาคม ๒๕๓๒ โดยมี ผบ.ทอ.เป็นประธานประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์ พร้อมทั้งได้ประกอบพิธีบรรจุอัฐิวีรชน ซึ่งอัญเชิญมาจากอนุสาวรีย์ ทอ.ในโอกาสเดียวกันนี้ด้วย เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่อนุชนรุ่นหลังสืบไป และในวันที่ ๘ ธันวาคมของทุกปี กองทัพอากาศได้กำหนดประกอบพิธีวาง    พวงมาลาและสดุดีวีรกรรม ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ณ อนุสาวรีย์ และบำเพ็ญกุศลแด่วีรชนผู้ล่วงลับโดยมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพอากาศ ส่วนราชการต่างๆ ตลอดจน พี่น้องประชาชนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มาร่วมพิธีรำลึกถึงและสดุดีเหล่าวีรชนเป็นประจำทุกปี.

 

หมายเลขบันทึก: 413693เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2010 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีปีใหม่ค่ะ

                 

สวัสดีปีใหม่ค่ะ

            ปีใหม่  ๒๕๕๔  นี้  ขอให้ท่านมีความสุข สมหวังตลอดปีนะคะ

E-card

ขอคุณมากครับคุณยาย สวัสดีปี ๒๕๕๔ ขอให้ครอบครัวมีแต่ความสุข คิดหวังสิ่งใดขอให้สมปรารถนาครับ

ขอบคุณมากครับครูอี๊ด สวัสดีปี ๒๕๕๔ ขอให้ครูอี๊ดและครอบครัวมีแต่ความสุข คิดหวังสิ่งใดขอให้สมปรารถนา เช่นกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท