ตะเรงปรอเต๊ะกัมพูเจีย.......( 3 )


ยิ่งกษัตริย์พระองค์ใดสร้างปราสาทได้ใหญ่และจำนวนมาก ยิ่งแสดงถึงบุญญาบารมี

           เมื่อตอนที่ 2 นั้นได้ชมปราสาทสมโบร์ไพรกุก ซึ่งเป็นปราสาทโบราณยุคแรกๆ   ที่จังหวัดกำปงธม ตอนนี้เรามาอยู่ที่จังหวัดเสียมเรียบ ซึ่งเป็นเมืองที่มีปราสาทหินมากที่สุด จึงเป็นเมืองที่ชาวต่างชาติมาเยี่ยมมากที่สุด รายได้ส่วนใหญ่ของประเทศก็มาจากการท่องเที่ยวที่เมืองนี้ เศรษฐกิจจึงคึกคักเป็นพิเศษ มีโรงแรมมากมายหลายระดับทั้งของชาวกัมพูชาและต่างชาติ         
          
เช้าวันนี้จึงรู้สึกตื่นเต้นดีใจเพราะจะไปชมปราสาทหินอันยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นโปรแกรม high light ของ trip นี้ทานอาหารเช้าที่โรงแรมเป็นบุฟเฟ่ต์ที่ได้มาตรฐานพอสมควร มีทั้งข้าว อาหารเช้าแบบอเมริกัน ผลไม้ อิ่มหนำสำราญดี         
          
การไปชมโบราณสถานในเมืองเสียมเรียบนั้นเราต้องซื้อบัตรแบบเหมา คือ ชม
เป็นเวลา 1 วันหรือมากกว่านั้น จะเข้าชมกี่แห่งก็ได้ กี่ครั้งก็ได้ในจำนวนวันตามบัตรนั้นๆ สำหรับทัวร์ทั่วไปก็ชม 1 วัน ราคา 20 ยู.เอส. ดอลล่าร์ บัตรจะหุ้มด้วยซองพลาสติก มีเชือกห้อยต้องเอาคล้องคอไว้ตลอด เมื่อไปโบราณสถานใด เจ้าหน้าที่ก็จะมาตรวจและตัดมุมบัตรออกไป ไปอีกแห่งก็ตัดมุมอื่นออกไปอีกเรื่อยๆ  
           โบราณ
สถานแห่งแรกที่จะไปชมคือ นครธม ห่างจากตัวเมืองไม่ไกลนัก ไกด์ประจำทัวร์มีหัวหน้าไกด์คนไทย และไกด์ชาวกัมพูชา ทางรัฐบาลบังคับให้ต้องใช้ไกด์ชาวกัมพูชา ยกเว้นนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีซึ่งมีมากเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากไกด์ชาวกัมพูชายังพูดเกาหลีไม่ได้  รัฐบาลกำลังเร่งรีบอบรมภาษาเกาหลีอยู่  ไกด์ของคณะเป็นหญิงกัมพูชาเชื้อสายจีน เธอชื่อ สรัยเนียง ( สรัย = ผู้หญิง,เนียง = นาง ) เคยมาอบรมในไทย เธอบอกว่ามีชื่อไทยให้เรียกเธอว่า มะลิ พูดภาษาไทยได้ดีพอสมควร เธอเป็นไกด์ที่ติดอันดับ top five สำหรับทัวร์คนไทย         
          
คุณมะลิเธอบอกว่าคนกัมพูชาไม่ชอบให้เรียกคนและประเทศของเขาว่าเขมร
เพราะเป็นเสียงที่คนไทยเรียกเพี้ยนไปเอง ของเขาคือ ขแมร์ ( Khmer ) แต่อยากให้เรียกว่า กัมพูเจีย มากกว่า  สำหรับบันทึกนี้ก็ขอใช้แบบไทยๆ ตามภาษาของเราต่อไปก็แล้วกัน
           กษัตริย์เขมรสมัยโบราณนั้นดั้งเดิมนับถือศาสนาฮินดูตามอิทธิพลที่ไปจากอินเดีย และประชาชนก็ต้องนับถือตามด้วย ศาสนาฮินดูนั้นมีพระผู้เป็นเจ้าอยู่ 3 องค์ คือ พระศิวะ ( หรือพระอิศวร ) พระพรหม และพระวิษณุ ( หรือพระนารายณ์ ) โดยส่วนใหญ่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่ ส่วนน้อยนับถือพระวิษณุเป็นใหญ่ เพราะตามความเชื่อทั้งสององค์นี้ให้โทษให้คุณต่อมนุษย์ได้  และกษัตริย์เขมรนั้นเป็นสมมุติเทพ ซึ่งทางเราก็เอามาใช้ภายหลังในสมัยอยุธยา  
         
พระนามกษัตริย์เขมรสมัยโบราณก็ใช้ซ้ำๆ กันโดยเรียงลำดับตามตัวเลขต่อท้าย ตามแต่พระองค์ใดใช้ก่อน สลับสับเปลี่ยนแข่งกันครองราชย์กันหลายราชวงศ์ กษัตริย์ทุกพระองค์ต้องสร้างปราสาท
       ยิ่งกษัตริย์พระองค์ใดสร้างปราสาทได้ใหญ่และจำนวนมากยิ่งแสดงถึงบุญญาบารมี          
         
นครธม นั้นภาษาเขมรเรียกว่า อังกอร์ ธม
( Angkor Thom )  อังกอร์ แปลว่าเมือง  ธม แปลว่าใหญ่ ก็คือเมืองใหญ่นั่นเอง สมัยโบราณเคยเป็นเมืองหลวง  ประกอบ  ด้วยปราสาทหินหลายแห่ง พระราชวัง วัด บ้านเรือนราษฎร แต่เมื่อหมดยุครุ่งเรือง ก็ถูกปกคลุมด้วยป่าเหมือนกันทุกปราสาท ภายหลังถูกค้นพบและบูรณะเฉพาะโบราณสถานบริเวณรอบๆ ส่วนใหญ่จึงยังเป็นป่า ปราสาทหินเหล่านี้  ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย แต่เป็น ศาสนสถาน สร้างด้วยหินจึงยังคงอยู่ให้เห็นได้บ้างในปัจจุบัน          
        
เมืองโบราณนครธมนั้นมีทางเข้าหลายทาง ที่นิยมเข้ากันนั้นคือทางด้านทิศใต้ เป็นสะพานหิน สองข้างเป็นหินสลักรูปเทพและอสูรเรียงเป็นแถว กำลังฉุดดึงตัวพญานาค คนละข้างเพื่อกวนเกษียรสมุทร โดยเทพอยู่ทางซ้าย ส่วนอสูรอยู่ทางขวา  ทางเข้าทิศใต้นี้ยังมีรูปสลักหลงเหลืออยู่สมบูรณ์กว่าทางทิศอื่นๆ ซึ่งถูกตัดขโมยไปมาก
โดยเฉพาะส่วนศีรษะ         
        
เมื่อเข้าเขตเมืองโบราณแล้วก็ไปชมปราสาทที่ใหญ่ที่สุดของนครธม คือ ปราสาทบายน  ซึ่งถ้าใครไม่ได้มาชมปราสาทนี้ก็เหมือนไม่ได้มาถึงนครธม สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่
7 ( .. 1181-1220 )  เป็นช่วงที่เจริญรุ่งเรืองมาก แลเห็นตัวปราสาทใหญ่โต มีระเบียงรอบปราสาท สลักหินเป็นรูปชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนครธมในสมัยนั้น ทั้งกิจการงาน การทำมาหากิน พิธีกรรม งานเลี้ยง กีฬา ฯลฯ    รวมทั้งสงครามในทะเลสาปน้ำจืดกับกองทัพจาม รบชนะขับไล่พวกจามออกไปได้ สลักรายละเอียดมากมาย น่าทึ่งมาก ! ดูกันไม่หวาดไม่ไหว          
         
ปราสาทบายนนี้ไม่ใช่เทวสถาน แต่เป็นวัดหลวงเนื่องจากพระเจ้าชัยวรมันที่
7 เปลี่ยนจากนับถือศาสนาฮินดูเป็นศาสนาพุทธ มียอดปราสาทมากมาย  บนยอดเป็นรูปพระพรหมสี่หน้า โดยราษฎรจะดูเป็นพรหมพักตร์ ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู หรือดูเป็นพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์ ตามศาสนาพุทธนิกายมหายาน หรือจะดูเป็นพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เองก็ได้  ถ้าเป็นสมัยปัจจุบันก็ต้องถือว่าพระองค์ท่านทรงดำเนินนโยบายแบบสมานฉันท์  
        
ปราสาทบายนนี้ราษฎรยินดีร่วมแรงสร้างด้วยศรัทธาต่อศาสนาและกษัตริย์ ในสมัย
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างปราสาทไว้มากที่สุด ถือว่าเป็นกษัตริย์เขมรที่ใช้หินเปลืองที่สุด !
         ยอดปราสาทรูปพระพรหมสี่หน้านี้มีมากมายทั้งชั้นนอกชั้นใน มีรอยยิ้มอันสงบเราดูแล้วรู้สึกถึงอุดมคติทางศาสนา เรียกกันว่า รอยยิ้มแบบบายน  ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์เฉพาะอันโด่งดังของปราสาทนี้ ผู้คนจึงพากันถ่ายรูปและ พยายามยิ้มให้เหมือนรูปสลักหินด้านหลังกันใหญ่!
        
ภายในทางเดินปราสาทมีรูปสลักนางอัปสร หรือที่เราเรียกว่านางฟ้า เขมรเรียกนางอัปสรา มีความสวยงามแต่ละปราสาทไม่เหมือนกัน ใช้เวลาเดินชมแบบไม่พอประมาณก็เกือบ 2 ชั่วโมง โดยรวมเวลารอและแย่งวิวกันถ่ายรูปด้วยแล้ว ปราสาทบางส่วนอยู่ระหว่างการบูรณะ แต่เท่าที่เห็นก็สวยงาม สูงส่งด้วยศิลปะและวัฒนธรรม ประทับใจเราเป็นอย่างยิ่ง  นักท่องเที่ยวจึงมากันตรึมสารพัดชาติจากทั่วโลก   เดินกันให้ว่อนเต็มปราสาทไปหมด !
         
เชิญชมภาพให้ซาบซึ้ง......   

                 

                                      ปราสาทบายน

                       

                                    ยิ้มแบบบายน
                เอื้อเฟื้อภาพโดยคุณ Black Willy...thanks a lot! 
   
                      

                                 ภายในปราสาทบายน 

                        

                               นางอัปสราที่ปราสาทบายน 

                     

                                 การรบทางน้ำกับพวกจาม

                   

                       ไกด์ชาวกัมพูชาที่ระเบียงปราสาทบายน   

       

หมายเลขบันทึก: 41369เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2006 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท