ตอนที่ ๒ ผลกระทบของมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีของสหภาพยุโรปต่อการส่งออกของไทย


โดยในช่วงแรกๆ ประเทศผู้นำเข้าสินค้าจะกำหนดมาตรฐานสินค้าที่จะนำเข้าโดยเน้นที่คุณภาพและมาตรฐานของสินค้า จึงเรียกกระบวนการเช่นนี้ว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์ (Product Standard) ต่อมาประเทศผู้นำเข้าเห็นว่าจำเป็นต้องสร้างมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่กระบวนการผลิต มาตรฐานเกี่ยวกับกระบวนการผลิต (Process Standard) จึงมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น

ต่อ

มาตรการเพื่อคุ้มครองสุขภาพ (Health Concern)

                        มาตรการเพื่อการคุ้มครองสุขภาพนี้  จะเป็นการดำเนินการในลักษณะเรียกร้องให้ผู้ผลิตต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากองค์กรใดองค์กรหนึ่งตามที่ประเทศผู้นำเข้าได้กำหนดไว้  โดยในช่วงแรกๆ  ประเทศผู้นำเข้าสินค้าจะกำหนดมาตรฐานสินค้าที่จะนำเข้าโดยเน้นที่คุณภาพและมาตรฐานของสินค้า  จึงเรียกกระบวนการเช่นนี้ว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์  (Product Standard)  สินค้าที่จะนำเข้าจึงจำเป็นต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจากผู้รับรองที่เป็นที่ยอมรับของประเทศผู้นำเข้า  เช่น  มาตรฐาน CODEX, มาตรฐาน Oko-Tex  เป็นต้น  ต่อมาประเทศผู้นำเข้าเห็นว่าจำเป็นต้องสร้างมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่กระบวนการผลิต  มาตรฐานเกี่ยวกับกระบวนการผลิต  (Process Standard)  จึงมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น

                   กระบวนการตรวจสอบตั้งแต่กระบวนการผลิตนี้ค่อนข้างเป็นที่น่าหนักใจในช่วงแรกๆที่มีการนำมาใช้เพราะมีขั้นตอนการตรวจสอบที่ค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อน  ผู้ประกอบการก็เกรงว่ามาตรการใหม่นี้จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับต้นทุนการผลิตและไม่สามารถผลิตสินค้าไปสู้ราคากับตลาดได้  ตัวอย่างมาตรฐานเกี่ยวกับกระบวนการผลิต  เช่น

                   HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point)  เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์

                   GMP (Good Manufacturing Practices)  เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตสินค้า

                   GAP (Good Agriculture Practices)  เกี่ยวกับสุขอาณามัยของพืชและสัตว์

                   แต่ปรากฏว่าในปัจจุบันกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปกำลังมีแนวคิดที่จะเพิ่มมาตรฐานเกี่ยวกับกระบวนการผลิตเพิ่มอีก ๒ ประเภท  คือ

                        RoH (Restriction on the use of Hazardous Substances in Electrical and Electronic Equipment)

REACH (Restriction, Evaluation, Authorization of Chemicals)  กระบวนการจดทะเบียนสารเคมี  ตั้งแต่กระบวนการผลิตสารเคมีประเภท/ชนิดนั้นๆ  ขั้นตอนการขนส่ง  การนำมาจำหน่าย  การนำไปใช้เป็นวัตถุดิบ/อุปกรณ์ในกระบวนการผลิต  และประมาณสารตกค้างในผลิตภัณฑ์

                   ซึ่งมาตรฐานเกี่ยวกับกระบวนการผลิตใหม่ทั้งสองนี้ค่อนข้างเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการนำมาใช้  ทั้งนี้เพราะกระบวนการตรวจสอบค่อนข้างซับซ้อนและมีเนื้อหาสาระที่เข้มงวด  ซึ่งขณะนี้ภาครัฐได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับมาตรฐาน REACH ผ่าน สกว.  และคาดว่าผลงานวิจัยดังกล่าวน่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคม

มาตรการเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Environment Concern)

                        มาตรการเพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมนี้  จะเป็นการดำเนินการเพื่อมุ่งหวังให้มีการอนุรักษ์หรือใช้สิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์สูงสุด  โดยประเทศผู้นำเข้าประสงค์จะให้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าวด้วย

                   มาตรการเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมนี้สามารถแยกได้เป็นสองประเภทเช่นเดียวกับมาตรการเพื่อคุ้มครองสุขภาพคือแยกเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์  และมาตรฐานเกี่ยวกับกระบวนการผลิต  โดยในส่วนของมาตรฐานผลิตภัณฑ์มักกำหนดเป็นเรื่องทั่วๆไปเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์  เช่น หีบห่อที่ทำมาจากวัสดุย่อยสลายได้  นำกลับไปใช้ซ้ำ (reuse)  หรือนำเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ (recycle) เป็นต้น  และมาตรฐานเกี่ยวกับกระบวนการผลิต  เช่น  มาตรฐานยาฆ่าแมลงที่ตกค้างในอาหาร (Pesticides)  มาตรฐานเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Clean Technology)  บริการจัดเก็บขยะเทคโนโลยีเหลือใช้ (Waste Management)  โดยในมาตรการประเภทหลังนี้ค่อนข้างสร้างความหนักใจแกกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิคเป็นอุตสาหกรรมหลักเช่นประเทศไทย  เนื่องจากประเทศผู้ผลิตต้องรับภาระในการรับสินค้ากลับเมื่อสินค้าดังกล่าวเลิกใช้  เช่นไทยส่งออกตู้เย็นไปสหภาพยุโรป  หากถึงกำหนดหมดอายุการใช้งาน  ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตสินค้าต้องรับคืนตู้เย็นดังกล่าวกลับมาทำลายหรืออาจเลือกเป็นการจ่ายค่าทำลายให้แก่สหภาพยุโรปในฐานะผู้รับซื้อก็ได้  ซึ่งหลักการดังกล่าวอาจจะขยายไปถึงสินค้าประเภทอื่นๆในอนาคต  เช่น  อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์  เครื่องคอมพิวเตอร์  หรือรถยนต์  เป็นต้น

                   ในขณะนี้มาตรการเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรปที่ประเทศไทยจำเป็นต้องถือปฏิบัติตาม  คือ มาตรฐาน EuP  มาตรฐาน EC  มาตรฐาน E1  เป็นต้น


มาตรการเพื่อคุ้มครองแรงงาน (Labor Concern)

                        มาตรการเพื่อการคุ้มครองแรงงานนี้  จะเป็นการดำเนินการเพื่อมุ่งหวังให้มีการจ้างงานที่เป็นธรรม โดยมุ่งไปที่การใช้แรงงานเด็ก  การประกันสังคม  และการจ้างงานที่เป็นธรรม

                        ประเทศไทยเคยมีปัญหาเรื่องแรงงานเด็กแต่ก็สามารถแก้ไขและผ่านพ้นไปได้ด้วยดี  แต่ปัญหาที่ทางการไทยเกรงว่าอาจถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงก็คือแรงงานต่างด้าว  เพราะแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยยังมีอยู่เป็นจำนวน  และสวัสดิการในการจ้างงานกับคนต่างด้าวก็มักมีมาตรฐานที่ต่ำกว่าแรงงานคนชาติ  ดังนั้นไทยจำเป็นต้องแก้ไขหรือหามาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งมาป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้

                   ลักษณะในการกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองแรงงานนี้  ปรากฏเด่นชัดในการค้ากับสหรัฐอเมริกา  ทั้งปรากฏในทางการค้าปกติระหว่างกันและปรากฏในข้อตกลงการค้าเสรีที่จะทำระหว่างประเทศคู่สัญญา  ปัจจุบันประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาต่างเป็นภาคีในองค์การแรงงานสากล (International Labor Organization: ILO)  แต่ว่ามีอนุสัญญาบางฉบับที่ไทยและสหรัฐอเมริกาลงนามรับรองไม่เหมือนกัน  และโดยที่ข้อความในอนุสัญญาบางฉบับดังกล่าวมีความแตกต่างกัน  ทำให้ทางปฏิบัติของไทยกับสหรัฐอเมริกามีความแตกต่างกันไปด้วย   แต่ในการค้ากับสหภาพยุโรป  ไม่ปรากฏข้อเรียกร้องด้านแรงงานที่เด่นชัด

 

หมายเลขบันทึก: 41344เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2006 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 11:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท