เพลงอีแซว ตอนที่ 1 เกาะติดเวทีการแสดง งานรับใช้สังคมในชุมชน


การแสดงเพลงพื้นบ้านของวงเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ ในงานแก้บนที่ลานหน้าองค์อนุสรณ์ดอนเจดีย์

เพลงอีแซว ตอนที่ 1

เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซว

(รับใช้สังคมในชุมชน)

โดย นายชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ด้านการแสดงเพลงพื้นบ้าน ปี 2547

        บนเวทีการแสดงต่างสถานที่ ต่างเวลา ต่างกิจกรรมในแต่ละแห่ง มีความแตกต่างกันในบทบาทและหน้าที่ของนักแสดงอยู่มาก หากมองแบบผิวเผินดูว่าน่าที่จะเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วมิได้เป็นเช่นนั้น คณะนักแสดงทุกทีมงานจะต้องมีการจัดเตรียมโครงสร้างของการแสดงในแต่ละงานเอาไว้ล่วงหน้าและมีการฝึกซ้อมคิวการแสดงก่อนที่ไปทำการแสดง ณ เวทีการแสดงจริง

        บทความในตอนที่ 1 นี้ ผมขอกล่าวถึงการแสดงเพลงอีแซว เพลงพื้นบ้านในงานแก้บนซึ่งเป็นงานรับใช้สังคมในท้องถิ่น งานประเภทนี้จะมีเข้ามาเป็นระยะ ๆ แต่จะมาติดขัดที่ ท่านเจ้าของงานมักจะเข้าใจผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนในเรื่องของเวลาทำการแสดง สถานที่ทำการแสดง เวทีที่จะให้นักแสดงได้ยืนหรือเคลื่อนไหวตลอดเวลาที่กำหนดมาให้

        ในเรื่องของเวลาที่ท่านเจ้าของงานกำหนดให้ทีมงานเพลงอีแซวแสดงแก้บน บางท่านเจาะจงว่า จะต้องแสดงในตอนเช้าให้เสร็จภายในเพล (11.00 น.) บางงานบอกว่า แสดงแป๊บเดียว (ไม่เกินครึ่งชั่วโมง) บางงานบอกว่าแสดงเต็มวัน พักรับประทานอาหารแล้วแสดงต่อไปอีก 1 ชั่วโมงในตอนบ่ายก็หลากหลายความคิดความเห็น ความต้องการ ในเรื่องของเวลาไม่เป็นปัญหามากเพราะเล่นน้อยก็เลิกเร็ว เล่นยาวไป 3-4 ชั่วโมงก็เป็นเลาปกติของการแสดง 1 งาน

        

       

       

        ที่หนักใจในงานประเภทนี้คือ เรื่องของพื้นที่ที่จะให้นักแสดงนั่งยืนเคลื่อนไหว บางครั้งไม่สะดวกเลย เนื่องจากเด็ก ๆ ต้องยืนเล่นกับพื้นดิน พื้นหญ้า พื้นคอนกรีตที่ไม่มีอะไรปูรองรับ เช่น เสื่อ ลำแพน ผ้ายาง ผ้าใบ ฯลฯ กันเปื้อนชุดการแสดงที่เด็ก ๆ สวมใส่ส่วนมากจะเป็นผ้ามันเข้าแสดงไฟฟ้า พอลดตัวลงนั่งบนพื้นคอนกรีตดิ้นไหม เกล็ดเลื่อมก็หลุดติดพื้น ชุดการแสดงชำรุดทุกครั้ง แต่จะทำอย่างไรได้บางครั้งแนะนำเจ้าของงานไปแล้ว ท่านก็ไม่เข้าใจ ไม่มีในสิ่งที่เราขอร้องไป

        ในยุคก่อน ๆ เมื่อ 50 ปีล่วงมาแล้ว การแสดงเพลงอีแซวของชาวบ้านที่เล่นกันในโอกาสต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นงานแก้บนหรืองานวัดประจำปี ถึงแม้ว่าจะไม่มีเวทีทำการแสดง แต่บนพื้นเวทีก็ยังมีเสื่อผืนยาว ๆ หลายผืนปูต่อกันเป็นเสมือนเวทีการแสดง ทำให้นักแสดงทำหน้าที่ได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องมาพวงเรื่องของชุดที่สวมใส่จะชำรุดหรือถูกเกี่ยวจากเสี้ยนหนาม พอมาถึงยุคนี้เวทีการแสดงไม่มีก็ไม่เป็นปัญหาแต่ท่านเจ้าของงานในบางงาน บางสถานที่ท่านคงมองไม่เห็นปัญหาของผู้แสดงตามที่กล่าวมาจึงทำให้ชุดการแสดงที่นักแสดงสวมใส่ชำรุดเสียหายเร็วกว่าที่ควรจะเป็น

       

       

       

        บรรยากาศที่ผมนำเอามาเสนอในตอนนี้ เป็นการแสดงเพลงพื้นบ้านของวงเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ ในงานแก้บนที่ลานหน้าองค์อนุสรณ์ดอนเจดีย์เมื่อไม่กี่วันมานี้เอง จะเห็นได้ว่า สถานที่แสดงเป็นพื้นคอนกรีตล้วน ๆ ร้อนเท้าก็ร้อน พื้นก็แข็ง ด้านหน้าที่หันไปแสดงก็ไม่โล่งพอที่จะให้ผู้คนที่ผ่านไปมาได้มองเห็น งานนี้ทำการแสดงประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ในเรื่องของน้ำใจ ผู้ติดต่อให้การดูแลเด็ก ๆ ดีมาก มีอาหารและน้ำดื่มมาบริการนักแสดงตลอดเวลาที่ทำหน้าที่จนจบการแสดง เด็ก ๆ ทั้งวงไปขอบคุณท่านเจ้าภาพรับคำชมและน้ำใจเพิ่มเติมมาอีกพอสมควร ยังมีบรรยากาศที่แตกต่างจากนี้อีกมาก เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซวจะได้นำเอามาเสนอในตอนต่อไป ครับ

 

ติดตาม ตอนที่ 2 เกาะติดเวทีการแสดงเพลงอีแซว  (งานเกษตรกำแพงแสน)

หมายเลขบันทึก: 412678เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2010 20:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 10:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท