การประชุมโซนใต้ประจำเดือนกรกฎาคม (5)


          วันนี้มาอ่านกันต่อดีกว่าค่ะว่าบรรยากาศและเนื้อหาของการประชุมโซนใต้ประจำเดือนกรกฎาคม  2549  จะเป็นอย่างไร  แต่ขอบอกใบ้สักนิดค่ะว่าในช่วงนี้เป็นการพูดถึงการเชื่อมประสานกับหน่วยงานสนับสนุนค่ะ

           คุณสุวัฒนา   กล่าวว่า  เมื่อพูดถึงการเชื่อมโยงกับภาคีสนับสนุน  ขอพูดเกี่ยวกับ พอช.  ซึ่งกลุ่มทางโซนใต้ก็ได้รับการสนับสนุนเงินตำบลละ 100,000 บาทเช่นกัน  ในการได้รับการสนับสนุนมีเงื่อนไขหนึ่งก็คือ  กองทุนต้องมีการประสานงานกับ อปท.  ในเรื่องนี้ขอเล่าให้ฟังนิดหนึ่งว่า  รัฐบาลได้กระจายอำนาจลงมาให้กับท้องถิ่น  ท้องถิ่นในที่นี้ก็คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ของเรา  เช่น  เทศบาล  องค์การบริหารส่วนตำบล  เป็นต้น  ให้หน่วยงานเหล่านี้มีหน้าที่ดูแล  ให้บริการประชาชน  ถ้าไปเปิดกฎหมายจะเห็นได้ว่า อปท. มีหน้าที่ดูแลประชาชนถึง 20-30 ประการ  กิจกรรมต่างๆที่กำหนดขึ้นมาก็เกี่ยวข้องกับคนในท้องถิ่นโดยตรง  เพราะ  รัฐบาลใหญ่มีหน้าที่ทำอยู่ 4 เรื่อง  คือ

            1.ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  จะเห็นได้ว่าท้องถิ่นไม่มีองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านการต่างประเทศ  รัฐบาลเท่านั้นที่มีกระทรวงการต่างประเทศ

            2.การรักษาราชอาณาจักร  ก็มีทหารบก  ทหารเรือ  ทหารอากาศ   ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบ  คือ  กระทรวงกลาโหม   จะเห็นได้ว่าท้องถิ่นไม่มีในส่วนนี้ 

            3.กิจการศาล     หน่วยงานที่รับผิดชอบ  คือ  กระทรวงยุติธรรม  จะเห็นได้ว่าท้องถิ่นไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้

4.กิจกรรมสาธารณูปโภค  โครงการขนาดใหญ่ 

 

ในส่วนของการดูแลชีวิต  ความเป็นอยู่ของประชาชน  แต่ก่อนรัฐบาลทำ  แต่เดี๋ยวนี้รัฐบาลไม่ได้ทำแล้ว  แต่ได้ถ่ายโอนภารกิจมาให้ อปท. ทำตั้งแต่ปี 2542  ดังนั้น  จึงทำให้ อปท. มีหน้าที่รับผิดชอบมากมาย  หากแต่ อปท. ก็ถูกมองว่าสร้างแต่ถนนหนทาง  ทีนี้เรื่องชีวิต  ความเป็นอยู่ของประชาชน  จึงมีแนวความคิดว่า อปท. น่าจะถ่ายโอนเรื่องนี้มาให้ประชาชนทำกันเอง  กล่าวโดยสรุป  คือ  เรื่องสาธารณูปโภคทาง อปท. ก็ทำไป  ส่วนเรื่องสาธารณูปการก็ให้ชุมชน  ประชาชนเป็นคนทำ  การถ่ายโอนภารกิจ  คือ  การที่เอางานและเอาเงินมาให้  ทีนี้อย่างกองทุนของเรา  เมื่อมีการออมเงินแล้วมันต้องมีการเชื่อมประสานกับ อปท.  มันมาจากหลักการอันนี้  คือ  ต่อไป อปท.  จะไม่ทำงานพวกนี้แล้ว  แต่จะโอนมาให้พวกเราทำ  เมื่อโอนงานมาให้พวกเราทำ  ก็ต้องโอนเงินมาให้ด้วย  เพราะ  ปัจจัยในการทำงาน  คือ  งบประมาณ  ถ้าเขาไม่โอนมาให้เรา  แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนมาทำงาน  การทำงานต้องมีค่าใช้จ่าย  ทีนี้การโอนงานมาให้ทำอย่างนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี  เนื่องจาก  ประชาชนจะรู้ว่าใครเป็นอย่างไร  ใครเดือดร้อนต้องได้รับความช่วยเหลือ  เปรียบเทียบง่ายๆ  คือ  เมื่อก่อนรัฐบาลทำเองหมด  มาในวันหนึ่ง  รัฐบาลทำไม่ไหว  ก็โอนงานมาให้ อปท. ทำ  มาในวันนี้ อปท. กำลังจะโอนงานมาให้ประชาชน  มาให้ชุมชนทำ  เพราะฉะนั้น  ถ้าเราสามารถทำความเข้าใจกับ อปท. ได้  เขาก็จะโอนงานมาให้เราทำ    ในเรื่องนี้ยังไม่ค่อยมีความเข้าใจกันดีนัก  อปท. บางแห่งมีความเข้าใจก็จะประสานกับชุมชน  อย่างที่อำเภอวังแสง  จังหวัดมหาสารคาม  อปท. ดีมาก  เขามีความเข้าใจเรื่องนี้  เขาจะนำไปใส่ในแผน     อบต. 1 ปี , 3 ปี , 5 ปี ว่าชุมชนจะต้องทำอะไรบ้าง  ส่วนโอนเงินในส่วนของการสร้างศูนย์เด็กเล็กให้ชุมชน  ชุมชนก็เอาไปสร้างศูนย์เด็กเล็ก

 

คุณภีม  ตั้งคำถามว่า  เห็นทางกลุ่มมีแผนที่จะร่วมงานกับ อปท.  ได้มีการหารือเบื้องต้นบ้างแล้วหรือยัง?

 

.ธวัช  ตอบว่า  ได้มีการพูดคุยกันบ้างแล้วทั้งในส่วนของเทศบาลและอบต.แม่พริก  ตอนนี้ก็ได้หนังสือรับรองจากทาง อบต.แม่พริกมาแล้ว

 

คุณภีม  ถามว่า  นอกจากหนังสือที่ทาง อบต.ออกให้เพื่อเอาไปเป็นหลักฐานในการรับการสนับสนุนจาก พอช.แล้ว  ในความสัมพันธ์ที่กองทุนไปทำงานร่วมกับ อปท. เราได้มีการไปพูดคุยหรือปฏิบัติงานร่วมกันลึกซึ้งแค่ไหน?

 

.ธวัช  ตอบว่า  ในส่วนของแม่พริกเราส่งโครงการเข้าไปขอรับการสนับสนุนจากทั้งเทศบาลและอบต.  ซึ่งทางอบต.บอกว่านำเข้าแผน 3 ปีแล้ว   ในส่วนของ อบต. เราได้ของบประมาณในการสร้างโรงเก็บมูลสัตว์สำหรับทำปุ๋ย 

 

คุณภีม  ถามต่อว่า  แล้วหน่วยงานอื่นๆที่อยู่ในอำเภอ  เช่น  กศน. , พัฒนาชุมชน  เป็นต้น  มีความร่วมมือกันอย่างไรบ้าง

 

.ธวัช  ตอบว่า  เราเคยไปประสานงานกับสำนักงานเกษตร  เขาก็ให้คำแนะนำในเรื่องวิสาหกิจชุมชน

 

คุณกู้กิจ  กล่าวเสริมจาก อ.ธวัช  ว่า  เมื่อพูดถึงหน่วยงานต่างๆในอำเภอเถิน  ยังอยู่ในระดับที่ต้องพูดคุยกันบ่อยๆ  ยังติดตัวตนของตนเองค่อนข้างมากอยู่   แม้ว่าในหลักการจะดี  แต่ในทางปฏิบัติยังต้องปรับปรุง

 

คุณสุวัฒนา  บอกว่า  อปท. มีความเป็นอิสระ  ไม่ขึ้นกับใคร  แต่ปัญหาที่ผ่านมา  คือ  เขายังไม่เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเอง  รวมทั้งยังมีความคิดเก่าๆแฝงอยู่  ซึ่งต่อไปก็คงจะค่อยๆหมดไป  มีผลงานวิจัยที่ระบุว่าในแต่ละปีมี อบต. ที่พัฒนา  ที่ดีมากขึ้นทุกปี  นี่คือพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไป  แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีบางแห่งที่ยังไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่  ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกัน  โดยปกติหน่วยงานที่ได้รับการดูแลโดยพระราชบัญญัติก็ถือได้ว่าเป็นหน่วยงานชั้นหนึ่งแล้ว  เพราะ  ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจใคร  อปท. มีกฎหมายรองรับการดำเนินกิจกรรมอยู่  ส่วนกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น  กระทรวงมหาดไทย  เป็นหน่วยงานพี่เลี้ยง  ให้ดูแลในเรื่องการให้ความรู้  คำแนะนำในเรื่องเทคนิค  วิชาการ  เพราะฉะนั้น  ถ้าเราตั้งหลักได้อย่างนี้แล้ว  เราจะรู้ว่าเราเข้าได้ทางช่องไหน 

 

คุณกู้กิจ  สรุปว่า  เรื่องนี้คงต้องให้เวลาในการพัฒนาการทำงานของ อปท. แต่สำหรับในหน่วยงานอื่นๆ  เช่น กศน. เป็นต้น  เป็นหน่วยงานที่ดีมาก  ให้ความร่วมมือดีมาก

 

คุณฐิติพร  เล่าเรื่องการทำงานกับ กศน. ว่า  ตนเองทำงานเป็นครู กศน. ของอำเภอเถิน  ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมทำแผน 3 ปี กับทางเทศบาลด้วย  โดยในส่วนของกองทุนฯได้ของบประมาณในการฝึกอบรม  ให้ความรู้กับคณะกรรมการและสมาชิก

 

คุณภีม  ขยายความในประเด็นนี้ว่า  สิ่งที่เราต้องการมี 2 อย่าง  คือ  เงิน กับ คน ที่จะมาช่วย  ในส่วนของเงิน  คือ  งบประมาณต่างๆที่จะเข้ามาช่วย  ไม่ว่าจะเป็นงบในการอบรม  งบพัฒนา  งบสมทบกองทุนฯ  สำหรับในส่วนของคน  คือ  ต้องการผู้ที่มีความรู้เข้ามาช่วย  หากอยู่ในชุมชนเลยจะดีมาก   หากได้ทั้ง 2 สิ่งนี้จะดีมาก  เพราะ  ได้ทั้งเงินและคนมาช่วย  คำถามก็คือ  มันจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะได้ทั้งเงินและคนมาช่วย  มันมีข้อจำกัดตรงไหน  เพราะ  หน่วยงานราชการต่างๆที่ตั้งขึ้นมาก็เพื่อเป้าหมายนี้?

 

อ.ธวัช  ให้ความเห็นว่า  เท่าที่สังเกตดูในส่วนของหน่วยงานราชการ  ถ้าเราไม่เข้าไปหาเขา  เขาจะไม่เข้ามาหาเรา  อย่างกองทุนฯของเราตั้งมา 3 ปี  ไม่เห็นมีหน่วยงานไหนเข้ามาหาเรา  เราก็พยายามไปหาเขา  แต่ความหวังต่างๆก็ยังเลือนราง  อย่างผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการผู้สูงอายุของอำเภอ  เวลาเขาเชิญประชุม  ผมไปร่วมทุกครั้ง  แต่ไม่เห็นเขาเข้ามาถามหรือมาสำรวจเลยว่าในชุมชนมีสถานการณ์ผู้สูงอายุเป็นอย่างไร

 

คุณภีม  ถามคุณฐิติพร  ในฐานะที่ทำงานกับหน่วยงานสนับสนุนว่าการทำงานเป็นอย่างที่ อ.ธวัช  บอกหรือไม่?

 

คุณฐิติพร  ตอบว่า  ในส่วนของตนเองที่ทำงานที่ กศน.เถิน  เรามีหน้าที่ที่จะต้องลงไปตามชุมชนอยู่แล้ว  หากเราดูแลไม่ไหว  เราก็จ้างคนอื่นเข้ามาช่วยดูแล

 

คุณกฤษณะ  ซึ่งทำงานที่ กศน. (แม่พริก) เช่นเดียวกัน  ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า  ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง  คือ  ผู้ที่มีอำนาจเหนือว่า  ถ้าเขาไม่เห็นความสำคัญ  เขาจะไม่เอาด้วยเลย 

 

คุณภีม  เห็นว่า  สิ่งที่ชุมชนทำล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดี  แต่ที่น่าแปลกใจ  คือ  ทำไมราชการซึ่งเห็นว่าชุมชนทำสิ่งที่ดี  เขากลับไม่มาร่วมงานด้วย  ทั้งๆที่ถ้าเขามาร่วมงานด้วย  เขาก็จะได้ผลงานไปด้วย 

 

คุณกู้กิจ  เล่าเรื่องการทำงานกับกองทุนให้ฟังว่า  กองทุนตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2545  มีอยู่ครั้งหนึ่งที่มีผู้ตรวจราชการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มาดูงาน  ทำให้ผมนึกย้อนไปว่าพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ระดับจังหวัด   เขาจะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้กับเราได้ไหม  เขาน่าจะมีบทบาทเข้ามาร่วมทำงานกับเรา

 

คุณภีม  ให้ข้อมูลว่า  ขณะนี้สิ่งที่เราพยายามทำอยู่คือ  เรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชน    รัฐบาลได้มีกฎหมาย “ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546” ซึ่งเป็นเวลากว่า 3 ปีมาแล้วยังไม่ได้ทำอะไรเลย  ตอนนี้พ่อชบ  ได้เสนอโครงการให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้ามาทำในส่วนนี้  โดยให้สมทบเงินลงมา  ประเด็น  คือ  กฎหมายมีอยู่แล้ว  แต่คนที่ดูแลกฎหมายไม่เข้าใจ

 

นอกจากนี้แล้ว  คุณภีมยังเสริมประเด็นในส่วนของการจัดการความรู้ว่า  เรามีความเชื่อลึกๆว่าคนเรามีสิ่งที่ดีๆอยู่ในความตัวเอง  ทุกคนอยากทำสิ่งที่ดี  ประกอบกับระยะหลังที่ราชการก็เข้ามาบีบว่าต้องมีผลงาน  เมื่อนำทั้งสองสิ่งนี้มารวมกัน  แล้วใช้วิธีการเรียนรู้จากตัวอย่างดีๆ  เช่น  อบต.ที่ดี  เป็นต้น  แล้วพยายามขยาย  พยายามให้เขาเข้ามารับรู้  ก็น่าจะดีขึ้น  ส่วนในเรื่องการเมือง  ผู้นำบางคนก็ถูกว่าหรือถูกตั้งข้อสังเกตเหมือนกัน

 

คุณยุพิน  กล่าวเพิ่มเติมในส่วนของการประสานความร่วมมือกับภาคีสนับสนุนว่า  เราใช้วิธีการแบบไม่ให้เขารู้ตัว  อย่างเช่น  กรณีของคุณฐิติพร  แต่ก่อนทำงานให้กองทุน  ต่อมาตัวเองเป็นคนบอกให้คุณฐิติพรไปสมัครเป็นครู กศน. จะได้มาช่วยชาวบ้านได้  เพราะ  การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานจะทำให้หน่วยงานนั้นทราบว่าชาวบ้านเขาทำงานกันอย่างไร  หน่วยงานจะได้เข้ามาช่วยเหลือดูแลบ้าง

 

อ.ธวัช  เล่าถึงวิธีการของกลุ่มแม่พริกว่า  จะใช้วิธีเชิญผู้ใหญ่บ้าน  อบต. หรือเทศบาลเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการหรือเป็นที่ปรึกษา 

            ผู้วิจัย  ได้เล่าข้อมูลเกี่ยวกับการลงพื้นที่พบหน่วยงานราชการต่างๆให้ที่ประชุมฟังเพิ่มเติมว่า  ไม่อยากให้มองว่าเป็นปัญหา  แต่อยากจะให้ตั้งเป็นคำถามว่า  ทำไมหน่วยงานต่างๆเขาไม่ลงมาทำงานกับเรา  หรือ  เขาไม่ให้ความร่วมมือกับเรา  สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น  เพราะ

            1.หน่วยงานเขาไม่รู้จักเรา  เขาไม่รู้ว่าเราทำอะไร  บางหน่วยงานไม่ทราบด้วยซ้ำไปว่าในชุมชนของตนเองมีกลุ่มนี้อยู่

            2.ประสบการณ์ในอดีต  เราต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่าองค์กรภาคประชาชนยังมีจุดอ่อนอยู่  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเข้มแข็ง  ความโปร่งใส  เป็นต้น  แม้ว่าองค์กรจะพยายามนำหลักคุณธรรมต่างๆเข้ามาใช้ในการทำงาน  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความซื่อสัตย์  ความโปร่งใส  ความรับผิดชอบ  ความเสียสละ   ความตั้งใจ  ฯลฯ  แต่ก็ต้องยอมรับว่าในบางครั้งองค์กรก็ยังไม่สามารถทำได้ครบ  หรือไม่สามารถที่จะแสดงให้หน่วยงานเห็นได้ว่าองค์กรมีคุณธรรมเหล่านี้อยู่  พอปรากฎการณ์เป็นอย่างนี้  หลายๆหน่วยงานบอกตรงกันว่า  เคยไปทำงานหรือไปให้การสนับสนุนองค์กรภาคประชาชนแล้ว  แต่ไปเจอองค์กรที่มีผู้นำแย่  สมาชิกไม่สามัคคี  พอให้การสนับสนุนไปแล้ว  ท้ายที่สุด  คนที่รับผิดชอบก็คือหน่วยงาน  เมื่อเป็นอย่างนี้หน่วยงานจึงต้องมีการปรับตัวในการทำงาน  สิ่งหนึ่งที่ผู้วิจัยเห็นชัดเจนก็คือ  หน่วยงานพยายามที่จะไปสร้างกลุ่มของตัวเองขึ้นมา  แล้วก็ให้การสนับสนุนกลุ่มเหล่านั้น  ซึ่งก็เท่ากับว่าหน่วยงานก็จะมี    ผลงานไปโดยปริยาย  ดังนั้น  เมื่อเราไปติดต่อกับหน่วยงานเหล่านั้น  เขาจะบอกเลยว่าถ้าจะได้รับการสนับสนุนต้องเข้ามาเป็นสมาชิกของหน่วยงาน  หรือต้องเป็นกลุ่มที่หน่วยงานสร้างขึ้นมา

            3.งานมากเกินไป  หมายความว่า  ราชการหลายๆหน่วยงานเขามีงานในหน้าที่มากจนเกินไป  ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง  คือ  งานของราชการหลายหน่วยงานมันทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกัน  ดังนั้น  หน่วยงานจึงต้องเลือกที่จะทำงานในบางหน้าที่  เปรียบเทียบง่ายๆเหมือนกับประเด็นการทำงานที่เป็นประเด็นร้อนกับประเด็นเย็น  ประเด็นเย็นๆไปเรื่อยๆคนไม่ค่อยให้ความสนใจหรือไม่รู้จัก  หน่วยงานก็จะไม่เลือกทำหรือไม่ค่อยให้ความสนใจในประเด็นนี้  แต่ถ้าเป็นประเด็นร้อน  ที่คนพูดถึงกันมาก  เป็นยุทธศาสตร์ชาติ  หน่วยงานก็จะสนใจ  อยากทำงานนี้

            4.การทำให้กลุ่ม/องค์กรเข้าไปอยู่ภายในใจของหน่วยงาน  สิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก  ต้องทำให้หน่วยงานรู้สึกได้ว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มของชุมชน  ไม่ใช่เป็นของประธานหรือเป็นของคนใดคนหนึ่ง  ในหมู่บ้านหรือชุมชนหนึ่งๆมีกลุ่มเป็นร้อยกลุ่ม  ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ล้วนเข้าไปหาหน่วยงานสนับสนับสนุนทั้งนั้น  ดังนั้น  จึงไม่ใช่ว่ามีกลุ่มของเราเพียงกลุ่มเดียวที่เข้าไปหาหน่วยงาน  ในวันหนึ่งๆหน่วยงานอาจต้องต้อนรับตัวแทนจากกลุ่มต่างๆเป็นร้อยกลุ่มก็ได้  ซึ่งแต่ละกลุ่มก็ล้วนมีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่คล้ายคลึงกันในการเข้าไปหาหน่วยงาน  ทีนี้เราต้องดูด้วยว่าหน่วยงานมีทรัพยากรที่เพียงพอในการให้บริการกับกลุ่มต่างๆอย่างทั่วถึงหรือไม่  หากมีไม่พอหน่วยงานก็จำเป็นต้องเลือกช่วยเหลือหรือเลือกสนับสนุน

           การสนทนาในส่วนของหน่วยงานสนับสนุนก็จบลงแต่เพียงเท่านี้ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 41264เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2006 10:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท