ทรัพยากรน้ำ


ควรใส่ใจ

น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด โดยสิ่งมีชีวิตจะใช้ประโยชน์จากน้ำในกิจกรรมต่างๆ เช่น เป็นอาหาร เป็นที่อยู่อาศัย เป็นต้น น้ำจัดเป็นสารประกอบที่ประกอบด้วยไฮโดรเจน 2 อะตอม และออกซิเจน1 อะตอมยึดกันด้วยพันธะโคเวเลนซ์ มีสมบัติทางฟิสิกส์คือเป็นโมเลกุลที่มีขั้วบวกและขั้วลบที่ปลายโมเลกุลทำให้โมเลกุลของน้ำสามารถยึดกันด้วยพันธะไฮโดรเจน   และสามารถแยกโมเลกุลอื่นออกจากกันได้ น้ำเป็นตัวทำละลายที่ดีสำหรับสารประกอบไอออนและสารประกอบที่มีขั้ว
                    เซลล์ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตประกอบด้วยน้ำอย่างน้อยร้อยละ 60 และกระบวนการเมแทบอลิซึมในร่างกายเกิดขึ้นได้ในสารละลายที่มีน้ำเป็นตัวทำละลาย น้ำเป็นตัวกลางช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกาย เป็นตัวกลางในการลำเลียงสารอาหารและถ่ายเทของเสียออกจากร่างกาย น้ำถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ลมหายใจและทางผิวหนัง ถ้าร่างกายได้รับน้ำในปริมาณที่น้อยเกินไปจะทำให้ระบบทางเดินอาหารรวมทั้งระบบการทำงานของร่างกายอื่นๆ ผิดปกติ
                    ปัจจุบันน้ำในโลกมีประมาณ 3 ใน 4 ส่วน ร้อยละ 97.41 เป็นน้ำเค็มในมหาสมุทร ร้อยละ 2.59 เป็นน้ำจืด แต่น้ำจืดที่นำมาใช้ประโยชน์ได้มีเพียง ร้อยละ 0.014 เท่านั้น เนื่องจากเป็นน้ำแข็งร้อยละ 1.984 และอีกร้อยละ 0.592 เป็นน้ำใต้ดิน น้ำที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ได้ มาจากแหล่งใหญ่ๆ 3 แหล่ง ด้วยกันคือ

1. หยาดน้ำฟ้า( precipitation ) เป็นน้ำที่ได้จากบรรยากาศ เช่น  ฝน  น้ำค้าง  หิมะ  ลูกเห็บ  เมฆ  หมอก  และไอน้ำ  เป็นต้น
2. น้ำผิวดิน( surface water ) เป็นน้ำที่อยู่บนพื้นโลก ซึ่งมีปริมาณมากที่สุด มีทั้งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติได้แก่  แม่น้ำ  ลำคลอง  ทะเลสาบ  ทะเล และมหาสมุทร และที่เกิดจากมนุษย์สร้างขึ้น
3. น้ำใต้ดิน( ground water ) เป็นน้ำที่เกิดอยู่ใต้ระดับผิวดิน แบ่งออกได้ดังนี้
                    3.1 น้ำในดิน เป็นน้ำที่ซึมอยู่ในดินเหนือชั้นหินที่น้ำซึมผ่านได้ยาก เกิดจากเมื่อเวลาฝนตกน้ำฝนจะซึมไปในดินจนถึงชั้นหินที่น้ำซึมผ่านได้ยากจึงมีน้ำแทรกอยู่ในชั้นดินระดับบนสุดของน้ำในดินเรียกว่า “ ระดับน้ำในดิน ”

                    3.2 น้ำบาดาล เป็นน้ำในดินที่ซึมผ่านชั้นหินที่น้ำซึมผ่านได้ยากลงไปอยู่ในช่องว่างของชั้นหินที่มีรูพรุนซึ่งอยู่เหนือชั้นหินที่น้ำซึมผ่านได้ยากชั้นล่างอีกชั้นหนึ่ง ระดับน้ำตอนบนสุดของน้ำบาดาลเรียกว่า “ ระดับน้ำบาดาล ”

**คุณลักษณะของน้ำ**

                    น้ำมีคุณลักษณะเป็นของเหลว ใส ไม่มีสี มีความโปร่งแสง ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสชาติ มีจุดเดือดที่ 100 องศาเซลเซียส จุดเยือกแข็งที่ 0 องศาเซลเซียส  น้ำจะหดตัวและมีความหนาแน่นมากขึ้นที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส และมีปริมาตรเพิ่มขึ้นที่อุณหภูมิ  0  องศาเซลเซียส คุณลักษณะโดยทั่วไปของน้ำแบ่งได้ดังนี้

1. คุณลักษณะทางกายภาพ ( Physical Characteristics ) ประกอบด้วย
                     1.1ความขุ่น( turbidity ) หมายถึงน้ำที่มีสารแขวนลอย ขนาด 0.2-1,000 ไมครอนอยู่ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นน้ำในระดับลึกได้สะดวก สารแขวนลอยในที่นี้ เช่นสารแขวนลอยที่เกิดจากแพลงก์ตอน จุลินทรีย์ อินทรีย์สารต่างๆ ความขุ่นโดยทั่วไปมีค่าน้อยกว่า 5 NTU
( nepelometric turbidity unit )
                    1.2 สี ( color ) น้ำบริสุทธิ์จะมีสีใส แต่สีที่ปรากฏในน้ำผิวดินเกิดจากการหมักทับถมของอินทรีย์สารและอนินทรีย์สาร ซึ่งมีลิกนินเป็นองค์ประกอบเมื่อสารเหล่านี้สลายตัวจะทำให้น้ำกลายเป็นสีน้ำตาลหรือสีชา เนื่องจากกลายเป็นแทนนิน ฮิวเมต และกรดฮิวมิค การละลาย
ของธาตุต่างๆในน้ำที่เกิดจากกระบวนการใช้น้ำของชุมชน เกษตรกรรม อุตสาหกรรม จะทำให้น้ำมีการปนเปื้อนและมีสีเปลี่ยนไปตามกิจกรรม
ดังกล่าว
                    1.3 กลิ่น ( odor ) น้ำบริสุทธิ์โดยทั่วไปจะไม่มีกลิ่น นอกจากน้ำที่อยู่ในภาวะขาดออกซิเจนโดยเกิดจากการผ่านกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ทำให้น้ำมีกลิ่นแก๊สไข่เน่า
                    1.4 รสชาติ( taste ) น้ำบริสุทธิ์จะไม่มีรสชาติ น้ำที่มีรสชาติเกิดจากน้ำมีเกลืออนินทรีย์ละลายอยู่ เช่น เกลือของเหล็ก เกลือของทองแดง เกลือของโซเดียมเป็นต้น ทำให้น้ำมีรส เปรี้ยว หวาน ขมและเค็มโดยขึ้นอยู่กับชนิดของสารละลายในน้ำนั้น
                    1.5 อุณหภูมิ( temperature ) อุณหภูมิของน้ำโดยทั่วไปจะขึ้นอยู่กับสภาพดิน ฟ้า อากาศ การที่น้ำมีอุณหภูมิเปลี่ยนไปเนื่องจากการปนเปื้อนของน้ำจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์
                    1.6 ปริมาณของแข็งละลายในน้ำทั้งหมด( total disolved solid : TDS ) ส่วนใหญ่ของแข็งที่ละลายในน้ำเหล่านี้คือเกลืออนินทรีย์ เช่น แคลเซียม โซเดียม คาร์บอเนต ไนเทรต คลอไรด์และซัลเฟต เป็นต้น แต่อาจมีสารอินทรีย์ละลายอยู่ เช่น อินทรีย์สารจากของเสียจากกิจกรรม
ของมนุษย์ จากชุมชนและจากการอุตสาหกรรม

2. คุณลักษณะทางเคมี ( Chemical characteristics ) ประกอบด้วย
                    2.1 ค่าความเป็นกรด-เบส( pH ) ค่า pH เป็นค่าวัดความเข้มข้นของไฮโดรเจนอิออน หรือความสามารถของกรด-เบสที่ทำปฏิกิริยากับน้ำแล้วให้ไฮโดรเจนถ้าน้ำมีค่าpH ต่ำมาก น้ำจะมีความสามารถในการกัดกร่อนสูงและสามารถทำลายเชื้อโรคได้ดี และถ้าน้ำมีค่า pH สูงจะทำปฏิกิริยากับสารส้มได้น้อย น้ำจึงตกตะกอนได้ไม่ดี
                    2.2 ความกระด้างของน้ำ ( hardness ) ความกระด้างของน้ำเกิดจากการที่น้ำมีเกลือไบคาร์บอเนต เกลือซัลเฟต เกลือไนเทรตเกลือคลอไรด์ของแคลเซียมหรือแมกนีเซียมละลายอยู่ หากน้ำกระด้างมากทำให้รสชาติของน้ำเปลี่ยนแปลง และใช้สบู่หรือผงซักฟอกปริมาณมากกว่าน้ำอ่อน นอกจากนี้ยังทำให้เกิดตะกอนในภาชนะที่บรรจุน้ำ

 

 

หมายเลขบันทึก: 412218เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2010 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 09:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ครูภาทิพ มามอบอีก ๑ น้ำ คือ น้ำใจค่ะ  ขอบคุณสำหรับสาระดี ๆ ค่ะ

จะว่าไปน้ำก็มีชีวิต และสัมพันธ์ฺกับวิถีชีวิตของเรามาอย่างยาวนาน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท