ข้าวปั้นของป๊าจ๋า


 

              เสียงซุบซิบกระซิบกระซาบของกลุ่มแม่บ้านที่มาซื้อกับข้าวในตลาดสด  พร้อมชี้มือไปทาง  ชายวัยกลางคนที่กำลังเลือกซื้อปลา  เขาก้มหน้างุดเม้มปากนิดๆ ดวงตาหรุบต่ำ  ทำเป็นไม่ได้ยินเสียงที่กำลังกระซิบกระซาบนั้น   หลายเดือนแล้วที่เขาต้องตกเป็นเป้าสายตาของผู้อื่น   เขารู้สึกอายมากแต่ความโศกเศร้าเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนที่เขารักกลับมีมากกว่าหลายร้อยหลายพันเท่า   เขาจึงจำใจดำรงชีพอยู่ในสภาพแวดล้อมนี้...

 

                “ป๊า เถ้าแก่เจ้าของร้านเขาให้หนูไปทำงานตั้งแต่วันพรุ่งนี้นะ  หนูก็เลยต้องออกเดินทางไปเย็นนี้”  เสียงของอ้อย บอกกับพ่อของตนเอง  เธอเป็นหญิงสาวที่รูปร่างหน้าตาค่อนข้างดี  ฉลาด การเป็นลูกสาวคนแรกพ่อจึงรักเธอมาก มากกว่าใคร ๆ แต่ด้วยฐานะทางบ้านที่ยากจนมีน้องเล็ก ๆ อีก ๕ คน ทำให้เธอต้องออกมาหาเงินเพื่อเลี้ยงครอบครัว  

 

          “ดูแลตัวเองด้วยนะลูก  ก่อนนอนอย่าลืมไหว้พระ  ที่สำคัญลูกต้องมีความซื่อสัตย์  ศีลธรรมจะช่วยคุ้มครองลูก ขอให้ลูกของพ่อทำงานอย่างมีความสุขและปลอดภัย”  พ่ออวยพรเสร็จ ช่วยยกกระเป๋าผ้า  เดินมาส่งยังที่รอรถประจำทาง   ระหว่างที่เดินมา เพื่อนบ้านส่งเสียงทักทาย ถามนั่นนี่มาตลอด  จนได้ทราบว่า อ้อยจะไปทำงานในเมือง

 

           “ป๊า วันนี้ทำไมบ้านเรามีปูกับกุ้งกินกะเขาด้วยล่ะ  ป๊าถูกหวยหรือ”  เจ้าตัวเล็กถามเมื่อเห็นอาหารบนโต๊ะแปลกไปจากมื้อก่อน ๆ
            “แหม! ก็มีบ้างล่ะ  ไม่ใช่แค่วันนี้หรอกนะ  มื้อต่อ ๆ ไปก็ต้องมีมาให้กินบ้างแหละน่า  ก็เงินพี่เขาไงล่ะ เขาส่งมาให้ป๊าให้แม่ให้น้องได้ใช้”  เขาพูดไปด้วยสีหน้าบ่งบอกถึงความชื่นชมในตัวหญิงสาว
           “พี่ ทำนาปีนี้สบายหน่อยนะ  อ้อยมันส่งเงินค่าจ้างไถนา ค่าจ้างปักดำมาให้  ฉันไม่ต้องเหนื่อยหลังขดหลังแข็งเหมือนแต่ก่อน”  ผู้เป็นภรรยากล่าว
           “ฮื่อ! เราโชคดีที่มีลูกรู้จักกตัญญูรู้คุณ  ขอผลแห่งการทำความดีส่งผลให้อ้อยมันได้พบกับคนดีด้วยเถิด”  เขากล่าวตามด้วยคำอวยพรให้ลูก  “มันเอาแต่ส่งเงินมาให้พ่อ  มันเองได้ใช้บ้างรึเปล่าไม่รู้นะ  มันกลับมาเยี่ยมบ้านเมื่อไรบอกให้มันเก็บไว้ใช้บ้าง” เขาอดที่จะห่วงอ้อยไม่ได้
            “พี่อ้อยมา พี่อ้อยมาแล้ว  นี่ขนมที่พี่อ้อยซื้อฝาก”  เสียงน้องคนหนึ่งตะโกนมาด้วยความดีใจ  “นี่  ชุดนักเรียนชุดใหม่ของชั้น” น้องอีกคนอวดของฝากบ้าง  “นี่จ้ะ ผ้าขะม้าของป๊า กับผ้าถุงของแม่”  หญิงสาวยื่นของฝากให้พ่อกับแม่
            “ผอมไปนะ  เหนื่อยล่ะสิ ไปเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วมากินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากัน  วันนี้พ่อทำกับข้าวรอหนู  ดูสิมีแกงเนื้อย่างกับมะละกอสับที่หนูชอบด้วย” ผู้เป็นแม่ทักทาย

 

            หลังจากอาหารมื้อเย็น น้อง ๆ แยกตัวไปเล่นกันตามประสา  เธอนั่งคุยกับพ่อแม่ เล่าเรื่องการทำงาน เถ้าแก่และลูกจ้างให้ฟัง  พ่อกับแม่ก็มีความสบายใจที่เธอได้นายจ้างและเพื่อนร่วมงานที่ดี  แต่เมื่อเล่าเรื่องคนที่มาติดพันเธอ  พ่อแม่เริ่มเป็นห่วงและไม่สบายใจ “เขามีรถประจำทางสายที่วิ่งผ่านอำเภอเราด้วยจ้ะ   เถ้าแก่บอกว่า ให้ระวังตัว  เขาเป็นนักเลงมีลูกน้องมาก  ได้ผู้หญิงแล้วทิ้งหลายคน  มีลูกด้วยกันก็ไม่รับผิดชอบ”  เธอยิ่งบรรยาย พ่อกับแม่ก็ยิ่งเป็นห่วง  “แต่ไม่ต้องกังวลนะจ๊ะ  หนูจะพยายามหลบเลี่ยงอยู่แต่ในร้านไม่ออกมาให้เขาพบจ้ะ” 

 

         เมื่อลูกบอกเช่นนั้น เขาก็เริ่มคลายกังวลลง  คงไม่เป็นไรหรอกบ้านเมืองมีขื่อมีแป  เมื่อถึงกำหนด อ้อยก็เตรียมตัวกลับมีของฝากจากบ้านไปฝากเถ้าแก่และเพื่อนเล็กน้อย  เมื่อกลับไปอ้อยยังคงส่งเงินมาช่วยเหลือทางบ้านอยู่เช่นเดิม

 

         “แม่ อ้อยมันบอกว่าวันนี้จะกลับมารถเที่ยวค่ำนะ  แม่ไปรอรับมันที่ถนนหน่อยสิ  ค่ำมืดมันน่ากลัว”  เขาบอกภรรยา  “จ้ะ! ฉันจะไปเดี๋ยวนี้  พี่เรียกเด็ก ๆ อาบน้ำ ทำการบ้านด้วยนะ” 

 

           ภรรยาของเขาไปยืนรออยู่ริมถนน  มีรถแล่นมาบางตานัก  ผู้คนก็เริ่มเข้าบ้านปิดประตูกันแล้ว  ถ้าหญิงสาวมาเดินในยามนี้ก็คงจะไม่เหมาะ  นางรอสักครู่เห็นรถประจำทางวิ่งมาทำท่าเหมือนจะจอดแต่ไม่จอด  “จอดด้วย  จอด จอด  จอดนะ” เสียงหญิงสาวร้องตะโกนออกมา  เสียงนั่น  เสียงอ้อยลูกสาวของนางนี่ นางจำได้ นางวิ่งตามรถไป   “ว้าย! ช่วยด้วย ๆ  จอด  จอด ฉันจะลง ช่วยด้วย”   นางใจสั่น  รู้แน่ว่าเหตุร้ายกำลังเกิดกับลูกสาว  ด้วยความห่วงใย อันตรายกำลังเกิดขึ้นกับลูกสาวของนาง นางวิ่งด้วยสองเท้าของหญิงวัยกลางคน  นางร้องตะโกน   “ช่วยลูกของฉันด้วย   อ้อยถูกฉุดช่วยด้วย”  บนถนนที่มืด   ด้วยแรงตกใจ  ด้วยใจที่กังวลว้าวุ่น  นางไม่ทันสังเกตรถที่กำลังแล่นสวนมา  โครม!พลั่ก อั้ก!  เอี๊ยด!  ทุกเสียงเกิดขึ้นไล่ตามกันอย่างรวดเร็ว  ก่อนที่ใครจะโผล่มารถคันนั้นก็หายลับไปแล้ว

 

           เขาปล่อย เสียงสะอื้นฮั่ก ๆ ออกมาโดยไม่อายใครๆ ลูก ๆ ยืนป้ายน้ำตา  ข้าง ๆ พ่อ   มันเกิดอะไรขึ้น   ก็เขาให้นางไปรอรับลูกสาวไม่ใช่หรือ  แล้วนี่ทำไมเป็นอย่างนี้  ทำไมนางต้องจากไป  แล้วลูกสาวล่ะ ?  อ้อย อยู่ไหน  สอบถามไปยังเถ้าแก่  เถ้าแก่ก็บอกว่าอ้อยมากับรถตั้งแต่เย็น  ซึ่งก็ต้องถึงบ้านตามเวลาที่แม่ออกไปรอ   ภรรยาของเขากลับมาในสภาพนี้  แล้วลูกสาวของเขาอยู่ที่ไหน

 

         สี่เดือนแล้วที่เขาต้องทำงานอย่างหนักแต่เพียงผู้เดียวหลังจากภรรยาของเขาจากไปพร้อมกับลูกสาวที่หายไปในคืนนั้น   เขาพยายามถามหาข่าวคราวแต่ยังไม่สามารถติดตามหาลูกสาวได้ 
         “พี่ชื่น  พี่ชื่น พี่ไปดูที่ถนนซิ  ผู้หญิงตั้งท้องที่รถคันหนึ่งมันเอามาทิ้งไว้ คืออ้อยใช่รึเปล่า   หน้าตามันโทรมและดูลอย ๆ เหมือนคนบ้านะ”  ใจเขาหวิววาบ  อ้อยหรือ  ถ้าใช่  พ่อก็จะยินดียิ่ง 
          ผู้หญิงคนนั้น ตาลอยขอบตาคล้ำ  ผมยุ่ง แต่ยังคงเค้าความงามให้เห็น  สวมชุดคลุมท้องเก่าๆ เป็นด่างดวง  ตามคอแขน ใบหน้า มีร่องรอยเขียวคล้ำเหมือนโดนบีบหรือกระแทก  อ้อย นี่คืออ้อย ลูกสาวเรากลับมาแล้ว  “อ้อย  ลูก” เขากล้ำกลืนเรียกออกไป  จะโผเข้ากอด “กรี๊ด! อย่าเข้ามา  กลัวแล้ว อย่าทำ  อย่าทำฉัน  ปล่อยฉัน  ช่วยด้วย ๆ”  เธอกรีดเสียงคร่ำครวญต่าง ๆ นานา เธอจำไม่ได้กระทั่งพ่อ

 

           เขาพาอ้อยมาดูแลรักษา  น้องๆ คอยเข้าไปหยอกล้อทักทาย  อ้อยเริ่มมีทีท่าเป็นมิตร และเริ่มจำอะไรได้บ้าง  และเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้นตามลำดับ  อ้อยเริ่มมีรอยยิ้ม  ตอบน้องตอบพ่อบ้าง  ครรภ์ก็โตขึ้นตามกาลเวลา  เขาทุ่มเทในการทำงานหนักมากยิ่งขึ้น ตามภาระที่เพิ่ม ไหนยังต้องเตรียมเงินสำหรับการคลอดของอ้อย  เขาไม่รู้หรอกว่า เด็กที่จะคลอดเป็นลูกชายคนไหน  แต่ครึ่งหนึ่งเป็นของลูกสาวที่เขารักยิ่ง  ไม่ว่าเธอจะมีสติที่ดีหรือไม่ เขาก็จะดูแลอย่างดีที่สุด

 

                “ป๊า พี่อ้อย  พี่อ้อยมีเลือดออกเต็มเลย”  น้องคนรองจากอ้อยวิ่งมาบอกเขาที่ทุ่งนา  เขารีบวิ่งไปดู  อ้อยลื่นล้ม และแท้งลูก   ทารกหญิงวัย ๗ เดือน ตัวเลอะเปื้อนไปด้วยเลือด  เขารีบตัดสายสะดือ ทำความสะอาดตัวเด็กห่อผ้าขนหนูเปิดหน้าไว้  หันมาจัดการกับตัวอ้อย  ลมหายใจของเธอแผ่วเบาเหลือเกิน  เบาจนกระทั่งชีพจรหยุดนิ่งในที่สุด
          
                กลิ่นหอมของกะปิย่างที่แปะไว้บนไม้ขัดหม้อลอยโชย  หอมยิ่งนัก   ยามที่อากาศขมุกขมัว  เขามักจะนำกะปิอย่างดีที่เลือกซื้อไว้สำหรับปิ้งคลุกข้าวให้หลานมาแปะไม้ขัดหม้อแล้ววางไว้ข้างๆ เตา  เมื่อนำมาคลุกข้าวสวยร้อน ๆ แล้วปั้น  บอกเจ้าหนูน้อยว่า “นี่ข้าวปั้นวิเศษ   นกกุ๊กโก๋  มันร้องกุ๊กกุ๊กโก๋  ลองหม่ำสิ  อร่อยนา”  หนูน้อยชอบใจนัก  มักเรียกหา  “ข้าวปั้นกุ๊กกุ๊กโก๋” อยู่เสมอ  วันนี้ก็เช่นกัน  ”ป๊าจ๋า...หนูจากินกุ๊กกุ๊กโก๋”   หลานเรียกเขาว่า “ป๊า” ตามน้า ๆ เขาก็ไม่ว่าอะไร  ดีเหมือนกัน  น้องๆ ของอ้อยทุกคนต่างรักดูแลและเอาใจใส่หนูน้อยด้วยดี  เธอเป็นเสมือนยาที่ช่วยประสานใจให้ทุกคนหลุดพ้นความเศร้าโศกในเวลาต่อมา
           “อ้อ! เรียนเก่งอย่างนี้  น้าจะทำงานหารายได้พิเศษให้เยอะ จะได้มีเงินส่งให้อ้อเรียนสูงๆ นะ” น้องคนรองจากอ้อยชื่นชมอ้อยิ่งนัก  “อ้อจะพยายามสอบชิงทุนจ้ะน้า  จะได้ไม่เป็นภาระน้ามาก  ป๊าก็แก่ตัวลงทุกวัน  น้าต้องหาเงินส่งน้าคนอื่น ๆอีก ไหนจะต้องเก็บเงินไว้เผื่อยามฉุกเฉิน "

 

                เขามองมรดกที่อ้อยไม่ตั้งใจจะทิ้งไว้ด้วยความชื่นชม  ร่องรอยแห่งความทุกข์โศกหายไปนานแล้ว หายไปตั้งแต่อ้อเริ่มเอาะแอะอ้อแอ้ สื่อสารกับบรรดาน้าและ “ป๊า” ที่หนูน้อยเรียก  เธอได้รับทุนการศึกษาประเภทนักเรียนเรียนดีมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา ถึงปัจจุบันมัธยมศึกษาตอนปลาย  และกำลังจะได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยของรัฐในไม่ช้านี้

 

                “ไปอยู่เมืองเหนือได้กินแคบหมูน้ำพริกหนุ่ม  ก็จะลืมข้าวปั้นกุ๊กกุ๊กโก๋ของป๊าแน่เลย” 
             “ไม่มีทางหรอกป๊า  ข้าวปั้นนั้นมันอยู่ในสายเลือดของหนูนะ  หนูโตมากับข้าวปั้นกุ๊กกุ๊กโก๋   ที่หนูมีวันนี้ก็เพราะ ข้าวปั้น ฝีมือป๊านะ”  
            “ป๊าจะให้น้าเขาปิ้งกะปิดีๆส่งไป  หนูหุงข้าวร้อนๆ คลุกแล้วปั้นก็จะได้รสชาติเดียวกันแหละน่า”    
            “ไม่มีทางหรอกป๊า  ป๊าอย่าลืมสิ  เวลาที่ป๊าปั้นน่ะ ป๊าใส่ใจลงไปด้วยทุกครั้ง  หนูเห็นดวงใจเหี่ยวๆ ของป๊าอยู่ในข้าวปั้นด้วย ฮิฮิ “ หญิงสาวหยอกเย้าเขา  “เอาอย่างนี้ดีกว่า  เดี๋ยวหนูจะถ่ายรูปที่ป๊าปิ้งกะปิ  คลุกข้าว  และปั้นข้าว  เมื่อไรที่หนูเหนื่อย  หนูล้า และหนูหิว หนูจะมองภาพนี้  ป๊าว่าดีมั้ย”  
             เขาหัวเราะในความคิดของหลานสาว  “ทำว่าคิดถึงไปเถอะ  ไปเจอหนุ่มเมืองเหนือเดี๋ยวก็ลืมป๊า   ไม่อายเขาหรือ  เป็นสาวแล้ว  ยังกินข้าวปั้นคลุกกะปิ  หนุ่มๆ เขารู้ เขาจะรังเกียจเอานา”     
              “โถ!  ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่ต้องคบกันสิป๊า  อ้อ โตมากับข้าวปั้นกุ๊กกุ๊กโก๋  เขารังเกียจข้าวปั้นก็รังเกียจป๊า  ถ้ารังเกียจป๊าก็รังเกียจอ้อ  และถ้ารังเกียจอ้อก็....”  
              “หยุด  พอไม่ต้องพูดแล้ว  ป๊ายอมแพ้  ก่อนไปอย่าลืมไปไหว้รูปยายและแม่ของลูกด้วยนะ”

 

                ๕ ธันวาคมของวันนี้  หญิงสาวกลับจากการร่วมทำพิธีวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่  เธอแวะซื้อพวงมาลัยมะลิ  ตรงมาที่บรรจุกระดูกของตา  “ปีนี้มีสายสะพายมาด้วยนะ ตำแหน่งใหญ่โตขึ้นล่ะสิ”   เสียงเจ้าอาวาสร้องทักมา เธอนั่งน้อมไหว้ “ค่ะ ท่าน   ตั้งใจแต่งมาให้ป๊าชม  ป๊าคงจะดีใจ”  หลังจากเรียนจบและมีงานทำเธอมาที่นี่ทุกปี   เพื่อนบ้านต่างชื่นชมในความกตัญญูของเธอ   เธอหันหน้ามายังที่บรรจุกระดูก  นำพวงมาลัยดอกมะลิวางไว้ ยกมือไหว้พึมพำ “ป๊า ปีนี้หนูได้สายสะพายแล้วนะ  ป๊าดูสิ   ป๊าไปเร็วนัก  ไม่รอฉลองสายสะพายกับหนูเลย ขอให้ดวงวิญญาณของป๊ามีแต่ความสุขนะคะ”  ลมพัดมาเย็นวูบราวกับจะรับรู้ต่อความในใจของหญิงสาว
 

 

 

ขอขอบคุณภาพจากhttp://fwmail.teenee.com/strange/img0/17121.gif

หมายเลขบันทึก: 412068เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2010 12:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 13:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อ่านจบ น้ำตาจะไหลค่ะป้าพธู วันนี้มีเวลาได้เข้ามาอ่านเรื่องป้าพธูคนแรกเลย

อ่านแล้วตื้นตันใจแต่อยากอ่านตอนจบแบบ HAPPY จังเลย

อยากลองกิน..ข้าวปั้นกุ๊กกุ๊กโก๋...ดูนะว่าจะมีรสชาติเป็นอย่างไร

สวัสดีค่ะ หนูดุจดาว  อิอิ  อย่าอินค่ะ อย่าอิน 

ขอบคุณที่แวะมาคนแรกค่ะ  เรื่องหน้าเตรียมยิ้มได้ค่ะ

  • สวัสดีค่ะ คุณครู
  • แหม ๆ ชีวิตจริง ๆ มันจบตรงที่แฮปปี้ซะที่ไหน
  • หากฉายภาพต่อไปล้วนแต่เศร้าไม่ใช่หรือ
  • แต่เอาเถอะ จะเอาใจคุณครู
  • เรื่องใหม่จะอวลไอด้วยรอยยิ้มค่ะ 
  • สำนวนลีลาภาษาลื่นไหลดีจังครับ น่าอ่าน....
  • ขอบคุณครับ
  • -ปณิธิ ภูศรีเทศ
  • สวัสดีค่ะ ครูปณิธิ ภูศรีเทศ
  • ขอบคุณสำหรับกำลังใจที่มอบให้ค่ะ
  • จะพยายามสร้างสรรค์แบ่งปันมาอ่านค่ะ
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท