การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา


อินเทอร์เน็ต

การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา

        สถานศึกษาสามารถใช้อินเทอร์เน็ตในการจัดการเรียนการสอนได้  ทั้งในชั้นเรียนปกติ  การศึกษาทางไกล  ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบโรงเรียน 

         การใช้อินเทอร์เน็ตในการสอนในชั้นเรียนปกติ  จะเป็นการสอนโดยตรง  หรือเป็นการใช้สอนเสริมการสอนระบบปกติ  โดยการทบทวนเนื้อหาจากบทเรียนที่ผู้สอนสร้างในเว็บไซด์  หรือผู้สอนอาจสั่งงานให้ค้นหาข้อมูลจากเว็บไซด์ต่าง ๆ  จากการพูดคุยระหว่างผู้เรียนในห้องสนทนา (Chat  room)  จากการเรียนโดยการใช้  e-mail  เป็นต้น    แต่โดยทั่วไปแล้วการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา  มีดังนี้

        1.   ส่งเสริมการเชื่อมต่อสื่อสารกับโลกภายนอก  อินเทอร์เน็ตทำให้โลกแคบลงไม่ว่าคนจะไปอยู่ส่วนไหนของโลกก็สามารถติดต่อแลกเปลี่ยนเรื่องราวและประสบการณ์ต่าง ๆ กับโลกภายนอกได้แม้จะต่างเวลา  สถานที่  และวัฒนธรรมห้องเรียน  ครูสมัยก่อนสามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้เหมือนกันแต่จะมีปัญหาเรื่องเวลาและสถานที่  ปัจจุบันนี้  อินเทอร์เน็ตทำให้ครูและนักเรียนสามารถติดต่อหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักเรียนหรือครูที่อยู่ในส่วนอื่น ๆ ของโลกได้โดยไม่มีอุปสรรคเรื่องเวลา  สถานที่  และวัฒนธรรม

        2.   ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม  ปัจจุบันนักวิจัยทางการศึกษา  ครู  และผู้กำหนดนโยบายเชื่อว่านักเรียนเรียนรู้โดยผ่านการปฏิสัมพันธ์สังคม (Social  interaction)  ดังนั้นสถานศึกษาจึงควรให้นักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกันโดยให้ทำงานเป็นทีม  ซึ่งอาจให้จับคู่กันเป็นทีมตั้งแต่  2  คน  ขึ้นไป  หรือมากกว่าก็ได้  แล้วให้ศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ จากอินเทอร์เน็ต  สถานศึกษาสามารถนำรายงานหรือผลงานที่นักเรียนสร้างขึ้นไปเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตได้  เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

        3.   ส่งเสริมการทำความเข้าใจในเนื้อหาที่ยากแก่การมองเห็น  ตัวแบบ (Model) เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้สำหรับรายวิชาต่าง ๆ  ในระดับต่าง ๆ  เพื่อให้มีประสิทธิภาพ  ตัวแบบทำให้นักเรียนมองเห็นแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ อย่างมีความหมาย  ตัวอย่างเช่น  ตัวแบบเกี่ยวกับการยึดเกาะระหว่างโมเลกุลของสารที่นักเรียนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้  แต่คอมพิวเตอร์จะสามารถจำลองตัวแบบการเกาะยึดระหว่างโมเลกุลให้นักเรียนมองเห็นภาพได้  หรือในทางการแพทย์  สามารถจำลองตัวแบบการไหลเวียนของโลหิตภายในร่างกายออกมาให้เห็นได้  เนื่องจากนักศึกษาแพทย์ไม่สามารถที่จะเห็นของจริงได้จากการค้นคว้า  นอกจากนี้ในการเปลี่ยนแปลงของอากาศก็สามารถทำตัวแบบออกมาให้เห็นได้เช่นเดียวกัน 

            การใช้ตัวแบบที่ดีคือทำให้นักเรียนเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น  เพราะตัวแบบจะทำให้นักเรียนสามารถมองเห็นได้หลายแง่หลายมุม  ซึ่งถ้าเทียบกับการใช้อุปกรณ์แบบเก่า ๆ แล้วจะแตกต่างกันมาก  และบางเรื่องในบางวิชาหากจะใช้วิธีการแบบเก่า ๆ มาทำก็ไม่สามารถจะทำได้  นอกจากนี้  เว็บจะมีแหล่งข้อมูลต่าง ๆ จำนวนมากที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างและแสดงผลที่นักเรียนสามารถจะเรียกออกมาดูได้ในชั้นเรียนหรือที่บ้าน

          4.   ส่งเสริมการค้นคว้าวิจัย  ก่อนที่จะมีการใช้อินเทอร์เน็ต  กระบวนการค้นคว้าวิจัยซึ่งเป็นที่ยอมรับและใช้กันอยู่โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับงานห้องสมุด  ครูและนักเรียนสามารถใช้บัตรหัวเรื่อง  หรือชื่อเรื่อง  หรืออื่น ๆ ที่ห้องสมุดใช้  ในการค้นหาข้อมูลไม่ว่าจะเป็นระบบ  Dewey  หรือ  Library  Congress  แต่เมื่อมีการใช้อินเทอร์เน็ต  อินเทอร์เน็ตกลายเป็นแหล่งข้อมูลมหาศาลที่ช่วยทำให้นักวิจัยซึ่งเคยใช้วิธีการเดิมในห้องเรียนสามารถลดเวลาในการค้นคว้าได้มาก  ทั้งนี้เพราะมีเครื่องมือใหม่ ๆ ในการค้นหาข้อมูลเพิ่มขึ้น  นอกจากข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว  ยังมีกลุ่มอภิปรายในเรื่องต่าง ๆ อีกมาก  ถ้านักวิจัยมีความสนใจในเรื่องใดก็สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับกลุ่มนั้นได้  ปัญหาในการค้นคว้าของนักวิจัยที่เกิดขึ้นก็คือการเรียนรู้การใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการค้นหา

            ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของอินเทอร์เน็ตก็คือ  สามารถนำไปใช้เพื่อการนำเสนอผลของการวิจัย  และการเผยแพร่งานวิจัยออกไปให้แพร่หลายหลังจากการวิจัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว  แต่เดิมก่อนที่จะมีอินเทอร์เน็ตนั้นทำได้ยากเพราะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง  แต่ปัจจุบันการนำเสนอผลของการวิจัยสามารถทำได้ง่ายมากและเสียค่าใช้จ่ายน้อย

             นอกจากการใช้อินเทอร์เน็ตในฐานะเป็นแห่งข้อมูลแล้ว  ยังสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้อีกด้วย  ซึ่งมีวิธีการง่าย ๆ คือ  หลังจากที่ผู้วิจัยได้สร้างแบบสอบถามเสร็จเรียบร้อยแล้วก็สร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์  เพื่อนำคำถามเหล่านั้นไปวางไว้ในอินเทอร์เน็ต  แล้วให้ผู้ตอบตอบแบบสอบถามเหล่านั้นทางอินเทอร์เน็ตได้เลย  ลักษณะการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบนี้ปัจจุบันเป็นที่นิยมใช้กันมากโดยเฉพาะการวิจัยทางด้านการตลาด

           5.   ส่งเสริมการทัศนศึกษาทางอิเล็กทรอนิกส์  การไปทัศนศึกษาเป็นวิธีหนึ่งที่ครูสามารถนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนในเรื่องต่าง ๆ ได้  แต่โดยปกติแล้วการไปทัศนศึกษามีข้อจำกัดคือ  ทำให้เสียเวลา  เสียค่าใช้จ่าย  ยากต่อการควบคุมนักเรียนหากกลุ่มนักเรียนที่ไปทัศนศึกษามีจำนวนมาก  นอกจากนั้นยังเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินทาง  และหากสถานที่ที่จะไปทัศนศึกษานั้นอยู่ห่างไกลจากบ้านของนักเรียนมาก  เช่น  อยู่ในต่างประเทศก็จะยิ่งทำให้การเดินทางไปทัศนศึกษามีความยากลำบากมากขึ้น

              แต่ด้วยความสามารถของอินเทอร์เน็ต  โรงเรียนสามารถให้นักเรียนไปทัศนศึกษาทางอิเล็กทรอนิกส์ได้  การทัศนศึกษาทางอิเล็กทรอนิกส์  คือ  การศึกษาที่นักเรียนและครูกระทำผ่านทางอินเทอร์เน็ตโดยการใช้คอมพิวเตอร์  ข้อมูลทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์หรือประกาศต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลทางธุรกิจในท้องถิ่น  จะถูกเรียกขึ้นมาแสดงบนจอภาพเพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาพร้อมไปกับการอธิบายเพิ่มเติมของครู

              การทัศนศึกษาทางอิเล็กทรอนิกส์  มีลักษณะหลายอย่างเช่นเดียวกับการไปทัศนศึกษาปกติ  แต่มีข้อดีกว่าคือนักเรียนสามารถที่จะศึกษาข้อมูลบางอย่างได้ซึ่งถ้าให้นักเรียนไปทัศนศึกษาปกติจะไม่สามารถศึกษาได้  ในการสอนโดยการใช้ทัศนศึกษาอิเล็กทรอนิกส์นั้น  ครูต้องมีการวางแผนการสอนล่วงหน้าว่าจะให้นักเรียนเรียนรู้เรื่องใด  และจะติดตามผลโดยวิธีใดหลังจากทัศนศึกษาแล้ว

             การใช้วิธีทัศนศึกษาทางอิเล็กทรอนิกส์  ช่วยทำให้นักเรียนมีโอกาสติดต่อกันในลักษณะเผชิญหน้าผ่านจอภาพกับบุคคลในสถานการณ์จริง ๆ ได้โดยใช้ระบบ Video-conference  โดยเครื่องมือนี้นักเรียนสามารถที่จะพูดคุยกับบุคคลต่าง ๆ ได้ทั่วโลก

             ข้อได้เปรียบของการทัศนศึกษาทางอิเล็กทรอนิกส์อีกประการหนึ่งก็คือ  ครูและนักเรียนไม่ต้องพะวงเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ  เช่น  อากาศ  การเดินทาง  ข้อจำกัดของการทัศนศึกษาทางอิเล็กทรอนิกส์  จำนวนคอมพิวเตอร์และความเร็วในการสื่อสารข้อมูล  รวมถึงอุปกรณ์เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์อื่น ๆ

             6.   ส่งเสริมการเผยแพร่ผลงาน  การเผยแพร่ข้อมูลทางเว็บสามารถทำได้ง่ายมากเพียงแค่ครูและนักเรียนฝึกการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปที่จะนำเสนอข้อมูลบนเว็บเท่านั้น  ซึ่งก็ทำได้ไม่ยาก  ปัจจุบันครูในประเทศไทยเริ่ใช้เว็บเป็นสื่อในการเผยแพร่ผลงานของนักเรียนมากขึ้นเพราะนอกจากจะทำได้ง่ายและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยกว่ากระบวนการเผยแพร่งานในระบบปกติ  แล้วยังสามารถได้รับข้อมูลย้อนกลับจากผู้ค้นคว้าอีกด้วย

                  สิ่งที่ต้องระวังในการเผยแพร่งานก็คือ  จะต้องมีการควบคุมอย่างรัดกุมโดยจัดให้มีผู้ควบคุมซึ่งอาจจะเป็นครู  หรือคณะกรรมการที่ประกอบด้วยนักเรียนและให้ครูเป็นที่ปรึกษา  สิ่งที่ต้องควบคุมได้แก่การดูแลรูปแบบของการนำเสนอและเนื้อหาของการนำเสนอ  ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งนำเสนอข้อมูลที่อาจทำความเสื่อมเสียมาสู่สถานศึกษาได้

                    การเผยแพร่ผลงานสามารถทำได้ในลักษณะวารสารออนไลน์  ซึ่งอาจจะเป็นวารสารของโรงเรียนหรือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ได้  นอกจากนี้ยังอาจจะเป็นลักษณะของกลุ่มสนใจก็ได้

                 7.   ส่งเสริมความสามารถเฉพาะบุคคล  เนื่องจากนักเรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันและมาจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน  ดังนั้นจึงมีความสนใจและความต้องการที่แตกต่างกันด้วย  ครูจะต้องพยายามพัฒนาหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น  แม้จะเป็นการยากที่ครูจะทำหลักสูตรหรือสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่เด็กตามที่เด็กทุกคนต้องการ  แต่การพัฒนาให้เด็กในฐานะผู้เรียนได้รู้จักตนเองว่าเป็นใคร  และมีความต้องการในเรื่องใดก็สามารถนำไปสู่การตอบสนองความต้องการของเด็กได้

                  8.   ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับชุมชน  ครู  ผู้ปกครอง  และชุมชนจะต้องติดต่อสื่อสารกันอยู่เสมอ  อินเทอร์เน็ตจะช่วยให้ครูฝ่าอุปสรรคในการติดต่อระหว่างโรงเรียนกับชุมชน  เทคโนโลยีทางเว็บทำให้ครูสามารถจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนการสอนและหลักสูตรเพื่อนำเสนอบนเว็บได้  สมาชิกของชุมชนทุกคนสามารถที่จะได้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว  นักเรียนสามารถเรียกใช้ข้อมูลที่ตนต้องการเชื่อมโครงงานต่าง ๆ ในรายวิชาที่เรียน  ผู้ปกครองสามารถเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับงานของโรงเรียนได้เป็นวัน ๆ  ส่วนสมาชิกในชุมชนที่ไม่มีบุตรก็จะได้รับทราบเกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆภายในโรงเรียน

                  9.   การพัฒนาทางด้านวิชาการของครู  ปัจจุบันครูจำนวนมากยังขาดความรู้ด้านเทคโนโลยี  การนำอินเทอร์เน็ตมาใช้ในการเรียนการสอนนั้นจึงไม่ใช่เฉพาะนักเรียนเท่านั้นที่เป็นผู้เรียนแต่ครูก็เป็นผู้เรียนด้วย  อินเทอร์เน็ตช่วยให้ครูมีประสบการณ์มากขึ้น  โดยครูสามารถที่จะติดต่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับครู ๆ คนอื่น  ทำให้ครูได้เรียนรู้วิธีการสอนใหม่ ๆ และสะท้อนให้เห็นถึงวิธีการสอนของตัวครูเอง  สำหรับครูจำนวนมากแล้วการใช้อินเทอร์เน็ตหมายถึงการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และสิ่งที่ครูไม่เคยรู้มาก่อน  การพัฒนาบุคลากรและการพัฒนาวิชาชีพของครูสามารถได้มาจากประสบการณ์เหล่านี้  เป็นการสร้างโอกาสใหม่ ๆ สำหรับกระบวนการเรียนรู้ซึ่งมีอยู่มากมายในอินเทอร์เน็ต

                จากที่กล่าวมาทำให้สรุปได้ว่า  ครู  นักเรียนหรือผู้สนใจสามารถเข้าไปค้นคว้าหาความรู้มากมายได้จากแหล่งข้อมูลขนาดมหึมาบนอินเทอร์เน็ต  ซึ่งเว็บไซต์บางแห่งออกแบบมาเพื่อการศึกษาโดยเฉพาะ  กล่าวคือ  มีเนื้อหาและแบบฝึกหัดเสริมบทเรียน  มีครูผู้เชี่ยวชาญมาคอยตอบข้อซักถามในหัวข้อทางด้านการเรียน  ครู  นักเรียนและผู้ปกครองสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างสะดวก  อินเทอร์เน็ตช่วยเปิดโลกการเรียนรู้ไม่ให้จำกัดอยู่ที่ห้องเรียนและตำราเรียน 

หมายเลขบันทึก: 411991เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2010 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท