เรียนแล้วได้อะไร ? อย่างที่ไม่คาดคิด


เรียนแล้วได้อะไร ? อย่างที่ไม่คาดคิด

 สรุปสิ่งที่เรียนรู้ได้จากการเรียน วิชายุทธศาสตร์การจัดการวัฒนธรรม วันอังคารที่ 25 กรกฎาคม 2549

และ ในวันอังคารที่ 4 กรกฎาคม 2549 ที่ผ่านมา

1. ความรู้ที่ได้รับจากวิธีสอนแบบ “ไม่สอน”ของอาจารย์หมอวิจารณ์ เป็นการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน คิดแบบกว้างไกล เป็นอิสระ โดยมีอาจารย์หมอคอยอำนวยไม่ให้ออกนอกทิศทาง เมื่อเรียนเรื่อง “กระบวนการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้” ผู้เรียนก็ควรที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด และเข้าใจว่าวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ควรจะเป็นนั้นเป็นอย่างไร ด้วยการปฏิบัติจริง โดยการใช้กระบวนกลุ่ม และเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเราจริง ๆ เพราะวิถีชีวิตของเราในขณะนี้ คือ ต้องเรียนวิชานี้ และต้องจบภาคทฤษฎี? การที่เราได้ปฏิบัติจากกระบวนการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน 2 ครั้งเป็น 2 ครั้งที่มีคุณค่าและมีความหมาย เราได้ศึกษาด้วยตนเอง (Independent study) ที่สำคัญเราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อน ๆ ซึ่งมีภูมิหลัง มีอัตลักษณ์ มีความรู้และภูมิปัญญาที่แตกต่างกัน มองเห็นความงดงามของมิตรภาพ มองเห็นทัศนะของศาสนาที่แตกต่าง แต่โดยเนื้อแท้ของ ศาสนธรรมมิได้แตกต่างกัน เกิดความสุขในการเรียน เกิดความสุขในการใช้ชีวิต มองเห็นคุณค่าของการเรียนอย่างไม่มีขีดจำกัด คงเรียกได้ว่านี่แหละ เรียนแบบเรียนรู้ตลอดชีวิต

• ข้อสังเกต วิธีการสอนของอาจารย์คล้าย ๆ PBL (Problem Base Learning)ตามที่ระบบมหาวิทยาลัย ฮิต ๆกัน คือเริ่มต้นด้วยปัญหา แล้วค้นคว้าหาหนังสือเอกสาร หลักฐานเพื่อตอบปัญหา โดยมีอาจารย์เป็น Facilitater แต่เป็นการตอบโจทย์ ค้นคว้าจากลายลักษณ์อักษรเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับวิธีการสอนของอาจารย์นั้นได้จิต วิญญาณ มากกว่าเพราะเรียนด้วยความสุข เรียนจากเพื่อน เรียนจากประสบการณ์ของครูด้วย (เช่น ครูอ้อม) เรียนโดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรียนแบบนี้นักเรียนก็อยากเรียน เพราะไม่เครียด ไม่เกร็ง เรียนแล้วมีความสุข

2. ความรู้จากโรงเรียนชาวนาจากครูอ้อม (คุณอุรพิณ ชูเกาะทวด) เป็นประโยชน์ต่อการมองภาพเชื่อมโยงการจัดการองค์ความรู้ทางวัฒนธรรม การสร้างกระบวนการวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้กับชุมชน หน่วยงาน องค์กร สถานศึกษา ทุก ๆ ที่ ทุก ๆแห่ง เมื่อมีการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ แม้การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์นั้นยาก (เหมือนการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของชาวนา) แต่หากทำสำเร็จ สังคม ชุมชน ประเทศชาติ จะพัฒนา ตามแนวทางพอเพียง สงบ และสันติสุข เมื่อเรียนรู้จากวิธีการ “ไม่สอน” ของอาจารย์หมอวิจารณ์ เกิดความอยากลองวิชาที่ได้เรียนรู้ เพราะสถานการณ์จริงน่าจะมีปัจจัย ตัวแปร หลากหลายปัญหาให้ท้าทาย ให้ฟันฝ่า เพื่อสัมฤทธิผลตาม “ภาพฝัน” ในอนาคตคงจะได้มีโอกาสสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่มีคุณค่านี้ต่อสังคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ด้วยประสบการณ์อันน้อยนิด) เพราะถ้าคนในสังคม ชุมชน 3 จังหวัด ทุกคนมองเห็นคุณค่าของกันและกัน เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สังคม บ้านเมืองก็จะเกิดความสันติสุข (ในเบื้องต้นคงจะรอคอยเป็นผู้สังเกตการณ์โครงการของผศ.ปิยะ กิจถาวรก่อน)

 3. จากที่เคยมีความคิดเห็นว่าการเรียนการสอนในวันอังคารที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันแรกของการเรียนนั้น ยังไม่ได้ความรู้ในเรื่อง “ยุทธศาสตร์การจัดการทางวัฒนธรรม” ตามชี่อวิชา คงจะต้องบอกว่า คิดผิดไปจริงๆ เพราะความรู้? อยู่ที่เราเองจะจัดการอย่างไรต่างหาก จากแนวทางที่อาจารย์หมอวิจารณ์ ได้ “อำนวย” ให้กับเรา

4. ขอบพระคุณท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ และครูอ้อม ที่ได้ให้ความรู้เป็นวิทยาทาน ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อตนเอง สังคม ชุมชนและที่ต้องขอบพระคุณเช่นกันก็คือเพื่อน ๆ ที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และเป็นครูด้วยกัน เชื่อว่าในอนาคตพวกเราคงจะได้นำประสบการณ์ความรู้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “กระบวนการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้”ไปใช้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน ประเทศชาติของเรา และที่สำคัญเมื่อเราได้เป็นผู้ให้ต่อสังคมบ้าง ก็คงมีความสุขเช่น ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ และครูอ้อม (สังเกตจากใบหน้าที่งดงาม อ่อนวัย ) สันนิษฐานว่าท่านอื่น ๆ ในสคส. ก็คงมีลักษณะนี้เช่นกัน

ขอบพระคุณค่ะ พรปวีณ์ ศรีงาม

หมายเลขบันทึก: 41199เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2006 19:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท