อยากเป็นเลิศ ต้องเริ่มด้วยการดูตัวเอง


งานวิจัยเรื่องหนึ่งได้บอกไว้ว่าองค์กรที่ไปถึงความเป็นเลิศในด้านใดด้านหนึ่งได้นั้น จะมีลักษณะสำคัญอยู่สามประการ

ลักษณะแรกขององค์กรที่เป็นเลิศ คือ มีทรัพยากรเหลือเฟือ แต่ไม่ได้หมายความว่ามีอยู่มาแต่เดิม ตอนแรกอาจแทบไม่มีอะไร แต่มุ่งมั่นแสวงหาจนกระทั่งมีทรัพยากรมากเกินพอ มีเหลือพอที่จะชดเชยความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากโครงการใหม่ๆ ที่มีความเสี่ยงสูงแต่อาจมีผลตอบแทนอย่างมหาศาลหากประสบความสำเร็จ การมีทรัพยากรที่เหลือเฟือทำให้เสี่ยงทำของใหม่ได้มากกว่าผู้ที่มีทรัพยากรอย่างจำกัด เสี่ยงทำสิบอย่าง ล้มเหลวเก้าอย่าง แต่ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลเพียงอย่างเดียว ก็เพียงพอต่อความเป็นเลิศในเรื่องนั้นแล้ว ถ้ามีทรัพยากรอย่างจำกัดคงเลือกได้เป็นบางอย่าง ทำให้โอกาสที่จะได้เป็นเลิศในเรื่องนั้นมีน้อยกว่าผู้ที่มีโอกาสลองผิดลองถูกได้หลายเรื่อง หรือแม้ว่าจะเป็นเรื่องเดียวกันก็ยังมีโอกาสที่จะหาวิธีการได้หลาก หลายกว่า ลองหลายๆ อย่างย่อมมีโอกาสพบวิธีการที่โดดเด่นกว่าที่มีอยู่เดิมได้มากกว่า ดังนั้น ก่อนที่จะเป็นเลิศได้คงต้องหาหนทางที่จะทำให้มีทรัพยากรที่เพียงพอที่จะมุ่งไปสู่ความเป็นเลิศได้เสียก่อน พึงระลึกไว้เสมอว่าการก้าวสู่ความเป็นเลิศภายใต้ทรัพยากรที่จำกัดนั้นยากเย็นกว่าการก้าวสู่ความเป็นเลิศภายใต้ทรัพยากรที่เกินพออย่างแน่นอน

องค์กรที่เป็นเลิศในด้านใดด้านหนึ่งได้นั้น องค์กรนั้นต้องมีผู้คนที่มีฝีมือในด้านนั้นอยู่ในปริมาณที่มากเพียงพอ มีคนเก่งเรื่องนั้นตั้งแต่ระดับบริหารไปจนกระทั่งคนทำงานในภาคสนาม ผู้คนที่เป็นคนเก่งเหล่านี้ นอกจากจะเก่งจริงในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วยังมีเครือข่ายที่กว้างขวางในวงการ เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับของผู้คนในวงการนั้น บอกชื่อไปแล้วคนในวงการต้องรู้จักและยอมรับในฝีมือ การที่มีทั้งคนเก่งและคนที่กว้างขวางในวงการอยู่รวมกัน ทำงานร่วมกันย่อมทำให้มีโอกาสที่จะสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่นำไปสู่ความเป็นเลิศได้ไม่ยาก ผู้คนเชื่อฝีมืออยู่แล้ว ทำอะไรใหม่ๆ ออกมา ผู้คนก็ยอมรับและยกย่องว่าเป็นเลิศได้เสมอ ถ้าเป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยคนที่ไร้ฝีมือ หาความเก่งโดดเด่นอะไรไม่ได้ บอกชื่อไปก็รู้จักกันเฉพาะภายในองค์กร คนนอกไม่มีใครรู้จัก เก่งแต่ในบ้านอย่างเดียว จะทำอะไรใหม่ๆ ให้ผู้คนได้ยกย่องให้เป็นเลิศคงต้องเริ่มจากระดับที่ทำให้คนอื่นรู้จักและยอมรับฝีมือก่อน แล้วจากนั้นค่อยมาว่ากันว่าจะก้าวสู่ความเป็นเลิศได้หรือไม่ การที่จะเป็นเลิศในวงการโดยที่ไม่มีใครเคยได้ยินชื่อมาก่อนนั้นทำได้ก็จริง แต่โอกาสมีเพียงน้อยนิด

องค์กรที่ก้าวสู่ความเป็นเลิศได้ประสบความสำเร็จนั้น ทุกองค์กรมีการบริหารจัดการที่เอื้ออำนวยต่อการคิดสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรม ระเบียบต่างๆ มีพลวัตสูง สามารถดัดแปลงได้ตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยตลอด ผู้คนที่ทำงานในแต่ละส่วนสามารถตัดสินใจในเรื่องที่ทำได้ด้วยตนเอง เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีกลยุทธ์ชัดเจนในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ผู้คนมีวัฒนธรรมในการทำงานที่มุ่งมั่นให้เกิดความสำเร็จที่ดีที่สุด ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้เสร็จเฉยๆ ทำเสร็จทันเวลาและทำได้ดีกว่าเดิมเสมอ ผู้คนแสวงหาคำตอบที่ดีกว่าสำหรับงานเดิมที่เคยทำอยู่ ไม่ยอมติดกับดักของความต่อเนื่อง คำถามว่าทำไมต้องทำแบบนั้นจะมีให้ได้ยินอยู่เสมอในองค์กรที่เป็นเลิศ ถ้าอยากเป็นเลิศแต่ตีกรอบระเบียบการทำงานเดิมๆ ไว้อย่างเหนียวแน่น คงเป็นได้แค่เป็นเลิศในการรักษาของเก่า ซึ่งคงไม่ใช่การเป็นเลิศสำหรับปัจจุบัน ถ้าอยากเป็นเลิศแต่จะซื้อปากกาสักด้ามยังต้องขออนุมัติจากผู้จัดการใหญ่ จะเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานต้องนำเรื่องเข้าประชุมในคณะกรรมการ ประชุมกันแต่ละครั้งวาระการประชุมยาวสามหน้ากระดาษ ประชุมตั้งแต่เช้าถึงเย็นยังไม่หมด ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว หวังอยากจะเป็นเลิศแล้วคงเป็นเลิศได้ในด้านความล่าช้าในการบริหารจัดการเท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 411878เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2010 21:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท