บทความที่3


บทความเรื่องที่ ๓

คำชี้แจง      ให้นักเรียนอ่านบทความและทำแบบฝึกที่ ๗ – ๘

เรื่อง  รักผูกพัน วันครอบครัว

โดย  จินดารัตน์  สินเจริญกุล

                ๑๓ เมษายน วันครอบครัว เป็นโอกาสสำคัญที่สมาชิกทุกคนต่างเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนามาพบปะกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา และได้มาเยี่ยมเยือนกราบไหว้บุพการีและญาติผู้ใหญ่ผู้สูงอายุที่ตนเคารพนับถือ ซึ่งยึดถือเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามอย่างหนึ่งของไทยที่สืบทอดมาช้านาน

                การที่ลูกหลานมากันอย่างพร้อมหน้าเพื่อแสดงความเคารพรัก  ความห่วงใยและเอาใจใส่ต่อผู้สูงอายุ  ไม่ว่าจะเป็นบุพการีหรือผู้มีพระคุณ เป็นสิ่งที่มีความหมายอย่างยิ่ง นับเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางใจต่อผู้สูงอายุ  มากกว่าการให้สิ่งของใด ๆ เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าลูกหลานยังคงให้ความสำคัญแก่ท่าน  สิ่งนี้นำมาซึ่งความสุขความปลาบปลื้มใจเป็นเสมือนน้ำทิพย์ที่หล่อเลี้ยงให้ผู้สูงอายุมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับสังขารที่เสื่อมถอยเพื่ออยู่ดูความเจริญก้าวหน้าของลูกหลาน

                ปกติคนเราเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ  สุขภาพและกำลังวังชาจะเสื่อมถอย  การเดินเหินไปมา   ก็ไม่สะดวกดังใจ  มักห่างเหินจากสังคมภายนอกและเพื่อนๆ ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่แต่บ้าน  หากไม่มีงานอดิเรก หรือไม่มีผู้ดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิด  จะรู้สึกเหงาและด้อยคุณค่า การที่ลูกหลานมากันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา  เพื่อแสดงออกซึ่งความระลึกถึง  ความเคารพยกย่องเอาใจใส่ เป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณ  ผู้เป็นลูกหลานควรใช้โอกาสนี้แสดงให้ผู้สูงอายุเห็นว่า ถึงท่านจะแก่ชรา  แต่ก็ยังคงมีความสำคัญ  เป็นผู้ชี้แนะทางที่ถูกที่ควรในการดำเนินชีวิตให้แก่ลูกหลานได้เป็นอย่างดี  นอกจากนั้นยังควรจะเชื่อมความสัมพันธ์ให้เด็ก ๆ มีโอกาสใกล้ชิดปู่ ย่า ตา ยาย และสอนให้เขามีความผูกพันเข้าใจ  และซาบซึ้งถึงพระคุณของท่านเช่นเดียวกับเราด้วย  ความมีชีวิตชีวา  และความรักใคร่สนิทสนมของเด็ก ๆ ซึ่งผู้เป็นลูกหลานเปรียบเสมือนยาอายุวัฒนะ      ที่สร้างความชุ่มฉ่ำใจให้แก่ผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี

ความจริงแล้ว  การแสดงความห่วงใย และความเอาใจใส่ต่อผู้สูงอายุ  ไม่ใช่จะพึงกระทำเฉพาะวันใดวันหนึ่งเท่านั้น  แต่ควรจะหมั่นคอยไต่ถามความเป็นอยู่  สารทุกข์สุขดิบของท่าน  อยู่เสมอและต้องให้ท่านมีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย  เพราะเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญยิ่งของลูกหลานที่มีโอกาสอยู่ปรนนิบัติดูแลใกล้ชิดผู้สูงอายุ ก็ควรจะภูมิใจ  แม้ว่าจะเป็นงานที่ต้องเสียสละและอดทนอย่างยิ่ง  การที่เราจะพยายามทำความเข้าใจถึงความต้องการ และภาวะ       การเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของผู้สูงอายุ  จะช่วยให้การดูแลและใกล้ชิดท่าน  ทำได้อย่าง      มีความสุข  และไม่เบื่อหน่าย  การที่ผู้สูงอายุช่วยเหลือตนเองได้น้อยลง  กลับกลายเป็นเหมือนเด็กๆ ที่ไม่มีเหตุผล  น้อยใจง่ายและติดอยู่กับความคิดเดิมๆ ที่แตกต่างจากเรามาก  การเข้าใจธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงตามวัย  จะช่วยให้เราเข้าใจท่านและหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความขัดแย้งกับท่าน  พูดด้วยวาจาไพเราะ ไม่รุนแรง  ผู้สูงอายุมักชอบที่จะเล่าเรื่องในอดีตให้ลูกหลานฟังซึ่งซ้ำซากจนบางครั้งเราอาจจะรู้สึกเบื่อหน่าย  แต่หากยอมรับว่าโอกาสที่จะได้รับฟังท่านมีเหลือเพียงไม่นานนัก  เราก็จะทำใจ  และเปิดใจที่จะรับฟังด้วยความสนใจได้รวมทั้ง  ร่วม       บทสนทนาด้วยบ้าง  ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีอารมณ์เบิกบานและมีความสุขมากที่ลูกหลานให้ความสนใจ

                พึงปฏิบัติต่อพ่อแม่  บุพการี  ผู้สูงอายุ  ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้  เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อท่าน  เพื่อภายภาคหน้าลูกหลานของเราเองก็จะได้มีแบบอย่างที่ดีในการยึดถือปฏิบัติต่อเรา  ให้เราได้ชื่นใจในช่วงบั้นปลายของชีวิต เช่นเดียวกัน

 

 (ที่มา : สนิท  สัตโยภาส  ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารและสืบค้น)

หมายเลขบันทึก: 411299เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2010 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 21:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นกำลังใจให้ครับ..สู้ ๆ ครับ

เป็นกำลังใจให้ครับ

บทความนี้เนื้อหาดีมากค่ะ เหมาะแก่การนำมาประกอบการเรียนการสอน สู้ๆค่ะ

บทความนี้เนื้อหาดีมากค่ะ เหมาะแก่การนำมาประกอบการเรียนการสอน สู้ๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท