ผักที่น่าสนใจ "มะเขือพวง"


ผักที่น่าสนใจ "มะเขือพวง"

มะเขือพวง

 

   มะเขือพวงเป็นพืชที่ช่วยเสริมสุขภาพ โดยมีสรรพคุณตามตำราแพทย์แผนไทยคือ ช่วยเจริญอาหาร ย่อยอาหาร ช่วยระบบขับถ่าย บำรุงธาตุ ขับเสมหะ แก้ไอ ช่วยให้โลหิตหมุนเวียนดี แก้ฟกช้ำ ไอเป็นเลือด ฝีบวมมีหนอง และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้แสดงคุณสมบัติที่เด่นชัดของมะเขือพวงในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของลำไส้เพื่อตอบสนองต่อสารพิษที่เข้ามายังระบบทางเดินอาหาร มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันช่วยป้องกันความเสื่อม และแก่ก่อนวัย มีฤทธิ์ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในโรคเบาหวาน อีกทั้งยังมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด

 

 

    มะเขือพวงมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ศาสตร์คือ Solanum torvum Sw. ซึ่งเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Solanaceae และมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ ภาคเหนือเรียกว่า “มะแคว้งกุลา” ภาคอีสานเรียกว่า “หมากแข้ง” แต่จังหวัดนครราชสีมาจะเรียกว่า “มะเขือละคร” ภาคใต้เรียกว่า “เขือน้อย เขือพวง ลูกแว้ง และเขือเทศ” แต่จังหวัดสงขลาจะเรียกว่า “มะแว้งช้าง”

    มะเขือพวงเป็นไม้พุ่มยืนต้นข้ามปี แตกต่างจากมะเขือทั่วไปที่เป็นพืชล้มลุก มะเขือพวงเป็นมะเขือโบราณที่มีทวิลักษณะ (ลักษณะขัดแย้งกัน 2 อย่าง) คือ มีพุ่มต้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดามะเขือด้วยกัน แต่มีผลที่มีขนาดเล็กที่สุด 

มะเขือพวงมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร

   มะเขือพวง 100 กรัม มีธาตุเหล็กประมาณ 43 มิลลิกรัม ซึ่งสูงกว่าปริมาณธาตุเหล็กที่พบในเลือดไก่ และผักโขมซึ่งถือว่าเป็นผักใบเขียวที่มีธาตุเหล็กสูงในอันดับต้น ๆ ถึง 1 เท่าตัว  

   มะเขือพวง 1 ถ้วยตวง มีธาตุแคลเซียมประมาณ 299 มิลลิกรัม ซึ่งสูงกว่าปริมาณธาตุแคลเซียมที่พบในนมสด UHT 1 กล่อง (240 มล.) ซึ่งมีปริมาณแคลเซียม 240 มิลลิกรัม 

ผลของมะเขือพวงจะมีรสขื่น เฝื่อน อมเปรี้ยวเล็กน้อย นิยมนำผลมาต้มกับน้ำแล้วกรองดื่มเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำ มีสรรพคุณในการขับเสมหะ ช่วยระบบย่อยอาหาร รักษาอาการเบาหวาน

  จากการศึกษาวิจัยพบว่ามะเขือพวงมีสารเส้นใยชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เพกติน (Pectin) ซึ่งเป็นสารที่พบมากในผนังเซลล์ของพืช ผัก และผลไม้ต่าง ๆ เพกตินสามารถละลายน้ำได้ แล้วเปลี่ยนรูปเป็นวุ้นไปเคลือบผิวลำไส้เพื่อเพิ่มความหนาของชั้นเมือกของผิวลำไส้ ซึ่งการเป็นวุ้นนี้จะช่วยเพิ่มความหนืดของอาหาร ทำให้อาหารเคลื่อนตัวช้า ช่วยให้ลำไส้ดูดซึมแป้งและน้ำตาลที่ย่อยแล้วได้ช้าลง ระดับน้ำตาลในเลือดจึงไม่สูงฉับพลัน จึงช่วยในการควบคุมโรคเบาหวาน และช่วยดูดซับน้ำดีจากระบบทางเดินอาหาร ทำให้ตับเร่งสร้างน้ำดีขึ้นมาทดแทนโดยใช้โคเลสเตอรอลจากตับเอง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อหลอดเลือดแข็งและตีบตัน เพกตินยังมีคุณสมบัติในการดูดซับไขมันส่วนเกินจากอาหาร ลดการดูดซึมอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเข้าสู่ร่างกาย สามารถป้องกันโรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจได้ นอกจากนี้ในขณะที่เพกตินเคลื่อนตัวมาที่บริเวณลำไส้ สารเส้นใยนี้สามารถดึงน้ำไว้ได้เป็นจำนวนมาก จึงช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระ และกระตุ้นให้ระบบขับถ่ายทำงานได้เป็นปกติ

     จากการศึกษาพบว่ามะเขือยาวและมะเขือเปราะ ซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกับมะเขือพวง กลับมีปริมาณเพกตินที่น้อยกว่า โดยมะเขือพวงมีปริมาณเพกตินสูงสุด มะเขือยาวมีปริมาณเพกตินน้อยกว่ามะเขือพวง 3 เท่า และมะเขือเปราะมีน้อยกว่า 65 เท่า แม้ว่าจะมีผักหลายชนิดที่มีสารเส้นใยสูง แต่มะเขือพวงได้รับสมญานามว่าเป็นราชาแห่งผักพื้นบ้านในเรื่องของสารเส้นใย เนื่องจากมีปริมาณสารเส้นใยมากที่สุดเมื่อเทียบกับผักพื้นบ้านของไทยทั้งหมด

 

 

สารสำคัญที่พบในมะเขือพวง

   มะเขือพวงมีสารสำคัญ 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ สารกลุ่มไฟโตนิวเทรียนท์ และสารกลุ่มอัลคาลอยด์

 ไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrient) หมายถึง สารอาหารที่ได้รับจากพืช ซึ่งต่างจาก นิวเทรียนท์ (Nutrient) คือ เมื่อร่างกายอยู่ในสภาวะปกติ ไฟโตนิวเทรียนท์จะไม่มีผลใด ๆ ต่อร่างกาย แต่เมื่อร่างกายเกิดสภาวะขาดแคลน สารอาหารเหล่านี้จะช่วยปรับปรุงฟื้นฟูสภาพร่างกายให้ดียิ่งขึ้น สามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ ซึ่งสารที่สำคัญคือ Torvoside A, H และซาโปนิน

Torvoside สามารถลดระดับโคเลสเตอรอลในกระแสเลือด เนื่องจากมีโครงสร้างของสารที่คล้ายกับโคเลสเตอรอล จึงช่วยให้ลดการดูดซึมโคเลสเตอรอลที่ลำไส้ แล้วกระตุ้นให้ตับนำโคเลสเตอรอลในเลือดไปใช้มากขึ้น รวมทั้งยับยั้งการดูดซึมกลับของโคเลสเตอรอลในลำไส้ด้วย จึงป้องกันโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด และมีผลต่อระบบการแข็งตัวของเลือด

  ซาโปนิน (Saponin) เป็นไฟโตนิวเทรียนท์ที่พบในมะเขือพวง โดยสาร Torvonin B เป็นซาโปนินชนิดหนึ่งที่ทำให้มะเขือพวงมีฤทธิ์ขับเสมหะ ลักษณะเด่นของสารซาโปนินคือ สามารถเกิดฟองได้เมื่อนำไปละลายน้ำเนื่องจากเป็นสารลดแรงตึงผิว จึงนำไปใช้เป็นยาเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เพราะสามารถทำให้ผนังเซลล์ของเชื้อโรคเป็นรูได้ ทำให้แอนติบอดีในร่างกายสามารถเข้าไปในเซลล์ของเชื้อโรคได้

  อัลคาลอยด์ (Alkaloids) หมายถึง สิ่งที่เหมือนด่าง (Alkali-like) หรือด่างจากพืช (Vegetable alkali) อัลคาลอยด์มีฤทธิ์เป็นด่าง ส่วนมากจะเป็นของแข็ง และเป็นผลึกที่มีจุดหลอมเหลวเฉพาะ มีรสขม ไม่มีสี มีความเสถียรต่ำ เนื่องจากเป็นด่างจึงสลายตัวง่ายถ้าโดนแสง หรือความร้อนนาน ๆ มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท แต่จะมีผลต่ออวัยวะต่างกัน จึงนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย แต่ถ้ารับประทานมะเขือพวงเกิน 200 ผลภายในครั้งเดียว อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตับได้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวัง แต่อัลคาลอยด์เป็นสารที่สลายตัวได้ง่าย ซึ่งหากนำมาผ่านความร้อนแล้ว ก็จะสามารถบริโภคได้ด้วยความปลอดภัย อัลคาลอยด์ที่พบในมะเขือพวงคือ โซลาโซดีน อัลคาลอยด์ยังเป็นสารที่ละลายน้ำยาก จึงพบมากโดยเฉพาะในกากมะเขือพวง เมื่อเทียบกับส่วนน้ำมะเขือพวง

ถาม บริโภคมะเขือพวงสดติดต่อกันได้หรือไม่ ?

 

 

ตอบ ไม่ควรบริโภคมะเขือพวงสดติดต่อกัน เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของสารอัลคาลอยด์ที่ตับได้ สารนี้เมื่อผ่านความร้อนจะสลายไปบางส่วน สารนี้ละลายน้ำยาก จึงแนะนำให้บริโภคเฉพาะส่วนของน้ำมะเขือพวง ไม่ควรกินส่วนกาก เพื่อป้องกันการสะสมของสารอัลคาลอยด์ในร่างกาย

โซลาโซดีน (Solasodine) เป็นสารที่มีสรรพคุณในการต้านโรคมะเร็ง จากการศึกษาวิจัยพบว่า สารโซลาโซดีนมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์อันเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็

    มะเขือพวงกับโรคเบาหวาน

  โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน “อินซูลิน” ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ในการเผาผลาญสารอาหารจำพวกน้ำตาล เป็นผลทำให้กระบวนการเมแทบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรตเกิดความผิดปกติขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

 

    จากการวิจัยของสถาบันนวัตกรรมสุขภาพก้าวหน้า โดยศึกษาความสามารถในการต้านปฏิกิริยาออกซิเดชันของเครื่องดื่มสมุนไพรชนิดแห้งมะเขือพวง พบว่าน้ำสมุนไพรมะเขือพวงสามารถลดระดับอนุมูลอิสระซุปเปอร์ออกไซด์ หรืออนุมูลอิสระไนตริกออกไซด์ในเลือดหนูที่เป็นบาหวานได้ ซึ่งเป็นอนุมูลอิสระที่ก่อให้เกิดสภาวะเครียดออกซิเดชันในหนูทดลองที่มีอาการของโรคเบาหวาน ส่งผลต่อสภาวะเครียดออกซิเดชันในเม็ดเลือดแดง นอกจากนี้น้ำสมุนไพรมะเขือพวงยังลดไขมันที่ถูกออกซิไดซ์เป็นไขมันตัวร้ายในหนูทดลองที่มีอาการเบาหวาน ผลจาการศึกษาวิจัยยังพบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดของหนูเบาหวานเหล่านี้ก็ลดลงเช่นกัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเครื่องดื่มที่มีมะเขือพวงเป็นองค์ประกอบมีฤทธิ์ในการลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกิดจากเบาหวานได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ไตพิการ จอตาพิการ ประสาทพิการ โรคที่เท้าและอวัยวะพิการ

 

ข้อมูลอ้างอิง    www.be-v.net/index.php%3Flay%3Dshow%2

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 411128เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2010 22:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท