ทำขวัญนาค 5 (ความเชื่อถือและศรัทธาในพิธีกรรม)


โลกที่เจริญมากยิ่งขึ้นบทพิสูจน์บางอย่าง ทำให้ได้ข้อเท็จจริง กลายเป็นทางเลือกปฏิบัติของแต่ละบุคคล

ทำขวัญนาค 5 

(ความเชื่อถือและศรัทธาในพิธี)

โดย ชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ปี 2547

       มนต์เสน่ห์ของพิธีกรรม ทำขวัญนาคต้องจางลงไป เพราะผู้ที่ไม่รู้คุณค่าของวัฒนธรรมประเพณี ไม่มีความเชื่อและศรัทธา  ทำให้มนต์เสน่ห์ของพิธีกรรมต้องถูกตัดทอนไปอย่างน่าเสียดาย คนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เข้าถึงจารีตประเพณีในอดีต ในวันนี้เราจึงเห็นพิธีกรรมทำขวัญนาคเปลี่ยนแปลงไป ด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ คือ 

  1. กาลเวลาทำให้พิธีกรรมที่มีมนต์ขลังต้องปรับไปตามสมัยนิยม
  2. บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนทำให้พิธีกรรมต้องลดตัดทอนลงไป
  3. ผู้ที่เป็นจ้าวพิธีไม่ได้เรียนรู้มาอย่างแท้จริงกับบุคคลรุ่นครูโดยตรง 

        

1.  กาลเวลาทำให้พิธีกรรมที่มีมนต์ขลังต้องปรับไปตามสมัยนิยม 

         มนุษย์เรามีความต้องการที่แตกต่างกัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่มนุษย์มีคล้าย ๆ กันคือ ความง่าย โดยเฉพาะคนไทย จึงมีคำกล่าวที่ว่า “ทำอะไรง่าย ๆ คนไทยชอบ” แต่เดิมงานอุปสมบทชาวบ้านถือกันว่า เป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่มากในชุมชน บ้านไหนจัดงานบวชลูกชาย ชาวบ้านใกล้เคียงจะหลั่งไหลมาช่วยงานร่วมบุญกันอย่างมากมาย ในอดีตเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา งานบวชพระแต่ละงานจึงลงทุนสูงมาก บ้านไหนไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอก็จะต้องเก็บหอมรอบริบกันเป็นเวลานาน งานบวชจึงมีเวลาหลายวัน เช่น 3-5 วัน บางท้องที่ 10 วัน โดย เตรียมการ ก่อนงาน 4 วัน ทำขวัญนาคและวันบวช 2 วัน ฉลองพระใหม่อีก 4 วัน เป็นความภาคภูมใจของเจ้าภาพผู้จัดงาน จัดอาหารการกินมาให้แขกเหลื่อญาติพี่น้องกันอย่างเต็มที่ ผู้ที่มาร่วมงานก็อิ่มใจได้บุญกุศลกลับไป  บางท้องถิ่นก็ใช้เวลาในการจัดงานบวช 3 วัน วันที่ 1 วันทำขวัญนาค  วันที่ 2 วันบวช (วันอุปสมบท) วันที่ 3 วันฉลองพระบวชใหม่ แต่มาในปัจจุบัน บางท้องที่เหลือการจัดงานบวชเพียง 1 วัน เริ่มตั้งแต่เช้า โกนผมและเข้าสู่พิธีทำขวัญนาค เวลา 10.00 น. แห่นาคเข้าโบสถ์บวชเป็นพระ บ่ายโมง (13.00 น.) ทานเลี้ยง เสร็จงานในวันเดียว ก็เป็นไปตามค่านิยมรับเอาความเรียบง่ายรวดเร็วเข้ามาแทนที่ความมีเสน่ห์มนต์ขลังในพิธีทำขวัญนาคก็จางลงไป 

         

2.  บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนทำให้พิธีกรรมต้องลดตัดทอนลงไป 

         บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่ก็มาจากญาติ ๆ ของเจ้าภาพผู้ที่จัดงาน แต่มักจะแสดงความเห็นโดยใช้คามคิดของตนเพียงผู้เดียวตัดสินใจสั่งการไปโดยขาดการไตร่ตรอง และข้อเสนอแนะมักจะแสดงความเด็ดขาด ไม่ปราณีปราณอมหรือปรองดอง จะต้องทำให้ได้ เอาอย่างที่ตนต้องการให้ได้ อย่างเรื่องของเวลาในการประกอบพิธีทำขวัญนาค เวลาที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 2 – 2 ชั่วโมงครึ่ง ในบางงานเลยไปถึง 3 ชั่วโมงก็มี แต่พอมีผู้มาเสนอเวลาให้เหลือ 1 ชั่วโมง เรื่องราวหรือเนื้อหาก็จะต้องลดตัดทอนลงไปให้เหมาะสมกับเวลา เป็นส่วนดีของผู้ทีทำหน้าที่ประกอบพิธี แต่เป็นความไม่สมบูรณ์ของเนื้อหา ส่วนตัวหมอขวัญเป็นสิ่งที่ดีเสียอีกที่ปฏิบัติหน้าที่น้อยลงแต่ได้รับค่าตอบแทนเต็มจำนวน เรียกว่า เจ้านาค เจ้าของงานและญาติไม่ได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของกิจกรรมในแต่ละอย่างว่าควรที่จะกระทำอะไรหรือไม่เพียงใด จึงทำให้ผู้ฟังที่ได้ยินเสียงได้รับรู้เรื่องราวออกมาภายนอกคิดว่า งานทำขวัญนาคบ้านนี้ ทำไมจึงเสร็จพิธีเร็วจัง ข้อบ่งชี้นี้อาจนำสู่ความคิดที่ว่า มีบางคนขาดความเชื่อและศรัทธาที่เกิดขึ้นภายในทำให้ขาดความรู้สึกนึกคิดและไตร่ตรองที่เหมาะสม จึงไม่สามารถนำทางไปสู่เป้าหมายที่ต้องการซึ่งเป็นไปตามคุณค่าของพิธีกรรมที่ดีได้ 

        

3.  ผู้ที่เป็นจ้าวพิธีไม่ได้เรียนรู้มาอย่างแท้จริงกับบุคคลรุ่นครูโดยตรง

         ในประเด็นนี้ หมายถึง หมอทำขวัญนาคในยุคปัจจุบัน บางท่านนึกอยากที่จะเป็นหมอทำขวัญนาคก็ฝึกหัดร้องเพลงแหล่ จดจำบทร้องโดยลอกเลียนแบบจากหมอทำขวัญคนโน้นนิดคนนี้หน่อยแล้วนำเอามาปะติดปะต่อเป็นของตนเอง เมื่อไปประกอบพิธีจริง ๆ จึงเกิดข้อพกพร่อง มีข้อผิดพลาดขึ้นได้เสมอ เพราะพิธีทำขวัญนาคนั้น มีระเบียบของพิธีที่จะต้องทำให้เป็นลำดับขั้นตอนเรียงต่อเนื่องกันไป มิใช่นึกอยากจะจับตอนใดตอนหนึ่งมาก็นำเอามากล่าวได้ แต่จะต้องมีที่มาที่ไป มีความสำคัญก่อนหลัง เป็นการเดินเรื่องราวอย่างมีเป้าหมายหรือเป็นการนำไปสู่จุดหมายปลายทางที่แสดงถึงความสำเร็จของงานนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจน หมอทำขวัญนาคเก่า ๆ เมื่อท่านรู้ตัวว่าเป็นช่วงบั้นปลายของชีวิต ท่านก็จะหาตัวแทนมารับมรดกพิธีทำขวัญนาคของท่าน โดยการยกครู ครอบครูให้ไป เพื่อที่จะได้สานต่องานจากท่านเป็นตัวตายตัวแทนกันต่อไป หมอทำขวัญรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมาทีหลังจึงควรมีที่มาจากการรับมรดกจากหมอทำขวัญรุ่นเก่า จะได้เรียนรู้พิธีกรรม ท่องจำคาถา ฝึกหัดประกอบพิธีอย่างถูกต้องมีความคล่องตัวมีความมั่นใจและมีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด ในทางกลับกันท่านที่ไม่ได้รับมรดกมาจากครูหมอขวัญดั้งเดิมก็จะไม่มีแบบฉบับที่ถูกต้องเหมาะสม แต่จะเด่นทางด้านเสียงร้องและมีชื่อเสียงในวงการแสดงมาแทน ความขลังในพิธีอย่างสมัยก่อนก็จะลดน้อยลงไป

                    

          ทั้งหมดนี้เกิดจากความเชื่อที่ลดลงไปและเกิดจากความศรัทธาในพิธีกรรมที่ถดถอยหรือขาดการศึกษาเรียนรู้อย่างจริงจัง ในเมื่อคนรุ่นพ่อแม่ไม่ได้รับความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมประเพณีอย่างนี้มาก่อน ย่อมที่จะหลงลืม เดินไม่ตรงทาง เปลี่ยนเส้นทางความเชื่อไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตามต้องยอมรับในความเปลี่ยนแปลง ยอมรับในความเจริญ ความก้าวหน้าของเครื่องมือต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาให้มนุษย์ได้นำเอาไปใช้งานในชีวิตประจำวัน โลกที่เจริญมากยิ่งขึ้นบทพิสูจน์บางอย่าง ทำให้ได้ข้อเท็จจริง กลายเป็นทางแยกหรือทางเลือกที่เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล แต่ละครอบครัวที่จะเลือกปฏิบัติได้ตามความประสงค์ ตามความเชื่อและศรัทธา

 

ติดตามอ่าน GotoKnow.org (Blog to Book) บล็อก "ทำขวัญนาค" 50 ตอน ได้ที่เว็บ Partal in THailand : http://portal.in.th/kwannak/pages/13087/  (11 ธ.ค. 2553) 

 

ติดตาม ทำขวัญนาค ตอนที่ 6 (ได้อะไรและเสียอะไรบ้าง)

หมายเลขบันทึก: 411127เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2010 22:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 10:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

มาแวะดูพิธีทำขวัญนาคและข้อวิจารณ์

สวัสดี คุณวัฒนา

  • เป็นมุมมองในเชิงอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกด้านหนึ่งที่เกิดจากประสบการณ์ตรง
  • ขอบคุณที่ได้ร่วมรับรู้เรื่องราวเก่า ๆ ครับ

ไม่ว่าจะเป็นหมอขวัญจะมีประสบการณ์มาก หรือมีอายุ ก็อยู่ที่ความสามารถ และความกล้าที่จะสืบทอดภูมิปัญญา ก็ควรให้โอกาส

และสนับสนุนเด็กรุ่นใหม่ ไม่ใช่เกิดจากความเชื่อและศรัทธาน้อยลง ถ้าหมอขวัญที่มีอายุน้อยและมีความสามารถก็ควรให้โอกาส

ถูกต้อง หมอขวัญที่อายุมากขึ้นกาลเวลาก็ร่วงโรย ถ้าไม่มีหมอขวัญที่อายุยังน้อยมาสืบทอดภูมิปัญญาและประเพณีดั้งเดิม ต่อไปก็จะหาหมอขวัญไม่ได้ และไม่ใช่ว่าความศรัทธาและความเชื่อถดถอย

ตอบความเห็นที่ 3 หมอขวัญรุ่นใหม่

  • ในส่วนตัวของครูก็ชื่นชมในคนรุ่นใหม่ที่มีความศรัทธาในเรื่องนี้มากเพราะครูก็ถ่ายทอดพิธีทำขวัญนาคสู่เยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง
  • แต่ในพื้นที่ตรงนี้เป็นการนำเอาประสบการณ์ตรงของคนที่มีอายุเกือบจะครบ 60 ปี มานำเสนอความคิดเห็นในเชิงอนุรักษ์ เพราะเมื่อสิ่งที่เป็นอยู่นี้หมดไปยังคงมีร่องรอยให้ศึกษาความจริงได้ที่นี่ ที่ Gotoknow.org ครับ

ตอบความเห็นที่ 4 หมอขวัญอายุน้อย

  • ผมอยู่กับหลักบายศรีและพิธีทำขวัญนาคมา 43 ปี จึงได้นำเอาประสบการณ์ตรงมาเล่าผ่านพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพราะเมื่อถึงวันที่มีการสิ้นสุด ตรงนี้ยังมีความจริงให้ศึกษาเรียนรู้ได้อีกช่องทางหนึ่ง
  • ได้รับรู้ได้เห็นมาอย่างไรก็นำเสนอไปอย่างนั้น เพื่อบอกกับคนรุ่นใหม่ว่า ควรที่จะจรรโลงเอาไว้เท่าที่เราพอจะทำได้ทั้งผู้สืบสานและผู้ที่จะให้การสนับสนุนกันต่อ ไป
  • ที่ว่าเกิดจากความศรัทธาเชื่อถือน้อยลง มองได้อย่างชัดเจนที่ผู้กระทำพิธี ขณะนี้จะเป็นใครก็ได้ มิใช้ผู้ที่สืบทอดมาจากครูโดยตรงอย่างสมัยก่อน ทำให้มองเห็นข้อผิดพลาดมากขึ้น อาจจะแก้ไขไม่ทันเพราะงานได้ผ่านพ้นไปเสียแล้ว
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท