ท้องถิ่นค้านจัดซื้อพัสดุระบบอิอ็อกชัน สถ. ยันหนังสือถึงมือ อปท. แล้ว/แกนนำ อบต. เผยปัญหาเพียบ


ท้องถิ่นค้านจัดซื้อพัสดุระบบอิอ็อกชัน สถ. ยันหนังสือถึงมือ อปท. แล้ว/แกนนำ อบต. เผยปัญหาเพียบ
แกนนำ อบต. เดินหน้าคัดค้านการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุท้องถิ่นด้วยระบบอีอ็อกชัน ชี้ปัญหาสร้างความล่าช้าในการพัฒนาท้องถิ่น และทำให้เสียโอกาสทางราชการ ขณะที่ สถ. เผยส่งหนังสือระเบียบการประมูลงาน ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้กับท้องถิ่นเรียบร้อยแล้ว พร้อมดันเปิดเว็บไซต์เป็นของตนเองเพื่อลดปัญหาความล่าช้า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย โดยกำหนดให้ อปท.จัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอีเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Auction ตามหลักเกณฑ์แนวทางที่กรมบัญชีกลางกระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งท้องถิ่นที่มีการซื้อการจ้างที่มีวงเงินรวมเกิน 2 ล้านบาท ต้องประมูลทางระบบอีเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่การจ้างที่ปรึกษางานออกแบบและควบคุมงานวิธีพิเศษและวิธีกรณีพิเศษซึ่งระบบอีอ๊อกชันในช่วง 3-4 เดือนที่เหลือไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2549 กรณีเงินงบประมาณ 2-5 ล้านบาท มีเหตุผลความจำเป็นหรืออุปสรรค ทำให้ไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อหรือจัดจ้างโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และให้ผู้บริหารท้องถิ่นใช้ดุลยพินิจดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีสอบราคา หรือประกวดราคาแล้วแต่กรณี ซึ่งขณะนี้เริ่มมีปัญหาในการใช้ระบบอีอ๊อกชันในการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะระบบดังกล่าวใช้ระยะเวลานานมากไม่คล่องตัว ในเรื่องนี้ทาง สยามรัฐได้สอบถามความคิดเห็นจากผู้นำท้องถิ่นและผู้ที่เกี่ยวข้องถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานดังกล่าว
            ด้านท้องถิ่นนายการุณย์ คล้ายคลึง นายกอบต.สุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะนายกสมาคมอบต.จังหวัดเชียงใหม่  เปิดเผยว่าตนไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการนำระบบอีเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุในอบต.เนื่องจากทำให้เสียโอกาสทางราชการ และการจัดซื้อด้วยระบบอีเล็กทรอนิกส์ยังไม่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องการฮั่วได้ด้วย ซึ่งกลับเป็นการเพิ่มการฮั่วงานมากกว่า
ทั้งนี้ปัญหาที่ทางอบต.สุเทพประสบอยู่ในขณะนี้เป็นปัญหาโดยตรงจากการเปิดสอบราคาผ่านอิเล็กทรอนิสก์ ทำให้มีความคิดเห็นที่คัดค้านในระบบดังกล่าวมากยิ่งขึ้น จากกรณีที่ทางอบต.เปิดสอบราคาของโครงการแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำท่วม ด้วยงบประมาณ 4 ล้านบาท ซึ่งทางอบต.สุเทพเคาะผ่านทางอินเตอร์เน็ตไป 3 ครั้ง ใช้ระยะเวลานานถึง 60 วัน ซึ่งก็ยังไม่มีบริษัทที่เข้ามารับการประมูลงานเพียงครั้งเดียว ทำให้อบต.สุเทพ เสียเวลาในการพัฒนาท้องถิ่นและต้องนับหนึ่งเพื่อการสอบราคาของโครงการนี้ต่อไป และได้สอบถามกับผู้รับเหมาถึงสาเหตุที่ไม่เข้ามาประมูลงาน  ซึ่งก็ได้คำตอบว่าทางบริษัทไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายโดยที่ยังไม่ได้เริ่มโครงการและไม่แน่ใจด้วยว่าโครงการนี้จะได้หรือไม่แต่จะต้องเสียเงินล่วงหน้าก่อนแล้วเกือบแสนบาท ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ไม่มีผู้รับเหมาเข้ามาประมูลโครงการ รวมทั้งทำให้การพัฒนาท้องถิ่นสะดุด นอกจากนี้สิ่งที่ต้องการให้รัฐเปลี่ยนแปลงปรับปรุงใหม่ก็คือให้ยกเลิกการเปิดประมูลงานทางอิเล็กทรอนิกส์กับโครงการที่มีขนาดไม่เกิน 5 ล้านบาท แต่ถ้าโครงการที่มีขนาด 5 ล้านขึ้นไปให้ใช้การประมูลงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการใช้การประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้นก็คือสิ่งที่ทำให้เสียโอกาสราชการ ซึ่งหากใช้การเปิดซองประมูลงานเมื่อลำดับที่หนึ่งไม่มา ท้องถิ่นก็สามารถเลือกลำดับที่สองหรือสามแทนได้ ทำให้การพัฒนาท้องถิ่นสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นการลดขั้นตอนในการทำงานลงด้านนายเหรียญ นิจรัญ นายกอบต.บ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง กล่าวว่า การใช้ระบบอีอ๊อกชันในการประมูลงานของท้องถิ่น ถือว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ เพราะทางอบต.จะต้องเสียเงินให้กับบริษัทเอกชนที่เข้ามาดำเนินงานในการประมูลงานแล้ว ยังจะทำให้การดำเนินงานล่าช้าไม่ทันต่อการพัฒนาท้องถิ่นอีกด้วย
            ส่วนด้านนายสนั่น พงษ์สมบัติ นายกอบต.น้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และผู้แทนอบต.ในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.)กล่าวว่าตนไม่เห็นด้วยที่จะนำระบบอีอ๊อกชันเข้ามาใช้เพื่อประมูลงานในท้องถิ่น เนื่องจากจะทำให้การพัฒนาท้องถิ่นล่าช้าไม่ทันต่อเหตุการณ์ รวมทั้งการกำหนดความสำคัญก่อนหลังท้องถิ่นไม่สามารถกำหนดได้ว่าสิ่งที่จะต้องดำเนินการก่อนและสิ่งไหนดำเนินการที่หลังเมื่อใช้ระบบอีอ๊อกชันเข้ามาประมูลงาน โดยต้องนำไปรวมไว้ส่วนกลางเพื่อดำเนินงาน
ด้านนายวัลลภ พริ้งพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า สำหรับปัญหาดังกล่าวทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) มีหนังสือแจ้งให้กับท้องถิ่นได้รับทราบถึงกรณีที่ดำเนินการสอบราคาผ่านทางอินเตอร์เน็ตแล้วหากไม่มีตลาดกลางเข้ามาดำเนินงานท้องถิ่นนั้นสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีปกติได้ ทั้งนี้และทั้งนั้นจะต้องมีหนังสือชี้แจ้งถึงสาเหตุที่ดำเนินการจัดซื้อด้วยวิธีปกติแนบมาด้วย ส่วนปัญหาของผู้ให้บริการตลาดกลางอีอ๊อกชันที่มีอยู่น้อย ทางสถ.จะต้องอิงกับกรมบัญชีกลาง ส่วนบริษัทเอกชนเป็นหน้าที่ของกรมบัญชีกลางที่จะคัดเลือกเข้ามาดำเนินงาน ซึ่งขณะนี้ทางกรมบัญชีกลางกำลังเพิ่มบริษัทเอกชนเพื่อให้รองรับการประมูลงานได้ครอบคลุมทุกภูมิภาค ซึ่งในอนาคตทางสถ.จะเปิดเว็บไซต์เป็นของตนเองโดยลิ้งค์กับกรมบัญชีกลางโดยต้องได้รับการอนุญาตจากกรมบัญชีกลาง เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางในการใช้อินเตอร์เน็ตให้กับท้องถิ่นลดปัญหาในการทำงานล่าช้า

สยามรัฐ  27  ก.ค.  49

หมายเลขบันทึก: 41111เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2006 13:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 13:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท