'ข้าวคุณธรรม' ผลผลิตเกรดเอ จากชาวนาผู้รักษาศีล


 

ปลายทางของความ ใฝ่ใจในทางธรรม ล้วนแต่ส่งผลมาสู่ผู้ปฏิบัติเสมอ ไม่ว่าคนนั้นจะอยู่ในสังคมแบบใดก็ตาม หลักความจริงแห่งการทำความดี ย่อมสะท้อนถึงเรื่องราว น่าชื่นใจจากแง่มุมต่างๆ ของการทำดีตามมาอย่างแน่นอน “ทำดี...ย่อมได้ดี” จึงเป็นความจริงเสมอโดยไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา


• กลุ่มชาวนารวมตัวก่อตั้งเครือข่ายข้าวคุณธรรม

ด้วยแนวคิดข้างต้นนี้เอง กลุ่มชาวนาซึ่งเรียกตัวเอง ว่า “เครือข่ายคุณค่าข้าวคุณธรรม” โดยการนำของ คุณพ่อวิจิตร บุญสูง ปราชญ์ชาวบ้านระดับชาติ ภายใต้เครือข่ายของมูลนิธิธรรมร่วมใจ วัดป่าสวนธรรม อ. นาโส่ จ.ยโสธร จึงเกิดขึ้นมา อย่างมั่นคงในช่วงปีที่ผ่านมา โดยได้รับความร่วมมือจาก รศ.จุฑาทิพย์ ภัทราวาท ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจาก รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นฝ่ายสนับสนุนในการร่วมพัฒนาแนวคิดของชาวนากลุ่มนี้ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับข้าวที่ผลิตได้ ด้วยการชูสโลแกนเรื่องคุณธรรมของชาวนาผู้ผลิตข้าว เข้ามาเป็นองค์ประกอบหลักในการพัฒนาคนและผลผลิตควบคู่กันไปในการสร้างแบรนด์ ‘ข้าวคุณธรรม’

จุดเริ่มต้นของโครงการเกิดจากการดำเนินงาน โครงการวิจัยขบวนการพัฒนาสหกรณ์ใน พื้นที่ จ. ยโสธร ภายใต้ชุดโครงการวิจัย การพัฒนาโครงการสหกรณ์ในพื้นที่ 36 จังหวัด โดย ทีมงานและผู้ประสานงานกลางของ รศ.จุฑาทิพย์ ได้พบปะพูดคุยกับแกนนำชาวนา อ. ป่าติ้ว จ. ยโสธร และนัดหมายจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่วัดป่าธรรมะร่วมใจ ใน อ. ป่าติ้ว อีก 3 ครั้ง จึงได้ข้อสรุปในการแก้ปัญหาข้าวเกษตรอินทรีย์ โดยการสร้างพรีเมี่ยม แบรนด์ของข้าวอินทรีย์ กระจายอยู่ในพื้นที่ ใน 4 จังหวัดของภาคอีสาน


ทั้งนี้ กรอบแนวคิดของเครือข่ายข้าวคุณธรรม มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน ของข้าวอินทรีย์ในพื้นที่ โดยเริ่มต้นจากกลุ่มชาวนาที่ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์มาแล้วมากกว่า 3 ปี ภายใต้แบรนด์ ‘ข้าวคุณธรรม’ ซึ่งมีเจตนารมณ์สำคัญ คือ ต้องการแก้ไขปัญหาการขายข้าวของชาวนาที่ได้ราคาต่ำ เพราะต้องพึ่งอาศัยคนกลางในระบบตลาดเสรี โดยมุ่งหวังให้เกิดการค้าที่ยุติธรรมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ ชาวนาผู้ผลิต ผ่านกระบวนการตลาด จนถึงมือผู้บริโภค จะต้องสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง


ที่สำคัญ คือ ต้องก่อให้เกิดอุดมการณ์แห่งความร่วมมือ ซึ่งจะได้ต้นแบบใน 2 มิติ ดังนี้ มิติแรก คือ การเป็นต้นแบบห่วงโซ่อุปทาน (ความต้องการซื้อสินค้า) ที่มีคุณค่า บนกรอบ ความคิด ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการนำผลผลิตข้าวจากชาวนาไปสู่ผู้บริโภคคนสุดท้าย อันจะนำไปสู่ผลผลิตชนิดอื่นและพื้นที่การเกษตรอื่นๆ ต่อไป มิติที่สอง เป็นต้นแบบของการพัฒนาคนให้มีความร่วมมือกันที่จะสร้างระบบคุณธรรมให้เกิด ขึ้นภายในกลไกการผลิต และการตลาด ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะช่วยให้เกิดการสร้างคน ในทางปฏิบัตินอกห้องเรียน อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น


ภายหลังจากที่รับทราบถึงปัญหาของตัวเองและตั้งเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ที่จะ แก้ไขแล้ว การหยิบยกเอาเรื่องคุณธรรมเข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร จึงเป็นกระบวนการที่ถูกต่อยอดจากคุณธรรมตามศีล 5 ที่ชาวนากลุ่มนี้มีอยู่แล้วแต่เดิมในเวลาต่อมา

• เจ้าของแปลงนาต้องถือศีล 5

คุณพ่อวิจิตรเล่าว่า ถึงตอนนี้ มีชาวนาเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวนทั้งสิ้น 108 คน จาก 4 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร มุกดาหาร อุบลราชธานีและอำนาจเจริญ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มมาตรฐาน ดังนี้ 1. กลุ่มข้าวคุณธรรมเต็มรูปแบบ คือ ชาวนาที่ได้รับมาตรฐานข้าวอินทรีย์ตามาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานเกษตร อินทรีย์แห่งประเทศไทย (มทก.)แล้ว และ 2. กลุ่มข้าวคุณธรรมปรับเปลี่ยน จะหมายถึงชาวนาที่ผลผลิต ของตัวเองยังไม่ได้คุณภาพ ตามมาตรฐาน มทก. แต่ก็เข้าสู่กระบวนการข้าวคุณธรรมของโครงการด้วย

ในกระบวนการผลิตข้าวคุณธรรมนั้น เริ่มต้นจากการหว่านข้าวลงในแปลงนา ซึ่งเจ้าของแปลงต้องเป็นชาวนาผู้ถือศีล 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องเคร่งครัดในการ ลด ละ เลิก อบายมุข 3 ประการ คือ การงดเสพสุรา ของมึนเมา ไม่สูบบุหรี่ และ ไม่เล่นการพนัน นอกจากนี้ ในส่วนของกระบวนการตลาด โครงการนี้ก็ต้องการเน้นให้ การดำเนินการเป็นไปโดยโรงสีชุมชน ซึ่งจะคอยทำหน้าที่รวบรวมข้าวสู่คลังสินค้า ตลอดจนการสีข้าวตามการสั่งซื้อร่วมกันและรับหน้าที่การตลาดตามข้อตกลง

“ปัญหาเดิมที่คั่งค้างแม้ว่าจะพากันละทิ้งแนวทางของเกษตรเคมี และหันมาปลูกข้าว หอมมะลิในแบบเกษตรอินทรีย์แล้วก็ตาม แต่สภาพความเป็นจริงของชาวนาที่เป็นมาตลอด นั่นคือ แม้ข้าวที่ปลูกจะได้รับการรับรองมาตรฐานแล้ว แต่ก็ต้องประสบกับภาวะของราคาข้าว ตกต่ำ มิหนำซ้ำ แม้ปลูกข้าวเองแต่ทุกวันนี้ก็ยังต้องซื้อข้าวกิน หมดเงินไปกับการจับจ่ายจนแทบไม่มี เงินเหลือเก็บ เป็นหนี้เป็นสิน ทำให้ชาวนาอย่างพวกเราต้องร่วมกันคิดหาวิธีแก้ไข และสร้างกระบวนการความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชนขึ้นมา” คุณพ่อวิจิตร กล่าว

เหตุผลข้างต้นจึงกลายเป็นที่มาของการใช้ศีลธรรมประจำใจที่หลายคนในกลุ่มถือ ปฏิบัติอยู่แล้ว ถูกหยิบนำมาปรับใช้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวนา ลบภาพที่มักจะติดตา คนทั่วไปว่า เป็นชาวนาแต่ต้องเป็นหนี้และมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี เนื่องจากที่ผ่านมารายได้ที่มีนั้นแทบจะไม่เพียงพอกับรายจ่ายในครัวเรือน ทั้งที่เป็นรายจ่ายที่จำเป็นและค่าใช้จ่ายที่ไม่เกิดประโยชน์อะไรกับการ ดำเนินชีวิต เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และใช้รายได้ครัวเรือนให้หมดไปกับการพนันต่างๆ จนทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท ไม่เข้าใจกันของคนในครอบครัวตามมาในที่สุด และเมื่อมีการเริ่มโครงการก็สามารถช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือนได้ ซึ่งจะนำ ไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนได้อีกทางหนึ่ง

มีการตรวจสอบศีลอย่างเคร่งครัด

ขั้นตอนของการตรวจสอบศีลนั้น เป็นไปอย่างเคร่งครัดมีทั้งหมด 3 ระดับ โดยแกนนำคนสำคัญ มีทั้งผู้นำกลุ่มชาวนา พระสงฆ์ในชุมชน ผู้ทำหน้าที่สอนเรื่องหลักธรรมให้กับสมาชิกในกลุ่มชาวนา นักส่งเสริมผู้ทำหน้าที่่ประเมินเกษตรกรตามมาตรฐานโครงการ คือ การตรวจที่แปลงนา (ตรวจว่าไม่มีการใช้สารเคมีปนเปื้อนตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่) ส่วนในระดับเพื่อนบ้าน (จะช่วยกันตรวจสอบว่ามีการใช้สารปนเปื้อน และมีการละเมิดผิดศีล หรือเปล่า) และสุดท้ายเป็นการตรวจศีลที่วัด (การจัดสร้างเวทีให้ความรู้และเสวนาธรรมโดย มีพระคุณเจ้าพรหมมา สุภทฺโธ เป็นผู้ตรวจสอบ)

คุณพ่อวิจิตร เล่าว่า ถือเป็นความท้าทายมากว่าจะสามารถรักษาศีลและทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งในทางปฏิบัติและวิธีการตรวจสอบ ก่อนอื่นก็ต้องอาศัยความจริงใจและความซื่อสัตย์ของสมาชิกในกลุ่มที่จะคอย เป็นหูเป็นตาไม่ให้ความตั้งใจของกลุ่มเสียหลักการไปตั้งแต่แรก

นอกจากนี้ ที่ขาดไม่ได้ นั่นคือกรรมการบริหารโครงการ ซึ่งจะทำหน้าที่คอยสอดส่อง ตรวจสอบศีล และควบคุมคุณธรรมของสมาชิกในกลุ่ม โดยที่ตัวเองก็ต้องเป็นผู้รักษาศีลและปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเสียก่อน เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของสมาชิกในกลุ่มให้ดีขึ้น ให้เป็นไปตามเงื่อนไขของกลุ่ม มีคุณธรรมในทุกๆ ขั้นตอน จนในที่สุดจาก 108 รายที่เข้าร่วม โครงการเหลือเพียง 38 รายที่ผ่านการคัดเลือกมาตรฐานคุณธรรม

“ในระบบการตรวจสอบจะมีผู้ตรวจศีล ซึ่งก็คือชาวนาให้ชาวนาตรวจสอบตนเอง และการตรวจสอบจากผู้ตรวจศีล ซึ่งจะเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้าน รวมทั้งญาติพี่น้องของ ชาวนาจะช่วยกันสอดส่องดูแล ตักตือน และคอยจดบันทึกเพื่อนำมารายงาน โดยทุกๆ ขั้นตอนจะมีระบบการตรวจสอบจากกลุ่มชาวบ้านด้วยกันอย่างเคร่งครัด”

คุณพ่อวิจิตรย้ำว่า เพราะถ้าเราบอกกับใครๆว่า เราเป็นชาวนาผู้รักษาศีลที่ปลูกข้าวคุณธรรม แต่เรายังไม่ซื่อสัตย์กับตัวเองว่า เราทำอะไรลงไป ก็คงจะเสียความน่าเชื่อถือได้ ไม่เช่นนั้น อาจะทำให้เกิดข้าวคุณธรรมเถื่อนที่แอบอ้างคุณสมบัติตรงนี้ขึ้นมา โดยที่ชาวนาผู้ปลูกข้าว อาจจะไม่ได้รักษาศีลอย่างแท้จริง


ข้าวคุณธรรม ได้ผลตอบรับที่ดี

ครั้นเมื่อโครงการประสบความสำเร็จ สามารถผลิตข้าวหอมมะลิคุณธรรมที่ได้มาตรฐาน ออกมาจัดจำหน่ายได้ในตลาดระดับบนทั้งในงานนิทรรศการเศรษฐกิจพอเพียง งานเกษตรแฟร์ ตลอดจนการขายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำหลายแห่งในเครือเดอะมอลล์กรุ๊ป อาทิ ในกรูเม่ต์มาร์เก็ตของห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน, ดิ เอ็มโพเรี่ยม และ KU Outlet center ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ทำให้ข้าวคุณธรรมได้รับผลตอบรับที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เป็นกำลัง ใจให้สมาชิกในกลุ่มสามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ช่วยให้คนไทยได้กินข้าวคุณภาพดีมาก กว่าที่จะส่งออกข้าวดีๆ ไปขายให้ต่างชาติอย่างที่ผ่านมา


“กลุ่มของเราเองมีความตั้งใจที่จะผลิตข้าวคุณภาพออกมาให้คนไทยได้กินข้าวดีๆ ก่อนเป็นอันดับแรก และเมื่อมีผู้อุดหนุนข้าวคุณธรรมเพิ่มมากขึ้น เราเองก็ภาคภูมิใจอย่างมากที่ ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์กลุ่มสังคมชาวนาที่มีคุณธรรมให้เกิดขึ้น จริงในสังคม เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ช่วยกันปลูกคุณความดีให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการประยุกต์ใช้ หลักศีลธรรมเบื้องต้นให้สามารถกลายเป็นวิถีชีวิตที่สะท้อนถึงคุณธรรมในจิตใจ ที่ดีงาม”

เป็นรากฐานความมั่นคงทางสังคมอันแท้จริง ที่เกิดขึ้นมาจากจิตใจภายใน ซึ่งเครือข่าย ชาวนาคุณธรรม โดยการนำของคุณพ่อวิจิตรก็มีความเชื่อว่าการพัฒนากลุ่ม โดยอาศัยพื้นฐานด้านศีลธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องจะทำให้เกิดการพัฒนาต่อไปอย่าง ยั่งยืน ดังจะห็นได้จากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับภาคครัวเรือนของชาวนาคุณธรรมว่า...


ไม่เพียงแต่ผลผลิตจะมีช่องทางในการจำหน่าย โดยใช้จุดแข็งในด้านศีลธรรมเป็นหลักเพื่อสร้างรายได้ให้ชาวนาได้ดีขึ้นเท่า นั้น ความมั่นคงเชิงสังคมที่เกิดขึ้นตามมาต่างหาก ที่ทำ ให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง เพราะเมื่อห่างไกลการพนัน ไม่มึนเมาไปกับเหล้ายา ก็ทำให้ครอบครัวของชาวนาคุณธรรมที่เข้าร่วมโครงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามมา ด้วย จากที่ไม่เคยมีเงินเหลือ เก็บ เกิดการทะเลาะวิวาทเมื่อเหล้าเข้าปาก ก็เปลี่ยนมาเป็นการหันหน้าพูดคุยอย่างเข้าใจกัน ไม่ติดหนี้สินเพราะการพนัน จึงส่งผลให้กลุ่มชาวนาคุณธรรมในวันนี้ มีรอยยิ้ม และยินดีมีส่วนร่วมในการหาวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน ได้อย่างเข้าถึงและเข้าใจกันมากขึ้นตามมา


• ความภาคภูมิใจของการหว่านเมล็ดพันธุ์คุณธรรม

“ไม่มีอะไรที่เราในฐานะชาวนาผู้ปลูกข้าวคุณธรรม จะภาคภูมิใจมากไปกว่าการที่ได้มี ส่วนกระตุ้นให้คนกลุ่มหนึ่งในสังคม กลุ่มชาวนากลุ่มหนึ่ง ได้หว่านเมล็ดพันธุ์คุณธรรมลง ไปในการทำการค้าและการดำเนินชีวิตประจำวัน กลายเป็นวิถีชีวิตที่หยั่งรากลงลึกจนกลาย เป็นวิถีชีวิต พื้นฐานความคิดและการกระทำที่กระตุ้นให้หลายๆ ฝ่ายหันมาเอาใจใส่คนดี สนับสนุนการทำความดี ไม่ว่าคนกลุ่มนั้นจะเป็นใครในสังคมนี้ก็ตาม เพื่อเป็นการสร้าง ความเข้มแข็งให้กับสังคมส่วนรวมในอนาคตอย่างยั่งยืนต่อไป” คุณพ่อวิจิตร กล่าว

ด้าน รศ. จุฑาทิพย์ ในฐานะฝ่ายสนับสนุน ผู้จุดประกายให้โครงการนี้เกิดขึ้นสานฝันของ ชาวนาให้เป็นจริงโดยไม่ให้ชาวนาติดกับดักตัวเอง หันมาใช้คุณธรรมประจำใจสร้างคุณค่าให้ ผลผลิตข้าวในระยะยาว ซึ่งอาจารย์ก็เชื่อไม่ต่างกันว่า แนวทางของชาวนาคุณธรรมที่เริ่มจาก เจ้าของแปลงนาผู้มีความตั้งใจเลิกเหล้า บุหรี่ และการพนัน เหล่านี้จะสามารถใช้เป็นต้นแบบ ของความสำเร็จอีกรูปแบบหนึ่ง โดยข้าวคุณธรรมสามารถที่จะป็นสินค้าเชื่อมคุณค่าของคนมี คุณภาพผู้รักษาศีล ให้เข้ามาร่วมมือกันพัฒนาห่วงโซ่อุปทานข้าวอินทรีย์ซึ่งนอกจากจะได้ข้าวหอม มะลิที่มีคุณภาพ ให้ความเป็นธรรมทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคแล้ว

ทุกๆ กระบวนการตามความตั้งใจของเกษตรกรกลุ่มนี้ ยังเป็นการสร้างจิตวิญญาณความ ร่วมมือกันในกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่สร้างสรรค์สังคมให้เป็นสุข ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปพร้อมๆกัน และยังสามารถขยายผลของการสร้างสังคมแห่ง การเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งเปรียบได้ดั่งมหาวิทยลัยชีวิต ที่จะนำไปสู่การขยายผลต่อไปใน เครือข่ายเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ

ข้าวคุณธรรมทุกเม็ด เต็มอิ่มด้วยศีล 5 อีกหนึ่งแง่มุมความดีที่อบอวลอยู่ในสังคมไทย ปีใหม่นี้ข้าวคุณธรรมน่าจะเป็นอีกหนึ่งทางลือกที่จะมอบเป็นของขวัญให้แก่กัน


ปฏิญญาเมษา 50 : ชาวนาคุณธรรมณ มูลนิธิธรรมะร่วมใจ อ. ป่าติ้ว จ. ยโสธร วันที่ 17 เมษายน 2550


1. สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการยึดมั่นในมาตรฐานเกษตรอินทรีย์บนหลักการพึ่งพาตนเอง

2. สมาชิกของแต่ละศูนย์จะมีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เดือนละ 1 ครั้ง

3. สมาชิกจะมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

4. จะมีการพัฒนาชุดความรู้กระบวนการหลังการเก็บเกี่ยวของสมาชิก

5. การพัฒนาช่องทางการตลาด 2 แนวทาง ได้แก่ ข้าวเปลือกและข้าวสาร

6. เราจะผลิตข้าวเปลือกให้ได้มาตรฐานขั้นต่ำ36 กรัม

7. เราจะยึดมั่นในศีล 5 เลิกอบายมุข 3 (ไม่เล่นการพนัน ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า)

8. เราจะมุ่งมั่นสร้างแบรนด์ ‘ข้าวคุณธรรม’ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคม

9. ต้องสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับตัวเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกข้าวเพื่อกิน เพื่อแจกจ่าย ถ้ามีเหลือจึงแบ่งขาย

 

ติดตามข่าวสารเครือข่ายชาวนาคุณธรรม

www.moralrice.net

หมายเลขบันทึก: 410919เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2010 17:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการพระคุณเจ้า...

เข้ามาอ่านบล็อกของท่านแล้ว ได้รู้อะไรๆมากมาย เป็นหลักของการดำรงชีวิต เป็นธรรมะ ที่เป็นธรรมชาติจริงๆครับ

ธรรมสวัสดีคุณโยม ศน.เฉลิมชัย

อนุโมทนาสาธุ ขอบคุณมาก

ที่มาเยี่ยมเยือนและได้รับประโยชน์

ธรรมรักษา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท