การบริหารที่ใช้โรงเรียนเป็นฐานในการยกระดับคุณภาพ


การบริหารจัดการคุณภาพ

      ในฐานะที่กระผมเรียนมาทางด้านการบริหาร ยังถือว่าการบริหารการจัดการศึกษาเป็นมาตรการที่สำคัญที่สุดในการยกระดับคุณภาพการศึกษารอบที่ 2 หากการบริหารที่ล้มเหลวถึงครูจะเก่ง มีศักยภาพเพียงใด ไม่เชื่อว่าคุณภาพการศึกษาจะได้รับการพัฒนา

      จากคำกล่าวที่ว่า "ไม่มีโรงเรียนเยี่ยม ถ้าผู้บริหารแย่ และ โรงเรียนจะไม่แย่ ถ้าผู้บริหารเยี่ยม" ยังคงใช้ได้ตลอดไป ความมีภูมิรู้ ภูมิฐาน และภูมิธรรม หรือ ครองตน ครองคน ครองงาน ถ้าไม่คิดให้ลึก ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะทุกวันนี้ การบริหารจัดการได้เปลี่ยนไปมาก องค์กรที่เป็นสถานศึกษา มีสมาชิกที่การเรียนรู้ ที่เท่าเทียมกัน ความเกรงใจ ความไว้ใจ ความร่วมมือ โดยอาศัยเพียงกฎ ระเบียบมาใช้คงเป็นไปได้ยาก บางโรงเรียน มีอำนาจแฝงที่เหนือกว่าผู้บริหารที่ไม่มีแนวทางใดที่จะขัดขืน สั่งการหรือแก้ได้ มีผู้นำการศึกษาท่านหนึ่งได้กล่าวถึง การบริหารที่ยึดโรงเรียนเป็นฐานที่ถูกต้องที่สุด คือ โรงเรียนเอกชน โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(ที่มีผู้บริหารมีคุณภาพ) และขณะนี้ผลการสอบต่างๆ โรงเรียนที่กล่าวถึงก็ได้รับการพัฒนาคุณภาพ ผลสัมฤทธิ์ในระดับที่สูงขึ้นกว่า สถานศึกษาของทางราชการ เดิมทีมีการแก้ตัวว่า โรงเรียนเหล่านี้ มีความพร้อม และอยู่ในเขตเทศบาล ตั้งอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความพร้อม ก็ย่อมมีคุณภาพกว่าโรงเรียนในชนบท แต่ขณะนี้คำดังกล่าวนั้นไม่จริง เพราะ กระผมเองได้ไปศึกษาที่ตั้งของโรงเรียนเอกชนที่ตั้งอยู่ตามวัดในชนบท ตามชายแดน ที่อยู่ใกล้กับโรงเรียนสังกัด สพฐ.มีตัวบ่งชี้หลายประการ เช่น โรงเรียนตั้งได้เพียง 3 ปี มีนักเรียนมาสมัคร ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนเอกชนมากขึ้น 4-5 ร้อยคน และโรงเรียนสังกัด สพฐ.ที่อยู่ใกล้ๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว บางโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนขยายโอกาส ลดจาก 400 กว่า เหลือเพียง 200 กว่า สาเหตุสำคัญคือผู้ปกครองมีความชื่นชมศรัทธา โรงเรียนที่ตั้งใหม่ที่เป็นโรงเรียนเอกชน ในเรื่องของคุณภาพของนักเรียน เขาไม่ได้มองว่า ครูที่สอนเป็นใคร วุฒิอะไร มีคศ.3 หรือไม่ แต่สิ่งที่เขาพอใจ คือเด็กเรียนภาษาอังกฤษ จากครูที่โรงเรียนจ้างสอน จากพระ  แล้วเด็กเก่ง เด็กบวก ลบ เลขได้ เด็กอ่านหนังสือคล่องกว่า โรงเรียนเดิม ที่เป็นโรงเรียนของรัฐ ทำให้โรงเรียนโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนโรงเรียนที่สังกัด อปท.ก็จัดว่าไม่น้อยหน้าเรื่องคุณภาพ เวลามีประกวดกิจกรรมทางวิชาการ มหกรรมต่างๆ โรงเรียนเหล่านี้จะได้เป็นตัวแทนมากกว่าโรงเรียนในสังกัด สพฐ.

           จึงควรที่ไปศึกษารูปแบบการบริหารจัดการของเขาเป็นอย่างไร มีหลายโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนเอกชน มีผู้บริหารที่เป็นผู้จัดการโรงเรียนจะพักอยู่ในโรงเรียนนั้น ทุกวันไม่ไปไหน ไม่มีราชการใดที่ต้องไปประชุม แม้ถูกเชิญก็ให้คนอื่นไปแทน ผู้อำนวยการโรงเรียนบางแห่งก็ทำงาน และพักในที่เดียวกัน ใช้เวลาค่ำ กลางคืน ทำงานอยู่ที่นั่น หรือแม้แต่วันเสาร์ วันอาทิตย์ ก็นัดเพื่อนครูมาประชุม หารือ เตรียมงานต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา ทำให้โรงเรียนเสมือนบ้านตนเอง ส่วนครูที่ถูกจ้างสอน ก็กลัวเลิกจ้าง ผู้บริหารมอบงานอะไร ก็ทุ่มเท ใฝ่หา เพื่อให้ได้ผลงานมานำเสนอ เพราะบางโรงเรียน ให้โอกาสทำงานและประเมินทุกปี ถ้าผ่านก็ต่อสัญญา(เฉพาะอัตราจ้าง) บางโรงเรียน ใช้โรงเรียนเป็นฐานมากๆ คือ มีบ้านพักที่เป็น แฟล็ต ให้ครูพักที่โรงเรียนมากกว่า 20 คน เมื่อพักอยู่โรงเรียนก็ไม่ทราบว่าจะไปไหน ก็พากันใช้เวลาว่างทำงานที่นั่น ถึงเวลา 17 นาฬิกา ยังทำงานอยู่ที่โรงเรียน พอตื่นเช้าเด็กมาถึงโรงเรียน ครูก็อยู่บ้านพักไม่ได้ รีบแต่งตัวมาทำงานก่อนนักเรียน ตามคำที่ว่า ครูต้องมาก่อน แต่บางโรงเรียนของ สพฐ.จะไม่มีโรงเรียนเป็นฐานยึดหลักว่า นักเรียนต้องมาก่อน พอช่วงบ่าย ยังไม่ถึงบ่ายสามโมง กลับไปติดต่อธนาคาร ติดต่อออมทรัพย์ ไปติดต่องานที่เขต หรือที่อื่นๆแล้ว ก็หมดภาระ เพราะไม่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน

           ความเป็นผู้มีภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนตามตำรา เชื่อว่ามีทุกคนเพราะแต่ละคนระดับมหาบัณฑิต ตอบคำถามตามการอบรม9 โมดูล 9วันได้ถูกและมีคะแนนสูง แต่การบริหารจัดการที่จะให้เกิดประสิทธิภาพ คงไม่สามารถสรุปได หลายคนคิดว่า หากมีอำนาจมากเหมือผู้บริหารโรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนชั้นนำ คงจะใช้โรงเรียนเป็นฐานได้ แต่เมื่อไร สิ่งนั้นจะเกิดขึ้น เพราะระบบมันใหญ่ กว้าง หลายคนชวนกันไปดูโรงเรียนดีเด่นที่ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ พอกลับมา ก็มาโทษที่ระบบบริหาร ที่ไม่เหมือนกัน หรือไปศึกษาดูงานโรงเรียนเอกชนชั้นนำที่ กทม. คำตอบคือ เพราะระบบบริหารที่แตกต่างกัน โรงเรียนเหล่านั้น ใช้การบริหารฐานโรงเรียนที่แท้จริงทั้งหมด ทุกอย่างจะอยู่ที่โรงเรียน หน่วยงานที่เหนือกว่า มีหน้าที่สนับสนุนเท่านั้น และเขาเหล่านั้นก็ไม่ได้ห่วงว่า ปีนี้จะได้เงินเดือนกี่ขั้น และไม่ได้เปรียบเทียบกับโรงเรียนอื่นๆว่า เราจะต้องเหมือนเขาหรือไม่

         คงจะใฝ่ฝันว่า หากปฏิรูประบบบริหารจัดการที่อิง รูปแบบที่มีประสิทธิภาพของโรงเรียนเอกชนต่างๆ ที่มีชื่อเสียง มาปรับใช้ในโรงเรียนของรัฐ น่าจะเกิดประโยชน์ เพราะจากนโยบายระดับสูงก็มีแนวโน้มที่จะให้โรงเรียนใหญ่ โรงเรียนมีชื่อเสียงออกนอกระบบในด้านการบริหารจัดการ(แบบโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์) สามร้อยกว่าโรงเรียน เชื่อว่าน่าจะดี และมีผลต่อคุณภาพการศึกษานะครับ

หมายเลขบันทึก: 410804เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2010 23:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 22:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท