งาน ป.บัณฑิต


ความรู้คืออะไร

โครงร่างวิทยานิพนธ์

 

 

หัวข้อวิทยานิพนธ์            

 

                การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์  จากการเรียนการสอนผ่านเว็บโดยใช้การสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2   ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่างกัน

A  Comparison  of  Learning  Achievements  and  Scientific  Creative  Thinking  Using  by  the  Web – based  Instruction  with   Inquiry  cycle Teaching Model  for  Muthayom  II   between  Students  with  Different  Learning  Achievement

 

โดย                                        

 

นางสาวไพรินทร์     ต๋าคำ

 

ระดับการศึกษา                   

 

ครุศาสตรมหาบัณฑิต       สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

 

สถาบันการศึกษา 

 

                มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

 

พ.ศ.                                        2550

 

 

 

 

 

บทที่  1

 

 

บทนำ     

 

 

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

 

                ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา    สังคม   เศรษฐกิจ  การเมือง  โทรคมนาคม  ฯลฯ  โดยเฉพาะความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   ซึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของทุกคนในสังคม  ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร  เครื่องนุ่งห่ม  ที่อยู่อาศัย  สุขภาพอนามัย  และด้านอื่น ๆ เป็นต้น  ล้วนเป็นผลจากความคิดและการกระทำทั้งสิน  รวมทั้งจากความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการด้านต่าง ๆ  ที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็วจนเราตามแทบไม่ทันนั้นก็แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ในยุคปัจจุบันมีพัฒนาการทางความคิดในระดับที่สูงมาก ( ยุดา รักไทย,  2544 : 1 )  นอกจากนี้ความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเจริญก้าวหน้าของประเทศนั้น ๆ ด้วย   ประเทศที่พัฒนาแล้ว  เช่น  สหรัฐอเมริกา  ญี่ปุ่น  เยอรมัน  เป็นต้น  ซึ่งเป็นประเทศผู้นำของโลก  ทั้งนี้เพราะประเทศดังกล่าวมีประชาชนที่มีความคิดสร้างสรรค์  ประชาชนกล้าคิดกล้าใช้จินตนาการ  จนสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่แปลกใหม่และเป็นประโยชน์  อำนวยความสะดวกและเหมาะสมกับสภาพการณ์    ตัวอย่างผลงานสร้างสรรค์  เช่น  เครื่องบิน  ยานอวกาศ  พลังแสงเลเซอร์   โซล่าเซลล์      ตลอดจนความคิดด้านทฤษฎี  แนวคิดและวิธีการต่าง ๆ ทั้งในวงการแพทย์  การศึกษา  ธุรกิจ  สิ่งเหล่านี้ได้นำมาใช้ในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้เป็นอย่างดีทำให้ประเทศผู้นำเหล่านี้ต่างก็ได้รับการยกย่องและยอมรับในความสามารถสร้างสรรค์อันเป็นลักษณะเด่นชัด  และแสดงความสามารถที่เหนือกว่าประเทศอื่น  ( อารี   พันธ์มณี, 2543 : 1-2 )    จึงจำเป็นที่แต่ละประเทศต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา  และเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดังนั้นการศึกษาจึงมีบทบาทและหน้าที่ในการพัฒนาประชากรให้มีประสิทธิภาพและความสามารถตามความต้องการของสังคม 

                ความคิดสร้างสรรค์เป็นความสามารถอย่างหนึ่งของมนุษย์ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง  ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของอารี    พันธ์มณี  ( 2545 : 1 )   ที่ว่า “ความคิดสร้างสรรค์เป็นคุณภาพที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน  หากได้รับการส่งเสริมพัฒนา  และนำไปใช้ให้เหมาะสมก็จะเกิดประโยชน์อย่างมหาศาล  ดังนั้นหากประชาชนในสังคมใดมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงก็ย่อมจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้สังคมนั้นพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว”   หากได้รับการพัฒนาศักยภาพของสมองในส่วนของ “ความคิดสร้างสรรค์” ให้มีประสิทธิภาพจะพบว่าทุก ๆ ปัญหามีคำตอบดี ๆ ที่สามารถปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม  ซึ่งเมื่อพิจารณาสภาพของประเทศไทยในปัจจุบันที่พบว่ากำลังเผชิญปัญหาที่โยงใยสลับซับซ้อนทั้งด้านเศรษฐกิจ  การเมืองและสังคม  ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ  สาเหตุประการหนึ่ง  คือ  คนไทยยังขาดความสามารถในการคิดค้นประดิษฐ์สิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ ขึ้นมาใช้เอง  เนื่องจากขาดการส่งเสริมด้านความคิดสร้างสรรค์ ( เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์ , 2545 : 43 )   ซึ่งคนไทยนั้นมีสมองที่มีคุณภาพดี  แต่กลับไม่ค่อยคิดค้นประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ มีแต่ตามหลังเอาของชาติอื่นมาใช้เพราะว่าคนไทยไม่เล็งเห็นความสำคัญและไม่เน้นให้เด็กไทยมีความคิดสร้างสรรค์นั่นเอง ( ณรงค์  สินสวัสดิ์ , 2521 : 171 )   ในปัจจุบันมีนักจิตวิทยาหลายคนได้ทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์  พบว่า   มนุษย์ทุกคนมีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์และสามารถพัฒนาส่งเสริมความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ให้สูงขึ้นได้  ด้วยการสอน ฝึกฝน  และการฝึกปฏิบัติที่ถูกวิธี   

                จุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาในยุคปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. 2542   มาตรา  22  ได้กำหนดแนวทางในการจัดการศึกษาไว้ว่า  การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด  ดังนั้น  ครูผู้สอนและผู้จัดการศึกษาจะต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทจากการเป็นผู้ชี้นำ  ผู้ถ่ายทอดความรู้  ไปเป็นผู้ช่วยเหลือ  ส่งเสริมและสนับสนุนผู้เรียนในการแสวงหาความรู้จากสื่อและแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ และให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้เรียนเพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้สร้างสรรค์ความรู้ของ  และมาตรา  7  ที่กำหนด ให้ผู้เรียนมีความสามารถในการประกอบอาชีพ  รู้จักพึ่งตนเอง  มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  ใฝ่รู้และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง    ประกอบกับมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ใช้เป็นกรอบในการประเมินคุณภาพสถานศึกษาภายนอกมีมาตรฐานที่  4  ด้านผู้เรียน  ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า  ให้ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์    คิดสังเคราะห์    คิดอย่างมีวิจารณญาณ  มีความคิดสร้างสรรค์   คิดไตร่ตรอง  และมีวิสัยทัศน์  ( สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ,  2545 : 69 )   ดังนั้นความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นคุณลักษณะที่ควรได้รับการเสริมสร้างและพัฒนาให้สูงขึ้นเพื่อให้เด็กได้เจริญเติบโตเป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง  และพร้อมที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อไป  โดยผู้เรียนมีช่วงอายุ  12-14  ปี  จะมีความคิดสร้างสรรค์ลดลงบางช่วงซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเข้าสู่ระบบโรงเรียนซึ่งผู้เรียนต้องทำตามกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนด  ขาดโอกาสแสดงความคิดเห็นผู้เรียนจะเริ่มต่อด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ต้องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง  ผู้เรียนจะพัฒนาเร็วมากทางด้านความสามารถและความสนใจ  แต่ก็ยังเปลี่ยนแปลงได้ง่าย  ควรกระตุ้นให้ผู้เรียนทราบถึงความต้องการของสังคม  เพราะสามารถคิดหาข้อสรุปได้แล้ว  ผู้เรียนต้องการพบปัญหาที่ต้องการแก้ไขโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์  และต้องการความช่วยเหลือแนะแนวทางสร้างความเชื่อมั่นต่อตนเองและความคิดเห็นที่มีต่อสังคม   ซึ่งอุษณีย์  โพธิสุข ( 2544 : 55 )  ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า  ในระหว่างวัยนี้ครูผู้สอนต้องคอยดูแลและกระตุ้นความคิดในห้องเรียนโดยแฝงในรูปของกิจกรรมที่ครูสามารถฝึกให้เกิดแก่ผู้เรียนได้

                เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้มีประสิทธิภาพต้องอาศัยกิจกรรมต่าง ๆในสภาพบรรยากาศที่ผู้เรียนได้กระทำและได้แสดงความเห็นที่เป็นอิสระ  ซึ่งสามารถจัดกิจกรรมจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้หลากหลายวิธี  เช่น  การเล่นเกม  การร้องเพลงประกอบ  การแสดงบทบาทสมมติ  การเล่านิทาน  การใช้กิจกรรมปริศนาคำทาย  การใช้บทเรียนสำเร็จรูปหรือชุดการฝึกความคิดสร้างสรรค์   การใช้บทเรียนผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต  เป็นต้น   นอกจากนี้ในการฝึกความคิดสร้างสรรค์สามารถใช้เทคนิคต่าง ๆ ในการฝึกเพื่อให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ที่สูงขึ้น  เช่น  สุทธิกัญจน์  ทิพยเกสร  

( 2545 : บทคัดย่อ )   ได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3  โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย  จังหวัดเชียงใหม่  ด้วยการเรียนการสอนแบบ  Synectic   โดยแบ่งนักเรียนออกเป็น  2 กลุ่ม  กลุ่มหนึ่งเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ด้วยการสอนแบบ  Synectic      และอีกกลุ่มหนึ่งให้เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนจัดขึ้น  ผลการพัฒนาปรากฏว่า  นักเรียนที่ได้รับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ด้วยการสอนแบบ Synectic   มีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่านักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ที่ทางโรงเรียนจัดขึ้น   และสมปอง  เพชรโรจน์  ( 2549 : บทคัดย่อ )  ได้พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนบนเว็บโดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสืบสอบเพื่อแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์  เรื่อง  ภาวะมลพิษทางอากาศ  สำหรับนิสิตปริญญาบัณฑิต  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   พบว่า  กลุ่มตัวอย่างมีทักษะการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .05   

                นอกจากนี้สื่อการสอน  ก็ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญและมีบทบาทอย่างมากในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  เพื่อช่วยในการเรียนการสอนถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ไปสู่ผู้เรียน  ลดเวลาในการเรียนให้น้อยลงทำให้การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ     ไม่ว่าสื่อนั้นจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตามก็ล้วนแล้วแต่เป็นทรัพยากรที่อำนวยความสะดวกในการเรียนทั้งสิ้น  ในการใช้สื่อการสอนนั้นผู้สอนจำเป็นจะต้องศึกษาถึงลักษณะเฉพาะและคุณสมบัติของสื่อแต่ละชนิด  เพื่อเลือกใช้สื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการสอนและการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน   โดยต้องมีการวางแผนในการใช้สื่อการสอนอย่างเป็นระบบด้วยเพื่อให้การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนด้วย( กิดานันท์   มลิทอง , 2536 : 63 )   ดังนั้นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. 2542  หมวด  9  มาตรา  67  ได้กล่าวไว้ว่า  “ รัฐต้องส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา  รวมทั้งติดตาม  ตรวจสอบและประเมินผลการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา  เพื่อให้เกิดการใช้ที่คุ้มค่าและเหมาะกับกระบวนการเรียนการสอนของไทย ( สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2542 : 33 )   ดังนั้นนักเทคโนโลยีทางการศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษาและต้องมีความรู้เกี่ยวกับวิธีการที่จะได้มาซึ่งความรู้ที่น่าเชื่อถือและมีความต้องการของข้อมูลซึ่งจะช่วยตัดสินใจในการทำงาน  อันนำไปสู่การวิจัยทางเทคโนโลยีการศึกษา ( เผชิญ  กิจระการ, 2544 : 1 – 2 )   เทคโนโลยีการศึกษาได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วเรียกได้ว่าการสื่อสารแบบไร้พรมแดน    ด้านการสืบค้นข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ โดยการใช้ระบบอินเตอร์เน็ต  และการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในกระบวนการจัดการเรียนการสอน  ส่วนการศึกษาของไทยถือว่ายังคงมีจุดอ่อนอย่างมาก ทั้งในเรื่องของการเรียนรู้  หลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน  ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะพัฒนาประเทศ ( สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน : 2545 )       และการที่อินเตอร์เน็ตเป็นแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่มาก  ทำให้ความต้องการในการใช้ระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเป็นแหล่งข้อมูลในการสืบค้นหาความรู้ใหม่มาใช้ในงานต่าง ๆ  เช่น  การจัดระบบห้องสมุด               การค้นคว้าหาข้อมูล  การเรียนการสอนทางไกลโดยใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ต  ซึ่งจะก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรข้อมูลสนเทศต่าง ๆ  อย่างเป็นประโยชน์สูงสุด     ลดความซ้ำซ้อน  และเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหาและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและความเป็นมาตรฐาน  ตลอดจนเพิ่มศักยภาพของการให้บริการข้อมูลที่สะดวกและรวดเร็ว  ตรงตามความต้องการของผู้ใช้และสิ่งเสริมการวิจัยและพัฒนาระบบฐานข้อมูล

                จากศักยภาพของอินเตอร์เน็ตที่มีอยู่มากมายนั่นเอง  จึงสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการศึกษาได้หลายรูปแบบ  ไม่ว่าจะเป็นการใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการติดต่อสื่อสาร  อภิปราย  ถกเถียง  แลกเปลี่ยน  และสอบถามข้อมูลข่าวสารความคิดเห็นทั้งกับผู้สนใจศึกษาในเรื่องเดียวกันหรือกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ  การใช้อินเตอร์เน็ต  เพื่อการค้นหาข้อมูลในการเรียนรู้ด้วยตนเองหรือการนำอินเตอร์เน็ตไปใช้ในหลักสูตรการศึกษาทั้งในลักษณะของการจัดเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนตามหลักสูตรเดิมหรือจัดในลักษณะการศึกษาทางไกลผ่านอินเตอร์เน็ต  ซึ่งประโยชน์ที่ดีที่สุดของการใช้อินเตอร์เน็ตในการเรียนการสอน  คือ  ความสามารถในการจัดการเรียนรู้ซึ่งช่วยเพิ่มความยึดหยุ่นแก่ผู้เรียน   ในเรื่องของการเลือกเวลาและสถานที่สำหรับการเรียน และประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของอินเตอร์เน็ต  คือ  ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แต่ทรัพยากรการเรียนการสอนที่มีอยู่ในท้องถิ่น   แต่อินเตอร์เน็ตยังช่วยให้เข้าถึงข้อมูลและวัฒนธรรมจากแหล่งต่างๆ ที่ไม่สามารถได้รับจากวิธีการอื่น  ซึ่งช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำทรัพยากรที่ได้จากวิธีนี้มาใช้ประโยชน์ต่อการเรียนการสอนได้มากขึ้น  ( Meyen :1997 )           

การเรียนการสอนผ่านเว็บ   เป็นการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนการสอนที่ประยุกต์ใช้คุณลักษณะของอินเตอร์เน็ต    โดยนำทรัพยากรที่มีอยู่ในอินเตอร์เน็ตมาเป็นสื่อกลางเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลอ้างอิง  เอกสารประกอบการเรียนการสอน  บทเรียนสำเร็จรูป  หรือแม้กระทั่งหลักสูตรวิชา    ดังนั้นการเรียนการสอนผ่านเว็บจึงจัดเป็นรูปแบบการนำอินเตอร์เน็ตเข้ามาใช้ในการจัดการศึกษารูปแบบหนึ่งที่มีประโยชน์มาก   เพราะการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อการค้นคว้าข้อมูลในการเรียนรู้ด้วยตนเอง  เป็นการสนองตอบแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นหลัก    เป็นการถ่ายทอดความรู้จากผู้สอนแต่เพียงอย่างเดียว  แต่เป็นการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการหลากหลายและเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่    ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และแก้ปัญหาได้อย่างอิสระ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ , 2542 )

                ผู้จัดการศึกษาจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจลักษณะผู้เรียนก่อนที่จะพัฒนาการเรียนการสอนผ่านเว็บ      เพราะการเรียนการสอนผ่านเว็บที่มีคุณภาพนั้นจำเป็นจะต้องรู้ว่าผู้เรียนเรียนอย่างไร    ด้วยเหตุนี้จึงให้ความสนใจที่จะศึกษาวิธีการจัดการเรียนการสอนผ่านเว็บที่เหมาะสมกับลักษณะที่แตกต่างกันของผู้เรียน    โดยที่การเรียนการสอนไม่จำกัดอยู่แต่ในห้องหรือภายในสถานศึกษา  ผู้เรียนสามารถที่จะเกิดการเรียนรู้ได้ทุกสถานที่  ทุกเวลา ( ทิพวรรณ  รัตนวงศ์ , 2532 )  ผู้เรียนได้พัฒนาไปตามแนวทางตามความถนัดของตนเอง  ส่งเสริมสมรรถภาพให้ผู้เรียนมีความรู้  ความคิดและทักษะใหม่เพิ่มขึ้น  โดยจัดการเรียนการสอนให้หลากหลายรูปแบบเพื่อตอบสนองวิธีการเรียนของผู้เรียนที่แตกต่างกันและความแตกต่างระหว่างบุคคล  (บุญเรือง  เนียมหอม ,2540 )    ไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลิกภาพ   รูปแบบการคิด  หรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่แตกต่างกัน   และความคิดสร้างสรรค์ก็เป็นคุณลักษณะหนึ่งที่มีความสำคัญต่อผู้เรียนที่จะทำให้สามารถสร้างความคิด  สร้างจินตนาการ  หากได้รับการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ผู้เรียนจะมีความคิดที่ฉีกกรอบ  และสามารถหาหาทางในการสร้างสิ่งใหม่ ๆ ได้เสมอ  ฉะนั้นการสอนความคิดสร้างสรรค์และการฝึกฝนให้นักเรียนคิดอย่างสร้างสรรค์จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยยกระดับคุณภาพในตัวของผู้เรียนให้มีชีวิตอย่างมั่นใจในตนเองและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ( สุวิทย์  มูลคำ. 2544 : 28 – 29 )

                มีงานวิจัยมากมาย  ที่ทำการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของความคิดสร้างสรรค์และความแตกต่างระหว่างบุคคลด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน     โดยมีนักวิจัยหลายท่านที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสติปัญญากับความคิดสร้างสรรค์หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า  บุคคลที่มีสติปัญญาสูงหรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง จะต้องมีความคิดสร้างสรรค์สูงหรือไม่  ซึ่งผลการวิจัยของสุเทพ (2517)  ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสติปัญญากับความคิดสร้างสรรค์  การยอมรับตนเอง  และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน  พบว่าความคิดสร้างสรรค์มีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ  .05  ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ  .2240  นอกจากนี้ผลการวิจัยของดำรง ( 2519 )  พบว่าความคิดสร้างสรรค์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทางวิทยาศาสตร์  มีความสัมพันธ์กันทางสถิติในทางบวก    

ดังนั้นความคิดสร้างสรรค์จึงต้องได้รับการส่งเสริมโดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในด้านความคิดสร้างสรรค์ครูผู้สอนต้องมีวิธีการสอน  รูปแบบและเทคนิคการสอนที่เหมาะสมเพื่อช่วยในการจัดประสบการณ์หรือกิจกรรมพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนด้วย  และเทคนิคการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ก็เป็นการจัดการเรียนการสอนรูปแบบหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนค้นพบความรู้และประสบการณ์การเรียนรู้อย่างมีความหมายด้วยตนเอง  สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( 2546: 1 -4 )  ได้ระบุว่า  การจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ต้องมุ่งพัฒนาทักษะการคิดสร้างสรรค์  การคิดเชิงเหตุผล  และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ  เพื่อให้นักเรียนมีทักษะสำคัญในการค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้  ด้วยกระบวนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้  ซึ่งเป็นกระบวนการที่สามารถแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบสามารถตัดสินใจ  โดยใช้ข้อมูลหลากหลาย  และประจักษ์พยานที่ตรวจสอบได้  รวมถึงมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีในการสืบค้นข้อมูลและการจัดการ  เป็นการเรียนที่หาปัญหามาเป็นตัวยุให้ผู้เรียนเรียนเนื้อหาที่สำคัญต่อการแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้น การเรียนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้เป็นเทคนิควิธีที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนพัฒนาความสามารถในการคิดสร้างสรรค์  คิดแก้ปัญหา  โดยครูเป็นผู้คอยกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และเป็นแนวทางให้ผู้เรียนค้นคว้าหาความรู้และสรุปความรู้เหล่านั้นด้วยตนเอง  ซึ่งเป็นกระบวนการที่เน้นให้ผู้เรียนค้นคว้าแสวงหาความรู้  โดยอาศัยสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน  หรือปัญหาที่ทำให้เกิดความสงสัย  แล้วงทำการค้นคว้าหาคำตอบและข้อสรุปของปัญหา  ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ด้วยตนเองและยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย   นอกจากนี้ผลการศึกษางานวิจัยของสมปอง  เพชรโรจน์ ( 2549: 52 ) พบว่า  การเรียนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้นอกจากจะช่วยผู้เรียนในการสืบเสาะหาความรู้และทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแล้ว  ยังสามารถที่จะพัฒนาให้ผู้เรียนมีทักษะกระบวนการทางความคิดอีกด้วย  เช่น  ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์    ทัศนคติทางวิทยาศาสตร์   ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์  และความสามารถในการคิดเชิงเหตุผล  

ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจในปัญหาที่ว่าเมื่อนำระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตมาสร้างเป็นบทเรียนผ่านเว็บโดยใช้รูปแบบการสอนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้มาสร้างเป็นบทเรียน และนำไปใช้กับนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแตกต่างกัน   เมื่อนักเรียนได้รับการเรียนการสอนผ่านเว็บแล้วจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์แตกต่างกันหรือไม่  อย่างไร  และผลการวิจัยในครั้งนี้จะเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันที่นำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาช่วยในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา    ครูผู้สอนสามารถนำไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนของครูผู้สอนอันจะส่งผลต่อการเรียนรู้    ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  และความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนให้สูงขึ้น 

               

 

 

 

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

 

                1.   เพื่อพัฒนาบทเรียนผ่านเว็บโดยใช้การสอนแบบสืบเสาะหาความรู้  เรื่อง   โลกและการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2  ที่มีเกณฑ์  80/80 

                2.   เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2   ก่อนและหลังจากการเรียนการสอนผ่านเว็บโดยใช้การสอนแบบสืบเสาะหาความรู้  เรื่อง  โลกและการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก 

3.   เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2  จากการเรียนการสอนผ่านเว็บโดยใช้การสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ เรื่อง  โลกและการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก  ระหว่างนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง 

ปานกลางและต่ำ

 

ประโยชน์ของการวิจัย

 

                1.   เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันที่นำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาช่วยในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา

                2.   เป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนของครูผู้สอนอันจะส่งผลต่อการเรียนรู้    ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  และความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนให้สูงขึ้น 

                3.   ช่วยกระตุ้นให้ครูผู้สอนตระหนักถึงกลวิธีการสอนที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อบรรลุตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรการเรียนการสอน

 

ขอบเขตของการวิจัย

 

                1.   ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

                                1.1   ประชากร

ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้  คือ  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2   

ที่กำลังศึกษาภาคเรียนที่  1  ปีการศึกษา  2551   จำนวน  280  คน

                                1.2   กลุ่มตัวอย่าง

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้     เลือกแบบเจาะจงจากประชากร

280  คน    ที่ผ่านการจำแนกผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแล้ว   โดยแบ่งออกเป็น  3  กลุ่ม  ได้แก่

     2.1   นักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง                             จำนวน      30        คน

                                     2.2   นักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนปานกลาง                จำนวน      30        คน

                                     2.3   นักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ                              จำนวน      30        คน

 

2.   ตัวแปรที่เกี่ยวข้อง

2.1   ตัวแปรต้น

                                2.1.1   ระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน  แบ่งออกได้  ดังนี้

                                     2.1.1.1.  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง ได้แก่ นักเรียนที่ได้เกรดเฉลี่ยตั้งแต่

     3.00 ขึ้นไป

                                     2.1.1.2   ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนปานกลาง  ได้แก่  นักเรียนที่ได้เกรดเฉลี่ยตั้งแต่   

                                              2.00 – 2.99 

                                     2.1.1.3   ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ  ได้แก่  นักเรียนที่ได้เกรดเฉลี่ยต่ำกว่า  2.00

                               

2.2   ตัวแปรตาม

                                2.2.1   ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

                                2.2.2   ความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์

               

                3.   เนื้อหาที่ใช้ในการวิจัย

                                เนื้อหาที่นำมาใช้ในการวิจัยครั้งนี้  ได้แก่  เรื่อง  โลกและการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก   สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2  โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็นหัวข้อ   ดังนี้

                                หน่วยที่  1   การเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก

                                หน่วยที่  2   ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก

 

                4.   ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัย

                                ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้  ทำการทดลองเป็นเวลา  4   สัปดาห์  ใช้แผนการจัดการเรียนรู้จำนวน   3   แผน  ใช้เวลา   12   ชั่วโมง  ในภาคเรียนที่ 1  ปีการศึกษา  2551

 

 

 

 

นิยามศัพท์เฉพาะ

 

คำสำคัญ (Tags): #ตัวอย่างวิจัย
หมายเลขบันทึก: 410649เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2010 12:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 04:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท