บี้แต่ละกระทรวงจ่ายค่าเค พบค้างเติ่ง 2 พันล้าน คมนาคมดอง 800 ล. สำนักงบ-คลังโยนลูก


บี้แต่ละกระทรวงจ่ายค่าเค พบค้างเติ่ง 2 พันล้าน คมนาคมดอง 800 ล. สำนักงบ-คลังโยนลูก
รัฐโยนกลองให้แต่ละกระทรวงจัดสรรงบประมาณไปจ่าย ค่าเคที่ค้างชำระ ผู้รับเหมาอยู่ 1.5 พันล้านบาทเศษ คมนาคม รายเดียวปาไป 800 ล้านบาท แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากผู้รับเหมาก่อสร้างได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐเร่งจ่ายค่าเค ซึ่งเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่รัฐจะช่วยลดความเสี่ยงของผู้รับเหมากรณีที่ได้รับความเดือดร้อนจากวัสดุก่อสร้างมีราคาสูงขึ้น โดยได้รับการชดเชยในส่วนของผลต่างราคาวัสดุก่อสร้าง ณ วันที่ประกวดราคาได้ เทียบกับวันส่งมอบงาน     ในแต่ละงวดที่ยังค้างอยู่ประมาณ 1.5-2.0 พันล้านบาท เนื่องจากดึงการจ่ายจนช้ามาเกือบ 2 ปี ทำให้  สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังได้หารือกันนอกรอบและเสนอให้แต่ละหน่วยงานจัดสรรงบประมาณไปจ่ายเอง แทนที่จะพึ่งพางบจากกระทรวงการคลัง แหล่งข่าวสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ได้รายงานและขอมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเรื่องการจ่ายค่าเค      ให้ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างของ 8 กระทรวงใหญ่มีจำนวนทั้งสิ้น 1.2 พันล้านบาท เป็นของกระทรวงคมนาคมจำนวน 848 ล้านบาท กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกษตร 233 ล้านบาท และที่เหลือเป็นอีก 4 กระทรวง สำนักงบประมาณได้ขอมติคณะรัฐมนตรีให้ 8 กระทรวง นำเงินงบประมาณที่เหลือจากการขอไป หรือเงินงบประมาณที่ขอไปแต่ยังไม่ได้ มาจ่ายเงินค่าเคให้กับผู้ประกอบการไปก่อน ซึ่งทางสำนักงบประมาณเชื่อว่า    ทั้ง 8 หน่วยงานมีเหลือจ่ายค่าเคให้กับทุกหน่วยงาน แต่อาจจะเป็นเพราะไม่ต้องการใช้เงินของหน่วยงาน        ทำให้การจ่ายเงินมีปัญหา แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ให้หน่วยงานปรับแผนใช้เงินเพื่อการลงทุนใหม่ ซึ่งมีผลต้องทำให้มีการปรับค่าเคกับผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม หากทั้ง 8 กระทรวงไม่มีเงินที่จะจ่ายจริง ๆ ก็สามารถ    ทำเรื่องมาขอเงินจากสำนักงบประมาณได้ ซึ่งจะจัดสรรเงินจากงบกลางให้   ในปี 2549 สำนักงบประมาณตั้งวงเงินไว้ 1 พันล้านบาท สำหรับจ่ายค่าเคให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเคให้ผู้ประกอบการเองได้แหล่งข่าวกล่าว ทั้งนี้ หลักการคิดค่าเคสำหรับโครงการที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท ผู้บริหารหน่วยงานสามารถอนุมัติจ่ายได้เอง แต่หากเกินกว่านั้นต้องส่งให้สำนักงบประมาณอนุมติการจ่ายค่าเค ว่ามีความถูกต้องตรงกับความเป็นจริงหรือไม่รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน เป็นต้นมา หน่วยงานของรัฐได้ดึงหรือชะลอการจ่ายค่างวดงานของหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ ด้วยการดึงงานไม่ตรวจ รับงาน บางรายตรวจรับงานแล้วส่งใบฎีกาไปยังสำนักงบประมาณแล้วเวลาล่วงเลยมา 1-2 เดือน ยังไม่มีเงินจ่ายให้เพราะมีคำสั่งให้ดึงงานไว้ ทำให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณและค่าเคตึงตัว แต่ตอนนี้เริ่มดีขึ้นแล้ว    ปัญหาอย่างหนึ่งที่ต้องตกลงกัน    ให้เป็นทางการคือ ค่าเคที่แท้จริงนั้นอยู่ในระดับใด เพราะตอนนี้ผู้ประกอบการรับเหมาแจ้งว่าต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้างขึ้นไป 20-30% และมีแนวโน้มขยับราคาสูงขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตราคาน้ำมันที่มีการปรับสูงขึ้น เพราะน้ำมันคือต้นทุนหลักในการดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง แต่รัฐบอกว่าขึ้นแค่ 10%” แหล่งข่าวกล่าว  นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ได้รับทราบแผนการเตรียมการจัดทำงบประมาณและการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2550 ตามที่สำนักงบประมาณนำเสนอ โดยประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การเตรียมความพร้อมในเบื้องต้น  ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2550  2.การปรับปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2550 และ 3.การบริหารกรอบระยะเวลาตามปฏิทินงบประมาณปี 2550   เชื่อว่าผลการตัดสินของศาลเกี่ยวกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่น่าจะมีผลต่อการทำงบประมาณ ผมว่าน่าจะสามารถ  เลือก กกต. ใหม่ได้ทัน ดังนั้น จึงไม่น่ามีผลกระทบต่อ ปฏิทินงบประมาณที่ปรับปรุง โดยคาดว่าจะมีการเลือกตั้งได้ในวันที่ 15 ตุลาคม  หลังจากนั้น 15 พฤศจิกายน ก็สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ และได้ ครม. ชุดใหม่ในช่วงต้นเดือนธันวาคม เข้ามาทำหน้าที่พิจารณา งบประมาณปี 50 ต่อไปนพ.สุรพงษ์ กล่าว

โพสต์ทูเดย์  26  ก.ค.  49

คำสำคัญ (Tags): #ก่อสร้าง
หมายเลขบันทึก: 40994เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2006 16:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท