ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


ระบบทุนนิยมมีอิทธิพลกับการดำรงชีวิตของคนไทย

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ระบบทุนนิยมได้เข้ามามีอิทธิพลกับการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนชาวไทยเป็นเวลานาน ทำให้วัฒนะธรรมและอารยะธรรมที่ดีงามของคนไทยขาดหายไป จากการดำรงชีวิตแบบเรียบง่ายรู้จักความพอเพียง มีความรักและโอบอ้อมอารีต่อกัน รู้จักให้และช่วยเหลือแบ่งบัน กลายมาเป็นการดำรงชีวิตแบบตัวใครตัวมัน เกิดการแข่งขันและ ชิงดีชิงเด่น เพื่อให้ตัวเองเหนือกว่าผู้อื่น

นายทุนผู้มีอิทธิพลในการควบคุมนโยบายและบริหารประเทศ ได้นำระบบทุนนิยมมาใช้ในการบริหาร นำหลักการและทฤษฎีในการบริหารธุรกิจมาใช้ในการบริหารประเทศ จึงทำให้สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เป็นอยู่ เริ่มตั้งแต่การศึกษา ต้องแข่งขันกันสอบเข้าโรงเรียนที่ได้ชื่อว่าดีที่สุด เด็กที่ทำคะแนนสอบได้สูงกว่าก็จะมีโอกาสได้เข้าโรงเรียนที่ได้ชื่อว่าดีที่สุด  เด็กที่ผู้ปกครองร่ำรวย จะได้รับการสอนพิเศษเพิ่มเติมเพื่อการสอบแข่งขัน ทำให้ได้เปรียบเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถได้รับการเรียนรู้ที่เท่าเทียมกัน

เยาวชนรุ่นใหม่ต่างแย่งกันเรียนเพื่อให้ได้รับปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย สถานบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน เห็นโอกาสในการทำธุรกิจด้านการศึกษาเพราะมีความต้องการสูง ต่างแข่งขันกันทำธุรกิจ โดยมิได้คำนึงถึงคุณภาพของนักศึกษามากกว่าผลกำไรของธุรกิจ ประชาชนต้องลงทุนให้กับการเรียนในสถาบันการศึกษาเพื่อให้ได้รับปริญญาตรี เพื่อแข่งขันในการหางานทำ

นิสิตส่วนมากที่จบปริญญาตรีไม่สามารถเข้าทำงานได้เพราะ เรียนมาไม่ตรงกับคุณสมบัติของแรงงานที่ต้องการ เลือกงานเพราะคิดว่าตัวเองจบปริญญาตรีแล้วควรจะได้งานที่ดี และมีรายได้มากว่านี้ ทำให้นิสิตที่จบออกมาไม่มีงานทำเป็นจำนวนมาก

บริษัทใหญ่ๆที่มีทุนมากมีความได้เปรียบกว่าบริษัทเล็กๆ สามารถเลือกจ้างนิสิตจบใหม่ในระดับหัวกระทิได้ก่อน  บริษัทเล็กๆไม่ค่อยมีโอกาสได้รับนิสิตจบใหม่ในระดับหัวกระทิ ต้องรับผู้ที่มีคุณสมบัติด้อยลงมา นำมาฝึกฝน เมื่อได้คุณภาพที่ดี ก็จะถูกดึงตัวไปอยู่บริษัทที่ใหญ่กว่า

นิสิตที่ตกงานเป็นจำนวนมากต้องหันไปทำธุรกิจส่วนตัว ขอเงินผู้ปกครองมาลงทุน ผู้ปกครองต้องเป็นหนี้เป็นสิน หรือขายสมบัติเก่ามาให้ แต่ในที่สุดก็ไปไม่รอดเพราะขาดประสบการณ์ หรือสายป่านสั้นไป มีจำนวนไม่น้อยที่เรียนต่อปริญญาโท และ ปริญญาเอก ถ้ามีผู้ปกครองที่ร่ำรวยก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าผู้ปกครองไม่ร่ำรวย แต่เพื่ออนาคตของบุตรหลาน ก็ต้องขายสมบัติเก่า หรือไม่ก็ต้องเป็นหนี้

ผู้ที่มีอิทธิพลในการบริหารประเทศชาติส่วนใหญ่ มาจากประชาชน สองกลุ่ม คือ กลุ่มนายทุน และกลุ่มนักวิชาการที่จบการศึกษา ระดับ ปริญญาเอก และ ปริญญาโท จากต่างประเทศ ท่านเหล่านี้ส่วนมากประสบผลสำเร็จเพราะท่านเป็นลูกหลานของผู้มีเงิน หรือ ผู้มีอำนาจ  ท่านมีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆได้ไปศึกษาเล่าเรียนต่างประเทศ ได้จดจำทฤษฎีต่างๆของต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นทฤษฎีระบบทุนนิยม ท่านคิดว่าดี และได้นำมาใช้กับประเทศไทย โดยมิได้นำความรู้ที่ท่านได้เล่าเรียนมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย สังคมไทยจึงกลายเป็นสังคมของทุนนิยม มีแต่การแข่งขัน ความไม่รู้จักพอ การทำอะไรที่ได้เปรียบถึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง สังคมจึงสับสนและแตกแยกกันอยู่ในปัจจุบัน เป็นอันตราต่อประเทศชาติอย่างมาก

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญา ในการดำรงชีวิตประจำวันของคนไทยมาแต่อดีต รัฐบาลปัจจุบันได้มองเห็นความสำคัญของปรัชญานี้  และได้นำขึ้นใช้เป็นแผนในการบริหารประเทศชาติ พวกเราชาวไทยควรจะยินดีที่ผู้นำรัฐบาลมีความเข้าใจ และตัดสินใจยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการบริหารประเทศ แต่ก็น่าเสียดายที่ยังมีคนไทยเป็นจำนวนมาก ที่ยังไม่เข้าใจความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง และได้พยายามทำให้เกิดการสับสน

                มนุษย์ไม่ได้อยู่ลำพัง เราอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว และสังคม การดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงถือเป็นรากฐานของการดำรงชีวิต เริ่มที่ตัวเราเองก่อน เราต้องทำความเข้าใจ สถานะของตัวเองว่าเราอยู่ในสถานะใด เราต้องรับผิดชอบใครบ้าง อันดับแรกก็ต้องคิดถึงการดูแลตัวเองก่อน ทำอย่างไรที่จะไม่ให้เราเป็นภาระของผู้อื่น หรือถ้าเรายังอยู่ในการดูแลของพ่อแม่ เรายังไม่สามารถดูแลตัวเองได้เต็มที่ เราก็ต้องรู้จักสถานะของตัวเราว่าเราเป็นผู้ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ ทำอย่างไรที่เราจะแบ่งปันภาระของพ่อแม่ ต้องรู้ว่าหน้าที่หลักของเราคือการเรียนหนังสือเราก็ต้องพยายามเรียนหนังสือให้ดีที่สุด ไม่ให้เป็นภาระของพ่อแม่ และครูบาอาจารย์ ใช้จ่ายน้อยที่สุดเพราะเรายังหาเงินเองไม่ได้  หรือถ้ามีโอกาสหาเงินได้เพื่อนำมาช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ในการเลี้ยงดูเรา โดยไม่ทำให้หน้าที่หลักของเราเสียหาย ก็ดำเนินการ ขณะเดียวกันก็ทำตัวให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่นที่ตกทุกข์ได้ยาก ทำให้ตัวเราเองมีความสุข ไม่ต้องไปคิดอยากได้ของๆคนอื่น พอใจกับสถานะที่เราเป็นอยู่และพยายามศึกษาเรียนรู้และเลือกทำในสิ่งที่มีคุณค่าต่อการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

                เมื่อเราสำเร็จการศึกษาจนสามารถเข้าทำงานมีรายได้ เราก็ต้องรู้สถานะของตัวเองว่าขณะนี้เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว ต้องพึ่งพาตัวเอง และเตรียมการที่จะให้การดูแลผู้อื่นบ้าง เช่น พ่อแม่ต้องทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูเรามาจนเราสามารถพึ่งตัวเองได้ เราก็ต้องคิดที่จะตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ที่เลี้ยงเรามา  เราต้องมาคิดถึงรายได้และรายจ่ายของเรา ถ้ารายได้เรามีมากพอที่จะเลี้ยงดูพ่อแม่ได้ เราก็อาจให้พ่อแม่เลิกทำงาน ให้ท่านได้พักผ่อน และเราเป็นผู้เลี้ยงดูท่านเอง หรือถ้าเรายังมีรายได้ไม่เพียงพอก็ต้องพยายามให้พ่อแม่ได้ทำงานน้อยลง และเราก็ให้ค่าเลี้ยงดูท่านพอที่เราจะอยู่ได้ บริหารรายรับรายจ่ายให้เหมาะสม กับสถานะความเป็นจริงของตัวเราเองและผู้ที่อยู่ในความดูแลของเรา ถ้ารายได้ยังน้อยกว่ารายจ่าย ก็ต้องหาวิธีที่จะลดค่าใช้จ่าย หรือเพิ่มรายได้  แต่ถ้ามีรายได้มากกว่ารายจ่าย ก็ต้องวางแผนในการดำรงชีวิตในวันข้างหน้า อาจต้องมีภาระต้องให้การเลี้ยงดูผู้อื่น เช่น การแต่งงาน การมีลูก เป็นต้น ทุกอย่างต้องมีแผน และคำนวณ ราย รับรายจ่ายให้เหมาะสม

                คำว่าพอดี และเหมาะสม เป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่ปฏิบัติยาก เช่นบางครั้งเราจำเป็นต้องเป็นหนี้ เพื่อหวังผลในวันข้างหน้า เช่นการลงทุนเรื่องการศึกษาหาความรู้เพื่อที่จะทำให้เราสามารถหางานใหม่ที่มีรายได้มากกว่าปัจจุบันและคุ้มกับการลงทุน ก็ไม่ได้ถือว่าหลักการนี้ไม่ถูกต้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง  อย่างไรก็ตามแต่ละคนจะมีความพอเพียง และเหตุผลของความเหมาะสมที่แตกต่างกัน  เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่เป็นพื้นฐานของธรรมชาติ  อย่าไปคิดอะไรมากเพียง แค่ทำความเข้าใจเรื่องธรรมชาติและนำความรู้ที่เป็นธรรมชาตินำไปปฏิบัติในการดำรงชีวิตของตัวเราเองเพื่อให้เกิดความสุขกับตัวเองและผู้อยู่รอบข้างโดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

                ผมอยากวิงวอนให้ประชาชนคนไทยทุกคนหันมาให้ความสนใจและศึกษาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำไปปฏิบัติในการดำรงชีวิตประจำวันของทุกคน โดยขอให้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ในทุกหมู่บ้าน และทุกชุมชน โดยขอให้สถานศึกษาเป็นศูนย์กลางของแต่ละชุมชน มีการเรียนรู้และปฏิบัติร่วมกัน  สร้างชุมชนให้เข้มแข็งโดยการ นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน จัดตั้งชมรมการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในแต่ละชุมชน ผมว่าวิธีนี้จะเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยกันทำให้วัฒนะธรรม และอารยะธรรมที่ดีๆของสังคมไทยกลับมาอยู่ในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง

 

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

 

 

หมายเลขบันทึก: 409359เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2010 18:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

น่าอ่านมากครับ สำคัญมากคือเยาวชนควรได้อ่าน

ขอบคุณครับ ที่แสดงความเห็น ขอความกรุณาคุณครูช่วยเผยแพร่ให้กับลูกศิษย์ และเยาวชนในชุมชนของคุณครูด้วยครับ ถ้าทุกชุมชนเห็นด้วยกับบทความของผม และนำไปตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของแต่ละชุมชน คนไทยจะมีปัญญาและมีความเข้มแข็ง ประเทศชาติก็จะมั่นคงครับ

ขอบคุณบทความ แนวคิดดี ๆ ท่านสามารถวิเคราะห์ปัญหาได้ตรงประเด็น และมีแนวทางการแก้ปัญหา ทุกฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องร่วมมือกัน เริ่มที่ผู้ปกครองควรสอนลูกตั้งแต่เล็ก โรงเรียนควรให้ความรู้ปลูกฝังตั้งแต่ชั้นอนุบาล หน่วยงานทุกแห่งควรยึดถือปฏิบัติเป็นตัวอย่าง กันจริงจัง จะทำให้การขับเคลื่อนฯประสบความสำเร็จ ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่รับผิดชอบงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่ชุมชน ขอบอกความรู้สึกส่วนตัวว่าหนักแรง ยังไม่ค่อยเกิดผลเท่าที่ควร ปี 54 ยังไม่รู้จะกำหนดยุทธศาสตร์อย่างไรดี

ขอบคุณครับ คุณครูวัชรินทร์ ที่แสดงความคิดเห็น ผมเองเคยพยายามจัดตั้ง ชมรมการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้านที่ผมอยู่ โดยเริ่มจากการจัดหาองค์กรที่สามารถให้การสนับสนุนได้ และผมก็สามารถหาผู้สนับสนุน จากมหาวิทยาลัย ธุรกิจบัณฑิต โรงเรียนราชวินิจ บางเขน โรงเรียนการเคหะท่าทราย โรงเรียนอนุบาลเข็มทอง องค์กรเหล่านี้จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนโดยการเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ในหน่วยงานของตน ทำให้ผมสามารถสร้างเครือข่ายได้ในทุกระดับ คือระดับอุดมศึกษา มอบหมายให้มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต เป็นผู้ขับเคลื่อน ระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย ให้ โรงเรียนราชวินิต บางเขน เป็นผู้ขับเคลื่อน ร่วมกับ โรงเรียนการเคหะท่าทราย และโรงเรียนอนุบาลเข็มทองเป็นผู้ขับเคลือนเด็กอนุบาลและผู้ปกครอง สถาบันการศึกษาทั้ง 4 ให้ความร่วมมือ หลังจากนั้นจึงได้ติดต่อเขต และผู้นำท้องถิ่น และผู้แทนท้องถิ่น เมื่อทุกภาคส่วนเห็นด้วย จึงกำหนดให้แต่ละส่วนจัดหาสมาชิก เพื่อมาเลือกกรรมการเพื่อบริหารงาน ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง แต่ปรากฎว่าไม่มีผู้ขับเคลื่อนในการหาสมาชิก และช่วงนั้นผมต้องไปต่างประเทศเป็นเวลา เดือนกว่าๆ เมื่อกลับมาทุกอย่างไม่ก้าวหน้า และผมก็มีงานยุ่งมาก จึงไม่ได้ดำเนินการต่อ

การเรียนรู้ทางทฤษฏีอย่างเดียวไม่เกิดผล ต้องสร้างสังคมที่เรียนรู้จากการปฎิบัติ มีหัวหน้าและกิจกรรมในแต่ละวัย ผมมีการจัดเป็นแผนงานไว้ทุกขั้นตอน แต่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนนั้นๆ ต้องมีทั้งผู้ให้และผู้รับ สร้างงานให้คนในชุมชน ต้องทำให้คนที่ไม่มีงานทำมีรายได้ บริหารความเป็นอยู่ในชุมชนให้สามารถพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ ผู้นำชุมชน หรือผู้แทนชุมชนต้องลงมามีส่วนร่วม ถ้ามีสิ่งใดที่ผมสามารถช่วยได้ ขอให้แจ้งมาเลยครับ ยินดีให้ความช่วยเหลือในการขับเคลื่อนครับ ติดขัดตรงไหน แจ้งให้ผมทราบครับ เผื่อผมสามารถหาทางออกให้ได้

ดิฉันเป็นนิสิตปีที่ 3 นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยาคะได้อ่านบทความของท่านทั้งหลายอยากมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการนำพระราชดำรัสของในหลวงไปใช้ในชุมชนเพื่อพ่อแม่พี่น้องของเราจะได้มีความอยู่ดีมีสุขด้วยความพอเพียง

ดีใจครับ ที่นักศึกษา เช่นคุณให้ความสนใจบทความและสนใจมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการนำพระราชดำรัสไปใช้ในชุมชนของคุณ ขอยกย่องน้ำใจของคุณครับที่คิดถึงส่วนรวม ความมีน้ำใจของคุณจะช่วยให้คุณมีความเจริญรุ่งเรื่องและมีความสุขในชีวิตครับ มีอะไรที่ต้องการสนับสนุนหรือคำปรึกษาติดต่อมาได้ครับ

อดิศัย วชช.แม่สอด ตาก

เนื้อหาเยี่ยมเลยครับอาจารย์มีประโยชน์มาก

ขอบคุณครับ ช่วยกันนำไปเผยแพร่และปฎิบัติในชุมชน หรือในกลุ่มอาชีพของแต่ละท่านครับ

ชอบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบในหลวงมากครับ


ขอบคุณครับอาจารย์โสภณ ผมได้ติตามเข้าไปแวะชมบันทึกของอาจารย์ และได้อ่านโคลงของอาจารย์และชอบมากๆครับ เลยถือโอกาสนำเข้ามาไว้ใน แพลนเน็ต ของผมครับ

ผมคิดว่าผมทำได้และเข้าใจอย่างลึกทีเดียว เพราะลำบากมากๆ ในการเดินทางของชีวิตกว่าจะมาถึงวันนี้น่ะครับ

สวัสดีครับคุณเพชร

ดีใจครับที่คุณเพชรเข้าใจและนำไปปฎิบัติ ขอให้ช่วยเผยแพร่ให้คนรอบตัวเข้าใจและปฎิบัติให้ได้จะเป็นบุญกุศลครับ

การแพทย์แผนไทย จ.ตาก

สวัสดีค่ะ ขออนุญาตเข้ามาอ่านบทความของท่านด้วยคนนะคะ ดิฉันปฏิบัติงานการแพทย์แผนไทย มีความฝันและอยากทำให้สถานที่ทำงาน เป็นโรงพยาบาลเศรษฐกิจพอเพียง เช่น จัดกิจกรรมปลูกผักสวนครัวโดยเจ้าหน้าที่ ญาติคนไข้ และคนไข้ จัดประกวดสวนผักริมแฟลต งานการบริหารจัดการ,การจัดซื้อจัดจ้างวัสดุอุปกรณ์,การนำของเก่ามาปรับใช้ใหม่,การผลิตน้ำหมักต่าง ๆ เพื่อใช้ในการชะล้างทำความสะอาด ฯลฯ หากทุก ๆ งาน ทุก ๆ กิจกรรมรวมแม้กระทั้งการดูแลรักษาคนเจ็บไข้ให้นำหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ประเทศชาติจะเจริญ อุดมสมบูรณ์มากแค่ไหน... มันคงเป็นฝันหวาน หรือฝันกลางวันเท่านั้นเอง..เพราะ..

งานที่ไม่มีผลประโยชน์คนกระโดดเข้ามาร่วม..น้อย

งานที่ไม่มีค่าตอบแทน...คนก็ไม่มีเรี่ยวแรงจะมาแบ่งปันให้

งานที่ทำเพื่อคนส่วนใหญ่..ทำไป ทำไม?? ไม่เห็นจะได้ 2 ขั้นสักที

คงมีหลาย ๆ ท่านที่เหนื่อยกายไม่ว่า แต่เหนื่อยใจจากเพื่อนร่วมงานมันสุดแสนจะท้อแท้... แต่..

กำลังใจที่ดิฉันมี และ อยากแบ่งปัน นั่นก็คือ เสียงเตือนจากพระราชา ที่ดิฉันเชื่อว่ายังมีคนไทยอีกไม่น้อยที่ตั้งใจฟัง แต่ไม่ใส่ใจ...

ทุุก ๆ พระบรมราโชวาทที่พระองค์ท่านทรงพระราชทานลงมาให้เราสดับรับฟัง เสมือนเสียงสวรรค์ ทางสว่าง ที่ชี้เหตุบอกทางให้เราเดินไปในทิศทางที่ถูกที่ควร ไม่หลงประเด็น ไม่โอนเอนไปตามกระแส...

กลับมา..ฟังเสียงของพ่อ แล้วนำไปทำต่อให้เกิดผล และ หยุดฟังเสียงจากข้างในใจของตน

ตอบแทน..ผลของการเกิดเป็นคนไทยได้หรือยัง...

สวัสดีครับ

ผมได้อ่านข้อคิดเห็นของผู้ใช้นามว่า "การแพทย์แผนไทย จังหวัดตาก" ขอชื่นชมครับ เป็นความคิดที่ดีครับ อย่าให้เป็นแค่ความฝัน ลงมือทำเลยครับ เริ่มจากหาเครือข่ายให้ได้ก่อน แล้วค่อยกำหนดกิจกรรมเป็นขั้นตอน งานนี้ไม่ง่ายครับ คนที่จะทำงานเช่นนี้สำเร็จต้องเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ และมีความจริงใจที่จะทำงานให้กับสังคมอย่างแท้จริง ไม่ใช่งานง่ายๆครับ ต้องมีความอดทนสูง

ความจริงงานที่คุณกล่าวมาทุกคนที่เกี่ยวข้องได้ผลประโยชน์ทุกคนครับ แต่บางท่านอาจยังไม่เข้าใจ งานที่ไม่มีค่าตอบแทนก็ไปไม่ได้ครับ โครงการที่คุณกล่าวมาก็ต้องมีค่าตอบแทนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องครับ คนต้องกินต้องใช้ ถ้าจะทำเพื่อประโยชน์ของคนอื่นอย่างเดียวโดยไม่มีรายได้งานก็เดินไม่ได้ครับ ต้องทำความเข้าใจให้ดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท