เทพอุ้มสม


เทพอุ้มสม

            อาจารย์กาญจนา  นาคสกุล  ให้คำอธิบาย คำว่า “อุ้มสม” ไว้ดังนี้

“เป็นอาการที่เทวดาอุ้มตัวพระเอกไปนอนเพื่อให้ร่วมรักกับนางเอก เป็นเรื่องราวที่นักแต่งนิทานประโลมโลกในสมัยก่อนนิยมสร้างขึ้นเพื่อให้พระเอกกับนางเอกได้พบกัน และได้เสียเป็นสามีภรรยากัน คำว่า อุ้มสม จึงใช้ในความหมายที่ตรงตัว คือ อุ้มคนหนึ่งไปสมสู่กับอีกคนหนึ่ง โดยที่คนทั้งสองไม่สามารถพูดคุยไถ่ถามชื่อเสียงหรือเรื่องราวอะไรกันได้ เมื่อได้นอนร่วมกันเรียบร้อยแล้ว เทวดาจอมยุ่งนั้นก็จะอุ้มพระเอกกลับมานอนที่นอนของตนตามเดิม

     ต่อมา คำว่า อุ้มสม มีความหมายเพิ่มหมายถึง หนุ่มสาวที่เหมาะสมที่จะเป็นคู่สมควรที่จะแต่งานกัน เช่น บ่าวสาวคู่นี้เขาเหมาะกันเหมือนเทพอุ้มสม ชายหนุ่มก็หล่อและมีความรู้ดี หญิงสาวก็สวยและทำงานเก่งเหมาะกันราวกับเทวดาอุ้มสม”

   การอุ้มสมปรากฏในวรรณคดีหลายเรื่อง  วรรณคดีที่เป็นต้นตำรับของการอุ้มสม คือ สมุทรโฆษคำฉันท์  ซึ่งเป็นวรรณคดีที่มีผู้แต่งถึง 3 ท่าน  ผู้แต่งตอนนี้คือ พระมหาราชครู  พระสมุทรโฆษทำการสดุดี บำบวงแก่เทพทั้งหลายแล้วบรรทมใต้ต้นโพ  พระโพเทพารักษ์ได้ฟังคำสดุดีก็พอใจและเกิดความเมตตาจึงอุ้มพระสมุทรโฆษยังปราสาทนางพินทุมดีเมืองรมยนคร

บมิควรดูดอมดูดาย        ควรถนอมท้าวทาย      ไปสมที่แก้วกัลยา

พระรำฦกยอดไทธิดา     ในพื้นพสุธา               บมีผู้ปานโฉมศรี

พระคำนึงนางพินทุมดี     ลูกสาวกษัตรีย์           กุรุงในรมยนคร

นางหนึ่งโฉมเฉกอัปสร  พอจักสยมพร   และท้าวทุกแดนแหนขวัญ

เปรียบองค์และพงศาพันธุ์ สองท้าวเสมอกัน    และควรที่กรีฑารมย์

ตริแล้วเสร็จพระชื่นชม     เสด็จแทบบรรทม    ตระบัดก็บังนิทรา

ท้าวหลับทั้งพลโยธา        พรักพิริยเสนา         บตื่นบติงเน่งนอน

ในเรื่องสมุทรโฆษเทพารักษ์ที่สถิต ณ ต้น โพเป็นผู้จัดการให้พระสมุทรโฆษและนางพินทุมดี

 ...สองเสวยรสกรีฑารมย์  สุขในพระบรรธม   เลวงด้วยสร้อยเสาวคนธ์

  วรรณคดีเรื่องต่อมาที่มีการอุ้มสม คือ อนิรุทธ์คำฉันท์  ของศรีปราชญ์  เทพารักษ์อันสิงสถิต ณ ต้นไทร  ได้สดับคำบวงสรวงของพระอนิรุทธ์ก็เกิดความเมตตา  จึงได้อุ้มพระอนิรุทธ์ซึ่งมาบรรทมหลับอยู่ใต้ต้นไทรไปสมสู่กับนางอุษา ธิดาท้าวกรุงพาณแห่งโสนินคร

  สองสว่างนิทราชื่นชม      ชื่นชูเสวยรมย์         ก็บานกมลเจษฎา

นี่รอยเบื้องบุญสองรา          ทำรอดมา             มาลุมาหล่งโดยใจ

สองสมสองสุขเนื่องใน        ปรางค์แก้วแพร้วใส   บัลลังก์รัตนรจิต

   บทละครเรื่องอุณรุท  พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ก็มีการอุ้มสมเช่นกัน  พระไทรมีความสงสารพระอุณรุทจึงอุ้มไปสมนางอุษาธิดาท้าวกรุงพาณเมืองรัตนา

       อนิจจาพระหน่อสุริย์วงศ์     มานอนเดียวเปลี่ยวองค์น่าสงสาร

เคยอยู่ปราสาทรัตน์ชัชวาล       มาทรมานแดดลมมิควรเลย...

จำกูจะประกอบการุญ                สนองคุณสังเวยขับขาน

อันนางอุษาเยาวมาลย์               ธิดาท้าวกรุงพาณชาญฉกรรจ์

ทรงโฉมประโลมลานสวาท         เพียงอนงค์นาฏนางสวรรค์

ท้าวรักสุดรักร่วมชีวัน                กุมภัณฑ์แสนถนอมดั่งดวงใจ

เห็นควรจะภิรมย์ด้วยภูวเรศ       เสมอเนตรสองสนิทพิสมัย

จะเชิญพระสุริย์วงศ์องค์นี้ไป      ให้สมแก้วกัลยาณี

คิดแล้วเข้าอุ้มโอบองค์               พระอุณรุทภุชพงศ์เรืองศรี

ผาดผยองล่องฟ้าด้วยฤทธี         หมายมุ่งบุรีรัตนา

...จึ่งปลุกบรรทมพระสุริย์วงศ์     ให้สองพิศวงภิรมย์ขวัญ

แล้วเหาะจากปราสาทแก้วแพรวพรรณ  คืนวิมานสุวรรณอันโอฬาร

พระอุณรุทและนางอุษาจึงได้

..สองสมชมรสชื่นสำราญ          ในสถานแท่นทิพสถาวร

ไม่เว้นแม้แต่บทละครอันลือลั่นในเรื่องการใช้ถ้อยคำ พระมะเหลเถไถ ของ คุณสุวรรณ  กวีหญิงในสมัยรัชกาลที่ 4   พระอินทร์เป็นผู้อุ้มสมพระมะเหลเถไถกับนางตะแลงแกง

       มาจะกล่าวบทไป                   ถึงท้าวหัสไนยมะไหลถา
สถิตย์ที่วิมานมะลานชา                กายารุ่มร้อนมะลอนจี
จึงเล็งทิพเนตรมะเลดป่า              ในชมพูแผ่นหล้ามะลาถี
เห็นพระมะเหลเถทะเวที                มาแรมร้างค้างที่มะลีไช
เพราะไม่มีคู่จรูสม                        เสวยรมย์ราชามะลาไส
ผู้เดียวเปลี่ยวองค์มะลงไต           จำเราจะให้มะไลทา
อันลูกท้าวไทมะไลที                    เลิศล้ำนารีมะลีถา
ชื่อนางตะแลงแกงมะแลงกา         วาสนาควรคู่มะลูตอง
อัมรินทร์จินตนาแล้วลาเชด          เหาะระเห็จจากวิมานมะลานถอง
มายังกรุงไกรมะไลทอง                โดยจิตคิดปองมะรองแทง 
    ครั้นถึงซึ่งภารามะลาตั๋ง           โกสีย์ลงยังมะลังแต๋ง
เข้าไปในปรางค์มะรางแชง           อุ้มองค์ตะแลงแกงตะแลงมา 
เหาะลิ่วปลิวฟ้ามาฉับพลัน             ถึงพลับพลาสุวรรณมะลันถา
วางองค์ลงใกล้มะไลชา                 อัมราพินิจมะลิดจู
งามดังสุริยันมะลันตอน                 เคียงดวงศศิธรมะลอนฉู
จะดูไหนวิไลกะไรตู                       สมสองครองคู่จะลูเจ
ดูโฉมตะแลงแกงแมลงกัด             งามดังเพชรรัตน์มะลัดเถ
งามพระมเหลไถมะไลเท                ดังสุวรรณอันเอละเลทา
สมวงศ์ทรงศักดิ์จักรพรรดิ             สมเชื้อเนื้อกษัตริย์มะลัดถา
สมทรงคงครองกะรองปา               เป็นมหาจรรโลงมะโรงกี
แล้วท้าวหัสไนยมะไลถา                 ก็ออกจากพลับพลาพนาศรี
สำแดงแผลงอิทธิ์ฤทธี                   ไปสู่ที่วิมานมะลานทา 

  อย่างไรก็ตามหากต้องการให้เทพอุ้มสม  ต้องไม่ลืมว่าก่อนนอนต้องสดุดีบำบวงแก่เทพทั้งหลายให้ท่านมีความพึงพอใจและบังเกิดความเมตตาเสียก่อน  ไม่เช่นนั้นท่านคงจะไม่ช่วยให้ได้มีคู่จรูสม  เสวยรมย์ราชามะลาไส


  เพิ่มเติม  ครูได้พบว่ามีการนำเรื่องของการอุ้มสมมาแต่งเป็นบทเพลงลูกทุ่งซึ่งเป็นเพลงที่ไพเราะมาก  จึงขอนำเนื้อเพลงมาเพิ่มเติมไว้ในบันทึกนี้  เพื่อให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
เพลงน้ำตาลาไทร  
                                                 ผู้ขับร้องคนแรก  พร  ภิรมย์
       มาแล้วแก้วตาสัญญาให้ไว้ยังจำ  บุญหนีบาปนำ พี่มาไม่เจอนวลนาง

  ทั่วถิ่นพนาตามหาหมดทาง  เจ้าทิ้งสัญญาหรือนาง  พี่อ้างว้างอารมณ์     นางไม้แม่เอยไยเฉยให้ช้ำวิญญา  นวลน้องไม่มายิ่งพาอุราระทม   หรือเจ้าเขาไพรบังไว้ซ่อนชม  พี่ขอวอนไพรพนมยอมสิ้นลมบวงสรวงจอมไพร      เทพารักษ์ร่มไทรสาขา  อุ้มสมพานางน้องมาให้ข้าเถิดหนาพระไทร  มีน้ำตาข้าหลั่งรินจากใจ  ขอหลั่งไว้ล้างเท้าเทวดา      ขอหนุนตักนางจนสางอรุโณทัย  ยอมแม้สิ้นใจเซ่นสรวงแด่ปวงเทวา  คอยเจ้าแม้เงาไม่เห็นเจ้ามา  พี่นี้มีเพียงน้ำตารินหลั่งลารากไม้ไทรงาม 
หมายเลขบันทึก: 408497เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2010 15:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มิถุนายน 2013 07:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ

.ความรู้ใหม่ค่ะ ขอบคุณสาระดีๆมีประโยชน์

  • สวัสดีค่ะ
  • เพิ่งรู้ที่มาอ่ะค่ะ ขอบคุณมากค่ะ
  • ถึงตอนนี้ ไม่อยากให้เทพอุ้มสมแล้วละค่ะ อิอิอิ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ  Ico32 คุณอุดมพันธ์  และ  Ico32  คุณpa_daeng

  ยินดีต้อนรับทั้งสองท่านใน "เรื่องราวดี ๆ...เกี่ยวกับภาษาไทย"ค่ะ 

ก่อนอื่นขอ สวัสดีปีใหม่ก่อนนะครับ^^

เรื่อง เทพอุ้มสม นี่น่าสนใจจังเลยครับ

อ.ครับ ทำไงเราจะจับประเด็นหรือแนวคิดแบบนี้

ในวรรณคดีได้บ้างครับ แต่ประเด็นเรื่องนี้

ผมว่าน่าสนใจมากครับ

ก่อนอื่นขอ สวัสดีปีใหม่ก่อนนะครับ^^

เรื่อง เทพอุ้มสม นี่น่าสนใจจังเลยครับ

อ.ครับ ทำไงเราจะจับประเด็นหรือแนวคิดแบบนี้

ในวรรณคดีได้บ้างครับ แต่ประเด็นเรื่องนี้

ผมว่าน่าสนใจมากครับ

เรื่องผู้แต่งอนิรุทธิ์คำฉันท์นั้นยังไม่ชัดเจนนะคะ ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นศรีปราชญ์ ศรีปราชญ์อาจเป็นราชทินนามที่มีผู้รับตำแหน่งนี้หลายคน หรือเป็นบุคคลสมมติก็ได้ อ้างอิงจาก http://www.sujitwongthes.com/2013/02/siam15022556/ บทความของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศค่ะ อย่างวรรณคดีเรื่อง "กำสรวลศรีปราชญ์" นักวิชาการรุ่นหลังก็เรียกเป็น "กำสรวลโคลงดั้น" แทนค่ะ ด้วยเหตุผลเดียวกับที่กล่าวมาข้างต้น แต่ก็ขอขอบคุณที่มาแบ่งปันความรู้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท