วัชรินทร์ ศรีณิบูลย์
นาง วัชรินทร์ ศรีณิบูลย์ รินทร์ ศรีณิบูลย์ (นุชอินทรา)

สรุปผลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง กศน.แปดริ้ว


การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่ชุมชน ปี 53
“การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยกระบวนการ กศน.”

 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่ชุมชน

                หลักการสำคัญในการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ชุมชน คือการพัฒนาโดยเน้นทางสายกลาง  ได้แก่ ความพอเพียง  คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี  สามารถป้องกันการเกิดผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกได้  ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ รอบคอบและระมัดระวัง  ดังนั้นการจัดการความรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญควบคู่ไปด้วย  เนื่องจากมีองค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญา อยู่ทั่วไปในท้องถิ่น  ครู กศน. ต้องสามารถจัดการกับความรู้นั้น ๆ ให้เป็นระบบ มีการจดบันทึกรวบรวม  มีการเผยแพร่องค์ความรู้ เปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เข้าถึงองค์ความรู้  และสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้  ก่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้เป็นประโยชน์ต่อบุคคล  และครอบครัว   ทั้งนี้การทำงานจำเป็นต้องประสานกันเป็นเครือข่าย  เพื่อความร่วมมือร่วมใจในการทำงานให้เกิดผลดี  ซึ่งบทบาทหน้าที่เหล่านี้เป็นของ ครู กศน. ที่อยู่ในพื้นที่  ซึ่งต้องจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน  ภายใต้แนวคิดของการจัดการศึกษาในชุมชน  ซึ่งกำหนดให้ ชุมชนคือห้องเรียน  ผู้เรียนคือชาวบ้าน  ปัญหาความต้องการคือหลักสูตร  การมีส่วนร่วมคือการเรียนการสอน และความพึงพอใจและการพัฒนา  คือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

การจัดกระบวนการเรียนรู้
                การดำเนินงานขับเคลื่อน เศรษฐกิจพอเพียงสู่ชุมชนนั้น  ในส่วนของสำนักงาน กศน. จังหวัดฉะเชิงเทรา  และสถานศึกษาในสังกัด ได้ร่วมกันกำหนดเป็นแนวทางการดำเนินงาน เริ่มต้นที่การสร้างความตระหนัก  โดยการปรับพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับ ผู้บริหาร  ครู และบุคลากรทางการศึกษา  ให้มีระดับความรู้ความเข้าใจและพื้นความรู้ที่ใกล้เคียงกัน  และมีความมั่นใจที่จะเป็นผู้นำในการเผยแพร่ความรู้    กลุ่มเป้าหมายแรกของการจัดกิจกรรมขับเคลื่อนความรู้ได้แก่  กลุ่มนักศึกษา กศน. ที่เข้าใหม่ทุกคน  ต้องได้รับความรู้ในเรื่องของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  จึงกำหนดเป็นนโยบายให้สถานศึกษาทุกแห่งนำไปปฏิบัติ  โดยจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ในการปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่  จัดที่สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์  ที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ ภาคกลาง   และที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงระดับขุมชน  บ้านแพรกวิหารแก้ว  ตำบลบางเตย อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา   ซึ่งสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างครบวงจร
กลุ่มเป้าหมายที่สอง   ได้แก่กลุ่มผู้นำชุมชน  โดยจัดให้มีการอบรมแกนนำในระดับชุมชน ชุมชนละ  10  คน  แยกจัดในแต่ละอำเภอ  เพื่อให้แกนนำเหล่านี้เป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ดีพอ   การจัดทำคู่มือ “เศรษฐกิจพอเพียงสำหรับประชาชน”  สำหรับแกนนำในการไปเผยแพร่ความรู้ให้กับสมาชิกทั้งคนใกล้ชิดในครอบครัว  และคนในชุมชน อย่างน้อย  1 ต่อ  10  คน  จัดทำสมุดบันทึกการเรียนรู้สำหรับสมาชิกจดบันทึกการเรียนรู้จากคู่มือ  จากบุคคล และจากแหล่งเรียนรู้ที่อยู่ใกล้บ้าน    จัดหาของรางวัลสำหรับแกนนำที่เป็นผู้เผยแพร่องค์ความรู้  ทั้งยังส่งเสริมให้แกนนำที่มีความพร้อมจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงระดับครัวเรือน  เน้นการทำกินทำใช้ในครัวเรือน  การให้คำปรึกษาเรื่องทำบัญชีครัวเรือน  การออม  และการแปรรูปผลผลิตที่มีในชุมชนให้เป็นของใช้ในครัวเรือน  กิจกรรมดังกล่าวทำให้การขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดำเนินการได้เร็วและมีผลสำเร็จเป็นรูปธรรม
                นอกจากนี้  ยังมีการจัดกิจกรรมในรูปแบบเวทีชาวบ้าน  เป็นการระดมปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวบุคคล  ครอบครัว และชุมชน  วิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาเช่น ปัญหาความยากจน  รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการไม่รู้จักวิเคราะห์ตนเอง  การไม่จดบันทึกบัญชีรับจ่าย ทำให้มีการใช้จ่ายเกินรายได้ของครอบครัว  เกิดปัญหาทะเลาะวิวาทกันเองในครอบครัว หาความสุขไม่ได้  ดังนั้นจึงจัดให้มีการให้ความรู้เรื่องการทำบัญชีรับจ่ายแบบง่าย ๆ  จัดหาสมุดบัญชีให้  และให้ไปทดลองทำบัญชีแล้วนำข้อมูลจากการทำบัญชีมาวิเคราะห์ร่วมกัน  จึงเห็นจุดอ่อนของการใช้จ่ายเงินว่ารายจ่ายที่เกิดขึ้นบางรายการเป็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็น  หากตัดรายจ่ายเหล่านี้ลงประหยัดให้มากขึ้น  จัดได้ว่าเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองวิธีหนึ่ง  ช่วยทำให้ครอบครัวไม่มีหนี้สิน  ไม่มีเรื่องทะเลาะกันในครอบครัว  และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขด้วยการพึ่งตนเอง
                กิจกรรมส่งเสริมการรวมกลุ่ม เป็นสิ่งสำคัญในชุมชนที่จะสร้างให้เกิดพลังในการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  ทั้งในด้านการระดมเงินมาออมรวมกันเป็นทุนสำรองไว้ใช้ในชุมชนยามที่ครอบครัวใดมีความเดือดร้อน เช่น เจ็บป่วย  ไม่มีเงินลงทุน  กิจกรรมดังกล่าวนี้จำเป็นต้องสร้างผู้นำที่เข้มแข้ง เป็นผู้ที่สามารถปฏิบัติตนตามสองเงื่อนไข  คือมีความรู้   คู่คุณธรรม  ผู้นำที่เข้มแข็งและมีคุณธรรมจะสามารถบริหารงานกองทุน  บริหารกิจกรรมกลุ่มให้บรรลุวัตถุประสงค์และกองทุนเติบโตขึ้นได้  ตัวอย่างกลุ่มที่เข้มแข้งและประสบความสำเร็จได้แก่กลุ่มธนาคารชุมชน  บ้านนาอิสาน ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต ที่มีนายเลี่ยม บุตรจันทา  เป็นผู้นำ  และกลุ่มธนาคารชุมชนบ้านหลุมมะขาม   ที่ตำบลหนองไม้แก่น อำเภอแปลงยาว  ที่มี นายวินัย  สุวรรณไตร  เป็นผู้นำ  ปัจจุบันได้จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง  นำความรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  มาถ่ายทอดให้กับคนในชุมชน  คนที่อยู่นอกชุมชน  และประชาชนที่สนใจอยู่ตลอดเวลา
  
                จากการจัดกิจกรรมดังกล่าว  นับว่าสำนักงาน กศน. จังหวัดฉะเชิงเทรา  ประสบความสำเร็จในการจัดกิจกรรมการศึกษาขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่ชุมชนเป็นอย่างมาก  ทั้งนี้อาจได้รับปัจจัยสนับสนุนในเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่น  ความเป็นเมืองเกษตรกรรม  ประกอบกับในท้องถิ่นมี ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้รู้และภูมิปัญญาอยู่มากมาย  เช่น  ผู้ใหญ่วิบูลย์  เข็มเฉลิม  ที่มีชื่อเสียงในด้านวนเกษตรมาเป็นเวลานาน  ทำให้คนในจังหวัดฉะเชิงเทรามีต้นแบบที่ดีที่สามารถจะเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องลองผิดลองถูก  ส่งผลให้การขับเคลื่อนความรู้ เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงลงไปสู่ชมชนอย่างเป็นรูปธรรม  และประชาชนสามารถนำความรู้  นำแนวคิด  ไปใช้ปฏิบัติในวิถีชีวิตได้อย่างแท้จริง
 
 
....................... 
 
หมายเลขบันทึก: 408414เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2010 22:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 15:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบพระคุณครูหยุย ที่ให้กำลังใจค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท