ประมวลสถานการณ์ปัญหายาเสพติด


ประมวลสถานการณ์ปัญหายาเสพติด

˜ ประมวลสถานการณ์ปัญหายาเสพติด และยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานด้านยาเสพติด 

 

จากข้อมูลรายกงานสถานการณ์ปัญหายาเสพติด ปี ๒๕๕๒ และแนวโน้มของปัญหา[1] สำนักยุทธศาสตร์ สำนักงาน ป.ป.ส.  แสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานของรัฐบาลภายใต้ยุทธศาสตร์ ๕ รั้วป้องกัน ตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน ๒๕๕๒ พบว่าสถานการณ์ปัญหายาเสพติดยังมีความรุนแรง ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ประชาชนมีความเห็นว่าปัญหายาเสพติดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น (ร้อยละ ๑๖ ในเดือนตุลาคม ๒๕๕๒) จากเดิมร้อยละ ๖.๗ (กันยายน ๒๕๕๐) ร้อยละ ๙.๑ (มิถุนายน ๒๕๕๑) และร้อยละ ๙.๕ (มกราคม ๒๕๕๒)

                   เมื่อพิจารณาการแพร่ระบาดของตัวยาเสพติด พบว่ายาบ้ายังเป็นยาเสพติดหลักที่แพร่ระบาดในทุกภูมิภาคของประเทศ มีข่าวสารด้านการจับกุมยาบ้าได้จำนวนมาก  ไอซ์ และยาเสพติดประเภทใช้เพื่อความบันเทิงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวของความเป็นเมือง พบปรากฏการณ์การใช้ยาในทางที่ผิดในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะยาแก้ไอเดกซ์โทรเมธอร์แฟน (Dextromethorphan) ที่พบเป็นข่าวการใช้ในทางที่ผิดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ภาคใต้ (กรณีนี้รวมถึงยาแก้ไอที่มีส่วนผสมของโคเดอีน)  กลุ่มประชากรที่เข้าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดยังคงเป็นกลุ่มเยาวชน

จากสถิติการจับกุมคดียาเสพติดทั่วประเทศ[2] แม้ว่าจำนวนคดี และจำนวนผู้ต้องหา

จะลดลงจาก ๑๔๐,๖๙๘ คดี ผู้ต้องหา ๑๕๑,๓๑๔ คน ในปี ๒๕๕๑ เหลือเพียง ๑๑๔,๒๔๘ คดี ผู้ต้องหา

๑๒๒,๓๐๓ คน แต่ปริมาณของกลางที่ยึดได้โดยเฉพาะยาบ้า และไอซ์ เพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่ยังคงเป็น

การจับกุมได้ในพื้นที่ภาคกลางร้อยละ ๓๕.๕ (ลดลงจากเดิมที่มีสัดส่วนที่ร้อยละ ๓๘.๘ และ ๓๗.๙)

รองลงมาเป็น กทม. ร้อยละ ๒๐.๒ (ลดลงจากช่วงก่อนหน้านี้ที่มีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ ๒๔)                     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ ๑๗.๑ (เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ ๑๓.๖ และ

๑๕.๖) ภาคใต้ ร้อยละ ๑๕.๙ (เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ ๑๒.๕ และ ๑๑.๔) และ ภาคเหนือ ร้อยละ ๑๑.๕ (ไม่แตกต่างจากเดิมที่มีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ ๑๑.๒) เมื่อพิจารณาสถิติการจับกุมผู้ต้องหาคดีค้ายาเสพติด ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐-ปัจจุบัน[3] พบว่า สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ ๔๒,๗๖๖ คน ๔๙,๐๖๗ คน และ ๓๙,๘๗๕ คน ตามลำดับ โดยพื้นที่ เป้าหมายตาม ยุทธศาสตร์ ๕ รั้วป้องกันระยะที่ ๒ คือ กทม.และปริมณฑล พื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดน ภาคเหนือ และพื้นที่ ๓ จชต. สถิติการจับกุมคดียาเสพติดมีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ ๔๔.๘ ในปี ๒๕๕๐ เหลือเพียงร้อย ละ ๓๘.๖ ในปี ๒๕๕๒ โดยพบว่าประมาณ           ร้อยละ ๗๐ เป็นผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมเป็นครั้งแรกอายุระหว่าง ๒๐-๒๙ ปี (ร้อยละ๔๖.๓) ลดลงเล็กน้อยจากช่วงก่อนหน้านี้ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ ๔๙ และ ๔๘.๔ เมื่อพิจารณาแยกรายตัวยา พบว่า ยาบ้า มีการจับกุมได้ในทุกพื้นที่ในสัดส่วนที่เกินกว่าร้อยละ ๗๐ ยกเว้นภาคใต้ปรากฎเพียงร้อยละ ๔๓.๗ กัญชา จับกุมได้มากในภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ๒๔.๓ และ ๑๓.๗ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเป็นพื้นที่ปลายทางในการลำเลียงยาเสพติด และเป็นพื้นที่ต้นทางที่มีการลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน เฮโรอีน จับกุมได้มากในพื้นที่ภาคใต้ และภาคเหนือ (ร้อยละ ๒.๓ และ ๐.๙) สารระเหย พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ยาเสพติดในกลุ่ม Club Drugs พบในกทม. ภาคใต้ และภาคกลาง พืชกระท่อม ยังคงพบมากในภาคใต้

ในประเด็นการดำเนินงานรองรับผู้กระทำผิดในเรือนจำพบว่ามีความแออัดของผู้ต้องขังและ

นักโทษ ปัญหาการเชื่อมโยงการค้ายาเสพติดระหว่างผู้ต้องขัง/นักโทษ กับเครือข่ายนักค้าภายนอก ปัญหาประสิทธิภาพการสกัดกั้นตามแนวชายแดน การตรวจค้นการลำเลียงขนย้ายยาเสพติด ซึ่งเป็นประเด็นที่หน่วยงานในระดับนโยบายต้องพัฒนามาตรการจัดการกับปัญหาต่อไป

จากการวิเคราะห์เหตุปัจจัยพบว่าวิกฤติทางการเมืองตั้งแต่เดือนมีนาคม – เมษายน ๒๕๕๒

ส่งผลให้การดำเนินงานตามแผนของหน่วยงานภาครัฐล่าช้ากว่ากำหนด ประกอบกับวิกฤติด้านต่างๆ ในระดับโลก เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ เป็นต้น  ส่งผลให้การดำเนินงานทั้งกลไกระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติมีภารกิจที่ต้องดำเนินงานหลายด้าน ในประเด็นสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านส่งผลให้      ชนกลุ่มน้อยเร่งลำเลียงยาเสพติดจากแหล่งเก็บพักตามแนวชายแดนไทย ส่งผลให้มีแนวโน้มที่ยาเสพติดจะเข้ามาในประเทศไทยมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น

                   เมื่อพิจารณารายมาตรการ มาตรการด้านการบำบัดรักษาพบว่าในระบบบังคับบำบัดยังไม่มี ประสิทธิภาพเพียงพอ โดยเฉพาะการดำเนินการในขั้นตอนการควบคุมตัวเพื่อรอการตรวจพิสูจน์  มีปัญหาเรื่องความแออัดของสถานที่ควบคุม ปัญหาคุณภาพชีวิตผู้รอการตรวจพิสูจน์  นอกจากนี้ ยังพบปัญหาด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกระบวนการบำบัดรักษาในแต่ละระบบ ปัญหาการกำหนดเป้าหมายในระบบสมัครใจและการรณรงค์ให้ผู้เสพ/ติดสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา ปัญหาการดูแลติดตามผู้ผ่านการบำบัดรักษารวมถึงกลไกการปฏิบัติงาน ฯลฯ

ทั้งนี้  ชนิดยาเสพติดที่ผู้เข้าบำบัดรักษาเข้ามาบำบัดรักษาพบว่าไม่แตกต่างจากช่วงเวลาที่

ผ่านมา ที่มากที่สุดยังคงเป็น ยาบ้า(ร้อยละ ๗๘-๘๓) กัญชา ร้อยละ๗-๑๐ สารระเหย ร้อยละ ๔-๕ โดยยาบ้ายังคงแพร่ระบาดมากในทุกภาค ผู้เข้าบำบัดรักษากัญชา จะมาจากภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นหลัก

สำหรับในกลุ่มผู้เข้าบำบัดรักษานั้น แต่เดิมอายุของผู้เข้ารับการบำบัดรักษากลุ่มนี้ส่วนใหญ่

จะมีอายุระหว่าง ๒๐-๒๔ ปี รองลงมาเป็นอายุระหว่าง ๑๕-๑๙ ปี และ๒๕-๒๙ ปี ตามลำดับ แต่ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ เป็นต้นมา พบว่ากลุ่มอายุน้อยเข้ามาบำบัดรักษาเพิ่มมากขึ้น โดยกลุ่มหลักจะมีอายุระหว่าง ๑๕-๑๙ ปีเข้ามาแทนที่  รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ ๒๐-๒๔ ปีและ๒๕-๒๙ ปี อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาถึงกลุ่มอายุ ๑๕-๑๙ ปี และ ๒๐-๒๔ ปี พบว่าสัดส่วนไม่แตกต่างกันโดยอยู่ที่ประมาณร้อยละ ๒๔-๒๕ ในด้านการประกอบอาชีพ ผู้เข้าบำบัดรักษาส่วนใหญ่จะอยู่ใน ๓ กลุ่มหลัก คือ รับจ้าง ว่างงาน และเกษตรกร ในช่วง ๒ ปีหลังสุด ผู้เข้าบำบัดรักษาจะประกอบอาชีพรับจ้างเป็นหลักประมาณ ร้อยละ ๔๐ รองลงมาคือกลุ่มว่างงาน ร้อยละ ๒๓ และเกษตรกร ร้อยละ ๑๐ ในส่วนกลุ่มนักเรียน/นักศึกษามีประมาณ ร้อยละ ๗-๘ และมีแนวโน้มค่อยๆ เพิ่มขึ้น

 

เมื่อพิจารณาผลการสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าปัญหายาเสพติดได้แพร่ระบาด

เข้าสู่สถานศึกษาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๒๒.๕ ในปี ๒๕๔๖ เป็นร้อยละ ๓๔ ในปี ๒๕๕๑ ข้อมูลที่ผ่านมาพบว่านักเรียน/นักศึกษาที่เข้ามาบำบัดรักษาร้อยละ ๔๔-๔๗ ศึกษาอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ ๑๗-๑๙ ศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับ ปวช./ปวส. ร้อยละ๑๔-๑๗ โดยกลุ่มนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับประถมศึกษาเป็น ๒ กลุ่มที่มีแนวโน้มสัดส่วนเพิ่มขึ้น และผลจากการศึกษาของสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย ที่ศึกษาข้อมูลเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง ๑๐-๑๘ ปี จากสถานพินิจฯ ๗๖ แห่ง และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ๑๗  แห่ง  พบในทำนองเดียวกันคือ เด็กและ

เยาวชนที่กระทำความผิดมาจากครอบครัวที่แตกแยกร้อยละ ๕๒ โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นก่อเหตุมากที่สุด ร้อยละ ๓๙.๓

นอกจากนี้ผลการศึกษาจากโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาของ

สถาบันรามจิตติ ระบุว่ากลุ่มเด็กอายุ ๑๓-๑๘ ปี ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สามารถถูกชักจูงไปกระทำความผิดได้ง่าย กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ประกอบไปด้วย กลุ่มที่มีเพื่อนที่มีพฤติกรรมดื่ม/เสพ กลุ่มที่ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่เป็นประจำ กลุ่มที่มีคนในครอบครัวใช้สารเสพติด กลุ่มว่างงาน กลุ่มติดพนันบอล กลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำ กลุ่มที่มีความเครียด กลุ่มเยาวชนที่พ้นโทษ กลุ่มเด็กเร่ร่อน และกลุ่มแก๊งค์มอเตอร์ไซค์ซิ่ง ดังนั้นกลุ่มเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวควรจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักเรียน/นักศึกษาที่ไม่สนใจการเรียน หนีเรียนบ่อย สอบตก ชอบก่อเรื่องและทะเลาะวิวาท ทำลายทรัพย์สินของโรงเรียน และแต่งกายผิดระเบียบ เป็นต้น

                   ในการดำเนินการป้องกันกลุ่มผู้มีโอกาสเข้าไปใช้ยาเสพติดตามกลุ่มที่กล่าวข้างต้นพบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ รวมทั้งในระดับมาตรการและระดับพื้นที่ยังคงเผชิญกับโจทย์ที่ต้องการแนวทางป้องกันที่มีประสิทธิภาพเพื่อมิให้กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวไหลเข้าสู่วงจรของยาเสพติดต่อไป   

 

 

 

 

 

 

 


[1] ข้อมูลจาก  www.nccd.g.th./upload/content /situationreportingforassemblymeeting (29 Jan 2010).pdf ,วันที่         ๒๓  มีนาคม ๒๕๕๓  

[2] เพิ่งอ้าง

[3] ข้อมูล ณ วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 407966เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2010 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 06:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท