เริ่มต้นออกเดินทาง..


เริ่มต้นออกเดินทาง...

ตังตฤณ

จากหนังสือ “ณ มรณา”

 

ชีวิตของคนๆคนหนึ่งผูกอยู่กับความคิดทั้งหมดที่มีอยู่

นั่นหมายความว่าถ้าความคิดเปลี่ยนแปลงไปทั้งยวง

การเกิดใหม่ก็เริ่มต้น


     บางคนคิดว่าสิ่งที่เราไม่รู้อย่างที่สุดในชีวิตก็คือเรื่องเกี่ยวกับการตายของตัวเอง เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วยุติ จะตายวันไหน ตายอย่างไร และตายในสถานที่แบบใด วันนั้นจะมีอยู่เพียงวันเดียว เป็นประสบการณ์หนเดียว พูดง่ายๆว่าการตายคือการยุติ ไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องไปคำนึงถึงล่วงหน้าให้เสียเวลาเปล่า

   แต่แท้จริงสิ่งที่เราไม่รู้ยังมีมากกว่านั้น ชนิดที่ทำให้ความไม่รู้เรื่องความตายกลายเป็นเรื่องจ้อยไปเลย นั่นคือความจริงเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย หากหลังความตายมีรูปแบบการมีชีวิตอยู่จริงก็เป็นเรื่องน่าพะวงกว่าความตายมากนัก เพราะกระบวนการตายอาจเกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาที แต่หลังจากนั้นเราจะต้องทนอยู่กับความจริงที่เหลืออีกนานเพียงใดไม่อาจทราบได้

    หากมองด้วยความเชื่อว่าหลังความตายมีภพภูมิใหม่รอต้อนรับเราอยู่ มุมมองเกี่ยวกับขณะแห่งความตายก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ การตายเป็นการสอบครั้งเดียวที่ไม่มีโอกาสแก้ตัวใหม่อีกรอบ

    ถ้ามองในแง่ว่าทุกคนต้องเป็นผู้เสวยผลกรรมของตน ก็แปลว่าเราทำอะไรลงไปเท่าไหร่ ก็คือลงทุนให้ตัวเองได้รับกำไรหรือความขาดทุนเท่านั้น ต่อให้เราเสียสละเพื่อผลประโยชน์ของคนอื่นตลอดทั้งชีวิต ท้ายที่สุดก็ไม่ใช่ใครอื่น เราจะเป็นผู้เสวยรางวัลแห่งการเสียสละนั้นเอง และในทางตรงข้าม แม้เราจะรู้สึกเหมือนเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น กอบโกยผลประโยชน์มาได้ทั้งชีวิต ท้ายที่สุดก็ไม่ใช่ใครอื่น เราจะเป็นผู้เสวยทัณฑ์จากการเป็นผู้เอารัดเอาเปรียบนั้นเอง

    แต่การอยู่ในวังวนเวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้ไม่รู้นี้ ทุกคนถูกทำให้ไม่รู้ว่ามีการเกิดตายกันหลายชาติ มีการเสวยกรรมทีทำด้วย โลภะ โทสะ โมหะ พวกเราเหมือนถูกหลอกกันตั้งแต่ลืมตาดูโลกว่า ชีวิตนี้มีครั้งเดียว เพราะฉะนั้นอยากได้อะไรก็รีบๆโกยเสียจากชีวิตนี้ อย่ารีรอ อย่าเห็นใจใครอื่นมากกว่าตัวเอง

   ความไม่รู้หาได้เกิดขึ้นจากการกลั่นแกล้งของใคร พวกเราเป็นของเราอย่างนี้กันเอง ถ้าหาก “รู้” เสียอย่างเดียว เกมแห่งการเกิดตายจะไม่มีอยู่เลย หรือไม่เกมการเกิดตายก็จะมีแต่ฉากสนุกตื่นเต้นเร้าใจ เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะเฮฮาและรอยยิ้มสดชื่น ทว่าเรื่องจริงไม่เป็นเช่นนั้น ความไม่รู้ว่ากรรมดีทำให้เป็นสุข กรรมชั่วทำให้เป็นทุกข์ ส่งผลให้เราทำกรมดีบ้าง ทำชั่วบ้าง เพียงเพื่อตอบโต้สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นเฉพาะหน้า เหมือนเด็กไร้เดียงสาที่อาจเอาตะปูแหย่รูปลั๊กไฟได้ทุกเมื่อ โดยไม่ทราบว่ามหันตภัยชนิดใดรออยู่ในนั้น

ภพภูมิ และทิศทางความเป็นไปได้ที่เรากำลังมุ่งไปตามทางพระพุทธองค์ตรัส คือ เปรียบกับท่อนไม้ที่บุคคลโยนขึ้นบนอากาศ บางคราวก็ตกลงทางโคน บางคราวก็ตกลงทางขวาง บางคราวก็ตกลงทางปลาย ก็เหมือนสัตว์ทั้งหลายผู้มีความไม่รู้เป็นเครื่องกางกั้น มีความทะเยอทะยานอยากเป็นเครื่องประกอบไว้ จึงท่องเที่ยวไปมาอยู่ บางคราวก็จากโลกนี้ไปสู่ปรโลก บางคราวก็จากปรโลกมาสู่โลกนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า สังสารวัฏนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายมิได้

   สังสารวัฏ” คือภพภูมิต่างๆที่เราเวียนเกิดเวียนตายกันตามพฤติกรรมของจิต เมื่อใดจิตยึดความดีเป็นที่ตั้ง ก็ได้ชื่อสร้างภพแห่ความเจริญรุ่งเรืองไว้เป็นที่ไป เมื่อใดจิตยึดความชั่วเป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อมทรามไว้เป็นที่หมาย แต่ละครั้งของการเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิจะมีกรรมเป็นตัวแปรมากมาย ซัดเราไปในทิศทางต่างๆ สูงบ้าง ต่ำบ้าง กลางบ้าง และจะไม่ยุติลงด้วยความบังเอิญขึ้นฝั่งเองเลย

คำว่า “ไม่อาจกำหนดเบื้องต้นและเบื้องปลาย” นั้นเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะหมายถึงไม่อาจนับว่าเราลอยคออยู่ท่ามกลางมหาสมุทรแห่งความเกิดตายนี้มากี่แสน กี่ล้าน กี่อสงไขยครั้ง และจะต้องถูกซัดไปซัดมาอย่างไม่อาจพยากรณ์ชะตากรรมกี่แสน กี่ล้าน กี่อสงไขยหน เพราะฉะนั้นทุติยบรรพจะไม่นำเสนอเพียงที่หมายระยะสั้นเป็นภพภูมิต่างๆ แต่ยังจะแสดงที่หมายสุดท้ายตามคติพุทธคือฝั่งอันที่เป็นที่หยุดลอยคอกลางสมุทรแห่งความเกิดตายนี้ด้วย

ความตายคืออะไร ?

    สำหรับคนทั่วไป ถ้าเชื่อเสียอย่างเดียวว่าสมองคือเครื่องผลิตความรู้สึกนึกคิดและจิตวิญญาณ ก็ไม่ต้องพูดต่อความยาวสาวความยืดให้มากไปกว่านั้น ความตายคือการยุติการทำงานของร่างกายและจิตใจ ประสบการณ์และการกระทำทั้งมวลล้วนสาบสูญลง ณ จุดเวลาแห่งมรณกรรมนั้นเอง

    แต่สำหรับพุทธศานิกชนหรือจำเพาะลงไปกว่านั้นคือพุทธศาสนิกชนผู้มีสมาธิจิตผ่องแผ้ว มีศักยภาพในการน้อมจิตไปรู้เห็น ขณะจุติและอุบัติของวิญญาณหลังกายหมดสภาพ ก็ย่อมเห็นเป็นอีกอย่างว่า ความตายของคนเราคือการรวบรวมกรรมทั้งหมดในชีวิตมาชั่งน้ำหนัก แล้วตัดสินว่าเอียงไปข้างใครระหว่างสูงขึ้นหรือต่ำลงกว่าความเป็นมนุษย์

    เมื่อคิดอย่างคนไม่แน่ใจ คิดอย่างคนไม่เคยมีประสบการณ์ล้มหายตายจาก รวมทั้งรู้สึกว่าจะไม่มีทางรู้สึกว่าจะไม่มีทางได้รู้ล่วงหน้า ก็อาจยิ้มๆปลอบกันว่าความตายจะเป็นอย่างไรก็ช่างเถิด วันนี้ยังมีชีวิตก็พอหรือไม่ก็อาจสรุปรวบรัดว่าทำวันนี้ให้ดีที่สุด แล้วพรุ่งนี้ถ้าตายก็ให้มันเป็นไปตามที่มันจะเป็น

    นั่นคือคำสุดท้ายสำหรับคนทั่วไปจริงๆ “ทำดีที่สุด

    ผู้มีความรู้เห็นกรรมวิบากและภพภูมิดุจตาเห็นรูป ย่อมทราบว่าจะทำได้ดีที่สุดนั้น ไม่อาจใช้สามัญสำนึกหรือความรู้สึกแบบคนธรรมดาเป็นไม้บรรทัดวัด แต่ต้องอาศัย “ความรู้” ที่ได้จากความเห็นแจ้งประจักษ์อันเป็นสิ่งเหนือโลก และในบรรดาญาณของผู้หยั่งรู้ด้วยกันทั้งหมด พระพุทธเจ้ารู้ดีกว่าใคร ไม่มีใครรู้ได้เสมอพรองค์ เนื่องจากพระองค์บรรลุซึ่งธรรมชาติบางประการที่เรียกกันว่า “พระสัพพัญญุตญาณ” อันหมายถึงปรีชาญาณหยั่งรู้สรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเล็กเท่าอะตอมหรือใหญ่ขนาดเอกภพ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะอยู่ใกล้หรือไกล ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นของหยาบหรือของประณีต และไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นภพภูมิที่เกิดแต่กรรมแบบไหน ผู้สำเร็จถึงพระสัพพัญญุตญาณย่อมรู้แจ้งทั่วตลอดไม่มีผิดพลาดเลย

    พระพุทธเจ้าตรัสจำแนกเกี่ยวกับภพภูมิ รวมทั้งความคาบเกี่ยวในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างเปลี่ยนภพภูมิไว้มาก โดยสรุปรวบยอดที่พระองค์ท่านตรัสเกี่ยวกับภาวะความตายได้แก่นิยามแห่งมรณะ

    ก็มรณะเป็นไฉน? มรณะคือความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความทำลายแห่งรูปนาม ความทอดทิ้งซากศพไว้ ความขาดแห่งชีวิตของหมู่สัตว์หนึ่งๆ

   สรุปคือตามความรู้แจ้งเห็นจริงของผู้มีญาณหยั่งรู้ตลอดสาย ความตายไม่ใช่การยุติ ทว่าเป็นการเคลื่อนจากความเป็นอย่างหนึ่งสู่ความเป็นอีกอย่างหนึ่ง เมื่อถึงจุดแห่งความสิ้นสภาพการเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งๆ โดยทิ้งซากเดิมไว้ในโลกนี้

ทิ้งซากศพไว้ แล้วผละไปเป็นสัตว์ในภพภูมิอื่นตามกรรมแห่งตน...

   คำว่า “สัตว์” ในความหมายเชิงพุทธมิได้หมายถึงหมู หมา กา ไก่ แต่ได้เหมารวมเอาสิ่งมีชีวิตทุกภพทุกภูมิทั้งหมดไว้ว่าเป็น “สังสารสัตว์” คือสัตว์ที่เวียนว่ายตายเกิด ในสังสารวัฏอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่นี้

    จะเป็นอินทร์ พรหม ยม ยักษ์ มนุษย์ หรือเปรตต่างๆก็ล้วนเป็นสังสารสัตว์ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น สำหรับ หมู หมา กา ไก่ จะถือเป็นเหล่าสัตว์ในอบายภูมิ เรียกโดยเฉพาะว่าเป็น “เดรัจฉาน

    รูปแบบของความเป็นสัตว์ในภพภูมิหนึ่งจะสิ้นสุดลงด้วยความตาย แล้วย้ายไปสู่ความเป็นสัตว์อีกภพภูมิหนึ่ง พิจารณาจากความจริงข้อนี้ แปลว่าระหว่างมีชีวิตเรามีเวลาประมาณหนึ่งเป็นโอกาสให้ “สร้างภาพใหม่” ก่อนจะเกิดการ “ล้างภาพเดิม” ร่างกายทุกคนคือนาฬิกาชีวิตที่ส่งสัญญาณบอกเป็นระยะๆ ว่ามาถึงไหนแล้ว

   ความตายคือจังหวะที่นาฬิกาชีวิตเดินไปจนสุดลานแต่ละคนถูกไขลานไว้ต่างกันโดยกรรม

   กล่าวคือบางรายต่อให้บำรุงดีขนาดไหน ใช้การแพทย์ช่วยเพียงใด อย่างไรก็ต้องไปในวัยเยาว์ ส่วนบางคนไม่ค่อยระวังเนื้อระวังตัว มัวเมากับสิ่งเสพย์ติดค่อนข้างมากด้วยซ้ำ กลับอยู่ได้ถึง ๘๐ ปีก็มาก

    การส่งเสียงเตือนในช่วงเวลาสุดท้ายของนาฬิกาชีวิตก็ไม่เหมือนกัน บางคนถูกเตือนอย่างหนักหน่วง รุนแรง และถี่บ่อย กระทั่งเจ้าตัวรู้สึกออกมาจากข้างในได้ว่าไม่น่าจะเกินเมื่อนั่นเมื่อนี่ แต่บางคนก็ไม่มีเค้าไม่มีเงา ไม่มีการเตือนแรงๆแต่อย่างใด จู่ๆปุบปับก็ส่งเสียงกริ๊งสุดท้ายขึ้นมาเฉยๆ โดยไม่ทันสั่งเสียกับครอบครัวอันนี้ ก็สุดแท้แต่กรรมเก่ากรรมใหม่มาบวกกันแล้วต้องมีอันเป็นไปตามนั้น

  ประสบการณ์ตายจริง

    ในเมื่อคนเราตายจริงได้ครั้งเดียว นอกนั้นเป็นข้อกังขาเกี่ยวกับสมอง หรือไม่ก็เป็นเพียงการถอดจิตด้วยพลังฌาน อย่างนี้มิแปลว่าคนเราไม่มีสิทธิ์ล่วงรู้ความจริงเกี่ยวกับประสบการณ์ขณะตายจริงบ้างเลยหรือ? คำตอบคือมี! คือต้องเป็นผู้ที่ฝึกวิชา “รู้ตามจริง” แบบพุทธศาสนาอย่างโชกโชน คือเห็นกายเห็นจิตที่แสดงการเกิดดับอยู่ตลอดเวลานี้ให้ชัด กระทั่งมีความเป็นกลาง มีสมาธิตั้งมั่นผ่องแผ้ว ปราศจากอคติ และเป็นอิสระจากการปรุงแต่งทางสมองใดๆ

    จากนั้นย่อมสามารถโน้มน้อมไปกำหนดภาวะทางจิตของผู้อื่น เปรียบเทียบเห็นได้ชัดว่าแท้จริงก็เหมือนของตน คือมีสภาวจิตใดๆ เกิดขึ้นด้วยเหตุ สภาวจิตนั้นๆ ย่อมต้องดับลงเป็นธรรมดาเมื่อส่งกำลังของเหตุสิ้นสุด

    ผู้ฝึกวิชา “รู้ตามจริง” ในพุทธศาสนาย่อมเห็นว่าทั้งตนเองและใครๆ วนเวียนอยู่ในการเกิดสภาพจิตเพียงไม่กี่ชนิด เช่นจิตมีราคะแล้วแปรเป็นจิตไม่มีราคะ จิตมีโทสะแล้วแปรเป็นจิตไม่มีโทสะ จิตมีความหลงแล้วแปรเป็นจิตไม่มีความหลง จิตหดหู่แล้วแปรเป็นจิตตื่นเต็มสดใส จิตฟุ้งซ่านแล้วแปรเป็นจิตสงบที่เกิดสภาพจิตหนึ่งๆ ก็เพราะมีเหตุ เช่นจิตมีราคะก็เพราะโดนรูปหรือเสียงกระทบก่อน มีความตรึกนึกถึงรูปหรือเสียงในทางที่น่ายินดี แต่พอรูปหรือเสียงหายไป หมดอาการตรึกนึกถึงรูปหรือเสียงในทางที่น่ายินดี เช่นเพียงมีสติรู้ว่าราคะเกิดขึ้นในจิตและไม่ยินดีตรึกนึกในทางกามต่อ ราคะก็จะหายไปเองเพราะหมดแรงส่งจากเหตุเก่า

    นอกจากนั้นแล้ว ผู้ฝึกวิชา “รู้ตามจริง” ในพุทธศาสนายังสามารถเห็นแจ้งว่าทั้งตนและทั้งใครต่อใคร ต่างก็มีสภาพของจิตอยู่หลักๆ คือ “รู้อะไรอย่างหนึ่ง” กับพักอยู่ในอาการ “ไม่รู้อะไรเลย” และในอาการไม่รู้อะไรเลยนั้นใช่ว่าจิตจะดับไปแต่อย่างใด ทว่าอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมจะยกขึ้นสู่การรับรู้ใหม่เมื่อไม่มีอะไรมากระตุ้น

ขอจำแนกความรู้ประการหลังให้ชัดเจน คือ

    ๑)     ภาวะรับรู้ผัสสะกระทบได้ คือสภาพที่ปรากฏเมื่อตาประจวบรูป หูประจวบเสียง จมูกประจวบกลิ่น ลิ้นประจวบรส กายประจวบสัมผัส และใจประจวบความนึกคิด แล้วเกิดสภาพรู้ชัดเข้าไปในสิ่งกระทบนั้นๆ เช่นอยู่ๆ เรานึกขึ้นได้ว่าวันนี้ต้องไปหาหอตามนัด ตรงนั้นมีความจำเข้ามากระทบจิตเราแล้ว เป็นผัสสะภายในชนิดหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว

    ๒)     ภาวะที่จิตไม่รับรู้ผัสสะใดๆ คือสภาพที่ปรากฏหมดการรับรู้จากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความนึกคิดใดๆเรียกเป็นศัพท์เฉพาะว่า “ภวังคจิต” ยกตัวอย่างง่ายที่สุดคือคนสลบเหมือดจากการโดนของแข็งกระทบศีรษะ หรือขณะที่เรากำลังอยู่ในภาวะหดหู่มึนซึมจนรู้สึกตัวแม้อยู่ที่ไหนและกำลังทำอะไร แต่แม้จะไม่รับรู้ผัสสะกระทบใดๆ ภวังคจิตก็ยังทำงานตามธรรมชาติของมันอยู่ตลอดเวลา

  ภาวะในแบบข้อ ๒ นี่แหละน่าสนใจ เพราะเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายโดยตรง

    เมื่อผู้ฝึกวิชา “รู้ตามจริง” ในพุทธศาสนาน้อมระลึกชาติอันเป็นอดีตของตน ซึ่งมีการเกิดตายมานับครั้งไม่ถ้วน ประกอบกับการอาศัยทิพยจักขุส่องดูสัตว์โลกที่กำลังเกิดตายกันอย่างครึกโครมอยู่ทุกวินาที (ปัจจุบันคือเกิดวินาทีละ ๔ และตายวินาทีละ ๒) ก็ย่อมทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประสบการณ์ใกล้ตายได้อย่างกว้างขวางพิสดารคือเห็นว่าจะกี่คนๆ ก็ตายและเกิดด้วยสภาพของภวังคจิตด้วยกันทั้งสิ้น

    พระพุทธเจ้าบัญญัติเรียกจิตขณะแรกสุดของการเกิดว่า “ปฐมวิญญาณ” แต่สาวกในชั้นหลังเรียกว่า “ปฏิสนธิจิต” ส่วนจิตขณะท้ายที่สุดของชีวิตเรียกว่า “จุติจิต

   ดังที่กล่าวแล้วว่าภวังคจิตนั้น แม้ไม่รับรู้ ก็ยังมีการทำงาน ฉะนั้นถึงเราจะไม่คิดอ่านกระทำการใดๆ ไม่ปรารถนาจะให้สิ่งใดเกิดขึ้นในขณะแห่งปฏิสนธิจิตและจุติจิต ก็จะต้องมีบางสิ่งดำเนินไปอยู่ตลอดเวลาตามกลไกธรรมชาติวันยังค่ำ จะมาบอกว่าฉันไม่เชื่อเรื่องการเกิดใหม่ จึงไม่ต้องไปเกิดใหม่ อย่างนี้จุติจิตเขาไม่รับรู้ ไม่ยกประโยชน์ให้ตามความเชื่อนั้นๆเลย

   ถามว่าจุติจิตทำงานตามการกระตุ้นของอะไร ต้องตอบว่าก่อนหน้านั้นจะเกิดนิมิตหมายอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น ได้แก่

   ๑)     การทบทวนกรรม คือการที่จิตหวนระลึกได้ว่าเคยทำอะไรไว้บ้าง โดยเฉพาะที่หมั่นทำเป็นประจำจนเคยชิน ทำให้จิตเกิดความเศร้าโศกกับบาปกรรม หรือทำให้จิตเกิดโสมนัสกับบุญกุศล

   ภาวการณ์ทบทวนกรรมนั้นเกิดขึ้นทางใจอย่างเดียวเท่านั้น ไม่เห็นด้วยตา ไม่ได้ยินด้วยหู และไม่สัมผัสด้วยประสาทหยาบอื่นๆ

   มักมีข้อกังขาว่าคนตายบางคนทำไมยังวนเวียนอยู่กับที่เดิมหรือมาหาญาติที่บ้าน หรือสิงสถิตอยู่ตามที่ที่เคยคุ้นสมัยเป็นคน ความจริงวิญญาณเหล่านี้ก็อยู่ในภพๆหนึ่ง แต่ก่อนตายนั้นจิตหน่วงเอาความกังวล หน่วงเอาความผูกพันกับบุคคลไว้เป็นเรือนตาย เข้าข่ายนิมิตหมายการทบทวนวรรณกรรมนี่เอง

   พอจุติจิตปรากฏ เขาจะรู้สึกเหมือนทุกอย่างวูบหายไปชั่วขณะ แต่แล้วเกิดจิตในภพใหม่ที่ยึดสภาพของความเป็นคนเดิมไว้คือมีความทรงจำ มีความผูกพัน มีความปรารถนาจะทำอะไรแบบเดิมๆ

   ๒)     กรรมนิมิต ได้แก่เครื่องหมายหรืออุปกรณ์ในการกระทำกรรม เช่น ถ้าเคยฆ่าสัตว์มามากๆ ก็อาจเห็นสัตว์กรูมาทวงชีวิต หรืออาจเห็นปืนผาหน้าไม้ที่เคยใช้สังหารสัตว์ก็ได้ กรรมนิมิตนี้อาจมาให้เห็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจก็ได้ โดยมากจะเกิดทางตา ทางหู และทางใจ ส่วนน้อยจะเกิดขึ้นที่อื่น

  เช่น บางคนเคยยัดเยียดอาหารขมๆ ให้พ่อแม่ในช่วงที่พ่อแม่ช่วยตัวเองไม่ได้ ทั้งที่สามารถหาอาหารได้ดีกว่านั้น แต่มีเจตนาประยัด หรือให้อย่างเสียไม่ได้ ให้อย่างคิดว่าเมื่อไหร่จะตายพ้นๆไปเสียที อย่างนี้อาจมีรสขมจัดที่สุดแสนจะกล้ำกลืนเกิดขึ้นที่ลิ้นได้เหมือนกัน (แต่ถ้ายากจนจริงๆ ซื้ออาหารไม่ค่อยดี ก็ถือว่าทำดีที่สุดแล้วตามฐานะ อย่างนี้ไม่เป็นบาป แต่เป็นบุญ)

   ๓)     คตินิมิต ได้แก่เครื่องหมายหรือสภาพแวดล้อมของคติหรือภพที่จะไปเกิด ถ้าเป็นคตินิมิตที่จะนำไปสู่สุคติ ก็จะปรากฏเป็นปราสาทราชวัง วิมานสถาน หรือความสว่างแห่งท้องฟ้าที่นุ่มนวลลอยตา มีแต่ความเย็นรื่นน่าพิศวงอย่างประหลาดล้ำ สำหรับคตินิมิตนี้เกิดขึ้นได้ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

   หมายความว่าทั้งลืมตาอยู่ก็อาจเห็นยมทูตมายืนอยู่ข้างๆญาติ อันนี้ไม่ได้ตาฝาด แต่เป็นการปรุงแต่งของจิตใกล้วาระสุดท้ายที่ทำให้เป็นไปตามอำนาจกรรมบันดาล

   สำหรับพวกใกล้ตายที่เห็นคตินิมิตนั้น ตัวของนิมิตจะปรากฏเสมือนแม่เหล็กที่มีพลังดึงดูด และจิตจะหนีแรงดึงดูดนั้นไปไหนไม่ได้ เช่นถ้าตาเห็นไก่ หูได้ยินเสียงไก่ขัน หรือเกิดนิมิตรูปไก่ขึ้นทางใจ ก็จะต้องไปเกิดเป็นไก่ตามนั้น พูดง่ายๆว่าเห็นอะไรก็เคลื่อนเข้าไปสู่ความเป็นเช่นนั้นโดยไม่มีสิ่งใดมาคั่นขวางได้

   ความจริงประการหนึ่งของคนที่ชีวิตใกล้ดับคือจะมีการทบทวนอดีตที่ผ่านมาเป็นฉากๆ อย่างรวดเร็วน่าอัศจรรย์ ขอให้ทราบว่าในขั้นตอนของการทบทวนนั้นมิใช่นิมิตหมายอันจะเป็นที่ไป นิมิตหมายอันจะเป็นที่ไปนั้นเกิดขึ้นเพียงหนึ่งเดียว เป็นแรงดึงดูดจิตให้มุ่งไปตามทิศนั้น

  อาจมีข้อสงสัยว่าอะไรเป็นตัวสร้างนิมิตหมายขึ้นมา พระสาวกผู้ปฏิบัติชอบก็ตอบว่า “กรรม” นั่นแหละเป็นผู้ตัดสินว่าเราจะได้เจอกับนิมิตหมายแบบไหน เรียงตามลำดับความหนักเบาดังนี้

๑)     ครุกรรม

    ครุแปลว่าหนัก ฉะนั้นครุกรรมจึงหมายถึงกรรมหนัก ชนิดทำครั้งเดียวก็ได้ผลแน่นอนเป็นสุคติหรือทุคติ ต่อให้กรรมในขั้วตรงข้ามอื่นมากมายสักเพียงใดก็ไม่อาจยับยั้งการให้ผลที่แน่นอนของกรรมซึ่งทำเพียงครั้งเดียวนั้นได้

   สำหรับกรรมฝ่ายจะส่งไปสู่สุคติแน่นอนนั้น คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติเรียกว่า “อนันตริยกรรม” ได้แก่ ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้น และยังสงฆ์ให้แตกจากกัน

   สำหรับกรรมฝ่ายจะส่งไปสู่สุคติแน่นอนนั้น คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติเรียกว่า “กรรมไม่ดำไม่ขาว” จนกระทั่งสำเร็จมรรคผล เป็นพระโสดาบันบุคคลขึ้นไป หากทำกรรมนี้สำเร็จเพียงครั้งเดียว เป็นอันว่ามีสุคติเป็นที่อย่างแน่นอน

   นอกจากนี้ หากทำกรรมที่เป็นมหัคคตกุศล คือบำเพ็ญเพียรภาวนาจนได้ฌาน และฌานนั้นยังไม่เสื่อม สามารถเข้าออกได้เป็นปกติ ก่อนตายมีกำลังใจหนักแน่นพอจะเข้าถึงฌานขั้นใดขั้นหนึ่งก็จะเป็นผู้แน่นอนในการไปสู่สุคติก่อนเช่นกัน แม้ว่าอดีตจะเคยก่อบาปกรรมไว้มากมายเพียงใด เมื่อใกล้ตายจะเห็นนิมิตหมายในทางดีปรากฏอย่างแน่นอน

   สำหรับผู้ทำอนันตริยกรรมเอาไว้ จะไม่มีทางบรรลุมรรคผลและไม่มีทางทำสมาธิได้ถึงฌานเลยจนตาย เนื่องจากอนันตริยกรรมมีความนักหน่วงมาก ถ่วงจิตไม่ให้รอดจากวิถีนรกได้ด้วยหนทางใดๆ เมื่อใกล้ตายจะเห็นนิมิตหมายในทางร้ายปรากฏอย่างแน่นอน

๒)     อาสันนกรรม

   คือกรรมที่ทำเมื่อเวลาใกล้ตาย โดยมากจะหมายถึงกรรมทางความคิด ทำให้จิตเกิดพะวง หรือยังให้จิตบังเกิดปิติ

    บางคนทำความดีมาจนชั่วชีวิต แต่ก่อนตายไม่นานเกิดความวิตกกังวลถึงกรรมชั่วบางอย่างที่เคยทำไว้แค่หนสองหน จิตจึงเกิดความระส่ำระส่าย หาความสุขสงบไม่ได้ หรือบางคนมีปกติไม่เบียดเบียนใคร แต่เกิดเคราะห์หามยามร้ายต้องไปต่อสู้กับโจร แทงโจรตาย ทว่าก็โดนโจรแทงตายด้วย อย่างนี้จิตจะยึดเหนี่ยวกรรมอื่นยาก มีแต่พุ่งไปจับกรรมที่เพิ่งทำมาสดๆร้อนๆ ท่าเดียว เมื่อใกล้ตายจึงเห็นนิมิตหมายในทางร้ายปรากฏก่อน

    ส่วนบางคนทำชั่วมาตลอดชีวิต หรือไม่ก็ทำบุญไว้น้อยกว่าทำบาป ทว่าก่อนตายไม่นานมีคนอ่านหนังสือธรรมะให้ฟัง จิตเกิดความเลื่อมใส ยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งได้ทัน หรือกำลังตั้งใจเดินเอาของไปถวายภิกษุสงฆ์แล้วเป็นลมตาย อย่างนิมิตหมายในทางดีปรากฏก่อน

๓)     อาจิณณกรรม

    คือกรรมที่ทำเป็นประจำในระหว่างมีชีวิต อาจมีคำถามว่า  แต่ละคนมีกรรมที่ทำเป็นประจำอยู่เยอะแยะ แล้วทราบได้อย่างไรว่ากรรมประจำอันใดจะส่งผลในขั้นสุดท้าย ต้องตอบว่าถ้าอาจิณณกรรมฝ่ายกุศลมีน้ำหนักมากกว่าอาจิณณกรรมฝ่ายอกุศล เมื่อใกล้ตายจะเห็นนิมิตหมายในทางดีปรากฏก่อน และในบรรดาอาจิณณกรรมฝ่ายกุศลด้วยกัน กุศลกรรมที่ทำไว้บ่อยที่สุด หรือมีตัวแปรให้สุกสว่างสูงสุด จะเป็นผู้บันดาลนิมิตหมายเมื่อใกล้ตายก่อน

    เรื่องน้ำหนักกรมนี้อย่าไปคิดเสียเวลา คนธรรมดาไม่มีทางรู้ได้ ต่อเมื่อเป็นผู้ฝึกวิชา “รู้ตามจริง” ของพระพุทธเจ้าจนกระทั่งเกิดสมาธิผ่องแผ้ว ย่อมน้อมไปรู้เอง เหมือนตาสีตาสาสามารถเห็นได้ว่าแสงจากกระบอกไฟฉายใดส่องสว่างนำทางได้ชัดเจนกว่ากัน

    อาจิณณกรรมน่าสนใจกว่าครุกรรม และอาสันนกรรม เพราะมีโอกาสได้ผลมากที่สุด เป็นแรงบันดาลให้เกิดนิมิตหมายสุดท้ายได้มากที่สุด ทุกคนต้องมีอาจิณณกรรมหลายๆอย่างแน่นอน ในขณะที่คนทั่วไปไม่ค่อยทำครุกรรมกัน และไม่ค่อนอาสันนกรรมที่กำลังแรงพอจะให้ผลขณะถูกเด็ดชีพ

    ยกตัวอย่างเช่น คนที่ทำกรรมดีมาทั้งชีวิต แต่กรรมเก่าบางอย่างมาตัดรอนชีวิตให้สั้นลงด้วยอุบัติเหตุอันสุดวิสัยที่จะป้องกันที่เรียกกันว่า “ตายโหง” กะทันหัน ดูสภาพศพเผินๆแล้วน่าสยดสยอง ตามสามัญสำนึกของคนทั่วไปย่อมรู้สึกว่าถ้าตายร้ายย่อมไปร้าย แต่ความจริงก็คือวิบากกรมไม่ได้ดูวิธีตายของเราเหมือนตามนุษย์ แต่ดูแบบชั่งน้ำหนักว่าที่ทำๆ มาทั้งชีวิตนั้นน้ำหนักเทไปทางใด หากเทไปทางดีล่ะก็ จะมีการประชุมกันก่อนิมิตหมายอนเป็นมงคลอย่างแน่นอน สภาพหลังทิ้งซากไปแล้วอาจขัดแย้งกับตัวซากศพแบบพลิกหลังมือเป็นหน้ามือกะทันหันเลยทีเดียว

๔)     กตัตตากรม

    คือกรรมที่ทำโดยไม่ได้เจตนาให้เป็นไปอย่างนั้น หรืออีกนัยหนึ่งคือไม่เต็มใจจะทำ ลักษณะของจิตจะไม่เป็นกุศลหรืออกุศลชัดเจน อย่างเช่น ลูกถูกพ่อแม่ไปใส่บาตรพระ โดยที่ลูกไม่ได้มีความเลื่อมใสอยู่ด้วยตัวเอง และถ้าพ่อไม่ใช้ก็จะไม่ทำเลย เป็นต้น อย่างนี้แม้จัดเป็นกรรมก็มีน้ำหนักน้อยแทบจะเท่าน้ำมันฉาบกระทะที่ใช้ปรุงอาหารไม่ได้

    เนื่องจากกรรมทุกชนิดมีเจตนาเป็นประธาน หากเจตนาของเด็กเป็นไปเพื่อสักแต่ทำตามพ่อสั่ง ใจแทบไม่ได้ยินดียินร้ายเอาเลยก็คล้ายให้พ่อยืมแขนยืมขาตนมาใส่บาตร โดยที่ใจตัวเองไปอยู่เสียที่อื่น กรรมที่ใส่บาตรจะให้ผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (ในทางตรงข้าม ถึงโดนใช้ให้ใส่บาตร แต่มีความเลื่อมใสในบุญ มีกำลังใจยิ่งกว่าคนสั่ง ผลก็หนักแน่นยิ่งกว่าคนสั่งได้ ขอให้ทราบว่า กตัตตากรรมอยู่ที่น้ำหนักเจตนาที่อ่อน มิใช่กรรมประเภททำเพราะคนอื่นสั่ง)

    เป็นไปได้น้อยกว่าหนึ่งในพันในหมื่นราย กี่กตัตตากรรมจะมาชิงให้ผลก่อนอาสันนกรรมและอาจิณณกรรม (ถ้ามีครุกรรมก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะจะไม่มีกรรมใดตัดหน้าไปได้อยู่แล้ว) ส่วนใหญ่ก็ทำแค่ครั้งสองครั้งจะไม่มีทางเข้ารอบชิงชัยได้เลย กตัตตากรรมจะมาเป็นตัวก่อนิมิตหมายเมื่อใกล้ตายได้ ก็เพราะเราทำกตัตตากรรมนั้นบ่อยๆ หรือไม่ก็เพราะบุคคลซึ่งถูกกระทำเป็นผู้ทรงคุณใหญ่จนกลายเป็นกรรมที่กำลังมีกำลังมากกว่ากรรมปกติ

    ยกตัวอย่างเดิม สมมติว่าเด็กที่มาใส่บาตรเป็นลูกบ้านป่าทั้งชีวิตวนเวียนอยู่กับการเลี้ยงสัตว์ ผ่าฟืน หุงข้าว ใจไม่คิดอะไรมากไปกว่าเลี้ยงตัวเองให้รอดวันต่อวัน แต่เผอิญมีพระธุดงค์บิณฑบาตผ่านบ้านเป็นระยะ แล้วก็ถูกพ่อแม่สั่งให้ไปใส่บาตรหลายหน หากพระธุดงค์นั้นเป็นผู้ทรงคุณ ก็แปลว่าเด็กสั่งสมบุญใหญ่ไว้โดยไม่รู้ตัว ทำนองเดียวกับคนตาบอดไม่รู้ตัวว่าหยิบเหรียญทองใส่กระเป๋า นึกว่าเป็นเหรียญบาทธรรมดา พอถึงเวลาต้องควักออกมา ถ้าโชคดีเจอคนมีใจเป็นธรรม (ซึ่งหาได้ยาก) บอกตามจริงว่านั้นไม่ใช่เหรียญบาท แต่เป็นเหรียญทอง คนตาบอดก็อาจร่ำรวยทันทีแบบไม่ต้องลงทุน

   เมื่อนิมิตหมายปรากฏแล้ว มีวาระสุดท้ายอันเป็นภวังคจิตเคลื่อนจากภพเดิมแล้ว มีวาระสุดอันเป็นภวังคจิตอุบัติในภพใหม่แล้ว จะไม่มีใคร “กลับเข้าร่างเดิม” ได้อีกเลย หากใครบอกว่าตายแล้วแต่ยังหวนกลับมาพูดจาและเดินเหินได้ใหม่ ก็แปลว่าเขายังไม่ไปเกิดใหม่จริง แม้ร่างกายจะยุติการทำงานและถูกวินิจฉัยโดยแพทย์ว่าตาย เขายังไม่ถึงซึ่งภาวะแห่งมรณะตามนิยามของพระพุทธองค์เต็มร้อยเลย

    ประสบการณ์เฉียดตายของหลายต่อหลายคนจึงเป็นเพียงนิมิตหมายอย่างหนึ่ง ไม่เชิงว่าเป็นของเก๊ล้วนๆ เพียงแต่เอามายึดมั่นถือมั่นเป็นคำบอกเล่าของ “ผู้ผ่านความตายมาแล้ว” ไม่ได้ อาทิเช่น ผู้ที่กล่าวถึงภาวการณ์ตายโดยในแง่ดี เพียงเพราะไปสัมผัสมิติสุขสงบดื่มด่ำลึกมานั้น ถือว่าเป็นการแจ้งข่าวที่ผิดพลาดกับชาวโลกและอาจทำให้บางคนหลงคิดว่าตายแล้ววิญญาณจะอยู่ในเขตสันติสุขถ่ายเดียว เลยพานเกิดความคิดฆ่าตัวตายหนีโลกไปเสียก่อนวัยอันควร

การดับขันธ์ของพระอรหันต์

    บุคคลผู้หมดกิเลสหรือที่ทางพุทธศาสนาเรียกกันว่า “พระอรหันต์” นั้นหมดจากความหลงสำคัญผิด เช่นเห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง เห็

หมายเลขบันทึก: 407245เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2010 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท