National Institute for Child and Family Development : ข้อเสนอในการพัฒนาแผนแม่บท ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีภายใต้กองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา


เจตนารมย์ของกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ภายใต้ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๐ จะเป็นกลไกในการสนับสนุนการทำงานใน ๔ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการกระจายความเท่าเทียมไปยังทุกภาคส่วน (๒)สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาสื่อเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ (๓) พัฒนาบุคลากร ทั้ง ผู้รับสื่อ และ ผู้ผลิตสื่อ ให้มีความรู้ความสามารถในการพัฒนา สร้างสรรค์สื่อ การสร้างวัฒนธรรมในการบริโภคสื่ออย่างเหมาะสม (๔) ส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนา การผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

ข้อเสนอในการพัฒนาแผนแม่บท ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีภายใต้กองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา[1][2]  

ความเป็นมา

          เนื่องจากมีการจัดตั้งกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ภายใต้ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งโดยเจตนารมย์ของกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษานี้เพื่อเป็นการตอบสนองต่อการศึกษาตลอดชีวิตทั้งในการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย โดยหากพิจารณาจาก หมวด ๙ ว่าด้วย กองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา จะพบว่า สาระสำคัญของกองทุนนี้จะเป็นกลไกในการสนับสนุนการทำงานใน ๔ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรด้านการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการกระจายความเท่าเทียมไปยังทุกภาคส่วน (๒) การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาสื่อเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และ รูปแบบที่หลากหลาย (๓) การพัฒนาบุคลากร ทั้ง ผู้รับสื่อ และ ผู้ผลิตสื่อ ให้มีความรู้ความสามารถในการพัฒนา สร้างสรรค์สื่อ ทักษะในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจน การเรียนรู้เท่าทันสื่อ ในการเลือกรับสื่อ และ วิเคราะห์ผลกระทบในด้านสื่อ อีกทั้ง การสร้างวัฒนธรรมในการบริโภคสื่ออย่างเหมาะสม  (๔) การส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนา การผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และ กระบวนการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลเพื่อให้เกิดการใช้ที่คุ้มค่าและเหมาะสมกับกระบวนการเรียนรู้ของคนไทย

          โดยที่กระทรวงศึกษาธิการจำเป็นที่จะต้องดำเนินการใน ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) การจัดทำกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการจัดสรรเงินทุนและการบริหารจัดการกองทุนนี้ และ (๒)  จัดทำนโยบาย แผนส่งเสริมและประสานการวิจัย การพัฒนาและการใช้ รวมทั้งการประเมินคุณภาพ และประสิทธิภาพของการผลิตและการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้เจตนารมย์และสาระสำคัญของกองทุน จึงได้เสนอให้สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ดำเนินการยกร่างพัฒนาแผนแม่บท ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี เพื่อตอบสนองต่อการทำงานด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาทั้งในระยะยาว ระยะกลาง และ ระยะสั้น ที่มีประสิทธิภาพและใช้บังคับได้จริง เพื่อใช้เป็นแผนหลักในการทำงานภายใต้กองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

หลักการและเหตุผลของการทำงาน

          หากพิจารณาจากด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา มีนัยรวมถึง รูปแบบทางเทคโนโลยีในลักษณะต่างๆที่จะตอบสนองต่อการศึกษาและการเรียนรู้ของคนไทย ซึ่งหมายรวมถึงทั้งสื่อเก่าและสื่อใหม่ที่อยู่ในรูปของอิเล็กทรอนิกส์ และเมื่อพิจารณาจากเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ถึงคำว่าการศึกษาที่มีความหมายโดยกว้างหมายถึงการศึกษาตลอดชีวิต ดังนั้น การจัดทำแผนแม่บท นโยบาย ด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาจึงไม่ได้จำกัดอยู่ไม่เพียงแต่ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ เท่านั้น แต่ต้องพิจารณาจากกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องทั้ง (๑) ด้านโครงสร้างพื้นฐานในการใช้ทรัพยากรเพื่อการสื่อสาร (๒) การพัฒนาความรู้ ความสามารถ และ วัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ในด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้กับมนุษย์ในสังคมไทย (๓) ด้านการพัฒนาสื่อและเนื้อหาสื่อเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ (๔) การจัดทำโครงสร้างในการบริหารจัดการเพื่อสร้างความมีประสิทธิภาพในดำเนินการด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

          หากศึกษาเปรียบเทียบถึงกฎหมาย นโยบายในด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาของประเทศเกาหลี พบว่า การพัฒนากฎหมาย และ นโยบายของประเทศเกาหลีในฐานะผู้ส่งออกสินค้าเชิงวัฒนธรรม สามารถแบ่งได้เป็น ๔ ระยะ กล่าวคือ เริ่มต้นจากการพัฒนาความเชื่อ ความรู้ ความสามารถในการใช้งานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างระบบการศึกษาตลอดชีวิตของคนเกาหลี ระยะที่สอง คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้เกิดกระจายความเท่าเทียมและลดช่องว่างในการเข้าถึง ระยะที่สาม เป็นการสร้างเสถียรภาพของการใช้งานเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในทางสังคม การศึกษา เศรษฐกิจ การสื่อสาร ระยะที่สี่ คือ การสร้างความมั่นคง และ เชื่อมั่นในการใช้งานให้กับผู้ใช้

ในประเทศไทยเองก็พบว่ามีกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารเพื่อการศึกษา โดยเฉพาะ แผนแม่บทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฉบับที่ ๒ หรือ แผนแม่บทไอซีที ๒๐๒๐ ซึ่งได้ยึดแนวทางการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๕๐ – ๒๕๕๔) ซึ่งเป็นแผนหลักในการชี้ทิศทางการพัฒนาสังคม และ เศรษฐกิจของประเทศไทย โดยปรัชญาในการจัดทำแผนฉบับนี้ก็คือ การนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ แนวคิดเรื่อง “คน” เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา มาประยุกต์กับการจัดทำแผน ซึ่งผ่านช่วงระยะของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมาแล้วในแผนแม่บทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารฉบับที่ ๑ ในแผนนี้จึงเป็นการพัฒนาที่คนเป็นหลักซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ ซึ่งเน้นด้านการพัฒนาทุนทางสังคม ทุนมนุษย์ และ ทุนทางวัฒนธรรม

          ความน่าสนใจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศเกาหลี พบว่า โครงสร้างในการบริหารจัดการมีรูปแบบในลักษณะการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและองค์การมหาชน อีกทั้ง ความต่อเนื่องของนโยบายในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ ล้วนเป็นจุดสำคัญของการสร้างความมีประสิทธิภาพในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งในรูปแบบของสื่อเก่า และ สื่อใหม่ ซึ่งเริ่มต้นมีการกล่าวถึงเกมคอมพิวเตอร์เชิงสร้างสรรค์ที่เรียกว่า Serious game ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของการสร้างเครื่องมือในการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ หรือ 21 century learner

           

เป้าหมายของการทำงาน

การทำงานในครั้งนี้มีเป้าหมายหลัก ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อพัฒนาแผนแม่บท ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี เพื่อตอบสนองต่อการทำงานด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาทั้งในระยะยาว ระยะกลาง และ ระยะสั้น ที่มีประสิทธิภาพและใช้บังคับได้จริง (๒) เพื่อพัฒนากิจกรรมเพื่อตอบสนองต่อแผนแม่บท ยุทธศาสตร์ และ ยุทธวิธี (๓) เพื่อพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจในการทำงานด้านกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

วิธีการในการทำงาน

ประกอบด้วยการทำงานใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) การศึกษาเปรียบเทียบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนแม่บทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา (๒) การจัดเวทีวิชาการเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมแนวคิดเกี่ยวกับแผนแม่บท ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา (๓) การจัดอบรมเชิงปฎิบัติการเพื่อจัดทำกิจกรรมในรายละเอียดในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ภายใต้ กองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

แผนการทำงาน

          ๒ เดือน เดือนที่ ๑ เป็นการศึกษาเปรียบเทียบจัดทำร่างแผนแม่บท ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา  และ จัดเวทีวิชาการเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมแนวคิด เดือนที่ ๒ จัดอบรมเชิงปฎิบัติการเพื่อจัดทำกิจกรรมในรายละเอียด

ผลลัพธ์ของการทำงาน

          (๑) แผนแม่บท ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี เพื่อตอบสนองต่อการทำงานด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาทั้งในระยะยาว ระยะกลาง และ ระยะสั้น ที่มีประสิทธิภาพและใช้บังคับได้จริง (๒) กิจกรรมเพื่อตอบสนองต่อแผนแม่บท ยุทธศาสตร์ และ ยุทธวิธี (๓) บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่มีความรู้ความเข้าใจในการทำงานด้านกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

 

 


[1] เพื่อเสนอต่อ กระทรวงศึกษาธิการ ยกร่างโดย อาจารย์อิทธิพล ปรีติประสงค์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล

[2] กรอบแนวคิดพื้นฐานในการพัฒนารายละเอียดของแผนแม่บท ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี กิจกรรม ภายใต้กองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ภายใต้ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ อันเป็นผลจากการหารือร่วมกันระหว่างศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ นักวิชาการจาก แห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ยกร่าง โดย อ.อิทธิพล ปรีติประสงค์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล

 

หมายเลขบันทึก: 407159เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2010 20:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท