เล่าเรื่องการดำเนินงานการตรวจภาวะแทรกซ้อนทางตาในผู้ป่วยเบาหวาน


สิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำงานคือทีมที่ทำงานร่วมกัน

          

             กลุ่มงานเวชศาสตร์ โรงพยาบาลพุทธชินราช ได้มีระบบการดูแลเบาหวานแบบบูรณาการ มีการตรวจคัดกรอง ค้นหาผู้ป่วยเบาหวานอย่างเป็นระบบ มีระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานในเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงทั้งหน่วยปฐมภูมิ และตติยภูมิ มีการตรวจค้นหา ภาวะแทรกซ้อนทางไต  เท้า ส่วนในเรื่องของการตรวจคัดกรองตานั้นช่วงระยะแรกๆต้องอาศัยการตรวจจากหน่วยตติยภูมิอยู่  ตั้งแต่ต้นปี 48  เป็นต้นเราได้เริ่มดำเนินการตรวจคัดกรองภาวะแทรกซ้อนทางตาในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งตั้งแต่แรกเริ่มนั้นเราได้ส่งผู้ป่วยเบาหวานในเครือข่ายรับผิดชอบของเราไปรับการตรวจภาวะแทรกซ้อนทางตาที่คลินิกจักษุ ของโรงพยาบาลพุทธชินราช ซึ่งทางคลินิกจักษุนั้นมีภาระที่ต้องดูแลผู้ป่วยทั้งในเขตจังหวัดพิษณุโลก และในเขตจังหวัดรอบๆอีกหลายจังหวัดทำให้ไม่สามารถตรวจภาวะแทรกซ้อนทางตาในผู้ป่วยเบาหวานได้มากกว่า  10 รายต่อวัน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการตรวจตา ทางเราก็พยายามหาวิธีการต่างๆที่จะนำผู้ป่วยเหล่านี้ไปรับการตรวจตาให้ได้ ปลายปี48 ได้ทราบข่าวมาว่าทางมหาวิทยาลัยนเรศวรมีเครื่องถ่ายภาพจอประสาทตาชนิด Nonmydriatic fundus camera มา ทางน้องอ้อ รัชดา Project Manager เกี่ยวกับเบาหวาน ได้ติดต่อสอบถามเพื่อที่จะขอเช่าเครื่องตรวจจอประสาทตา ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก มน. ให้เช่าเครื่องมา เราก็เริ่มดำเนินการลงพื้นที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเครือข่ายของเราทั้ง 25 แห่ง(รวมทั้งเครือข่ายมน.ด้วย) ลงตรวจคัดกรองจอประสาทตาทันที

          จาก ปี 48 เราคัดกรองได้ ร้อยละ 7.13 (อาศัยตติยภูมิ) ในปลายปี 49 – ต้นปี 50 เราสามารถ คัดกรองได้ร้อยละ 65.66 และ57.44 ตามลำดับ และหลังจากที่ตรวจคัดกรองได้แล้วเราจ้างจักษุแพทย์อ่านภาพจอประสาทตานอกเวลา พบว่ามีผู้ป่วยที่มีภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตาระยะสุดท้ายหลายราย และเบาหวานเข้าจอประสาทตาระยะแรกจำนวนมาก

         จากสถิติต่างๆในผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเป็นเบาหวานขึ้นตาถึงร้อยละ60 มีโอกาสตาบอดมากกว่าคนปกติ 25 เท่า และตัวชี้วัดผู้ป่วยเบาหวานในเขตอำเภอเมืองจะต้องได้รับบริการตรวจประเมิน คัดกรองตา ได้รับการดูแลป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางตาเชิงรุกที่เหมาะสม ตามระยะเวลาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งอย่างต่อเนื่อง เมื่อพบภาวะแทรกซ้อนทางตาหรือเมื่อพบความผิดปกติอื่นๆในผู้ป่วยเบาหวานทุกรายได้รับการดูแลรักษาที่เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยลดโอกาส  ตาบอดจากโรคเบาหวานได้ และลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ตลอดจนผู้รับบริการสามารถเข้าถึงบริการที่ใกล้บ้าน รวมทั้งผู้รับบริการได้รับความพึงพอใจ พอดีในช่วงปี51 ทางกรมการแพทย์ได้เปิดการอบรมเจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่จักษุแพทย์ ในโครงการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตา ฝึกการใช้ Fundus camera ขึ้น จึงถือเป็นโอกาสพัฒนาของเรา จึงส่งให้ ดิฉันไปรับการฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 3 วัน สิ่งที่ได้รับกลับมา

-ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกายวิภาคของตา และภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตา และสามารถนำมาทบทวนเผยแพร่ความรู้แก่ผู้สนใจได้ ตลอดจนนำไปปรับใช้ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบบูรณาการได้ เกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนที่ตา โดยร่วมวางแผนดำเนินงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพเบาหวาน ในการจัดรูปแบบการรับบริการเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของตน

-ได้รับความรู้เรื่อง การตรวจวินิจฉัยระดับความรุนแรงของเบาหวานเข้าจอประสาทตา และสามารถอ่านภาพถ่ายจอประสาทตาด้วยกล้องถ่ายภาพจอประสาทตาได้ เพื่อค้นหาความผิดปกติในระยะแรกๆทำให้ผู้ป่วยเบาหวานได้รับการดูแลรักษา ส่งต่อแพทย์เฉพาะทาง ลดความเสี่ยงจากการสูญเสียสายตาได้  และต้องได้รับการฝึกฝนประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง จาก เวปไซด์

-สามารถแบ่งระดับความรุนแรงของเบาหวานเข้าจอประสาทตาได้

-มีทักษะในการใช้ Nonmydriatic fundus camera

          หลังจากนั้นกลับมาฝึกหัดทำแบบฝึกหัดอ่านภาพจอประสาทตาทางอินเตอร์เนต แต่ว่าเราก็ยังไม่มีเครื่องถ่ายภาพจอประสาทตาอยู่ดี เราพยายามที่จะพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ ทั้งที่กลุ่มงานและเจ้าหน้าที่ ศูนย์สุขภาพชุมชนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานเบาหวานสามารถตรวจคัดกรองภาวะแทรกซ้อนทางตาในผู้ป่วยเบาหวาน โดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ในศูนย์สุขภาพชุมชน นั่นคือ Optalmoscope  ได้เชิญจักษุแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถมาสอนการใช้  Optalmoscope ในการตรวจตา แบบแทบจะเรียกว่า ตัวต่อตัวเลยก็ได้ ก็ได้เรียนรู้กันไประดับหนึ่งซี่งสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงานที่ศสช.ของตนเองได้ แต่ก็ต้องใช้ความชำนาญ และทักษะ ต้องฝึกฝนกันมากหน่อย

          หลังจากเราได้ฝึกอบรมไปประมาณ 2 เดือน ทางกลุ่มงานของเราก็ได้งบประมาณ ลดความแออัดพัฒนาเครือข่าย มาซื้อเครื่องถ่ายภาพจอประสาทตา และได้เครื่องวัดแรงดันตาแถมมาด้วย นับเป็นโอกาสที่ต้องรีบตักตวง

         เราเริ่มวางระบบการดูแลป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางตาในผู้ป่วยเบาหวานเครือข่ายอย่างเป็นเรื่องเป็นราวสักที  ลำดับแรกเราประสานกับจักษุแพทย์ และคลินิกจักษุที่ OPD ในการที่จะมาทบทวนและให้ความรู้ แนวปฏิบัติต่างๆ วางระบบการเชื่อมประสาน  เพื่อให้การดูแลรักษาเป็นไปแนวทางเดียวกัน ซึ่งก็ได้รับการร่วมมือและตอบรับเป็นอย่างดีจากจักษุแพทย์ และเจ้าหน้าที่เกี่ยววข้อง ในระยะแรกหลังที่ทางทีมได้เริ่มออกคัดกรองตาในชุมชน เราได้อาศัยการอ่านภาพจอประสาทตาจากที่ได้รับการฝึกอบรมมา พบอะไรผิดปกติเล็กน้อยก็ส่งพบจักษุแพทย์ โดยระยะแรกเรานัดผู้ป่วยผ่านทางเจ้าหน้าที่ OPDตา โดยออกบัตรนัดให้ตามปกติ ซึ่งหลังจากนั้นทางเราได้ติดต่อประสานกับเจ้าหน้าที่ศูนย์สุขภาพชุมชน เพื่อที่จะติดตามให้ผู้ป่วยมารับการตรวจรักษาต่อเนื่องตามนัดทุกราย และเยี่ยมบ้านก็นับว่าได้ผลดีทีเดียว สะดวก รวดเร็วต่อผู้รับบริการ    

แบบฟอร์มลงผลการตรวจคัดกรอง

 

ฟอร์

แบบฟอร์มคัดกรอง

 

 

          ต่อมาทางจักษุแพทย์ก็ได้เปิดช่องทางการติดต่อประสานให้กับเราโดยการส่งผลการตรวจที่พบภาวะผิดปกติตั้งแต่ระดับ Moderate NPDR และ ไฟล์รูปถ่ายจอประสาทตา ทางแผ่น  CD ให้กับเจ้าหน้าที่ที่ประสานงานเพื่อนำไปแจกจ่ายให้จักษุแพทย์ในการ Confirm และใหคำแนะนำ  นัดผู้รับบริการมาพบแพทย์ โดยแพทย์จะส่งผลมาให้ทาง Internet โดยเปิด Gmail ให้ 

          เนื่องจากว่าหลังจากที่มีการรณรงค์การตรวจคัดกรองตาในผู้ป่วยเบาหวานกันมากขึ้น ทางโรงพยาบาลอำเภอ โดยการดำเนินการของสสจ.ได้จัดซื้อจัดหาเครื่องตรวจจอประสาทตาให้ 1 เครื่อง ต่อ 2 อำเภอ ทางจักษุแพทย์จึงมีภาระกิจมากขึ้น จักษุแพทย์ได้วางระบบการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ของโรงพยาบาลอำเภอเหมือนกับระบบที่เราเชื่อมต่ออยู่ ในช่วงหลังของเรา การตอบกลับของจักษุแพทย์ก็นานขึ้นเพราะคิวยาวเหยียด พอเสร็จของปีนี้ ก็ต่อของปีต่อไปอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับทางกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมการแพทย์ สปสช. และทางการเดนมาร์กได้จัดให้มีรถเลเซอร์โมบายไปตรวจรักษาเบาหวานเข้าจอประสาทตา ตามจุดต่างๆ ทำให้โอกาสที่ผู้รับบริการได้เข้าถึงบริการง่ายขึ้น รวดเร็ว  ทางเราก็พยายามคัดผู้ป่วยที่จำเป็นต้องพบจักษุแพทย์จริงๆ โดยนัดด่วนให้ก่อนในรายที่สามารถรอได้ 

ผู้ป่วยได้รับการติดตามรักษาด้วย Laser

 

การแผนการพัฒนาต่อเนื่อง

1) จัดอบรมและเพิ่มทักษะการอ่านภาพจอตาตลอดจนทดสอบความรู้ผู้อ่านภาพจอตาให้แก่ทีม  ทุกปี

 2)พัฒนาการส่งปรึกษาและเพื่อจักษุแพทย์สามารถอ่านภาพจอตาที่ส่งปรึกษาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 3)พัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลของภาพจอตาผู้ป่วยเบาหวานให้ครบถ้วน

 

บทเรียนที่ได้จากทำงานที่ผ่านมา             

- สิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำงานคือทีมที่ทำงานร่วมกัน ประสานเชื่อมโยงกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทั้งทีม ศสช  โรงพยาบาล และทีมจักษุ ทำให้เกิดระบบที่มีประสิทธิภาพ แม้จะพบปัญหาอุปสรรคที่มากมายแต่เราสามารถร่วมกันแก้ไข เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกันคือช่วยผู้ป่วยลดโอกาส  ตาบอดจากโรคเบาหวานได้ นับเป็นความภาคภูมิใจของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน

 

ทับทิม บันทึก

หมายเลขบันทึก: 407086เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2010 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ทีมเบาหวานพุทธชินราช เก่งจริงๆเลย แต่คงเหนื่อยน่าดูเลยเนอะ..ที่ต้องตะรอนทัวร์ไปทั่วราชอณาจักร แต่เพื่อประชาชนคนเป็นเบาหวานในชุมชน นะพี่นะ...ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ

ดีมากเลยจ้ะหนูรายงานได้ละเอียดมากทีเดียว มีข้อมูลประกอบน่าเชื่อถือ จะว่าไปนะหลายปีที่ผ่านมาพวกเราทุกคนได้ขยันฝึกฝนเรียนรู้ต่อยอดในงานที่ทำทั้งในภาคทฤษฏีและเรียนรู้จากการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง...วันนี้พี่โต้งว่าพวกเราได้ทำฝันของกลุ่มงานให้เป็นจริงแล้วนะ....และอยากจะบอกว่าภูมิใจน้องๆพี่เก่งมากๆนะ...

รพ.ลำปาง เพิ่งไปดูงานแล้ว ชื่นชมจริงๆคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท