บันทึกประสบการณ์การเข้าร่วมโครงการสร้างสุขภาวะการทำงานในคลินิกทันตกรรม


บันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมสังเกตการณ์โครงการย่อยที่ได้รับการสนับสนุนจากแผนงาน

โครงการสร้างสุขภาวะการทำงานในคลินิกทันตกรรม

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุขระยะที่สอง ไปเมื่อปี 2551 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนาศักยภาพของผู้นำกิจกรรม พัฒนาศักยภาพของผู้เข้าร่วมกิจกรรม สร้างสุขภาวะการทำงานของนิสิตอาจารย์และของประชาชนที่มารับบริการทันตกรรม จากคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 โดยกิจกรรมครั้งที่ 1 เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง ครั้งที่ 2 เป็นการต่อยอดจากครั้งที่ 1 โดยได้พัฒนาศักยภาพของกลุ่มแกนนำที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งที่ 2 ในการขยายกลุ่มผู้เข้าร่วมให้มากขึ้นเป็น 100 คน โดยให้ผู้ที่เข้าร่วมครั้งที่ 1 มาทำหน้าที่ผู้ช่วยกระบวนกรประจำในแต่ละกลุ่มย่อย ซึ่งผู้เขียนเคยได้บันทึกการเรียนรู้ลงในบันทึกไปแล้ว กิจกรรมครั้งที่ 3 เป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานจากทันตแพทย์ และผู้ช่วยทันตแพทย์ ซึ่งเป็นผู้ที่ค้นพบวิธีการหาความสุขจากการทำงานโดยปรับวิธีคิดในการทำงานเป็นการทำงานแต่พอเพียงและมีทัศนคติต่องานที่ทำทุกวันว่าเป็นการทำบุญและความเชื่อในเรื่องของกรรม โชคชะตาที่พาแต่ละคนมาพบกัน เพื่อให้เกิดความสุขและเห็นคุณค่าของการให้ผู้อื่นและการได้รับคำขอบคุณนั่นคือการได้รับการยอมรับ ศรัทธาจากผู้อื่นมาเติมเต็มความสุขให้แก่ชีวิตของตนเอง

ผลจากการจัดกิจกรรมทั้ง 3 ครั้ง ที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีในกลุ่มผู้ช่วยทันตแพทย์ ทำให้คนทำงานได้ทำงานอย่างมีความสุข สนุกกับการทำงานในแต่ละวัน หลังจากที่ได้เข้าร่วมเรียนรู้กับโครงการจากกิจกรรมที่จัดขึ้นมา ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ปรับมุมมอง วิธีคิดในการหาความสุขให้แก่ตนเองจากการทำงาน เกิดการยอมรับนับถือตนเอง เข้าใจ เปิดใจยอมรับเพื่อนร่วมงานและผู้มารับบริการและนำสิ่งที่แต่ละคนได้ทำงานมาสร้างเป็นความสุขให้แก่ตนเอง

ส่วนกิจกรรมในครั้งที่ 4 นี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 ตุลาคม 2553 ณ วังยาวรีสอร์ท ต.สาริกา

อ.เมือง จ. นครนายก โดยทีวิทยากรจากสถาบันฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพ สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย โดยกิจกรรมครั้งนี้มุ่งเน้น 2 แนวคิดหลัก คือ 1) การสร้างผู้นำความเป็นเลิศทางการให้บริการทางการแพทย์ และ 2) การสร้างทีมและภาวะผู้นำทางการแพทย์ โดย    

กิจกรรมที่ 1 การสร้างหัวใจของการให้บริการ คือ SMART มีองค์ประกอบย่อยดังนี้

                    S = Smile = การยิ้มอย่างจริงใจ ด้วยเทคนิคง่ายๆ คือ ยิ้ม มองหน้า สบตา ทักทาย และเต็มใจบริการ

                    M = Mortality = ความมีคุณธรรมในการบริการ

                    A = Active = การทำงานเชิงรุก ทำงานอย่างกระฉับกระเฉง

                    R = Reliable = ความศรัทธาในวิชาชีพ ในสิ่งที่ทำ

                    T = Teamwork = การทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยการยอมรับทั้งในด้านในอัตลักษณ์ของคนที่มาจากแต่ละพื้นที่ และยอมรับในตัวตนของผู้อื่น เพื่อเข้าใจเขา และจะนำไปสู่การยอมรับได้

          สิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากกิจกรรมที่ 1 คือ การทำงานให้บริการทางการแพทย์ การให้บริการข้อมูลข่าวสาร หรือการทำงานที่ต้องติดต่อประสานงาน การทำงานที่ต้องทำร่วมกับผู้อื่นนั้น เราจะต้องเตรียมพร้อมโดยการเปิดใจเพื่อจะเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน โดยการ มองเห็นคุณค่าของผู้อื่นว่าทุกคนมีความสำคัญทั้งสิ้น การอยู่ร่วมกันจะต้องพึ่งพาอาศัยกัน หมั่นเติมเต็มความสุขในการทำงาน ลดช่องว่างในการทำงาน ทำให้การทำงานร่วมอยู่ในลักษณะของการหนุนเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อให้งานที่ทำสำเร็จลงได้ด้วยดี และถึงแม้จะไม่สำเร็จด้วยดีเราก็ยังได้รับบทเรียนในการทำงานว่าเกิดจากสาเหตุใดเพื่อทำการทำงานต่อไปจะได้ไม่เกิดข้อผิดพลาดแบบเดิมอีก และเมื่องานแต่ละอย่างสำเร็จ คนทำงานจะรู้สึกมีศักดิ์ศรี เห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น จากการได้เห็นผู้รับบริการ เพื่อนร่วมงาน หรือผู้ที่ประสานงานกับเราได้รับความพึงพอใจนั่นเอง

          กิจกรรมที่ 2 การสร้างทีมและสร้างภาวะผู้นำทางการแพทย์ การค้นหาผู้นำโดยเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเป็นผู้นำเท่าเทียมกัน เนื่องจากในชีวิตจริงเราทุกคนต่างมีโอกาสที่จะเป็นผู้นำทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับในสถานการณ์ที่จะได้พบ เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีความพร้อมและตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา หัวใจหลักของการเป็นผู้นำคือ ความกล้าแสดงออก ความเชื่อมั่นว่าไม่มีอะไรที่มนุษย์เราทำไม่ได้ เพราฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ขอเพียงมีความกล้า ความเชื่อมั่น โดยใช้สติ ในการทำงานให้บริการที่ทำอยู่ในชีวิตประจำวัน ทุกคนมีองค์ความรู้ มีทักษะในการทำงาน ประกอบกับมีทัศนคติที่ดีในการทำงาน และเมื่อบวกกับความกล้า ความเชื่อมั่นที่จะเป็นผู้นำ เราจะสามารถเป็นผู้นำได้ในทุกสถานการณ์ และเมื่อมาทำงานร่วมกันเป็นทีมผู้นำตามสถานการณ์จะเกิดขึ้นเมื่อความคิด/ข้อเสนอของคนหนึ่งๆได้รับการยอมรับ จากสมาชิกในทีม ซึ่งหลังจากนั้นเมื่อเกิดสถานการณ์ใดๆเกิดขึ้น สมาชิกทุกคนสามารถเป็นผู้นำได้ในทุกเหตุการณ์

          สิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากกิจกรรมที่ 2 หัวใจของการทำงานนอกจากจะต้องมี ความรู้ มีทักษะ ทัศนคติที่ดีต่อการทำงานแล้ว สิ่งสำคัญสำหรับการทำงานคือความเชื่อมั่นและความกล้าแสดงออก และความเป็นผู้นำ เพราะในชีวิตประจำวันโดยทั่วไป พบว่า คนทำงานส่วนใหญ่จะพึงพอใจที่จะมีผู้นำในกลุ่ม ผู้นำการทำงานและพอใจที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นในทีม แต่เมื่อใดก็ตามที่ขาดผู้นำ การทำงานจะหยุดชะงักต้องรอการตัดสินใจ เพราะยังขาดความกล้า ความเชื่อมั่นในการตัดสินใจ เพราะฉะนั้นหากสมาชิกในทีมสามารถพัฒนาภาวะผู้นำให้เกิดขึ้นในสมาชิกของกลุ่มได้ จะส่งผลให้การทำงานต่อเนื่องและเกิดผู้นำใหม่และผู้นำตามสถานการณ์ได้ต่อไป

 รายงานโดย ณาตยา  สีหานาม ผู้ประสานงานแผนงาน

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 406793เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2010 13:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 09:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท