บัญชีครัวเรือนกับการวางแผนพัฒนาหมุ่บ้าน


บัญชีครัวเรือน เส้นทางสู่ชุมชนไทยเป็นสุข

               บัญชีครัวเรือนดีครับ  แต่ไม่ได้ทำ  ทำไม่ได้  รายจ่ายมากกว่ารายรับ  จดแล้วเครียด  ทำแล้วก็ไม่ได้รวยขึ้น  จดแล้วมึนเอาเงินจากไหนมาใช้ไม่รู้  เป็นคำตอบที่ได้รับหลังจากฟังเรื่องราวของบัญชีครัวเรือนที่หลาย ๆ หน่วยงาน  เผยแพร่และตั้งใจทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง  ต้องขออนุญาตกล่าวถึง  เช่น  ธกส.  เกษตรและสหกรณ์จังหวัด  ตรวจบัญชีสหกรณ์  และเครือข่ายภาคประชาสังคม  ขออภัยถ้ากล่าวถึงไม่ครบถ้วน

                บัญชีครัวเรือนเป็นเรื่องส่วนบุคคล  เป็นเรื่องของการรู้จักตนเอง  สำคัญและเป็นวิถีชีวิต  ถ้าครอบครัวหนึ่งทำบัญชีครัวเรือนอย่างดี  เอาบัญชีครัวเรือนมาดูจะรู้ว่าครัวเรือนนี้ดำรงชีวิตอย่างไร  จนหรือรวย  สุขภาพครอบครัวเป็นอย่างไร  ทุกข์เรื่องอะไร สาเหตุแห่งทุกข์มาจากเรื่องใด  จะทำให้สุขได้อย่างไร  ชอบกินอะไร  ไม่ชอบอะไร  เหตุของโรคภัยไข้เจ็บมาจากอะไร  บัญชีครัวเรือนบ่งชี้ได้   ผลประโยชน์ของบัญชีครัวเรือนไม่ได้อยู่ที่การจด  แต่อยู่ที่การนำไปใช้  ใช้ทำอะไร  ใช้เพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ของครัวเรือน  การลดรายจ่าย คือ วิธีการเพิ่มรายได้ที่ดีที่สุด  ง่ายและไม่ต้องลงทุนเพิ่ม 

                 เมื่อรายจ่ายมากกว่ารายได้  คนส่วนใหญ่จะนึกหาวิธีการเพิ่มรายได้  มากกว่าการหาวิธีลดรายจ่าย  เมื่อคิดเรื่องวิธีหารายได้เพิ่มได้แล้ว   ก็หาทุน  หาทรัพยากร  เสียสละเวลาของครอบครัวมาเพื่อเพิ่มรายได้   ซึ่งเมื่อลงทุนเพิ่มรายได้ตามที่คิดแล้วก็ยังไม่แน่ใจว่าจะได้กำไร  บางคนลงทุนเวลาทั้งหมดของชีวิตเพื่อหารายได้เพื่อให้ครอบครัวมีความสุข  สุดท้ายก็ยังไม่แน่ใจว่าเงินที่ได้มาทำให้ครอบครัวมีความสุข  วิธีการลดรายจ่ายจะมีคนเลือกน้อย  แต่เป็นวิธีการเพิ่มรายได้ที่ลงทุนน้อยที่สุด  ได้กำไรแน่นอน  แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อรู้ว่าจ่ายเรื่องอะไรบ้าง  เรื่องใดลดได้  ข้อมูลที่นำมาใช้คือบัญชีครัวเรือน  ทำเพื่อตัวเอง  บัญชีครัวเรือนจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง   ในการวางแผนชีวิตสู่เป้าหมาย  “ครอบครัวไทยเป็นสุข”  ในการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต

                   วันนี้ขอแลกเปลี่ยนเรื่อง  บัญชีครัวเรือนกับการวางแผนพัฒนาหมู่บ้าน  ซึ่งเป็นภาคสองของการพัฒนาหมู่บ้านตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  สมมุติฐานเบื้องต้นให้หมู่บ้านหนึ่ง  มีการทำบัญชีครัวเรือนที่ดี  ครัวเรือนใช้บัญชีวางแผนชีวิตแล้ว  จะใช้บัญชีครัวเรือนเหล่านี้วางแผนพัฒนาหมู่บ้านอย่างไร  (ตามกรอบความคิดเดิมตามภาพด้านล่าง)

 

                  หมู่บ้านไทยสามัคคี  มีครัวเรือน  210  ครัวเรือน  จากข้อมูลบัญชีครัวเรือนที่รวบรวมได้  มีครัวเรือนเป็นหนี้ธนาคาร  จำนวน  185  ครัวเรือน  จำนวนหนี้  9,250,000  บาท (เฉลี่ยครัวเรือนละ 50,000  บาท)  สิ้นปีคนในหมู่บ้านเสียดอกเบี้ยให้ธนาคาร  647,500  บาท  (ดอกเบี้ยร้อยละ 7)  มีเงินออกจากหมู่บ้านไปที่อื่น  647,500  บาท  ถ้าเงินจำนวนนี้ยังคงอยู่ในหมู่บ้าน  สามารถทำอะไรได้อีกหลายอย่าง

                    ผู้ใหญ่ดารา  นำข้อมูลเรื่องหนี้ของหมู่บ้านจากบัญชีครัวเรือน  เข้าปรึกษากับคณะกรรมการหมู่บ้าน  (ใช้หลักเหตุผล)  ที่ประชุมเห็นด้วยที่จะลดหนี้ให้น้อยลงเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน  โดยตั้งเป้าหมายลดหนี้ในปีแรกร้อยละ 10  และลดลงร้อยละ 50  ภายใน 5 ปี 

                    เมื่อคณะกรรมการหมู่บ้านเห็นชอบผู้ใหญ่ดาราและคณะกรรมการหมู่บ้าน  นำเรื่องดังกล่าวเข้าเวทีประชาคมหมู่บ้าน  “ ตั้งเป้าหมายและคิดหาวิธีการ”  ในการลดหนี้ของหมู่บ้านร่วมกัน  (ใช้หลักเหตุผล)  ที่ประชุมเห็นด้วยตามข้อเสนอของคณะกรรมการหมู่บ้านตั้งเป้าหมายลดหนี้จากนอกชุมชนในปีแรกร้อยละ 10  และลดลงเหลือร้อยละ 50  ภายใน  5  ปี  และร่วมกันคิดหาวิธีการลดหนี้  วิธีการลดหนี้ที่ชุมชนเสนอมีหลายวิธี ดังนี้

                     1.เปลี่ยนหนี้จากนอกชุมชนมาเป็นหนี้ในชุมชน

                     2.ลดรายจ่ายให้กับครัวเรือน

                     3.เพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน

วิธีการแก้ไขปัญหาวิธีที่ 1เปลี่ยนหนี้จากนอกชุมชนมาเป็นหนี้ในชุมชน                            

                      เป้าหมายในปีแรกลดหนี้  ร้อยละ 10  ต้องลดหนี้ให้ได้  925,000  บาท  สิ่งแรกที่ชุมชนช่วยกันพิจารณา คือ ดูทุนชุมชนในปัจจุบัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนการเงินของชุมชนมีอะไรบ้าง  จากข้อมูลทุนชุมชนมีดังนี้

                       1.กองทุนหมู่บ้าน มีเงิน  1,300,000  บาท  สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน  มี  40  คน  มีครัวเรือนที่เป็นหนี้ธนาคาร เป็นสมาชิก  12  คน   มีเงินคงเหลือในบัญชีธนาคาร 500,000  บาท

                        2.มีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  มีสมาชิก  35  คน  เงินสัจจะสะสม  400,000  บาท    มีครัวเรือนที่เป็นหนี้ธนาคารเป็นสมาชิก  25  ครัวเรือน 

                        กิจกรรมในการแก้ปัญหาจากวิธีการที่ 1  ที่ประชุมตกลงร่วมกันที่จะให้  185  ครัวเรือนสมัครเป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน   และสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  กิจกรรมใน  แผนชุมชน  จะได้  2 กิจกรรม คือ

                         1. กิจกรรมส่งเสริมการเป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน  เพื่อให้ครัวเรือนที่เป็นหนี้ธนาคารมีสิทธิ์ในกิจกรรมของกองทุนหมู่บ้าน  กิจกรรมของกองทุนหมู่บ้านมี  2 กิจกรรม คือ  การให้กู้ยืม  กับการออม  ถ้ามีเงินเหลือก็ให้สมาชิกกู้ชำระหนี้ธนาคารได้ทันที  จากเงินคงเหลือ 500,000   บาท  สามารถให้กู้รอบแรกได้  400,000  บาท อีก 100,000  บาทไว้เป็นทุนสำรอง   คิดเป็นร้อยละ 43.24   จากหนี้ตามเป้าหมาย   925,000  บาท

                         2.กิจกรรมส่งเสริมการเป็นสมชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  ครัวเรือนเป็นหนี้ธนาคาร เป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จำนวน  25  ครัวเรือน  จากครัวเรือนที่เป็นหนี้ธนาคาร  185  ครัวเรือน  กลุ่มออมทรัพย์ฯ จะมีสมาชิกเพิ่มขึ้น  อย่างน้อย  160  คน  แต่จะมีมากกว่าถ้ามีคนสมัครเป็นสมาชิก  มากกว่าครัวเรือนละ  1  คน  สมาชิก  160 คน  ส่งเงินสัจจะสะสม คนละ 100  บาทต่อเดือน  ใน 1 เดือน  จะมีเงินสัจจะเพิ่มขึ้นในการให้บริการสมาชิกในการกู้ยืม เดือนละ  16,000  บาท  1  ปี  เท่ากับ 192,000  บาท  คิดเป็นร้อยละ  20  ของหนี้ที่ต้องลดตามเป้าหมาย  925,000  บาท

                         ทั้งสองกิจกรรมสามารถลดหนี้จากนอกชุมชนได้  592,000  บาท  คิดเป็นร้อยละ  63.24  คิดแบบง่าย  ๆ  ไม่ซับซ้อน  ส่วนที่เหลือร้อยละ 36.76  ก็คิดหาวิธีการอื่น ๆ  ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก  เงินปันผล  และกิจกรรมที่กองทุนหมู่บ้าน  และกลุ่มออมทรัพย์ฯทำในภาพรวม  เช่น  สวัสดิการต่าง ๆ  ที่เห็นชัดคือมีเงินดอกเบี้ยอยู่ในชุมชน  41,440  บาท (ดอกเบี้ยร้อยละ 7)  บางคนอ่านแล้วบอกทำไม่ได้หรอก  มีปัญหา  แต่มีตัวอย่างของหมู่บ้านที่เขาทำสำเร็จแล้ว  และเชื่อมั่นว่าถ้าตั้งใจแล้วทำได้

วิธีการแก้ไขปัญหาวิธีที่ 2  ลดรายจ่ายให้กับครัวเรือน

                   การลดรายจ่ายให้กับชุมชน  จะลดอะไร  อย่างไร  ก็ต้องไปดูบัญชีครัวเรือนว่าจ่ายอะไร  เท่าไหร่  ลดอะไรได้  อะไรลดไม่ได้ จากข้อมูลทุนชุมชน  ครัวเรือน จำนวน  190  ครัวเรือน  ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  สวนยาง  และสวนปาล์ม  จากข้อมูลบัญชีครัวเรือน  ค่าปุ๋ยเคมี  1,680,500  บาท  ( เสียค่าปุ๋ยเฉลี่ยครัวเรือนละ  8,845  บาทต่อปี)   ทำอย่างไรถึงจะลดค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ยเคมี  จำนวน 1,680,500  บาท  โดยตั้งเป้าหมายลดให้ได้ครึ่งหนึ่งภายใน 3 ปี

                    ผู้ใหญ่ดารา  นำข้อมูลเรื่อง ค่าปุ๋ยเคมี ของหมู่บ้านจากบัญชีครัวเรือน  เข้าปรึกษากับคณะกรรมการหมู่บ้าน  (ใช้หลักเหตุผล)  ที่ประชุมเห็นด้วยที่จะลดค่าปุ๋ยเคมีให้น้อยลงเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน  โดยตั้งเป้าหมายลดค่าปุ๋ยเคมีในปีแรกร้อยละ 20  และลดลงร้อยละ 50  ภายใน 3 ปี 

                     เมื่อผู้ใหญ่ดารานำเรื่อง ลดค่าปุ๋ยเคมี เข้าเสนอต่อที่เวทีประชาคมของหมู่บ้าน  เพื่อให้ช่วยกันคิดหาวิธีแก้ไข  ที่ประชุมเสนอวิธีการแก้ไขปัญหา ดังนี้

                               1.รวมกลุ่มซื้อปุ๋ยเคมี

                               2.รวมกลุ่มผลิตปุ๋ยเคมี

                               3.รวมกลุ่มผลิตปุ๋ยหมัก

                               4.เลี้ยงหมูหลุม

                               5.ทำน้ำหมักชีวภาพ

                               6.รวมกลุ่มผลิตปุ๋ยชีวภาพ

                  เมื่อได้วิธีแก้ไขปัญหาแล้ว (กิจกรรมในแผนชุมชน) ก็เข้าสู่กระบวนการพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ  สิ่งแรกที่ต้องดูก็คือ  ทุนชุมชน  แต่ละกิจกรรมมีทุนชุมชนในการดำเนินการอยู่แล้วอะไรบ้าง  ถ้ามีก็นำทุนชุมชนมาใช้  ถ้ายังไม่มีจะหาทุนได้ที่ไหน  เช่น  โครงการปุ๋ยหมัก  มีโรงงานปั่นใยมะพร้าวอยู่ใกล้ๆ   มีวัสดุเป็นขุยมะพร้าวหาง่าย  ไปดูทุนทางสังคมมีกลุ่มเยาวชนเข้มแข็ง  ก็ใช้กลุ่มเยาวชนเป็นตัวจักรในการผลิตปุ๋ยหมัก  ถ้าจะทำต้องใช้เงิน  ดูทุนการเงินในหมู่บ้านก่อน กลุ่มออมทรัพย์ฯ สนับสนุนได้หรือไม่  เยาวชนก็มีกิจกรรม  ผลิตปุ๋ยหมักขายได้  ก็เป็นรายได้ของกลุ่มเยาวชน  หมู่บ้านก็มีปุ๋ยหมักคุณภาพดีใช้  ลดค่าปุ๋ยเคมีของหมู่บ้านได้ พึ่งตนเองก่อนพึ่งคนอื่น เงินก็ยังคงอยู่ในชุมชน

                 สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไป มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้หรือยัง (เงื่อนไขความรู้)          ถ้ายังไม่มีแหล่งเรียนรู้อยู่ที่ไหน  จะให้ใครไปเรียนรู้  เรียนแล้วกลับมาทำ  ระหว่างทำก็เก็บรวบรวมความรู้  บันทึกรายละเอียด  รวบรวมเป็นองค์ความรู้ของเรื่องนั้น ๆ ถ่ายทอดให้กับคนอื่น ๆ ได้ทำตาม  คนเรียนก็เป็นวิทยากร  มีตัวอย่างของความสำเร็จที่ได้ทำแล้วให้ดู  ลดค่าใช้จ่ายได้จริง  สุขภาพของดินและพืชดีขึ้น  มีสถิติของผลผลิตยืนยัน  มีบันทึกของการลดใช้ปุ๋ยเคมีให้เห็น     เมื่อรู้และเห็นจริงคนอื่น ๆ ก็ทำตาม

                       การบริหารจัดการในแต่ละกิจกรรม  ต้องใช้ความซื่อสัตย์  สุจริต  เอื้อเฟื้อแบ่งปัน  รับผิดชอบความสำเร็จร่วมกัน  ช่วยกันแก้ไขปัญหา กิจกรรมที่จะทำก็จะสำเร็จ (เงื่อนไขคุณธรรม)  ที่แลกเปลี่ยนมาทั้งหมด  นำเสนอมาเพื่อให้เห็นกระบวนการคิดในการพัฒนาหมู่บ้านตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  บัญชีครัวเรือนกับการวางแผนพัฒนาหมู่บ้าน  ต้องจบก่อนเพราะครบ 4 หน้า...ขอบคุณครับ

หมายเลขบันทึก: 405796เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2010 15:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 13:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท