ภาษาไทยในรามาธิบดี (8): คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี


(โพสต์ครั้งแรกในกระดานข่าวภายในของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 เนื้อหาบางส่วนอาจอ้างอิงถึงการสนทนาในกระดานข่าวดังกล่าว)

วันนี้ขอเปลี่ยนแนวครับ มาพูดกันถึงคำคำหนึ่งที่สะกดผิดบ่อยมากที่สุดคำหนึ่งคณะฯ ครับ คือ ชื่อคณะของพวกเราเอง


เนื่องจากชื่อคณะของเรา เป็นชื่อเฉพาะ (วิสามานยนาม) ที่เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานของรัฐที่มีการจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย จึงจำเป็นที่จะต้องย้อนกลับไปดูการสะกดชื่อคณะจากตัวกฎหมาย แล้วสะกดตามนั้นครับ

หลายท่านคงจะทราบว่า คณะฯ ของเรา ก่อตั้งขึ้นในสมัยที่มหาวิทยาลัยมหิดลยังมีชื่อว่ามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เท่าที่ผมสืบค้นจากหลักฐานทางกฎหมายนั้น สามารถย้อนกลับไปได้จนถึงกฎหมายที่จัดตั้งคณะฯ ขึ้นเป็นครั้งแรก คือ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พ.ศ. 2508 ซึ่งได้สะกดชื่อคณะฯ ของเราว่า "คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี" สังเกตนะครับว่าไม่มีเว้นวรรคแต่อย่างใด

และเมื่อได้มีการเปลี่ยนชื่อจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไปเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล ตาม พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2512 แล้ว ก็ได้มีการแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหิดลตามประกาศและพระราชกฤษฎีกาอีกหลายฉบับ ซึ่งในส่วนที่เป็นการแบ่งส่วนราชการระดับคณะ ซึ่งเกี่ยวข้องกับรามาธิบดีของเรา เท่าที่ผมตรวจสอบย้อนกลับไปได้ (แต่ไม่รับรองว่าครบถ้วน) มีดังนี้

- ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหิดล ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2512
- ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหิดล ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2512
- ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหิดล ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2515
- ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแบ่งส่วนราชการและภาควิชาในมหาวิทยาลัยมหิดล ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2517
- ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแบ่งส่วนราชการและภาควิชาในมหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2520) ลงวันที่ 13 มกราคม 2520
- ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแบ่งส่วนราชการและภาควิชาในมหาวิทยาลัยมหิดล ลงวันที่ 30 มกราคม 2521
- ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการและภาควิชาในมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2524 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2524
- ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการและภาควิชาในมหาวิทยาลัยมหิดล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2524 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2524
- ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการและภาควิชาในมหาวิทยาลัยมหิดล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2529 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2529
- ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการและภาควิชาในมหาวิทยาลัยมหิดล (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 15 กันยายน 2530
- พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหิดล ทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2538
- พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหิดล ทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2540

และท้ายสุด หลังจากที่เรามีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2550 ซึ่งเปลี่ยนสภาพมหาวิทยาลัยมหิดลจากส่วนราชการไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ออกนอกระบบ) ก็มีประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง การจัดตั้งส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2552 ลงวันที่ 16 กันยายน 2552

ทุกประกาศและพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้อง ก็ได้มีการสะกดชื่อคณะของเราว่า "คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี" โดยไม่มีวรรคมาโดยตลอด ดังนั้น จึงขอสรุปว่า

1. การเรียกชื่ออย่างเป็นทางการของคณะของเรา มีข้อพึงระวังดังนี้
- แพทยศาสตร์ ไม่มีการันต์ที่คำว่า แพทย์ เพราะเป็นคำสมาสระหว่างคำว่า แพทย์ กับ ศาสตร์
- ใช้คำว่า โรงพยาบาล เป็นคำเต็ม
- ไม่มีการเว้นวรรคหน้าคำว่าโรงพยาบาล

2. หากประสงค์จะใช้คำว่าโรงพยาบาลเป็นอักษรย่อ ในบริบทที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ชื่อคณะอย่างเป็นทางการสูงสุด ก็น่าจะอนุโลมได้ โดยในกรณีนี้ การเว้นวรรคหน้าอักษรย่อ "รพ." น่าจะเป็นไปเพื่อความเหมาะสมเกี่ยวกับการใช้อักษรย่อ ซึ่งโดยมาตรฐานก็จะมีการเว้นวรรคหน้าคำอยู่แล้วเพื่อป้องกันความสับสนว่าตัวอักษรที่ประกอบกันเป็นอักษรย่อนั้นคือตัวอักษรใดแน่ 
ดังนั้น การสะกดอย่างย่อว่า "คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี" โดยเว้นวรรค จึงไม่ถือว่าผิดหลักภาษา แต่อย่าลืมว่าหากจะใช้คำเต็ม ไม่ควรมีวรรคแต่อย่างใดครับ คือ ควรเป็น "คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี"

สังเกตอีกนิดว่า โรงพยาบาล ใช้อักษรย่อว่า รพ. (จุดเดียว) ครับ ไม่ใช่ ร.พ.

ทีนี้เรามาพูดถึงการสะกดภาษาอังกฤษของชื่อคณะเราบ้างครับ สำหรับชื่อภาษาอังกฤษนี้ ไม่ปรากฏในกฎหมายหรือประกาศทางการฉบับใด แต่เท่าที่เคยได้ยินมา ท่าน ศ.นพ.สมพล พงศ์ไทย ของเรา เคยให้แนวคิดไว้ว่า ควรสะกดว่า "Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital" โดยไม่มีเครื่องหมายจุลภาค (comma หรือ ,) หน้าคำว่า Ramathibodi ทั้งนี้เพราะ การสะกดโดยมี comma หน้า Ramathibodi เป็น "Faculty of Medicine, Ramathibodi Hospital" ในทางภาษาอังกฤษ เท่ากับเป็นการบอกว่า Ramathibodi Hospital (รพ.รามาธิบดี) อยู่ในสถานะที่เหนือกว่า Faculty of Medicine (คณะแพทยศาสตร์) (ในทำนองเดียวกับการใช้ชื่อภาษาอังกฤษของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า Faculty of Science, Mahidol University ซึ่ง comma เป็นตัวบอกว่า Faculty of Science หรือคณะวิทยาศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของ Mahidol University หรือมหาวิทยาลัยมหิดล) ซึ่งการใช้ comma คั่นระหว่าง Faculty of Medicine กับ Ramathibodi Hospital จึงทำให้ผู้ไม่รู้ตีความในลักษณะที่ขัดกับข้อเท็จจริงได้ นอกจากนี้ บางท่านยังอาจเคยเห็นการใช้ชื่อคณะฯ ภาษาอังกฤษว่า "Faculty of Medicine at Ramathibodi Hospital" ซึ่งกรณีนี้ก็เป็นการแปลชื่อเป็นภาษาอังกฤษอย่างไม่เป็นทางการ และไม่ตรงกับการใช้จริงของคณะฯ เลย ทั้งยังไม่ตรงกับชื่อไทยของคณะฯ เรา ซึ่งไม่เคยมีใครเรียกว่า "คณะแพทยศาสตร์ ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี" ด้วย

ผมจึงเห็นควรให้ใช้ว่า "Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital" ตามที่ท่าน อ.สมพล พงศ์ไทย ได้เคยวินิจฉัยไว้อย่างเหมาะสมแล้วครับ

ทั้งนี้ การสะกดชื่อคณะฯ ภาษาอังกฤษเช่นนี้ ได้รับการยืนยันจากมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ 430 (8/2552) เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2552 แล้ว ในวาระที่ 3.3 (การกำหนดชื่อภาษาอังกฤษของส่วนงาน) ซึ่งผมขอคัดเนื้อหาในรายงานการประชุม ของวาระนี้ มา ณ ที่นี้ครับ

"รองศาสตราจารย์ ทพ.พาสน์ศิริ นิสาลักษณ์ เลขานุการสภามหาวิทยาลัย เสนอว่า ตามที่ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๔๒๙ เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ได้พิจารณาการกำหนดชื่อภาษาอังกฤษของส่วนงาน ทั้ง ๓๓ แห่ง โดยมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะให้ส่วนงานบางแห่งทบทวนการกำหนดชื่อส่วนงาน
โดยเฉพาะชื่อภาษาอังกฤษ ซึ่งหากส่วนงานยืนยันที่จะใช้ชื่อภาษาอังกฤษตามที่ได้เสนอมา ก็ให้ส่วนงานสามารถใช้ชื่อ
ภาษาอังกฤษนั้นได้ โดยมิต้องนำเสนอที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยฯพิจารณาอีกนั้น บัดนี้ ส่วนงานได้พิจารณาข้อคิดเห็น
และข้อเสนอแนะดังกล่าว และได้แจ้งยืนยันการกำหนดชื่อภาษาอังกฤษเช่นเดิมมายังมหาวิทยาลัย ยกเว้นวิทยาเขตกาญจนบุรี ที่สภามหาวิทยาลัยเสนอให้ใช้ว่า Mahidol University at Kanchanaburi ก็จะเปลี่ยนตามที่ได้รับการเสนอแนะ ทั้งนี้ ได้เสนอเรื่องการกำหนดชื่อภาษาอังกฤษของส่วนงานนี้ ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ ๑๔/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ แล้ว ตามรายละเอียดที่ปรากฏในเอกสารประกอบการประชุม

อนึ่ง สำหรับชื่อภาษาอังกฤษของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (Faculty of Medicine Siriraj Hospital) และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital) หลังคำว่า Medicine ไม่ต้องมีเครื่องหมายจุลภาค ( , )

สรุปมติที่ขอ เสนอที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อรับทราบ

กรรมการสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในระบบใหญ่ๆ ของมหาวิทยาลัยต่างประเทศ การใช้ at จะเป็นเรื่องที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ที่ใกล้เคียงกันมาก ฉะนั้น หากใช้ว่า Mahidol University at Kanchanaburi น่าจะไม่เหมาะสม เพราะวิทยาเขตกาญจนบุรียังต้องการการดูแลและสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยอยู่ จึงเสนอว่าหากใช้ภาษาไทยว่าวิทยาเขตกาญจนบุรี ภาษาอังกฤษก็ควรใช้ว่า Kanchanaburi Campus ให้สอดคล้องกัน และในอนาคต หากหน่วยงานใด เข้มแข็งแล้ว สามารถใช้คำว่า “at” หรือ “ณ” ได้ แต่ถ้ายังอ่อนแอ และต้องการความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัย ก็ควรต้องใช้คำว่า “วิทยาเขต” ต่อไป

อธิการบดี กล่าวว่า ในภาษาไทย ยังคงใช้ว่า “วิทยาเขตกาญจนบุรี” แต่ในภาษาอังกฤษ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งการใช้ at เพื่อให้เหมือนในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ จะมีความหมายในลักษณะที่ให้มีการพัฒนาและสนับสนุนให้เป็นมหาวิทยาลัยที่เท่ากันในอนาคต

มติที่ประชุม รับทราบ"

(ที่ขีดเส้นใต้คือที่ผมเน้นเองครับ)


ซึ่งหลายท่านอาจจะเห็นว่าเอกสารตราคณะฯ ที่ใช้อยู่ ตลอดจนเอกสารอื่นๆ ในคณะฯ นั้น อาจจะมีการสะกดที่ไม่ถูกต้องตามหลักการนี้ ซึ่งในส่วนของเอกสารตราคณะฯ ก็ได้แจ้งไปทางงานพัสดุและได้มีส่วนในการช่วยตรวจพิสูจน์ก่อนสั่งพิมพ์รอบใหม่ไปแล้ว ซึ่งก็ขอขอบคุณทางงานพัสดุที่ได้เข้ามาสอบถามและให้ช่วยยืนยันวิธีสะกดที่ถูกต้องให้นะครับ ก็หวังว่าอนาคตพวกเราจะใช้ชื่อคณะฯ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษกันอย่างถูกต้องครับ

โพสต์นี้ค่อนข้างยาวทีเดียว แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญของคณะฯ จึงขอให้เวลาและพื้นที่ค่อนข้างมากครับ วันพรุ่งนี้จะพูดถึงวิธีสะกดชื่อปริญญา พ.บ. และหน่วยงานด้านการศึกษาในคณะฯ อย่างถูกต้องครับ

หมายเลขบันทึก: 405699เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2010 01:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท