ร้อยกรองทำนองฉันท์


ร้อยกรองทำนองฉันท์

      ฉันท์  หมายถึง  คำประพันธ์ชนิดหนึ่งที่บังคับเสียงหนัก (ครุ) เสียงเบา (ลหุ)  ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกำหนดความหมายไว้ว่า “ ชื่อคำประพันธ์ประเภทหนึ่งซึ่งวางคำ ครุ ลหุ โดยวิธีต่าง ๆ”

    กำชัย  ทองหล่อ  อธิบายว่า “ ฉันท์ คือ ลักษณะถ้อยคำที่กวีได้ร้อยกรองขึ้นให้เกิดความไพเราะซาบซึ้ง โดยกำหนดคณะ ครุ ลหุ และสัมผัสไว้เป็นมาตรฐาน”          

ประวัติความเป็นมาของฉันท์ 

                ฉันท์นี้ไทยได้ถ่ายแบบมาจากอินเดีย  ของเดิมแต่งเป็นภาษาบาลีและสันสกฤต  โดยเฉพาะในภาษาบาลีมีตำราที่กล่าวถึงวิธีแต่งฉันท์ไว้เป็นแบบฉบับ  เรียกชื่อว่า“คัมภีร์วุตโตทัย” ต่อมาไทยเราได้จำลองแบบมาแต่งในภาษาไทยโดยเพิ่มเติมบังคับสัมผัสขึ้น  เพื่อให้เกิดความไพเราะตามแบบนิยมของไทย 

                ฉันท์ในภาษาบาลีแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด  คือ  ฉันท์วรรณพฤติกับฉันท์มาตราพฤติ  ฉันท์ใดกำหนดด้วยตัวอักษร คือ วางคณะและกำหนดเสียงหนักเบาที่เรียกว่า ครุ ลหุ เป็นสำคัญ ฉันท์นั้นเรียกชื่อว่า  “วรรณพฤติ”  ฉันท์ใดกำหนดด้วยมาตรา คือ วางจังหวะสั้นยาวของมาตราเสียงเป็นสำคัญ  นับคำลหุเป็น ๑ มาตรา  คำครุนับเป็น ๒ มาตรา ไม่กำหนดตัวอักษรเหมือนอย่างวรรณพฤติ  ฉันท์นั้นเรียกว่า “มาตราพฤติ

                ฉันท์มีชื่อต่าง ๆ ตามที่ปรากฏในคัมภีร์วุตโตทัยมีถึง ๑๐๘ ฉันท์  แต่ไทยเราดัดแปลงเอามาใช้ไม่หมด  เลือกมาแต่เฉพาะที่เห็นว่าไพเราะ มีทำนองอ่านสละสลวย และเหมาะแก่การที่จะบรรจุคำในภาษาไทยได้ดีเท่านั้น

                ฉันท์ที่นิยมแต่งในภาษาไทยเป็นฉันท์วรรณพฤติ  ไม่นิยมแต่งฉันท์มาตราพฤติ เพราะจังหวะและทำนองที่อ่านในภาษาไทยไม่สู้จะไพเราะเหมือนฉันท์วรรณพฤติ  กวีโบราณมักนิยมแต่งฉันท์เพียง ๖ ฉันท์เท่านั้น ได้แก่ อินทรวิเชียรฉันท์ โตฎกฉันท์ วสันตดิลกฉันท์ มาลินีฉันท์ สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ และสัทธราฉันท์

        สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงมีบทบาททำให้ฉันท์แพร่หลายในคำประพันธ์ไทย  จากการที่ทรงริเริ่มบทพระนิพนธ์วรรณคดีประเภทฉันท์ด้วยสรรพสิทธิ์คำฉันท์  กฤษณาสอนน้องคำฉันท์  แล้วยังทรงนิพนธ์สมุทรโฆษคำฉันท์เป็นที่ยกย่องของกวีรุ่นหลัง  จนวรรณคดีสโมสรยกย่องให้เป็นยอดวรรณคดีประเภทฉันท์  ทรงพระนิพนธ์ตำราฉันท์ทั้งวรรณพฤติและมาตราพฤติไว้เป็นแบบอย่างของฉันท์ไทยอีกด้วย   ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทละครพูดคำฉันท์ เรื่อง มัทนะพาธา  และยังมีฉันท์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นคำฉันท์ชั้นครู ๒ เรื่อง คือ อิลราชคำฉันท์ ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน  สาลักษณ์) และสามัคคีเภทคำฉันท์ ของ นายชิต  บุรทัต

     ปัจจุบันการเขียนฉันท์เป็นเรื่องยาว ๆ เริ่มหมดไป  แต่นิยมเขียนสั้น ๆ เฉพาะในโอกาสสำคัญ ๆ มีผู้สนใจประดิษฐ์ฉันท์ใหม่ ๆ ขึ้น  เริ่มตั้งแต่สยามมณีฉันท์ ของ น.ม.ส.  เปษณนาทฉันท์กับมุทิงคนาทฉันท์ ของนายสุภร  ผลชีวิน  และชิต  บุรทัต ฉันท์ ของนายเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์

ลักษณะข้อบังคับของฉันท์

ฉันท์เป็นคำประพันธ์ที่บังคับเสียงหนัก (ครุ) เสียงเบา (ลหุ) โดยกำหนดคำครุลหุไว้ตามบัญญัติแต่ละชนิดของฉันท์

คำลหุ 

๑)     เป็นคำที่ประสมด้วยสระเสียงสั้น (รัสสระ) ในมาตราแม่ ก กา เช่น มะระ 

ธุระ เลอะเทอะ เกะกะ ฯลฯ

๒)    คำที่ใช้พยัญชนะตัวเดียวในลักษณะเสียงเบา เช่น ธ ณ บ ก็ ฯลฯ

คำครุ

๑)       เป็นคำที่ประสมด้วยสระเสียงยาว (ทีฆสระ) ในมาตราแม่ ก กา เช่น ครู ใจ ดี ฯลฯ

๒)     คำที่มีมาตราตัวสะกดทั้ง ๘ มาตรา รักชาติ ศาสน์ พุทธ ญาติ ฯลฯ

๓)      คำที่ประสมด้วยสระเกิน (อำ ไอ ใอ เอา) เช่น จำ ใจ ไป เข้า ฯลฯ

ข้อสังเกต  ในบางกรณี อำ ไอ ใอ เอา อาจใช้เป็นคำครุหรือลหุก็ได้

หมายเลขบันทึก: 404867เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2010 12:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:54 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พระมหาวินัยน์ วินยัฏฐถิรวันเตย์

เรื่องราวที่จารึคสวยงามความหมายดีงามมากๆฮะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท