หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

สุขแท้ด้วยวิถีละคร


 

            นาผืนใหญ่นั้นอาจจะมองไปไกลจนสุดตาหากไม่สะดุดกับหย่อมย่อม ๆ ของแมกไม้ใหญ่น้อย ราวกับท้องทะเลที่มีเกาะเป็นส่วนประกอบของภาพที่งดงาม...

            ผืนดินไม่กี่ไร่ที่เป็นไข่แดงอยู่ท่ามกลางทุ่งนากว้างใหญ่นั้น อาคารหลายหลังดูเรียบง่ายแทรกตัวอยู่ท่ามกลางไม้ยืนต้นหลากหลายชนิด เลยแนวต้นไม้นั้นไปทุก ๆ ด้าน ก็จะเป็นนาผืนใหญ่ที่เป็นดังไข่ขาว

            ที่นี่เป็นที่อยู่ของพวกเขา บรรดาหนุ่มสาวหลายสิบชีวิตที่มีความมุ่งมั่นในดาวดวงเดียวกัน หลายคนละทิ้งเบื้องหลังของตนเองมาแสวงหาคำตอบให้ชีวิต หลายคนเลือกที่นี่เป็นคำตอบของชีวิตที่จะก้าวเดินไป บางคนตัดสินใจมาลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวเลี้ยงลูกเต้ากันที่นี่ ที่นี่คือชุมชนของเขา “คณะละครมรดกใหม่”

            สมาชิกชุมชน “คณะละครมรดกใหม่” หากอยู่กันครบถ้วนก็จะมีเกินกว่าครึ่งร้อย และวันนี้ที่เห็นบางตาก็เพราะว่าส่วนใหญ่ บ้างก็ออกไปเร่แสดงละครตามต่างจังหวัด บ้างก็ออกไปเผยแพร่ความรู้ศาสตร์แห่งละคร ทั้งในรูปแบบบรรยายและอบรมเชิงปฏิบัติการ บ้างก็ไปอบรมครูให้สอนนักเรียนแบบละคร ฯลฯ

            พวกเขามีครูคนเดียวกันคือ “ครูช่าง – ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง” ปรมาจารย์ด้านการละครของเมืองไทย ที่ร่วมอยู่ร่วมกินในชุมชนเดียวกันนี้

            “...เราต้องการสร้างวัฒนธรรมการดูละคร สร้างคนดูละครที่มีคุณภาพ ไม่เสพอะไรเพียงง่าย ๆ...”

            ภสุ เสือนาค กล่าวถึงที่มาของดาวดวงนั้น นั่นก็คือ “วัฒนธรรมการดูละคร”

          พวกเขาเชื่อว่า “วัฒนธรรมการดูละคร คือ วัฒนธรรมการแสวงหาความรู้ ไม่ใช่เพียงเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน ละครดี ๆ ดูแล้วจะได้ความรู้ ซึ่งก็คือการเรียนรู้ในรูปแบบหนึ่ง” 

            ความพยายามในการสร้างวัฒนธรรมการดูละครในระยะเกือบสิบปีที่ผ่านมายังไม่เห็นผลเท่าใดนัก พวกเขาพบว่าคนดูส่วนใหญ่ยังอยากจะดูแต่นักแสดงหน้าตาดี เสื้อผ้าเลิศหรูและฉากแสงสีเสียงตระการตา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเปลือกนอกเท่านั้น คนส่วนใหญ่ยังเข้าไปถึงเนื้อหาและสิ่งที่ละครจะบอกกล่าว

            พวกเขาสรุปบทเรียนได้ว่า สาเหตุหนึ่งที่ขับเคลื่อนไปได้ไม่ไกลนัก เป็นเพราะว่า “คนดูไม่รู้เพราะคนดูไม่ใช่นักแสดง” และหากค่อย ๆ สร้างนักแสดงที่มาจากคนดู ก็น่าจะมีความหวังในการสร้างวัฒนธรรมการดูละครได้ เพราะเมื่อแสดงเป็นก็ดูละครเป็น

            “...เลยต้องปูรากฐานมาที่เยาวชน เพื่อสร้างให้เขาเป็นนักดูละคร การที่เราจะสร้างนักดูละครที่ดีที่สุดคือการสร้างให้เป็นนักแสดง เมื่อเขาดูละครมุมมองการดูละครของเขาจะเปลี่ยนไป เรียกง่าย ๆ ว่า จับเด็กเล่นมาเล่นละคร ซึ่งอาจจะไม่เน้นผลผลิตเท่าไร ให้เขาได้สัมผัสกระบวนการของละคร เมื่อกระจายไปเรื่อย ๆ เราก็จะมีนักดูละครเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มันน่าจะมีส่วนเปลี่ยนแปลงสังคมได้บ้าง...” 

            การทำค่ายละครของคณะละครมรดกใหม่ให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ จึงเป็นความพยายามที่จะขับเคลื่อนสร้าง “นักละคร” ที่จะก้าวเป็น “นักดูละคร” ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาพักใหญ่แล้ว ทั้งนี้เพื่อให้สามารถการดำเนินงานไปได้อย่างต่อเนื่อง การแสวงหาผู้สนับสนุนกิจกรรมเหล่านี้ก็เป็นภารกิจหนึ่ง ทีมงานคนหนึ่งของเขาจึงมีหน้าที่ในการระดมทุนมาสนับสนุนการทำงานจากแหล่งสนับสนุนทุนต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ชุดโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา ของ เครือข่ายพุทธิกา และสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ให้การสนับสนุนทุนดำเนินงาน “โครงการค้นหาสุขแท้ในตนเองด้วยวิถีละคร”

            ค่าย “การค้นพบสุขแท้ในตนเองด้วยวิถีละคร” ใช้ระยะเวลาดำเนินการ ๔ คืน ๕ วัน กิจกรรมหลักของค่ายฯ คือ การทำความเข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงของศิลปะการละคร ตามหลักอริยสัจ ๔ รวมทั้งการฝึกขัดเกลาตนเองให้ลดความเห็นแก่ตัว ด้วยกระบวนการสร้างเรื่องแบบละคร นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมฝึกการพึ่งตนเองในการสร้างปัจจัย ๔ ได้แก่ การผลิตอาหารด้วยการปลูกผัก และ การสร้างบ้านดิน

            นักเรียนที่เข้าค่ายจำนวน ๔๔ คน จาก ๖ โรงเรียน ได้รับการฝึกฝนและขัดเกลาผ่านกระบวนการละคร ได้เรียนรู้เนื้อหาที่เป็นหลักการเกี่ยวกับละคร ทั้ง ความหมาย ที่มา คุณค่า และวิธีการสร้างละคร รวมทั้งยังมีโอกาสได้ฝึกหัดสร้างและแสดงละคร ในจำนวน ๔๔ คน นี้ ในสายตาของทีมงาน เห็นว่ามีนักเรียนอย่างน้อยโรงเรียนละ ๓ คน ที่มีความรู้ความเข้าใจในระดับที่เรียกได้ว่า
“ดูละครเป็น”

            “..เขาจะรู้ถึงละครถึงเนื้อใน ไม่ติดอยู่ที่รูปแบบ เขาจะแยกแยะได้ว่าละครเรื่องไหนมีเนื้อใน เรื่องไหนใม่มี เท่าที่เห็นจะมีนักเรียนที่เข้าใจถึงระดับนี้ในราวโรงเรียน ๓ คน...”

            ผลลัพธ์ประการหนึ่งที่โครงการไม่ได้ตั้งความคาดหวังไว้มากนักคือความเปลี่ยนแปลงในตัวเด็ก เนื่องจากคณะละครมรดกใหม่ส่วนใหญ่จะทำงานกับเด็กนักเรียนในชนบท ค่อนข้างมีฐานะยากจน ดูแลง่าย แต่นักเรียนที่มาเข้าค่ายฯ คราวนี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กในเมือง มีฐานะค่อนข้างดี อยู่ใกล้ชิดกับความเจริญ แสง สี เสียง แต่กระบวนการในค่ายฯ ก็สามารถหล่อหลอมเยาวชนเหล่านี้ได้ เป็นการตอกย้ำถึงแนวคิดเขาได้

            ภสุ เสือนาค กล่าวว่า

            “...ตอนแรกก็เป็นห่วงเหมือนกัน วันแรก ๆ ในค่ายฯ มีลักษณะตัวใครตัวมัน ไม่สนใจใคร นักเรียนต่างโรงเรียนเจอหน้ากันคราวแรกแทบจะตีกันด้วยซ้ำ แต่สิ้นสุดค่ายแล้วพวกเขาก็แนบแน่นกันมาก ในระหว่างค่ายก็มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน...”

            ผลผลิตประการสำคัญที่ได้จากค่ายฯ คือ การได้ละคร จำนวน ๖ เรื่องจากการทำกิจกรรมในค่ายฯ ซึ่งเกิดจากการคิดค้นและสร้างสรรค์กันเองจากเยาวชนที่เข้าค่ายฯ

            นอกจากนั้นหลังจากสิ้นสุดค่ายฯ นักเรียนจากทั้ง ๖ โรงเรียน ได้กลับไปขยายผลตั้งชมรมละครในโรงเรียนครบทุกแห่ง สามารถสร้างละครเป็นของชมรมเอง มีการแสดงให้นักเรียนในโรงเรียนได้ชมอีกด้วย

            ภสุ เสือนาค กล่าวถึง ผลที่โครงการได้รับว่า

            “...มีการนำไปขยายผลต่อในโรงเรียน เช่น มีการไปเพิ่มตัวละครเพิ่มขึ้นจากเดิม ๖ คน เป็น ๑๐ คน บางที่ก็ไปสร้างเรื่องใหม่ขึ้นมา...

            ...ที่โรงเรียนอยุธยานุสรณ์ ค่อนข้างโดดเด่น ถือเป็น Best practices ของโครงการก็ว่าได้ โรงเรียน สามารถตั้งเป็นชมรม นำเสนอกับผู้บริหารโรงเรียนจนให้การยอมรับ เมื่อโรงเรียนมีงานทั้งภายในและภายนอก ชมรมละครก็จะได้รับโอกาสให้ไปแสดง...

            ...เด็กกลุ่มนี้ค่อนข้างมีศักยภาพ เขามีโอกาสได้มาแสดงละครในเทศกาลละครกรุงเทพฯ และเทศกาลละครนานาชาติที่ จ.ปทุมธานี้ ด้วย...”


 

 

หมายเลขบันทึก: 404592เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2010 07:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นึกว่าถอดบทเรียนของ sha ใจต้มๆต่อมๆ อยู่เนี่ยะ

สวัสดีค่ะ

วันนี้เป็นอะไรหรือขึ้นบันทึกติด ๆ กันเลย ได้กำลังใจจากคนตัวน้อย ๆ ข้าง ๆใช่ไหม

 ภสุ เสือนาค...เป็นใครละ  ไม่ทราบเคยอ่านชื่อนี้มาจากที่ไหน  คุ้น ๆ นะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท