หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ศิลป์สร้างสุข


            ชายชาวบ้านคนหนึ่งยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ เมื่อผลงานตนเองปรากฏอยู่ในจอคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค ที่มีหลายคนรุมล้อมดูภาพที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า

            ภาพถ่ายจากกล้องดิจิตอลที่พวกเขาล้อมดูอยู่ในขณะนี้ เป็นฝีมือของเขาเอง หลังจากที่เขาผ่านการเข้าค่ายฯ เรียนรู้หลักการวิธีการถ่ายภาพเมื่อเกือบเดือนที่ผ่านมา และหลังจากนั้นผู้จัดค่ายฯ ได้ให้ยืมเขากล้องมาฝึกถ่ายภาพ จนกระทั่งภาพที่เขาถ่ายมาปรากฏอยู่ต่อหน้าผู้คนที่ได้ชมแล้วต่างก็ชื่นชมในฝีมือถารถ่ายภาพของเขา

            หากเขาคือคนชั้นกลาง ผู้คุ้นเคยกับเครื่องมืออิเลคทรอนิคและคุ้นชินกับภาษาอังกฤษ เรื่องราวนี้ก็คงไม่น่าสนใจเท่าใด แต่เจ้าของภาพถ่ายคนนั้นคือ ชายชาวบ้านที่จบเพียงประถมศึกษา ไม่รู้จักพยัญชนะภาษาอังกฤษแม้แต่ตัวเดียว ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยท้อแท้กับชีวิตอย่างรุนแรง ชีวิตเกือบจะจบสิ้นลงไปแล้วด้วย HIV ไม่เพียงไม่มั่นใจกับตัวเองเท่านั้น สำหรับเขานั้นครั้งหนึ่งเขาไม่เคยคิดว่าชีวิตตนเองมีคุณค่าอะไรเลย จนกระทั่ง...

            “ฝีมือระดับนี้เข้าค่ายฯ คราวหน้า ไปช่วยเป็นพี่เลี้ยงหน่อยนะ...”

            คำเชิญชวนของคุณหมอคนหนึ่งจาก ร.พ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ซึ่งเชิญเขาไปเข้าค่ายฯ เมื่อคราวก่อน และจะมีค่ายครั้งต่อไปในอีกราวหนึ่งเดือนข้างหน้า กิจกรรมหนึ่งในโครงการสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญาพัฒนาศักยภาพเครือข่ายและแกนนำผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายพุทธิกา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้ชุดโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา

            ภารดี ปลอดภัย เภสัชกรประจำ ร.พ.ท่าตูม คือผู้ประสานงานโครงการนั้น ซึ่งพื้นฐานของเธอชอบถ่ายภาพ รักงานศิลปะ รักธรรมชาติ และจากการเอาใจใส่และคลุกคลีอยู่กับการทำงานกับแกนนำและสมาชิกเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ทำให้พบขีดจำกัดของแกนนำ และเธอเองก็คิดว่าศักยภาพแกนนำเหล่านั้นสามารถพัฒนาได้ด้วยงานศิลปะ ซึ่งศิลปะน่าจะทำให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง หลังจากที่ทดลองดำเนินการด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ดังที่เธอเล่าว่า

            “...เราลองพาไปวัดดูแล้วนะไปทำกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาวัด เราก็รู้สึกว่าหลังจากนั้นเรากลับมาประเมิน เครือข่ายไม่อยากกลับไปอีก เครือข่ายบอกว่ารู้สึกว่ารู้สึกกับสายตาของคนที่เราไปทำรู้สึกสายตาเขาก็จะหันไปมองไปพูดกันเขาก็รู้สึกไม่อยากไปอีก ปัญหาก็คือมันก็มาจากความไม่มั่นใจในตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง....

            ...ผู้ติดเชื้อนี่มันมีผลกระทบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย จิตใจ สังคม ซึ่งพอมันโดนเข้ากับคนคนหนึ่งแล้วอะไรหลายอย่างมันก็เข้ามา มันค่อนข้างยากต่างจากโรคอื่น ๆ...

            ...ในระยะแรกเราพยายามพัฒนาศักยภาพแกนนำ อบรมอะไรต่าง ๆ เขาก็ยังไม่กล้าจะแสดงออก ไม่กล้าจะเปิดตัว เวลาอยากจะให้แกนนำลุกขึ้นมาทำอะไรซักอย่างหนึ่งเราก็ยังต้องเป็นพี่เลี้ยงให้ตลอดเวลา ทำมาซักระยะหนึ่งแล้วมันเหมือนไม่ได้อะไร ก็เลยมีแนวคิดใช้กระบวนการทางศิลปะมาลองดู อยากจะลองเปลี่ยน...”

            ความคิดของเธอได้รับการพิสูจน์หลังจากโครงการได้รับการสนับสนุนดังที่กล่าวมา เธอเล่าถึงค่ายฯ ว่า

            “...วันแรกก็เป็นสันทนาการบ้าง และเป็นเรื่องของกล้องซะเป็นส่วนใหญ่ พอวันที่สองหลวงพี่ตุ้ม (พระสันติพงษ์  ธรรมธำรง) มาวันนั้นจะเป็นของพี่ตุ้มทั้งวัน ช่วงสามวันหลังก็เช้าบ่ายก็จะเป็นเรื่องกล้องก็จะมีโจทย์ว่าให้ถ่ายอะไรแล้วแต่ทางวิทยากรจะกำหนดโจทย์...

            ...พอถ่ายเสร็จก็จะนำมาดู วิทยากรก็จะบอกให้คำแนะนำกลับไปกลับมา คนถ่ายภาพก็จะได้รับคำชื่นชมจากทั้งวิทยากรและในหมู่เพื่อน ให้กำลังใจกัน เป็นการกระตุ้นความรู้สึกว่าเออเขาก็ทำได้ อยากถ่าย เขาก็ถ่ายได้นะมันไม่เห็นจะยาก ถ่ายให้ภาพมันสวยงามออกมาได้...

            ...หลังจากนั้นก็เขาเริ่มถ่ายภาพเป็น เริ่มเห็นความสวยงามของภาพ ก็ให้ตั้งชื่อภาพและสื่อความรู้สึกกับภาพนั้นคืออะไร ให้เขาสื่อความสุขจากตัวเขาออกมา บางคนถ่ายภาพเขาจะตั้งชื่อสะท้อนถึงตัวเอง หลายคนดึงอะไรในตัวเขาออกมา เขาเห็นธรรมชาติที่เป็นจริงในชีวิตเขา มีธรรมชาติเป็นความสุขเหมือนกัน และมีความทุกข์เป็นธรรมชาติเหมือนกัน ก็เลยกลายเป็นความสะท้อนซึ่งให้ความเห็นอกเห็นใจกันซึ่งกันและกัน พอมองตัวเองแล้วเห็นความไม่แตกต่างจากคนอื่น เลยทำให้มีความสุขมากขึ้น...”

            แม้ในช่วงแรกในค่ายฯ เธอจะยังคงกังวล แต่เมื่อเวลาผ่านก็พบว่ามาถูกทาง สิ่งที่คาดหวังไว้ก็เป็นไปตามนั้น เธอเล่าว่า

            “...ตอนแรกก็ยังงง ๆ เพราะว่ามันเป็นเรื่องของเทคนิค และเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับเขา และเขาอาจจะยังไม่รู้ว่าเขาต้องการสื่ออะไร แต่สุดท้ายเมื่อสิ้นสุดกิจกรรมวันที่สอง วันที่สาม เขาจะรู้สึกว่าเขาเข้าใจธรรมชาติ ได้ไปอยู่ในที่สงบเขาก็จะรู้สึกดี...

            ...เขาก็จะได้เรียนรู้เรื่องกล้อง บางคนไม่เคยถ่ายภาพตัวเองเพราะไม่กล้า พอได้ถ่ายภาพตัวเอง ได้ถ่ายภาพได้มองตัวเองมันก็จะเป็นความสุข พอเราปริ้นภาพออกมาแล้วเราก็ชมภาพเขา เอาผลงานเขาออกมาให้เห็น มันเป็นผลงานของเขาเองที่ภาคภูมิใจ...”

            ความคิดของเธอได้รับการยืนยันจากผลงาน ที่สร้างความภาคภูมิใจและเชื่อมั่นในศักยภาพตนเองของชายคนนั้น มีทัศนคติที่ดีต่อการดำเนินชีวิตในภาวะที่ที่ร่างกายไม่ปกติอย่างมีความสุข ถูกต้องดีงามจากการเป็นผู้ให้และการทำความดีเพื่อส่วนรวม ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแกนนำเครือข่ายผู้ติดเชื้อ ที่เอาจริงเอาจังกับการช่วยเหลือเพื่อนผู้ติดเชื้อที่มารับบริการจากโรงพยาบาล

            “...เราเห็นภาพเขาเปลี่ยนไปจากเดิม จากที่เขาไม่มีความมั่นใจ เขามีความมั่นใจมากขึ้น ความรู้สึกเป็นอื่นของเขาลดน้อยลง พี่คนหนึ่งเมื่อก่อนเราประชุมกลุ่มฯ แกจะมาร่วมกับเราตลอด แกมาแต่แกก็ไม่เคยพูดอะไร พูดน้อยไม่กล้าถ่ายรูปด้วย พอได้หัดถ่ายภาพ ได้นำเสนอ ก็เริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น กล้าพูดกล้าแสดงออกมากขึ้น...”

            ภารดี เล่าถึงผลที่ได้รับ และเธอทิ้งท้ายว่า

            “...รูปแบบกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ใช้ก็คือศิลปะเราเลือกรูปก็เลยรู้ว่าศิลปะนี่มันถึงจิตใจ มันสื่อถึงคนได้เพราะมันไม่มีภาษา ไม่มีความแตกต่างเรื่องของระดับการศึกษา...

            ...ตอนแรกเรากลัวเรื่องกล้อง ตัวหนังสือเป็นภาษาอังกฤษ เราก็กังวลไปล่วงหน้าแต่สุดท้ายมันก็ได้เลยรู้สึกว่าเออศิลปะไม่ว่าจะแขนงไหนมันก็ทำให้คนรู้สึกความละเอียดอ่อนในตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง...”

 

หมายเลขบันทึก: 404495เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2010 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 13:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ศิลปะเป็นสากลนะครับ เข้าถึงจิตใจได้ทุกๆคน ภาษา ศาสนา มิใช่อุปสรรค..
  • ยังอยู่ที่ตากมั้ยครับ?
  • ขอบคุณประสบการณ์ดีๆครับ

การสร้างความมีคุณค่าของตัวเอง (self esteem) ของคนให้เพิ่มขึ้นเป็นบุญกุศลยิ่ง ขออนุโมทนาสาธุด้วยค่ะ...^_^

สวัสดีค่ะ

ดีใจเล็ก ๆ นะคะที่ทำให้คนมีความสุขได้  พรุ่งนี้จะจองตั๋วรอค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ที่ร่วมแลกเปลี่ยน

ปีที่แล้วได้จัดค่ายละครกับเด็กค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท