Re-accredit HA 2006(4)


ผู้เยี่ยมสำรวจถือเป็นกัลยาณมิตรคือเป็นพวกเดียวกับโรงพยาบาลที่ถูกเยี่ยมสำรวจ โดยจะต้องค้นหาการพัฒนาและผลลัพธ์ให้ได้มากที่สุดเพื่อตอบให้กับคณะกรรมการพิจารณาอีกครั้ง การถามลงลึกในรายละเอียดจึงมีความสำคัญต่อการเก็บข้อมูล

               ในช่วงพักเที่ยงของวันที่ 21 กรกฎาคม ทางอาจารย์ผู้เยี่ยมสำรวจได้ใช้เวลานี้เป็นการพูดคุยกับองค์กรแพทย์ ซึ่งมีหมออัจ เป็นประธานและมีผม หมอเฟ็บและหมออ้อ บรรายกาศการพูดคุยดูเป็นกันเองมากจนน้องๆไม่เกร็ง เป็นการพูดคุยถึงบทบาทขององค์กรแพทย์ บทบาทของแพทย์ที่มีต่อการพัฒนาคุณภาพในโรงพยาบาล การสรางความเข้าใจร่วมกันของแพทย์กับผู้เยี่ยมสำรวจ พร้อมทั้งคำแนะนำต่อองค์กรแพทย์ ทำให้น้องๆได้เข้าใจถึงบทบาทของแพทย์ในการพัฒนาคุณภาพ ส่วนการตรวจสอบเวชระเบียนนั้นก็เป็นผลของการทำงานของแพทย์ชุดเดิมที่ย้ายและไปเรียนต่อหมดแล้ว เนื่องจากน้องๆชุดนี้เพิ่งมาทำงานได้ประมาณ 2 เดือนครึ่ง แต่เราก็พยายามที่จะถ่ายทอดวัฒนธรรมขององค์กรแพทย์ที่มีอยู่เดิมให้น้องๆด้วย

                ในช่วงบ่ายทีมเยี่ยมสำรวจขอพบกับทีมนำ ซึ่งก็คือคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล นั่นเอง ก็มีการพูดคุยสัมภาษณ์กันไม่มากนัก จะเป็นเรื่องของการนำองค์กรที่จะสื่อให้กับเจ้าหน้าที่ได้ทราบได้อย่างไรว่า เรามีเข้มมุ่งเป็นสร้างนำซ่อม ซึ่งเวลาถามเจ้าหน้าที่จะรุ้ว่าต้องสร้างนำซ่อม แต่พอถูกถามว่า สร้างอะไร ซ่อมอะไร จะตอบไม่ได้ อาจารย์จึงถามว่าจะใช้อะไรที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ทราบ ทีมงานก็เงียบกันไป แต่จริงๆแล้วในวันแรกก็ได้นำเสนอไปแล้ว ผมเองต้องช่วยตอบคือการใช้แนวคิดHospital based-Community based ที่เขียนเป็นรูปวงกลม 3 วงคือทีมในโรงพยาบาล ทีมในชุมชนและตัวชุมชนที่จะต้องสื่อสารข้อมูลถึงกันและกัน โดยมีตัวเชื่อมระหว่างทีมในดรงพยาบาลกับทีมในชุมชนคือทีมHome health care แต่ทีมนำส่วนใหญ่นึกไม่ออก ทำให้ผมเริ่มรุ้สึกว่า มีหลายประเด็นที่ผมสรุปแล้วนำออกไปบรรยายให้หน่วยงานข้างนอกฟัง แต่เล่าให้ทีมในโรงพยาบาลฟังน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะใส่ไว้ในวาระการประชุมคณะกรรมการบริหารอยู่แล้ว ซึ่งพอถูกถามก็จะนึกไม่ออกกัน ได้คุยกับพี่ตุ๊ก(ภิพาภรณ์ งานบริการสุขภาพชุมชน) บอกว่าฟังหมอเวลาไปบรรยายข้างนอก ดูจะเข้าใจง่ายกว่าเวลาหมอบรรยายข้างใน เหมือนกับหมอจะรุ้สึกว่าพวกเรารุ้แล้ว เลยไม่ยกตัวอย่างมาก(ทั้งๆที่บางทีก็ไม่รู้) ทำให้ผมได้คิดอะไรบางอย่างมากเหมือนกัน

              มีคำถามว่า ยุทธศาสตร์ที่วางไว้ 8 ยุทธศาสตร์นี้ มีอะไรบรรลุแล้วบ้าง ซึ่งคำถามนี้ทีมนำก็อึ้งไปเหมือนกัน ซึ่งหากมองย้อนให้ดีในแผนจะกำหนดไว้ชัดว่าในแต่ละยุทธศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์อะไรอยู่ และในแต่ละวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์นั้นมีตัวชี้วัดกำหนดไว้และกำหนดเป้าหมายไว้ 5 ปี ดังนั้นถ้านำสิ่งนี้มาตอบก็ได้แล้ว

             ในการนำองค์กรของโรงพยาบาลบ้านตาก มีการกำหนดเป้าหมายสูงสุดหรือความท้าทายเชิงกลยุทธ์ไว้ 3 ประการคือCEOหรือเจ้าหน้าที่มีความสุข ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โรงพยาบาลอยู่รอด โดยทั้ง 3 ประการนี้ก็มาจากวิสัยทัศน์ของโรงพยาบาลที่ว่า "สะอาดและสวย ดีพร้อมด้วยการบริการ พนักงานสามัคคี เป็นโรงพยาบาลที่ดีของชุมชน" ซึ่งจะเกี่ยวกับประชาชน เจ้าหน้าที่และโรงพยาบาล ทั้ง 3 ประการที่กำหนดไว้ โดยจะบรรลุสิ่งเหล่านี้ได้จะต้องทำบทบาทหน้าที่สำคัญที่ไม่ทำไม่ได้คือพันธกิจที่ว่า "ให้บริการแบบผสมผสานและองค์รวมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน" และกำหนดแนวทางให้บรรลุโดยเป็นยุทธศาสตร์ 8 ข้อคือคลินิกบริการดี ระบบบริการดี สุขภาพดี มีการประชาสัมพันธ์ สร้างสรรค์การตลาด สะอาดปลอดภัย บริหารโปร่งใส รวมใจเป็นหนึ่ง ซึ่งถามว่าสิ่งเหล่านี้สำเร็จหรือไม่ ก็ดูได้จากตัวชี้วัด โดยจะมีตัวชี้วัด 2 ประเภท คือเชิงปริมาณกับเชิงคุณภาพ ดังนี้

              1. เชิงปริมาณ ก็ดูอัตราตาย อัตราเกิดภาวะแทรกซ้อน สถานะสุขภาพ โรคหรือความเจ็บป่วยที่สามารถป้องกันได้ ความครอบคลุมของการบริการ กลุ่มประชาชนที่มาใช้บริการ อัตราการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการทำงานหรือสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล พฤติกรรมสุขภาพประชาชนที่ปรับเปลี่ยนไป บรรยากาศองค์กร อัตราความเครียด สถานะสุขภาพของเจ้าหน้าที่ การเข้าร่วมกิจกรรมของโรงพยาบาล เป็นต้น  ซึ่งดูง่ายๆจากตัวชี้วัดระดับโรงพยาบาลทั้ง 4 มิติของBSCและตัวชี้วัดของทีมคร่อมหน่วยงานกับงานต่างๆ แต่จะต้องแยกเอาเฉพาะตัวชี้วัดผลลัพธ์(Results)จริงๆ ไม่ใช่ตัวชี้วัดกระบวนการ(Process)

               2.  เชิงคุณภาพ ที่ต้องมีกลุ่มนี้อัลเบิร์ต ไอสไตน์เคยกล่าวไว้ชัดเจนมากว่า " ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญจะวัดได้ทุกสิ่ง และสิ่งที่วัดได้ทุกสิ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญทั้งหมด" ดังนั้นการวัดเชิงคุณภาพจึงมีความสำคัญเช่นกัน เช่น

               มีการทำงานแบบผสมผสานและองค์รวม เราเชื่อว่าเรามีอยู่ในระบบงานของเรา ยกตัวอย่างเช่นการดูแลคนไข้เด็กพิการที่เป็นปอดบวมที่เราดูแลทั้งร่างกายจากโรคปอดบวม จิตใจที่ทำให้พี่สาวที่สามารถสื่อสารกับตัวเขารุ้เรื่องได้มีเวลาดูแลเขาและได้เรียนหนังสือไปพร้อมกัน สังคมที่เราประสานกับประชาสงเคราะห์ อบต. สอ.ให้จัดหาทุนการศึกษา เงินค่ากินอยู่ในแต่ละเดือน รถจักรยานไปโรงเรียน เงินสงเคราะห์ตายายที่คอยดูแล การขอความร่วมมือจากชุมชนรอบๆบ้านช่วยกันดูแลและทางจิตวิญญาณ คือการให้พี่สาวคอยดูแลอย่างใกล้ชิดเพราะมีคนเดียวที่สื่อสารกับผู้ป่วยได้คือพี่สาวเท่านั้น

               การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายที่ให้ผู้ป่วยได้มีส่วนในการตัดสินใจเอง เช่นพระรูปหนึ่งเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย โรงพยาบาลใหญ่ให้กลับบ้าน แต่พอกลับไปก็รุ้สึกกังวล ไม่แน่ใจและมีอาการปวด มาขอนอนที่โรงพยาบาลบ้านตาก เราก็ให้นอนโดยการตัดสินใจของผู้ป่วยและญาติและให้นอนห้องพิเศษฟรีเพื่อให้มีความเป็นสัดส่วนของสงฆ์ อนุญาตให้นำพระพุทธรูปขนาดใหญ่มาไว้ในห้อง เปิดเทปธรรมะตลอดคืน ให้การดูแลเรื่องอาการเจ็บปวด การฟื้นฟูสภาพด้านร่างกายโดยนักกายภาพบำบัดแด้นจิตใจโดยพยาบาลจิตวิทยา

               มีการเสริมพลังให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย เช่นผู้ป่วยโรคจิตเภท มาโรงพยาบาลบ่ายอมากโดยที่ยายังไม่หมด และชอบมาขอนอนโรงพยาบาล ทางทีมงานได้ไปเยี่ยมบ้านก็พบว่าที่บ้านไม่มีใครช่วยดูแลผู้ป่วย บรรยากาศในครอบครัวไม่ดี ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีใครช่วยดูแลผู้ป่วยให้กินยาหรือหุงหาอาหาร ทำให้เรายินดีรับผู้ป่วยไว้นอนทุกครั้งที่ต้องการและขณะนอนโรงพยาบาล ก็มีการพูดคุยกับผู้ป่วยในสิ่งที่เขาอยากทำ ก็พบว่าชอบวาดรูป จหอผู้ป่วยจึงได้จัดอุปกรร์วาดรุปให้และให้นำมาติดบอร์ดเพื่อชื่นชม ทำให้ผู้ป่วยมีความสุขและอาการทางจิตใจดีขึ้น พร้อมกันนี้ได้ข้อมูลว่าผู้ป่วยเมื่อกลับบ้านจะไปขลุกอยู่ที่วัดข้างๆบ้านเพื่ออาศัยกินข้าวกับพระ และมีพระรูปหนึ่งที่เมตตาผู้ป่วย ทีมงานของเราจึงไปคุยกับพระรูปนั้นและขอความช่วยเหลือเรื่องการดูแลให้ผู้ป่วยกินยา หลังจากนั้นผู้ป่วยก็มาโรงพยาบาลน้อยลงและอาการทางจิตใจดีขึ้น

                 การเสริมพลังชุมชนในการดูแสขภาพของชุมชน เช่นการจัดกิจกรรมอาหารปลอดภัยโดยเทศบาลตำบลบ้านตากภายใต้การสนับสุนทางวิชาการจากเรา การจัดกิจกรรมอบรมผู้ดูแลผู้ป่วยอัมพาตโดยการสนับสนุนจากเทศบาล การแก้ไขไข้เลือดออกโดยการสนับสนุนจาก อบต.เป็นต้น

                 ในเรื่องเจ้าหน้าที่มีความสุข ก็ดูได้จากอัตราการโยกย้ายซึ่งเป็นเชิงปริมาณ แต่ดูเชิงคุณภาพได้จากการเสียสละให้แก่งานของโรงพยาบาลโดยไม่ต้องบังคับ การหมั่นพัฒนาตนเองทำให้สามารถช่วยงานของโรงพยาบาลได้เช่นลูกจ้างประจำที่พัฒนาตนเองจนเป็นผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ ลูกมือช่างสามารถซ่อมเครื่องมือแพทย์ได้เอง การรับมอบหมายงานโดยที่ไม่ได้มีการอบรมมาก่อนแต่ก็ขวนขวายจนงานประสบความสำเร็จเช่นงานสุขภาพจิต งานพยาบาลเด็กเล็ก อาชีวอนามัย เป็นต้น

                 หลังการพูดคุยกัน ทีมผู้เยี่ยมสำรวจ ถามว่าในความเห็นของทีมแล้วคิดว่าจะผ่านการประเมินไหม คิดว่าจะต้องทำอย่างไร จะให้ตัดสินไปตามข้อมูลที่ได้ หรือจะให้มาประเมินใหม่อีกครั้ง หรืออย่างไร ในความเห็นของทีมนำ ปรากฎว่าทีมนำเองบอกว่าจะขอให้พิจขารณาตัดสินใจเลยเพราะคิดว่าโรงพยาบาลบ้านตากน่าจะพัฒนาในระดับที่ผ่านการประเมินได้ อาจจะมีข้อมูลบางอย่างที่เราเขียนหรือตอบไม่ชัด แต่จะจัดส่งเอกสารเพิ่มเติมไปให้ เนื่องจากเราใช้เกณฑ์การประเมินใหม่ ทำให้ยังมองไม่ค่อยออกว่าควรจะนำเสนออะไร และที่สำคัญเชื่อมั่นว่า ตั้งแต่ผ่านการประเมินรอบที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ระบบคุณภาพของดรงพยาบาลบ้านตากยังคงอยู่ ซึ่งผมเองก็ไม่ได้ตอบอะไร เอายังไงก็เอากันเพราะลงเรือลำเดียวกันอยู่แล้ว ถ้าลูกทีมสู้ ผมก็พร้อมที่จะสู้ด้วย

                   ในการประเมินทั้ง 2 วันนี้ บรรยากาศดูเอาจริงเอาจังมาก สรางความเครียดให้กับทีมงานพอสมควร รวมทั้งผมด้วย(เพิ่งรุ้ว่าเครียดก็วันเสาร์เช้าที่ตื่นมาแล้วเหมือนคนหมดเรี่ยวหมดแรง(Exhause)ต้องนอนพักกลางวันหลายชั่วโมง เจ้าหน้าที่หลายคนก็ต้องไปนั่งรถกินลมชมวิวผ่อนคลายกัน แต่ในวันที่ 2นี้บรรยากาศไม่เครียดเหมือนวันแรก ในช่วงของExit conference ทางผู้เยี่ยมสำรวจได้สรุปประเด็นสำคัญที่พบให้ทมีบ้านตาก พร้อมคำแนะนำ และขวัญกำลังใจที่เป็นพลังในการพัมนาต่อไป บรรยากาศตอนนี้ดีมาก สนุกสาน ทุกคนหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส มีเสียงหัวเราะ อยู่เป็นพักๆ แสดงว่าหายเครียดกันแล้ว อาจารย์สมพรมีคำแนะนำที่ทำให้เห็นภาพได้ดีมาก จากคำพูดของอาจารย์ เช่นถ้าเอามาตรฐานใหม่ไปพูดกับคนที่ไม่ทำHAมาก่อนจะเข้าใจยากเหมือนกับสอนเพศศึกษาในเด็กสองขวบ หรือ เวลาจะทำคุณภาพต้องรุ้ว่าจะทำอะไร แค่ไหน อย่างไร ต้องมีสติก่อนStart  การทำHAนั้นให้เน้นที่สำคัญๆก่อน เอาที่เป็นปัญหารุนแรงที่อยู่ยอดภูเขาก่อน แล้วค่อยไปเก็บเกี่ยวโคนภูเขา ต้องรู้จักเรียงลำดับความสำคัญ และถ้าประเมินHAรอบแรก ต้องร้องคำว่า "อ๋อ" บ่อยๆ แต่ถ้าRe-accredit ต้องร้องคำว่า "เอ๊ะ" ทำไมอย่างนั้น ทำไมอย่างนี้ ผมก็เลยแซวว่า ต้องอ๋อ มาก่อน เอ๊ะ นะ เพราะถ้าเอ๊ะมาก่อนตามด้วยอ๋อ เกิดเอามารวมกันพูดเร็วๆมันจะกลายเป็น เอ๋อ ไป ก็เรียกเสียงหัวเราะได้พอสมควร และอาจารย์ก็ฝากไว้อีกประโยคว่า ตนเตือนตนไม่ได้แล้วใครจะเตือน

               ก่อนจบอาจารย์ก็ได้ฝากให้พวกเรารักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี ก่อนที่จะมีการัดสินว่าผ่านหรือไม่ผ่าน อย่าให้โด่งดังลงข่าวหน้าหนึ่งไปเสียก่อน จะทำให้การประเมินต้องล่าช้าออกไปเพราะต้องมาเยี่ยมใหม่อีกรอบ

               โดยสรุป ผมต้องขอชื่นชมกับอาจารย์หมอสมพร อาจารย์พัทะธีรา อาจารย์โกเมธ ที่มาเป็นกัลยาณมิตรจริงๆ ทั้งช่วยชี้แนะ ขุดคุ้ย กระตุ้น(กดดันนิดๆ) เพื่อดึงเอาสิ่งที่พวกเราทำออกมาให้ได้ ทั้งนี้กัลยาณมิตรนั้นไม่ได้หมายถึงต้องชมอย่างเดียว ต้องเอาใจเพื่อนอย่างเดียว แต่สามารถและกล้าชี้แนะเมื่อเราทำผิดพลาดได้ด้วย กล้าตำหนิ กล้าชี้แนะ ไม่ใช่แค่ทำให้ถูกใจอย่างเดียว ใมส่วนที่พวกเราเครียดกันนั้นก็เป็นธรรมดา เหมือนเวลาเรียนหนังสือปกติก็ไม่เครียด แต่เวลาสอบจะเครียดทั้งๆที่ก็ครูคนเดียวกัน ห้องเรียนห้องเดิมนั่นแหละ

                 ขอบคุณอาจารย์หมออนุวัฒน์ที่ส่งผู้เยี่ยมสำรวจที่เยี่ยมยุทธ์  ที่มีใจที่เปิดกว้าง และเป็นกัลยาณมิตรที่ดีมาให้เราครับ 

คำสำคัญ (Tags): #kmกับคุณภาพ
หมายเลขบันทึก: 40447เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2006 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรียนท่านอาจารย์หมอพิเชฐ

 ยินดีด้วยครับที่การกดดัน ผ่านไปเรียบร้อย

 อาจารย์คงนำ How to มา เล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นประโยชน์ ต่อท่านอื่นๆนะครับ ทำอย่างไรถึง "พัฒนา"ผ่าน HA อย่างยั่งยืน ท่ามกลาง การพัฒนาคุณภาพหลายๆกระแส เล่มม่วง,PMQA,กพร อื่นๆมากมาย

  • ขอยืนยันอีกครั้งว่าขอให้บ้านตากผ่านการรับรองคุณภาพนะคะ
  • ติดตามอ่านบันทึกนับตั้งแต่วันที่พรพ.มาตรวจ ทางบำราศเราจะขออนุญาตนำตัวอย่างของบ้านตากไปเป็นบทเรียนเพื่อการ Re-Accredit บ้างนะคะ

เรียนอาจารย์JJ

              ขอบคุณมากครับ พยายามกลั่นกรองอยู่ครับ หากทำได้จะเขียนมาลงเผยแพร่ครับ

เรียนคุณศุภลักษณ์

               ขอบคุณมากครับสำหรับกำลังใจและคำอวยพรให้ผ่านประเมิน และหากเนื้อหาในบันทึกมีประโยชน์ก็ยินดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท