วันพิพิธภัณฑ์ไทย


วันสำคัญอีกวันหนึ่งที่คนไทยควรรู้

เพื่อนๆ ทราบไหมค่ะว่า  วันพิพิธภัณฑ์ไทย  คือ  วันไหน  และวันนี้มีความสำคัญอย่างไร 

               พวกเราชาวพิพิธภัณฑ์จะเล่าให้เพื่อนๆ ฟังค่ะ  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538  เป็นต้นมา  รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่  19  กันยายน  ของทุกปี  เป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย   เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  5  ซึ่งโปรดเกล้าฯ  ให้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานขึ้นที่ศาลาสหทัยสมาคม  ในพระบรมมหาราชวัง  และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมเป็นครั้งแรกในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อปี  พ.ศ. 2417  จากนั้นจึงเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ทุกปี

               วันนี้จึงถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของประเทศไทย  พิพิธภัณฑสถานต่างๆ ได้มีการจัดกิจกรรมมากมายในวันนี้ค่ะ  สำหรับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  ชุมพร  จัดให้เข้าชมฟรีในวันนี้  แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าปีวันพิพิธภัณฑ์ไทยตรงกับวันจันทร์  ซึ่งเป็นหยุดของพิพิธภัณฑ์ (พิพิธภัณฑ์ฯ  ชุมพร เปิดให้บริการวันพุธ - อาทิตย์  ปิดวันจันทร์  และวันอังคาร) ถ้าเพื่อนๆ คนไหนสนใจอยากทราบความเป็นมาอย่างละเอียดสามารถเข้ามาค้นคว้าข้อมูลที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  ชุมพร ได้ค่ะ พวกเรายินดีต้อนรับเสมอค่ะ

หมายเลขบันทึก: 4042เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2005 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
ขอให้ช่วยดูข้อมูล

ประวัติวันพิพิธภัณฑ์ไทย   คือวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   ทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานให้ประชาชนเข้าชม ในวันที่  ๑๙  กันยายน  ๒๔๑๗  ณ  หอคองคอเดีย  อยู่ในพระบรมมหาราชวัง    ซึ่งพระกรุณาโปรดเกล้าจัดทำเป็นพิพิธภัณฑสถาน     กรมศิลปากรถือว่าวันที่  ๑๙  กันยายน ของทุกปี เป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย

ขอให้ช่วยดูข้อมูลในเรื่องของพ.ศ.ด้วยนะคะ 

 

ขอบคุณนะค่ะสำหรับความคิดเห็น  ทางพิพิธภัณฑ์ฯ ชุมพร  ต้องขออภัยนะคะที่มีการส่งข้อมูลเรื่องพ.ศ.ผิดพลาด  ที่ถูกคือ   พ.ศ.2417 
เดี๋ยวนี้  มีวันสำคัญต่างๆ เพิ่มขึ้นกันมากมายจนจำไม่หมด จะรู้ก็แต่ในแวดวงที่เกี่ยวข้องเท่านั้น  กิจกรรมของวันนั้นๆ ก็มาก  ถ้าเป็นไปได้   น่าจะจัดพิมพ์ปฏิทินบอกวันสำคัญเหล่านี้ขึ้นมาเผยแพร่  ก็จะดี
๑๙ กันยายน วันพิพิธภัณฑ์ไทย
เมื่อ ปีพ.ศ. ๒๔๐๒  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯให้สร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งขึ้นในพระบรมมหาราชวังและพระราชทานนามว่า   “ประพาสพิพิธภัณฑ์” เพื่อใช้เป็นที่จัดตั้งแสดงศิลปะโบราณวัตถุที่ทรงรวบรวมไว้  แต่มิได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม     โดยเรียกพิพิธภัณฑสถานในครั้งนั้นทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “มิวเซียม”  
ต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว    รัชกาลที่ ๕   ได้โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งมิวเซียมหลวงขึ้นที่หอคองคอเดีย  หรือศาลาสหทัยสมาคม ภายในพระบรมมหาราชวังชั้นนอกเพื่อจัดแสดงสิ่งของต่างๆ   และเปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นครั้งแรก   เนื่องในการเฉลิมพระชนมายุครบ ๒๑ พรรษา โดยมีพิธีเปิด เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๔๑๗   ดังนั้น จึงถือว่า  วันนี้เป็นวันกำเนิดกิจการพิพิธภัณฑ์สถาน   สำหรับประชาชนในประเทศไทยเป็นครั้งแรก    ซึ่งต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๓๘ คณะรัฐมนตรีก็ได้ประกาศให้วันนี้เป็น “วันพิพิธภัณฑ์ไทย”    
สำหรับ มิวเซียมหลวงที่หอคองคอเดีย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้จัดตั้งขึ้นนี้  ได้เปิดให้ประชาชนเข้าชมเฉพาะในการเฉลิมพระชนมพรรษาต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี จนถึงปีพ.ศ. ๒๔๓๐ พระองค์ได้ย้ายมิวเซียมหลวงจากพระบรมมหาราชวังไปจัดตั้งในพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า  ซึ่งมิวเซียมหลวงแห่งนี้ถือเป็นจุดกำเนิดพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกของไทย ซึ่งต่อมาก็คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครนั่นเอง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต พ.ศ.๒๕๔๒ ได้ให้ความหมาย “พิพิธภัณฑสถาน” ว่า สถานที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่างๆที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรมหรือด้านวิทยาศาสตร์   โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา และก่อให้เกิดความเพลิดเพลินใจ
อนึ่ง    พิพิธภัณฑสถานที่พบเห็นโดยทั่วไป  แบ่งได้   ๒   ลักษณะ   คือ
       ๑.แบ่งตามลักษณะของการบริหาร หรือผู้เป็นเจ้าของ/ผู้ดูแลอย่างหนึ่ง เช่น  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ   พิพิธภัณฑสถานมหาวิทยาลัย    พิพิธภัณฑสถานเอกชน  พิพิธภัณฑสถานเทศบาล     และพิพิธภัณฑสถานจังหวัด  เป็นต้น        
       ๒.แบ่งตามลักษณะของสิ่งที่รวบรวมไว้ หรือตามแขนงวิชา    เช่น  พิพิธภัณฑสถานวิทยาศาสตร์    พิพิธภัณฑสถานประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์เด็ก    และพิพิธภัณฑสถานศิลป  เป็นต้น
      ปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานที่มีอยู่หรือนิยมจัดตั้งทั่วไปจะมีหลากหลายชนิด  ยกตัวอย่าง เช่น
๑.พิพิธภัณฑสถานประเภททั่วไป หรือประเภทรวม ซึ่งเรียกว่า General Museum จะเป็นสถานที่เก็บรวบรวมวิชาการทุกแขนงทั้งศิลปะ โบราณคดี วิทยาศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา  ส่วนมากจะเป็นวัตถุที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม ได้แก่ ศิลปโบราณวัตถุ ของที่ระลึก  เครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์โบราณ ของหายาก ตลอดจนของใช้ต่างๆที่เก่าแก่เลิกใช้แล้ว ฯลฯ ซึ่งพิพิธภัณฑสถานแบบทั่วไปนี้มีอยู่ทั่วไปทั้งเอเซียและยุโรป รวมทั้งไทย  เช่น   พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร    พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์   เป็นต้น
๒.พิพิธภัณฑสถานศิลป (Museum of Arts)  จะหมายถึงพิพิธภัณฑสถานที่จัดแสดงศิลปวัตถุทุกประเภท  ทั้งประณีตศิลป   ศิลปะตกแต่งหรือศิลปประยุกต์  อาทิ
-พิพิธภัณฑสถานศิลปประยุกต์ (Applied Art) หรืออาจจะเรียกเป็นอย่างอื่น  เช่น พิพิธภัณฑสถานศิลปอุตสาหกรรม (Industrial Art ) พิพิธภัณฑสถานหัตถศิลป (Museum of Craft) ซึ่งเป็นที่จัดแสดงวัตถุที่เป็นงานฝีมือ เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ อันได้แก่ เครื่องเรือน เครื่องเงิน เช่น ที่ Victoria and Albert Museum ในกรุงลอน ประเทศอังกฤษ เป็นต้น
-หอศิลป (Art Gallery)หรือหอศิลปสมัยใหม่ (Museum of modern art)  เป็นที่จัดแสดงจิตรกรรม(ภาพเขียน) และประติมากรรมของศิลปินที่มีชื่อเสียงตั้งแต่โบราณเรื่อยมาถึงร่วมสมัย  เช่น  หอศิลปเจ้าฟ้า     พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทย ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑสถานศิลปประเภทการแสดง (Performing Art) อย่างละคร ภาพยนตร์ นาฏศิลป และการดนตรี  เช่น พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ที่วัดตะเคียน จ.ลพบุรี
๓.พิพิธภัณฑสถานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and technology) เป็นสถานที่จัดแสดงวิวัฒนาการความก้าวหน้าของวัตถุที่มนุษย์คิดค้นและประดิษฐ์ขึ้น เช่น ยานพาหนะ  โทรคมนาคม  และเรื่องราววิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ  เช่น พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของไทย ที่จังหวัดปทุมธานี  
๔.พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา   (Natural science)    จะจัดแสดงเรื่องของธรรมชาติเกี่ยวกับเรื่องของโลก ดิน หินแร่ มนุษย์ สัตว์และพืช    เป็นต้น  ซึ่งมักจะรวมไปถึงสวนสัตว์     สวนพฤกษชาติ  วนอุทยาน  และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำไว้ด้วย เช่น พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่บางแสน  พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ที่จ.กาฬสินธุ์และจ.ขอนแก่น  เป็นต้น
๕.พิพิธภัณฑสถานประวัติศาสตร์ จะจัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์แสดงชีวิต ความเป็นอยู่  หรือวัฒนธรรมและประเพณีพื้นเมือง  ซึ่งบางแห่งอาจจะรวบรวมและจัดแสดงทางประวัติศาสตร์ด้านการเมือง  การทหาร เศรษฐกิจ สังคม  เช่น พิพิธภัณฑ์สงครามโลก ครั้งที่  ๒ จ.กาญจนบุรี พิพิธภัณฑสถานสงครามเก้าทัพ เป็นต้น
นอกจากนั้น บางแห่งยังมีลักษณะเป็นบ้านประวัติศาสตร์ (Historic House) คือเป็นอาคาร สถานที่ที่มีความสำคัญทางประว้ติศาสตร์  จัดแสดงตามสภาพความเป็นจริง  เช่น   บ้านซอยสวนพลู  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช หรืออาจจะมีลักษณะเป็นโบราณสถาน อนุสาวรีย์ และสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม ซึ่งเปิดให้ประชาชนเข้าชม เช่น  ปราสาทหินพิมาย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย  ซึ่งในต่างประเทศยังมีพิพิธภัณฑสถานที่เป็นเมืองประวัติศาสตร์ คือเมืองที่สงวนไว้เป็นประวัติศาสตร์ทั้งเมือง เช่นเมือง Williamsberg ในสหรัฐฯ อันเป็นเมืองหลวงสมัยอเมริกาเป็นอาณานิคมอีกด้วย
๖.พิพิธภัณฑสถานชาติพันธุ์วิทยาและประเพณีพื้นเมือง (Museum of Ethnology and Folklore) เป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวชีวิต   ความเป็นอยู่ของมนุษย์ รวมถึงการจำแนกชาติพันธุ์ต่างๆ  เช่น  พิพิธภัณฑสถานพื้นบ้าน  (Folk Museum)   ที่เป็นสถานที่เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้พื้นเมือง หรือของใช้ของชาวบ้านสามัญชนในท้องถิ่นต่างๆในแต่ละสมัย อย่าง พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี  บูรณเขตต์  จ.พิษณุโลก  เป็นต้น
Dr. Douglas  A.  Allan   ได้เขียนบรรยายจำแนกหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ว่า ได้แก่  การรวบรวม  การตรวจพิสูจน์   การทำหลักฐาน    การสงวนรักษา   การจัดแสดง   การให้การศึกษา และหน้าที่ต่อประชาชน ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้เป็นหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ทุกชนิด ทุกประเภท ซึ่งยอมรับและปฏิบัติกันอยู่  จะแตกต่างกันแต่เพียงว่าพิพิธภัณฑ์ไหนจะเน้นหน้าที่ใดเป็นพิเศษเท่านั้น  นอกจากนี้  พิพิธภัณฑ์ยังควรจะเป็นศูนย์ชุมชน และบริการชุมชนซึ่งประกอบด้วยประชาชนทุกเพศ ทุกวัย  ทุกระดับการศึกษา   เป็นสถานที่ซึ่งให้ทั้งความรู้ และความสนุกเพลิดเพลินบันเทิงใจด้วย   ในอดีตที่ผ่านมา   ตามความคิดเห็นของคนทั่วไป มักจะเห็นว่าพิพิธภัณฑ์เป็นเพียงสถานที่เก็บของเก่าแก่ ที่ห่างไกลไปจากชีวิตประจำวัน และไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับตัวเขา ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะพิพิธภัณฑ์สมัยก่อนส่วนใหญ่จะมีลักษณะนิ่ง จัดแสดงสิ่งของอย่างเดียว ไม่มีกิจกรรมอื่นเสริมหรือสนองต่อความต้องการของสังคม    ทั้งๆที่ โดยความเป็นจริงพิพิธภัณฑ์ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง  ที่จะทำให้เราได้รู้จักรากเหง้าความเป็นมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันทั้งของตน ชุมชน ท้องถิ่น รวมไปถึงประเทศชาติ ซึ่งการเรียนรู้ และศึกษาอดีตจะทำให้เรารู้เท่าทันสภาพความมา เป็นไปที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน และสามารถวางแผนในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น  อย่างไรก็ดี ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์หลายแห่งได้พัฒนารูปแบบและมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการนำเสนอ  อีกทั้งมีกิจกรรมเชิงรุกทำให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิตชีวา และน่าสนใจยิ่งขึ้น  
สำหรับในบ้านเรา นอกเหนือไปจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่มีอยู่ทั่วประเทศสังกัดกรมศิลปากรที่มีหน้าที่โดยตรงในเรื่องนี้แล้ว  ยังหน่วยงานอื่นๆทั้งภาครัฐ  และเอกชนต่างก็ได้จัดทำพิพิธภัณฑ์ทั้งในแบบทั่วไป และเฉพาะอย่างทั้งในระบบและนอกระบบกระจายอยู่ทุกภูมิภาค  โดยอาจจะเรียกชื่อต่างๆกันไป  เช่น ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มี หออัครศิลปิน ซึ่งเป็นที่รวบรวมพระราชประวัติและผลงานด้านศิลปะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและศิลปินแห่งชาติทุกสาขา   มีหอไทยนิทัศน์   จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับชนชาติไทยในแบบมัลติมีเดีย  มีหอวัฒนธรรมวิวัฒน์   จัดแสดงความเป็นมาของกระทรวงวัฒนธรรมตั้งแต่สมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม  หรือในส่วนภูมิภาคก็มีหอวัฒนธรรมนิทัศน์   ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดที่เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น   ส่วนพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย พิพิธภัณฑ์ชาวนาไทย  และพิพิธภัณฑ์ตามวัดต่างๆ ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ในบ้านเราที่จัดทำโดยเอกชนและชุมชนในท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะของตน
ปัจจุบัน  เรามีพิพิธภัณฑ์เพิ่มขึ้นมากมายและหลากหลายรูปแบบ  อีกทั้งยังมี“วันพิพิธภัณฑ์ไทย” อันวันรำลึกว่าเรามีพิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชนเป็นครั้งแรก  ซึ่งสิ่งนี้น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีของการเริ่มต้นเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้  โดยเฉพาะควรถือเป็นภารกิจที่สำคัญของพิพิธภัณฑ์ทั้งหลายที่จะทำหน้าที่เป็น “แหล่งเรียนรู้ที่สร้างปัญญา”แก่เยาวชน ประชาชนและชุมชนของตนได้อย่างแท้จริง ดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า
“...ต้องพยายามแนะนำชักจูงคนทั่วไปให้ทราบถึงกิจการ บริการ รวมทั้งประโยชน์ที่พึงจะได้รับจากพิพิธภัณฑสถาน เมื่อประชาชนได้รู้จัก ได้ใช้ และได้รับประโยชน์จากพิพิธภัณฑสถานโดยกว้างขวางแล้ว จะนับว่าเกิดประโยชน์แก่การศึกษาค้นคว้าอย่างแท้จริง..."
อมรรัตน์ เทพกำปนาท   ประชาสัมพันธ์ สวช. กระทรวงวัฒนธรรม
เรียบเรียงบางส่วนจากหนังสือ พิพิธภัณฑสถานวิทยา          โดยจิรา จงกล

ส่วนวันพิพิธภัณฑ์สากล ตรงกับวันที่ 18 พฤษภาคมของทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 1977 เป็นต้นมา

หากประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน  ตระหนักในความสำคัญของวันพิพิธภัณฑ์ไทยนี้แล้ว เขาจะมีส่วนร่วมในวันพิพิธภัณฑ์ไทยนี้ได้อย่างไรบ้าง

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นและข้อมูลที่เป็นประโยชน์นะคะ
ในวันพิพิธภัณฑ์ไทยพิพิธภัณฑสถานต่างๆ ทั่วประเทศจะมีการจัดกิจกรรมในหลายรูปแบบ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน  อาจจะออกมาในรูปของนิทรรศการพิเศษหรือการจัดเสวนาหัวข้อทางวิชาการต่างๆ ค่ะ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ที่พิพิธภัณฑสถานที่จัดกิจกรรมค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท