ครู กศน. กับ การเข้าถึงชุมชนและการจัดทำฐานข้อมูลชุมชน


ครู กศน.ตำบล ครูของชุมชน

 

          การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพในชุมชนนั้นมาจากการวางแผนที่ใช้ข้อมูลชุมชนที่เป็นจริงและเพียงพอ   ดังนั้นการที่จะได้ข้อมูลชุมชนที่เป็นจริงและเพียงพอต่อการวางแผนจัดกิจกรรมการเรียนรู้นั้น ครู กศน.จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการ 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ

(1)    การเข้าถึงชุมชน ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่หมายถึงว่า เดินเข้าไปดูเพื่อให้รู้จักชุมชนว่า มีอะไรบ้าง  มีหน้าตาเป็นอย่างไร อยู่ตรงไหนเท่านั้น ยังหมายรวมถึง “การเข้าไปทำความรู้จักคุ้นเคยกับคนในชุมชนด้วย” เพื่อให้เกิดความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากคนในชุมชน เวลาดำเนินงานกิจกรรมการเรียนรู้ใดๆในชุมชน ก็จะเป็นไปด้วยความสะดวก ในทางตรงกันข้าม ถ้าการเข้าถึงชุมชนไม่ดีพอแล้ว งานต่างๆที่ทำในชุมชนอาจจะไม่ได้รับความร่วมมือ กลายเป็น ครู กศน.ทำฝ่ายเดียวโดยมีคนในชุมชนเป็นผู้ดู  หรือที่ร้ายแรงไปกว่านั้นอาจถูกต่อต้านด้วยซ้ำไป

(2)    การจัดทำฐานข้อมูลชุมชน หมายถึง การสำรวจ รวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์แยกแยะจำแนกเป็นหมวดหมู่ จัดเก็บไว้ในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่ายและเรียกใช้ได้อย่างรวดเร็ว  คำว่า“ฐานข้อมูลชุมชน” ฟังดูเหมือนเป็นโปรแกรม เช่น โปรแกรม LC base เป็นต้น

          การจัดทำฐานข้อมูลชุมชน ก็คือ การศึกษาชุมชนและวิจัยชุมชน นั่นเอง โดยใช้เครื่องมือต่างๆเก็บรวบรวมข้อมูลต่างทุกด้านในชุมชน ได้แก่ ด้านสภาพภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ชุมชน ด้านการปกครอง ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสาธารณสุข ด้านการเกษตร และที่สำคัญคือ ด้านปัญหาของชุมชน นั่นเอง

          การสำรวจและรวบรวมข้อมูลชุมชนทั่วไปนั้น อาจจัดทำแบบเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยที่แบบเชิงปริมาณนั้นต้องใช้แบบสำรวจชุมชน หรือแบบสัมภาษณ์รายครัวเรือน หรือรายบุคคล ส่วนเชิงคุณภาพนั้น เขาบอกว่า “ครู กศน.”นั้นคือ”เครื่องมือ”จัดเก็บข้อมูล โดยไปสัมภาษณ์ สอบถาม พบปะพูดคุยกับชาวบ้านก็จะได้ข้อมูลต่างๆมากมายและเขียนบันทึกไว้เป็นเรื่องๆ

          การสำรวจและรวบรวมข้อมูลเจาะลึกเฉพาะด้านหรือประเด็นที่ต้องการศึกษา เช่น ต้องการเจาะลึกข้อมูลกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มในชุมชน ด้านเด็กและเยาวชนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การเจาะลึกด้านผู้สูงอายุ การเจาะลึกด้านกลุ่มอาชีพ เป็นต้น การจัดเก็บและรวบรวมข้อมูล ก็จะเจาะลึกกับตัวบุคคลเรื่องนั้นๆ

 

          สำหรับ กศน.อำเภอพระยืน ได้เน้นให้ครู กศน.ลงสู่พื้นที่ชุมชนมานานแล้ว และให้ฝังตัวทำงานในชุมชน จัดเก็บข้อมูลในรูปแบบ”นอนนาหาข้อมูล” จัดเก็บเป็นเอกสาร และจัดทำเป็น เว็บไซต์ฐานข้อมูลชุมชน (ชมเว็บไซต์ฐานข้อมูลชุมชนบ้านดงกลาง ที่ http://202.143.137.103/dongklang/ )ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการทำงานของครู กศน.เอง

          ขอฝาก ครู กศน.ทุกคน(โดยเฉพาะครู กศน.มัญจาคีรี)ครับ อยู่ในพื้นที่อย่างจริงจัง ร่วมสร้างสรรค์งาน กศน.ในพื้นที่ และนำข้อมูลต่างๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ผ่านเว็บบล็อกแห่งนี้ ซึ่งเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ดีสำหรับคน กศน.ของเราครับ

หมายเลขบันทึก: 403949เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2010 07:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท