มหัศจรรย์แห่งความเป็นสยาม


ครูผู้อุทิศและทุ่มเทด้านวัฒนธรรมไทย ผู้เป็นตำนานแห่งนครลำปาง ที่เหล่าลูกหลานจะเล่าขานถึงท่านตลอดกาล
มหัศจรรย์แห่งความเป็นสยามประเทศ ณ อาณาเขตนครลำปาง
 
    เมื่อประมาณ เดือนมกราคม 2548 ในขณะที่ผมยังอยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดี รับผิดชอบด้านกิจการนิสิต และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมศิลปป้องกันตัวและอาวุธไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่นั้น ผมได้มีโอกาสได้เดินทางไปที่จำหวัดลำปาง เพื่อจัดกิจกรรม สืบศาสตร์สู่ศิลป์ เยือนถิ่นโยนก ในระหว่างวันที่  11 – 16 มกราคม 2548  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นิสิตและผู้เข้าร่วมโครงการได้มีการแลกเปลี่ยน ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย และเป็นการปลูกฝังค่านิยม ความภูมิใจในความเป็นไทย  อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมคติธรรมในการดำเนินชีวิตและปลูกฝังให้เยาวชนไทย ห่างไกลยาเสพติดตลอดจนอบายมุขต่างๆ ก่อให้เกิดจิตสำนึกที่ดีแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ ในกิจกรรมดังกล่าวผมและบรรดา ลูกศิษย์ ต่างก็ได้มีโอกาสได้พบกับผู้ที่เมตตา ให้การสนับสนุนในกิจกรรมครั้งนี้เป็นอย่างดียิ่ง พอจะเอ่ยนามและตำแหน่งต่างๆ ของท่านในขณะนั้นได้ดังนี้
  • พระเทพมงคลมุนี เจ้าคณะจังหวัดลำปาง วัดน้ำล้อม ประธานฝ่ายสงฆ์
  • พระสุนทรมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดลำปาง  เจ้าสำนักเรียนแม่อักขระ วัดบุญวาทย์วิหาร
  • พระจินดารัตนาภรณ์ รองเจ้าคณะจังหวัดลำปาง วัดพระเจดีย์ซาวหลัง สำนักค่ายกลองปูชา
  • คุณอมรทัต  นิรัติศยกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
  • คุณเฉลิมพล ประทีปวณิช อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
  • คุณไพฑูรย์ รัตน์เลิศลบ  ผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง
  • คุณชูยศ สุธารัตนชัยพร ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและบริหารเหมืองฯ กฟผ.แม่เมาะ
  • อาจารย์วีรยุทธ จงสถาพรพงศ์  ผู้อำนวยการโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย
  • อาจารย์ณัฐพร สำเนียง  ผู้ช่วยนาฎศิลป์ในสำนักจุมสะหรีวัดกู่คำ
  • อาจารย์อัญชลี บุญทรัพย์ ผู้ช่วยนาฎศิลป์ในสำนักจุมสะหรีวัดกู่คำ
  • อาจารย์มณิตา เขียวอ่อน เลขานุการสภาวัฒนธรรม
  • เจ้าราษี ณ ลำปาง ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์ จังหวัดลำปาง
  • อาจารย์นงนุช  ป่าเขียว นักวิชาการ 7ว สนง.วธ.จังหวัดลำปาง
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์เล็ก  แสงมีอานุภาพ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ประธานศูนย์วธ.จังหวัดลำปาง
  • ดร.อุดมศักดิ์  ศักดิ์มั่นวงศ์ ประธานสภาวัฒนธรรม จังหวัดลำปาง
  • อาจารย์สกล  ไหมสาสน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนแม่เมาะวิทยา
  • อาจารย์วิรยา  ดวงประภา อาจารย์โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย  จังหวัดลำปาง
  • อาจารย์ปวีณา ชุ่มเบี้ย อาจารย์โรงเรียนแม่เมาะวิทยา  จังหวัดลำปาง
  • อาจารย์จุฬารัตน์  โพธิทอง อาจารย์นาฏศิลป์ฝ่ายเวที โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย  จังหวัดลำปาง
  • อาจารย์ศิริวรรณ  ชมภูแก้ว อาจารย์นาฏศิลป์ฝ่ายเวที โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย  จังหวัดลำปาง
    และที่สำคัญที่สุด คือ อาจารย์ศักดิ์ สักเสริญ รัตนชัย ปูชนียบุคคล ที่นับถือยิ่งของนครลำปาง

เมื่อกล่าวถึงอาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย ทำให้ผมย้อนระลึกถึงเมื่อคราวที่ได้ไปกราบคารวะท่านเพื่อขอศึกษาการเขียน อักขระ ตัวอักษรธรรม คำเมือง ซึ่งถือว่าเป็นการย้อนศึกษาถึงมรดกทางภาษาที่แสดงถึงความเป็นชาติของเรา ตั้งแต่สมัยบรรพกาล ทำให้พวกเราทุกคนได้ภาคภูมิใจในความเป็นอัจฉริยะของบรรพชนที่ได้สร้างตัว อักษรไทย เพื่อถ่ายทอดมรดกทางปัญญาไว้ให้กับลูกหลานถึงรุ่นปัจจุบัน ดังจะหาศึกษาได้จากบันทึกใบลานในวัดต่างๆ ที่มีตำราจารไว้บนใบลาน ที่เป็นประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นยาโบราณ หรือประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ เพื่อที่เราจะได้เข้าใจรากฐานของตัวเราเอง ผ่านการศึกษาจากอดีต อาจารย์ศักดิ์ เป็นผู้ที่เปิดโลกทางความคิด และจิตวิญญานในการรักความเป็นไทยให้กับพวกเราทุกคนอย่างแยบยลและได้ผลอย่างยอดเยี่ยม

เนื่องจากพวกเราอยู่ที่ชมรมศิลปป้องกันตัว เดิมทีเราได้ศึกษามวยไทย(ไชยา) และกระบี่กระบองกันเป็นเวลาพอสมควร ทุกคนล้วนแต่มีใจอยากจะค้นคว้าศึกษาศิลปะการต่อสู้ของทางภาคเหนือดูบ้าง และท่านอาจารย์ศักดิ์เอง ก็เป็นคนที่เปิดมุมมองใหม่ให้พวกเราทุกคน ได้เห็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย ที่ซ่อนการอนุรักษ์มรดกด้านการต่อสู้ของทางเหนือเอาไว้ให้ลูกหลานที่เป็น เยาวชนที่จุมสะหรีวัดกู่คำ  โดยที่เด็กๆ เหล่านั้นไม่ได้รู้เลยว่า เขาโชคดีมากที่ได้มีโอกาสเรียนสุดยอดศิลปะการต่อสู้ของบรรพชน ผ่านลีลาของนาฏยศิลป์  อาจารย์ศักดิ์ได้สอนการเดินขุมเท้าให้พวกเราหลายท่า เช่น ขุมสี่ตอเจิง ขุมแปดเล่ แม่ขุมสิบหก มะผาบห้า แต่ละท่วงท่าใช้ในการเดินตีมวยเข้าหากัน ซึ่งทางเหนือเขาเรียกกันว่ามวยเมือง สำหรับคนที่ไม่เคยเรียนด้านการต่อสู้ที่เป็นท่าย่างสามขุมมาก่อน เมื่อเห็นท่าเดินขุมเท้าของอาจารย์ศักดิ์ ก็จะดูเหมือนกับท่านร่ายรำธรรมดา แต่สำหรับผมแล้ว ผมกลับเห็นวิธีการสอนการเดินย่างสามขุมในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่สอนให้เราเข้าใจลีลาตัว การวางน้ำหนักเท้า การพลิกเหลี่ยม การจรดมวย การก้าวฉาก การหมุนตัว และอื่นๆ อีกมากมาย ทีสามารถปรับใช้เป็นต่อสู้ป้องกันตัวได้ทั้งหมด เพียงแต่อาจารย์บอกว่า มวยเมืองของทางเหนือเขามีไว้รำ ไม่ได้เอาไว้ใช้ตีกันจริงๆ แต่ถ้าอาจารย์ชูพงศ์จะเอาไปปรับใช้ก็ไม่ว่าอะไร เพราะอาจารย์มีพื้นการต่อสู้อยู่แล้ว ผมรู้สึกถึงความเมตตาของอาจารย์ศักดิ์ ที่มีต่อพวกเราทุกคน ท่านเคยบอกว่า ท่านจะไม่สอนวิชาการฟันดาบหรือฟ้อนเจิงให้กับผู้ชาย เพราะวิชานี้มันร้อนและครูแรง เกรงจะไปใช้ในทางที่ไม่ดี ท่านจะสอนเฉพาะการเดินฟ้อนตีกลองปูชาสะบัดไชยเท่านั้น แต่สำหรับกลุ่มของพวกเราชาวจุฬาฯ ท่านก็ได้กรุณาใช้อุบายในการสอนให้โดยไม่ปิดบัง เพียงแต่ให้ถือกิ่งไม้แทนดาบแค่นั้นเอง

ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา นิสิตจุฬาฯ หลายต่อหลายรุ่น ต่างก็พยายามจะไปฝากตัวเป็นศิษย์ของอาจารย์ศักดิ์ เพื่อเรียนรู้และรับการถ่ายทอดความรักในมรดกของสยามประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอักษรธรรม การไปเยือนพื้นที่สิบสามจุดประวัติศาสตร์ ทุ่งบัวตอง ซากดึกดำบรรพ์ช้างสี่งา การตีกลองปูชาสะบัดไชย ฟ้อนเจิง และอื่นๆ อีกมากมาย ท่านอาจารย์ศักดิ์ มีอะไรดีๆ ในตัวท่านมากมาย เรียกว่าเมื่อใดก็ตามที่ท่านยังไม่หลับ ท่านก็จะมีเรื่องราวต่างๆ มาเล่าให้พวกเราฟังอย่างสนุกสนาน ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่ควรค่าแก่การเคารพบูชาอย่างยิ่ง ท่านทำทุกสิ่งเพื่อเป็นการเชื่อมต่อแนวความคิดจากอดีตสู่ลูกหลาน ท่านเป็นตำนานของปูชนียบุคคลแห่งนครลำปาง ที่พวกเราลูกหลานจะรำลึกถึงท่านตลอดกาล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชูพงศ์ ปัญจมะวัต

อดีต ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ( ตุลาคม 2547 ถึง มีนาคม 2551)

 อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมศิลปป้องกันตัวและอาวุธไทย ( พฤษภาคม 2537 ถึง ปัจจุบัน )

หมายเลขบันทึก: 403653เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2010 06:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 16:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท