การสังเกตตนเองและสิ่งแวดล้อม


การสังเกตที่ดี

การสังเกต

  1. การเฝ้าดูสิ่งที่เกิดขึ้น หรือปรากฏการณ์อย่างเอาใจใส่และกำหนดไว้อย่างมีระเบียบวิธี เพื่อวิเคราะห์ หรือ หาความสัมพันธ์ ของสิ่งที่เกิดขึ้น นั้นๆ กับบริบทรอบข้าง
  2. เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างหนึ่งซึ่งอาจต้อง อาศัยการฝึกฝนและประสบการณ์วิธีการสังเกตอย่างเป็นระบบ
  3. เพื่อเข้าใจลักษณะทางธรรมชาติ และขอบเขตของความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ของปรากฏการณ์ทางสังคมและพฤติกรรมของบุคคลที่เป็นสมาชิก


ข้อมูลพฤติกรรมที่ได้จากการสังเกต
    พฤติกรรมหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติวิสัย ได้แก่ พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันในสภาพปกติ สามารถสังเกตโดยการสุ่มเวลาและสุ่มสถานที่ในการสังเกตได้
พฤติกรรมหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบางครั้ง มีทั้งการกำหนดสถานการณ์ในการสังเกตเพื่อให้ทุกคนที่ถูกสังเกตแสดงพฤติกรรมภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน ทำให้สามารถควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนอื่นๆที่มีผลต่อพฤติกรรมของผู้ถูกสังเกตได้ แต่บางครั้งอาจไม่ได้กำหนดสถานการณ์ขึ้นเอง แต่มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นมาเองโดยไม่จงใจ ก็ได้

วิธีการสังเกต
    การสังเกตทางตรง เป็นการสังเกตโดยผู้ถูกสังเกตได้สัมผัสกับบุคคลหรือเหตุการณ์นั้นโดยตรง โดยใช้ตาดู หูฟัง กายสัมผัส โดยอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วยตนเอง โดยจะต้องมีประสาทสัมผัสและมีความรู้ในเรื่องที่สังเกตเป็นอย่างดี
    การสังเกตทางอ้อม เป็นการสังเกตที่ผู้สังเกตไม่ได้เฝ้าดูพฤติกรรมหรือเหตุการณ์นั้นด้วยตนเองแต่อาศัยถามจากผู้อื่นที่ได้สังเกตมา บางกรณีก็ทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องกว่าสังเกตเอง บางครั้งใช้การสังเกตจากเทปบันทึกภาพ (วีดีทัศน์) ก็ได้


หลักการสังเกตที่ดี

  1. กำหนดจุดมุ่งหมายของการสังเกตให้ชัดเจนว่าต้องการสังเกตใคร สังเกตอะไร สังเกตอย่างไร
  2. วางแผนขั้นตอนการสังเกตให้เป็นระบบ มีการเตรียมสถานการณ์ไว้ล่วงหน้าให้เรียบร้อยเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็นในการสังเกตให้พร้อม
  3. ศึกษาสถานการณ์ในช่วงเวลาที่จะสังเกตว่า ช่วงนั้น ผู้ถูกสังเกตกำลังทำอะไรอยู่ เพื่อจะได้วางแผนการสังเกตได้อย่างเหมาะสม
  4. สังเกตอย่างมีจุดมุ่งหมาย ทีละเรื่อง
  5. ไม่ควรรีบร้อนสังเกตพฤติกรรมในระยะสั้น ควรรอจนกว่ากิจกรรมที่ต้องการสังเกตสิ้นสุดลงเสียก่อน
  6. พฤติกรรมที่เกิดขึ้นเป็นปกติไม่ควรสังเกตเพียงครั้งเดียวเพราะอาจไม่ใช่พฤติกรรมที่แท้จริงก็ได้ ควรสังเกตหลายๆครั้งโดยการสุ่มเวลา และสุ่มสถานที่จะได้ผลแน่นอนกว่า
  7. ควรมีการบันทึกข้อมูลโดยเร็วที่สุด
  8. มีการตรวจสอบความเชื่อถือได้ของข้อมูลที่สังเกตได้ เช่น เปรียบเทียบผลการสังเกตกับบุคคลอื่น เปรียบเทียบผลจากการสังเกตหลายๆครั้ง


ลักษณะของผู้สังเกตที่ดี

  1. มีความรอบรู้ในเรื่องที่สังเกต ก่อนลงมือสังเกต ควรศึกษาจุดมุ่งหมายของการสังเกต ความรู้เกี่ยวกับบุคคลหรือปรากฏการณ์ที่จะสังเกต เข้าใจวิธีการสังเกตตลอดจนวิธีการบันทึกการสังเกตเป็นอย่างดี
  2. มีความตั้งใจในการสังเกต ควบคุมสมาธิให้จดจ่อกับเรื่องที่สังเกตได้ตลอดเวลา และต้องสังเกตทุกอย่างจนครบถ้วนอย่างถูกต้อง
  3. มีประสาทสัมผัสดี และร่างกายมีความพร้อมที่จะสังเกต
  4. มีความไวในการรับรู้ สามารถแปลและสื่อความหมายได้ถูกต้อง
  5. มีความเป็นกลาง ไม่ลำเอียงหรือมีอคติต่อบุคคลหรือพฤติกรรมที่สังเกตได้


ขั้นตอนในการสังเกต

  1. หาความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะไปสังเกตล่วงหน้า
  2. สร้างเครื่องมือสำหรับบันทึกข้อมูลที่ได้จากการสังเกต เรียกว่าแบบสังเกต
  3. นำแบบสังเกตที่สร้างแล้วไปให้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้น ๆ อย่างน้อย 3 ท่าน เพื่อตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา แล้วนำมาปรับปรุง
  4. นำแบบสังเกตที่ปรับปรุงแล้วไปทดลองใช้เพื่อตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือด้านความเที่ยง
  5. กำหนดวิธีการจะไปสังเกต เช่น การสุ่มเวลาและสุ่มเหตุการณ์


ข้อดีของการสังเกต

  1. ได้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลโดยตรง
  2. ไม่รบกวนหรือก่อความรำคาญให้แก่ผู้ถูกสังเกต เพราะการสังเกตที่ต้องไม่ให้ผู้ถูกสังเกตรู้ตัว
  3. ข้อมูลที่ได้จากการสังเกตมีความน่าเชื่อถือ เพราะรวบรวมมาจากสถานการณ์จริง
  4. ในกรณีที่เป็นการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม ผู้สังเกตสามารถบันทึกข้อมูลได้ทันท่วงทีในขณะที่กำลังสังเกต


ข้อจำกัดของการสังเกต

  1. ข้อมูลที่ได้จากการสังเกตขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความสามารถส่วนตัวของผู้สังเกตเป็นอย่างมาก
  2. การสังเกตไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง บางทีอาจต้องใช้วิธีการสังเกตทางอ้อม หรือการสัมภาษณ์แทน
  3. เสียเวลาในการรอคอยรวบรวมข้อมูล หรือในทางตรงกันข้ามบางครั้งเหตุการณ์ต่างๆที่ต้องการสังเกตเกิดขึ้นพร้อมๆกันจนไม่สามารถสังเกตได้ทั่วถึง
  4. พฤติกรรมบางอย่างยากแก่การเข้าใจ การตีความ อาจถูกหรือผิดก็ได้
  5. การสังเกตอาจขึ้นอยู่กับอารมณ์ในขณะที่สังเกต แรงจูงใจ ความสามารถ หรือความรู้สึกส่วนตัวต่อผู้ถูกสังเกต


ประเภทของการสังเกต

  1. การสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant Observation)
    ก. การสังเกตแบบมีส่วนร่วมโดยสมบูรณ์ (Complete Participant) ผู้สังเกตจะเข้าไปมีส่วนร่วมกิจกรรมต่างๆ อย่างเต็มที่
    ข. การมีส่วนร่วมในฐานะที่เป็นผู้สังเกต (Participant as Observer) ผู้สังเกตจะไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับงานวิจัย
    ค. การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วมโดยสมบูรณ์ (Observer as Participant) ผู้สังเกตใช้วิธีการสังเกตและสัมภาษณ์เป็นหลักโดยพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมให้น้อยที่สุด

    ประเภท ก. ปิดบังวัตถุประสงค์แท้จริงของตนเอง
    ประเภท ข. และ ค. อาจอึดอัดใจบทบาทที่ขัดแย้งกันระหว่างการเป็นผู้วิจัยและการเป็นผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรม

  2. การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม ( Non- participant Observation) เป็นการสังเกตที่ผู้วิจัยเฝ้าสังเกตอยู่วงนอก ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมกลุ่มที่ทำการศึกษา เป็นเพียงเฝ้าสังเกตพฤติกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เคยเป็น


การสังเกตแบบไม่มีเค้าโครงกำหนดล่วงหน้า (Unstructured Observation หรือSimple Observation)

  • ข้อดี คือ ทำให้ผู้สังเกตสามารถเก็บรายละเอียดในสถานการณ์ไว้ได้มากกว่าการที่มีการกำหนดเรื่องไว้แน่นอน และสามารถพัฒนาไปสู่การแยกประเภทและจัดหมวดหมู่ข้อมูล เพื่อกำหนดเค้าโครงของการสังเกตแบบมีเค้าโครงต่อไป
  • จุดอ่อน คือ ผู้วิจัยเข้าไปมีส่วนร่วมในสถานการณ์โดยไม่มีการกำหนดเรื่องไว้แน่นอน หรือกำหนดปัญหาเฉพาะหน้าไว้ก่อน


การสังเกตแบบกำหนดเค้าโครงล่วงหน้า (Structured Observation หรือSystematic Observation)

  • ผู้สังเกตกำหนดเรื่องไว้เฉพาะว่าจะสังเกตเรื่องอะไร จะไม่สังเกตเหตุการณ์อื่นใดที่นอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้
  • เป็นการสังเกตที่ควบคุมสถานการณ์ของการสังเกตได้
  • วิธีการสังเกตแบบนี้จะมีการจัดแยกข้อมูลไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อสะดวกในการจดบันทึก


เครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการสังเกต
ระบบการจัดแยกประเภท (Category System) เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากที่สุดในการเปลี่ยนสถานการณ์สังคมในเชิงคุณภาพให้เป็นเชิงปริมาณ  มีการลงรหัสพฤติกรรมที่จัดแยกประเภท ตามระบบความคิดและวัตถุประสงค์ของผู้วิจัย


ตัวอย่างการสังเกตโดยการแยกประเภทพฤติกรรม
1. การแสดงความเป็นมิตร
2. การแสดงอาการผ่อนคลาย
3. การเห็นด้วย
4. การให้ข้อเสนอแนะ
5. การให้ความเป็นธรรม
6. การให้แนวทาง
7. การร้องขอแนวทาง
8. การร้องขอวามเป็นธรรม
9. การร้องขอข้อเสนอแนะ
10. การไม่เห็นด้วย
11. การแสดงความตึงเครียด
12. การแสดงความเป็นศัตรูหรือความแตกแยก

การสังเกตตนเอง

  1. การสังเกตตนเองในพฤติกรรมภายนอก
  2. การสังเกตตนเองในพฤติกรรมภายใน
  3. ทราบหรือไม่ว่าขณะนี้ท่านมีความรู้สึกอย่างไร
  4. ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
  5. ในความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้น มีความรู้สึกอื่นอีกหรือไม่ ที่เป็นส่วนประกอบย่อยอยู่ในความรู้สึกนั้น
  6. ความรู้สึกนั้นมักจะเกิดขึ้นในสถานการณ์เช่นไร  
  7. ความรู้สึกนี้ เป็นความรู้สึกจริงๆ ของเราหรือไม่  ฯลฯ


การสังเกตสิ่งแวดล้อม

  1. การสังเกตจากภายนอก
  2. สัญลักษณ์ รูปลักษณ์
  3. การสังเกตการแสดงออก
  4. กิริยา ท่าทาง ความสัมพันธ์
  5. การสังเกตการใช้ภาษา
  6. วิธีการพูด เวลาการพูด
  7. การสังเกตการใช้เวลา
  8. การใช้เวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ ในสังคม

หัวข้อการสังเกตพฤติกรรม

  1. กลุ่มเป้าหมายที่สังเกต คือ ใคร
  2. พฤติกรรมที่สังเกต คือ อะไร
  3. สาเหตุที่เลือกสังเกตพฤติกรรมนี้ เพราะอะไร
  4. ลักษณะพฤติกรรมที่สังเกตได้ เป็นอย่างไร
  5. ข้อคิดเห็นต่อการสังเกตในครั้งนี้ คือ อะไร (การสังเกตในครั้งนี้ เป็นการสังเกตที่จัดอยู่ในประเภทไหน มีข้อจำกัดอะไรบ้าง และได้ผลสำเร็จตามที่ตั้งไว้ มากน้อยเพียงใด สามารถเอาไปใช้ประโยชน์อะไรต่อไปได้บ้าง)

การสังเกตสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ “การจดบันทึก”
อุปกรณ์ที่ใช้ในการจดบันทึก
•  สมุดพกติดตัว ขนาดพกพาสะดวกสำหรับนำติดตัวไปในเวลาที่ออกดูนกนอกสถานที่ ควรเป็นปกแข็ง ไม่มีเส้นบนกระดาษ
•  สมุดบันทึกถาวร ควรมีขนาดใหญ่กว่าสมุดพกติดตัว และใช้บันทึกข้อมูลได้ละเอียดและชัดเจนมากขึ้น สำหรับเก็บเป็นข้อมูลถาวร
•  ดินสอ ปากกา และยางลบ
•  ดินสอสีและสีน้ำ

การจดบันทึกที่ดี ควรจะมีลักษณะอย่างไร

  1. บันทึกความจริง แต่สิ่งที่บันทึกอาจคลาดเคลื่อนได้ หากเราไม่ระมัดระวังพอ ควรบันทึกสิ่งที่เห็นไม่ใช่ที่คิดว่าเห็น อะไรที่ไม่แน่ใจควรบอกว่าไม่แน่ใจ
  2. บันทึกทันที ณ สถานที่ที่พบเห็น จะช่วยให้บันทึกได้อย่างครบถ้วนถูกต้อง อย่าเชื่อความจำตนเองเพราะมักจะตกหล่นไปเสมอ
  3. บันทึกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์


วิธีการจดบันทึก : ตัวอย่างจากการดูนก
•  ชื่อนกที่พบ  ในกรณีที่ทราบแล้วว่าเป็นนกชนิดใด  ขนาดของนก ซึ่งหากไม่รู้จักนกชนิดนั้นควรเปรียบเทียบ
•  รูปร่างลักษณะ เช่น นกตัวนั้นมีรูปร่างลำตัวผอมยาว หรืออ้วนป้อม ปากสั้นหรือปากยาว โค้งแหลมหรือตรงยาว มีจุดสังเกตที่เด่นชัดอยู่ที่ส่วนใด
•  พฤติกรรม ให้สังเกตถึงลักษณะท่าทางที่นกชอบกระทำบ่อย ๆ เช่น การเกาะ ว่าอยู่ในท่าตัวตั้งตรงหรือขนานกับกิ่งไม้ การบิน เป็นแนวเส้นตรงหรือบินขึ้น ๆ ลง ๆ  ชอบกระดกหางหรือแพนหาง   การทำรังว่ามีลักษณะอย่างไร ใช้อุปกรณ์อะไรและทำรังบริเวณใด
•  เสียงร้องและเสียงร้องเพลง เมื่อต้องการแสดงอารมณ์ต่าง ๆ เช่นเสียงร้องตกใจ ร้องขู่ขวัญ ในการบันทึกให้บันทึกเสียงร้องปกติที่ได้ยินบ่อย ๆ หรือเสียงร้องซึ่งนกมักร้องเมื่อมีอารมณ์ดี ว่ามีลักษณะอย่างไร แหบ แหลม หรือเบานุ่ม แล้วบันทึกออกมาเป็นตัวอักษร มีนกบางชนิดที่เราไม่อาจจำแนกจากลักษณะภายนอกได้เลย ต้องอาศัยเสียงร้องที่มีความแตกต่างกันช่วย การจดจำเสียงร้องของนกอาจใช้เครื่องบันทึกเสียงช่วย
•  แหล่งที่อยู่อาศัย เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับบริเวณที่พบนกว่ามีสภาพอย่างไร เป็นป่าแบบไหน มีลักษณะเด่นอย่างไรบ้าง รวมทั้งระดับความสูงของพื้นที่ถ้าหากทราบ เช่น เป็นบริเวณป่าไผ่ริมน้ำตก หรือกลางทางเดินในป่าสน ควรบันทึกรายละเอียดของสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไปให้มากที่สุด
•  เวลา วันเดือนปี และสถานที่ เพื่อให้ทราบว่า พบนกชนิดนั้นที่ไหน เมื่อใด ในช่วงเวลาใด เพราะจะทำให้ทราบว่านกชนิดนั้นพบยากหรือพบง่าย ทำให้ทราบว่านกชนิดนั้นเป็นนกประจำถิ่นหรือนกอพยพ รวมทั้งการบันทึกจำนวนนกที่พบในแต่ละครั้ง
•  สภาพแวดล้อมและสภาพอากาศ ทำให้การบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับนกสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น นกบางชนิดชอบปรากฏตัวเมื่ออากาศมืดครึ้ม หรือเหยี่ยวชอบบินร่อนขึ้นสูงในวันที่แดดจ้า เป็นต้น
    ในการบันทึกเราควรวาดภาพร่างคร่าว ๆ ของนกที่พบเพิ่มขึ้น เพื่อจะช่วยให้เราเก็บรายละเอียดและทำความเข้าใจเกี่ยวกับนกชนิดนั้นได้ง่ายยิ่งขึ้น นำภาพร่างที่เราพบแต่บอกชื่อไม่ได้ไปถามผู้รู้ให้ช่วยจำแนกชนิดได้ในภายหลัง
    การบันทึกความรู้สึก เป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เราอาจถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้ตื่นเต้น ดีใจ ประทับใจหรือเศร้าใจไปกับเราได้

สรุป การสังเกตสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติที่ดี

  1. สังเกตโดยไม่รบกวนสภาพแวดล้อม
  2. สังเกตโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์
  3. มีวิธีการจดบันทึกที่เป็นระบบ
  4. บันทึกความจริง
  5. บันทึกทันที
  6. บันทึกรายละเอียด เช่น ชื่อ รูปร่างลักษณะ พฤติกรรม เสียงร้อง แหล่งที่อยู่อาศัย สถานและวันเวลาที่พบ สภาพแวดล้อมและสภาพอากาศ




หมายเลขบันทึก: 403570เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2010 16:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:14 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท