ปัญหาและวิธีการแก้ไข ตอนที่ 4 ปัญหาของทีมงานวงเพลงอีแซวในโรงเรียน


เราไม่อาจที่จะล่วงรู้ในใจของสมาชิกได้ทุกคน จึงทำให้เกิดปัญหาในวงเพลง

ปัญหาและวิธีการแก้ไข

การจัดกิจกรรม

เพลงอีแซวในโรงเรียน

ตอนที่ 4 ปัญหาของทีมงานวงเพลงอีแซวในโรงเรียน

โดย นายชำเลือง มณีวงษ์

ต้นแบบกิจกรรมนันทนาการเพลงอีแซว ประเทศไทย รุ่นที่ 1

           ผมได้รับมอบหมายจากผู้บริหารโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1  ให้กำกับดูแลและควบคุมการแสดงวงเพลงอีแซวของโรงเรียน ในนาม “วงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ” จัดกิจกรรมการแสดงเพลงอีแซวเป็นหลัก และยังสามารถแสดงเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ เพลงฉ่อย ลำตัด ขับเสภา เพลงแหล่ และทำขวัญนาค เนื่องจากการทำงานจะต้องทำเป็นทีม มีผู้ร่วมงานจำนวน 15-20 คน การที่จะออกไปเผยแพร่ผลงานทำการแสดงในแต่ละที่ในแต่ละแห่ง ผู้แสดงทุกคนจะต้องสมัครสมานสามัคคีรวมกันเป็นหนึ่งเดียว (มีเอกภาพ) แต่เราไม่อาจที่จะล่วงรู้ในใจของสมาชิกได้ทุกคนจึงทำให้เกิดปัญหาในวงเพลง เท่าที่ผมบันทึกเอาไว้ พอที่จะนำเอามากล่าวในบทความนี้บางส่วน ได้แก่ 

  1. ปัญหาในการฝึกซ้อมการแสดงเพลงอีแซวและเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ไม่ตรงเวลา
  2. ปัญหาในความรับผิดชอบของแต่ละคน (จำบทเพลงของตนเองไม่ได้)
  3. ปัญหาในการเดินทางไปแสดง (มาไม่ตรงเวลานัดหมายและกลับไม่ตรงเวลา)
  4. ปัญหาในการแต่งกาย เสื้อผ้า หน้าตา บุคลิกลักษณะของผู้แสดงแต่ละคน
  5. ปัญหาในการดูแลรักษาวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องแต่งตัวนักแสดง
  6. ปัญหาการออกกลางคัน ลาออกและไม่มาเข้าร่วมกิจกรรม
  7. ปัญหานักเรียนออกจากโรงเรียนเมื่อจบการศึกษาชั้น ม.3 และ ชั้น ม.6

        

        

        

1. ปัญหาในการฝึกซ้อมการแสดงเพลงอีแซวและเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ไม่ตรงเวลา

          เวลาที่ผมนัดฝึกซ้อม ใน 1 สัปดาห์เราจะซ้อมทีมกันอย่างน้อย 2 วัน คือวันอังคารและวันพฤหัสบดี ส่วนช่วงที่มีงานเข้ามาจะนัดหมายฝึกซ้อมทุกวันหลังเลิกเรียนตั้งแต่เวลา 16.00-17.30 น. กลุ่มนักร้องนำจะมาถึงห้องฝึกซ้อมเวลา 16.10 น.ช้าที่สุด 16.15 น. ส่วนกลุ่มลูกคู่ ผู้แสดงประกอบจะทยอยกันมาทีละคนสองคน จนเวลา 17.00 น. จึงจะครบและในบางคนมา แล้วก็ขึ้นๆ ลงๆ ไม่อยู่ในห้องฝึกซ้อม ส่วนกลุ่มผู้ให้จังหวะในวงของเราจะมีอยู่ 5 คน น้อยมากที่จะมากันครบทีม ส่วนใหญ่ก็จะมา 1-2 คน ผู้ที่ไม่มาจะบอกว่าไม่ทราบว่าครูนัดซ้อม การทำงานกับคนเป็นทีมก็จะต้องมีกฎ กติกาและมีการรอมชอมกันบ้างแต่ก็จะต้องมีวินัยในตนเองด้วย

2. ปัญหาในความรับผิดชอบของแต่ละคน (จำบทเพลงของตนเองไม่ได้)

          เนื่องจากนักแสดงมีความสามารถไม่เท่ากัน ความตั้งใจทุ่มเทเสียสละก็แตกต่างกัน กลุ่มพ่อเพลง แม่เพลง หรือผู้ร้องนำได้บทร้องไปท่อง 20-30 หน้า ในเวลา 7 วัน- 10 วัน จำบทที่ตนเองรับผิดชอบได้ ส่วนนักแสดงที่เป็นคอรอง ช่วยร้องในบางส่วนได้บทร้องไป ไม่ถึง 1 หน้ากระดาษ เวลาผ่านไป 10 วันยังจำเนื้อร้องของตนเองและยังร้องไม่ได้

3. ปัญหาในการเดินทางไปแสดง (มาไม่ตรงเวลานัดหมายและกลับไม่ตรงเวลา)

          ตั้งแต่ผมทำวงเพลงอีแซวมา 19 ปี พบว่าเกือบจะทุกงานที่มีผู้แสดงมาช้า มาไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด เช่น มีงานหนึ่งจะต้องไปทำการแสดงในต่างจังหวัดไกลออกไปจังอำเภอดอนเจดีย์ ประมาณ 350 กิโลเมตร ผมนัดหมายรถที่จ้างเอาไว้ว่าจะออกเดินทางในเวลา 04.30 น. แต่กว่าที่นักแสดงจะพร้อมกันทั้งคณะเวลาก็เลยไปจนถึง 05.30 น. เรารอคนเพียงคนเดียว แถมมีบางงานเสร็จสิ้นการแสดงแล้วเดินทางมาถึงโรงเรียนในเวลา 20.15 น. แต่เด็ก ๆ นักแสดง 1-2 คน ไปถึงบ้าน 22.30 น. ผู้ปกครองโทรมาประสานงานที่ผมและออกติดตามกันแล้วก็ไปพบที่ร้านสะดวกซื้อและร้านอาหาร (กลับบ้านช้าไม่ตรงเวลา)

4. ปัญหาในการแต่งกาย เสื้อผ้า หน้าตา บุคลิกลักษณะของผู้แสดงแต่ละคน

          ผมได้แนะนำนักแสดงทุกคนในเรื่องของการแต่งกายว่า รูปลักษณ์ของนักแสดงจะต้องดูดีกว่ารูปลักษณ์ตามเวลาในปกติ นั่นหมายถึงว่า พวกเราจะต้องแต่งเติมเสริมความสวยงามให้เกิดขึ้นก่อนที่จะออกไปทำการแสดงหน้าเวที ผู้แสดงทั้งชายและหญิงจะต้องมีชุดเครื่องแต่งหน้า เขียนคิ้ว ทาปาก นักแสดงหญิงเพิ่มขนตาปลอมและดอกไม้ประดับผมด้วย แต่ก็ไม่วายที่นักแสดงของผมมีงานละ 2-3 คน (ชาย) ไม่ปฏิบัติตมข้อตกลง ไม่ผัดหน้าไม่ทาแป้งแต่งไม่แต่งคิ้ว ไม่ทาปาก นำเอาสภาพเดิม ๆ ของตนเองออกไปอวดสายตาผู้ชมจนได้

5. ปัญหาในการดูแลรักษาวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องแต่งตัวนักแสดง

          เนื่องจากชุดการแสดงเป็นของกองกลาง จัดหามาโดยครูผู้ควบคุมวงเพลงประกอบด้วยเสื้อ ผ้านุ่ง เข็มขัดคาดเอว/ผ้าขาวม้า เครื่องประดับ เครื่องแต่งหน้า ดอกไม้ประดับผม และวัสดุ อุปกรณ์ประกอบการแสดงเป็นเรื่องที่จะต้องมีการดูแลรักษา  ตามข้อตกลงนักแสดงจะต้องนำเอาชุดเสื้อผ้าและวัสดุทุกอย่างมาเก็บที่กลอกลาง แต่ปัญหาก็คือ เมื่อเสร็จงานการแสดงแล้ว เด็ก ๆ นักแสดงนำเอาชุดการแสดงไปเก็บไว้เป็นของส่วนตัวที่บ้าน ต้องติดตามทวงถามกลับคืน ผลที่ตามาก็คือ การสูญหาย ไม่ได้นำกลับมาส่งคืน หรือหลงลืมจนกระทั่งเลยตามเลยไปก็มี

6. ปัญหาการออกกลางคัน ลาออกและไม่มาเข้าร่วมกิจกรรม

           ปัญหานี้ เป็นปัญหาที่ผมไม่คาดคิดมาก่อนว่า อยู่ดี ๆ จะมีนักแสดงออกจากวงไปโดยไม่มีเหตุเตือนล่วงหน้า เด็ก ๆ บางคน มาเข้าเรียนชั้น ม.1 ฝึกหัดเล่นเพลงได้ 1-2 ปีพอขึ้นไปอยู่ชั้น ม.2 ช่วงปลายปีก็หายตัวไปจากวงทั้งที่แกก็ยังมาโรงเรียนทุกวัน ที่หนักไปกว่านั้นคือบางคนมีเหตุผล มาขอลาออกด้วยเหตุเพราะว่า ถ้าอยู่ต่อไปจะเป็นการสร้างปัญหาให้กับวง บางคนก็มีเหตุผลว่า เวลาไปเล่นงานไม่มีผู้ปกครองมาคอยรับ –ส่ง (เหตุผลนี้พอฟังขึ้นแต่ก็ไม่น่าที่จะใช่) เพราะแกเล่นเพลงมา 2 -3 ปีแล้ว ผมไม่เคยอนุญาตให้เด็กลาออกจากลงเพราะเผื่อเอาไว้ว่าสักวันหนึ่งอยากที่จะเข้ามาร่วมงานอีกจะได้เข้ามาได้

7. ปัญหานักเรียนออกจากโรงเรียนเมื่อจบการศึกษาชั้น ม.3 และ ชั้น ม.6

          ปัญหานี้พบทุก ๆ ปี เป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ตก กว่าที่ครูจะทำใจได้และกว่าที่จะหาคนมาแทนที่ได้ จะต้องใช้เวลาหลายเดือน วงเพลงจะสมบูรณ์มาที่สุดก็ตอนที่มีตัวตายตัวแทน คนเก่าออกไปมีคนใหม่ที่มีคุณภาพเท่าเทียมกันมาแทนที่ แต่การที่จะค้นหาให้มีคนอย่างนี้เข้ามาแทนที่รุ่นพี่ เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก ดาวเด่นมิได้มีมากมาย กว่าที่จะเป็นดาวจะต้องผ่านเวทีการแสดงมาหลาหลายสถานที่ ปัญหานี้ถ้าแก้ไขไม่ได้ วงเพลงอีแซวหรือวงเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ก็จะขาดเอกลักษณ์ ขาดผู้นำวงไปเลย จึงจำเป็นที่จะต้องคิดหาวิธีการกันอย่างต่อเนื่อง

ติดตาม ตอนที่ 5 ปัญหาในการรับงานของวงเพลงอีแซวในโรงเรียน

หมายเลขบันทึก: 403548เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2010 14:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท