ปัญหาและวิธีการแก้ไข ตอนที่ 2 การพัฒนาความสามารถของนักแสดงเพลงอีแซว


การพัฒนาความสามารถของนักแสดง ให้มีความสามารถสูงขึ้นกว่าเดิม

ปัญหาและวิธีการแก้ไข

การจัดกิจกรรม

เพลงอีแซวในโรงเรียน

ตอนที่ 2 การพัฒนาความสามารถของนักแสดง

โดย นายชำเลือง มณีวงษ์

ต้นแบบกิจกรรมนันทนาการเพลงอีแซว ประเทศไทย รุ่นที่ 1

           ผมอยู่กับเด็ก ๆ ในห้อง 512 โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ถ้านับเผื่อไปถึงปี พ.ศ.2554 ก็จะเป็นเวลา 20 ปีพอดี ตลอดเวลาที่ผ่านมา 19 ปี ห้อง 512 ได้ถูกจัดเป็นห้องเรียน ห้องแสดงผลงาน ห้องศูนย์การฝึกปฏิบัติเพลงพื้นบ้านหลายชนิด เป็นที่เรียนรู้ของนักเรียนทั้งโรงเรียนและจากที่อื่น ๆ เป็นที่ฝึกฝนอาชีพการแสดงพื้นบ้านผ่านมาระยะยาวให้กับนักเรียนและครอบครัว เป็นที่พักพิงยามเหงา ยามมีทุกข์ใจ มีครูที่ผ่านประสบการณ์ทางการแสดงเพลงพื้นบ้านมาโดยตรงคอยให้การดูแล และที่สำคัญ “เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของกลุ่มบุคคลที่รักษาวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่มาได้อย่างยาวนาน”

          

           แต่การที่ครูคนหนึ่ง จะต้องทำหน้าที่รวมนักเรียนกลุ่มหนึ่ง แล้วฝึกหัดการแสดงให้กับพวกเขา โดยตั้งเป้าหมายไปที่การแสดงอาชีพ มีรายได้ เป็นเป้าหมายที่สูงมาก หากผู้ที่กระทำการไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน การเดินทางไปถึง ณ จุดนี้ ย่อมที่จะเป็นไปได้ยาก แต่มีสิ่งหนึ่งที่เป็นแรงจูงใจไปสู่จุดหมายปลายทางที่ตั้งเอาไว้คือ นักแสดงเพลงพื้นบ้านระดับมืออาชีพคือ “การพัฒนาความสามารถของนักแสดง” เด็ก ๆ ทุกคนที่มาอยู่ในวงเพลงอีแซวกับผม บางคนเป็นคนเก่ง-เก่งมาก มีเสียงร้องที่ดี รำสวย กล้าแสดงออก แต่เด็กบางคน เสียงไม่ดี-ไม่ดีเอาเสียเลย มือไม่แอ่นแขนไม่อ่อน ไม่กล้าแสดงออกแต่ได้เข้ามาอยู่ในวงในช่วงที่เราขาดตัวแสดงพอดี ที่หนักยิ่งไปกว่านั้นคือ เด็กที่เรียนวิชาเลือกกับผม และมีนิสัยเกเร ไม่สนใจเรียน ผมต้องการให้เขาได้มีเพื่อนได้ไปร่วมงานยังสถานที่ต่าง ๆ ได้เห็นโลกกว้างมากยิ่งขึ้นก็ชวนให้เข้ามาอยู่ในวง คนกลุ่มนี้พัฒนาความสามารถได้น้อยมากหรือแทบจะไม่ได้เลย แต่เราก็ต้องกันเอาไว้เพื่อหาทางแก้ไขพฤติกรรมต่อไป หากเปลี่ยนแปลงได้เพียงเล็กน้อยก็ถือว่าประสบความสำเร็จสูงมากแล้ว ดังนั้นการพัฒนาความสามารถของนักแสดงเพลงอีแซว ในกลุ่มกิจกรรมศิลปะการแสดงท้องถิ่น (เพลงอีแซว) ของผมจึงแยกออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

          กลุ่มที่ 1 พัฒนานักแสดงที่มีความสามารถในหลาย ๆ ด้านสู่ความเป็นเลิศ

          กลุ่มที่ 2 พัฒนานักแสดงที่ไม่มีความสามารถให้พอที่จะมีความสามารถเป็นนักแสดงได้

          กลุ่มที่ 3 พัฒนานักแสดงที่ไม่มีแววทางการแสดงเลยบวกกับความเกเรให้สามารถที่จะร่วมงานการแสดงได้

กลุ่มที่ 1 พัฒนานักแสดงที่มีความสามารถในหลาย ๆ ด้านสู่ความเป็นเลิศ

          

           เด็ก ๆ กลุ่มนี้จะมีบุคลิกลักษณะที่แปลกกว่าบุคคลทั่วไป โดยมากมักจะเข้ามาหาครู มาพูดคุย ถามบางสิ่งบางอย่างที่อยากจะรู้ และอยากที่จะรู้จักกับนักแสดงรุ่นพี่ กลุ่มนี้จะมีความพร้อมในการฝึกหัดเพลงอีแซว นัดหมายก็ง่ายมาตรงเวลา ให้ฝึกอะไรไม่ขัดข้อง ทำตามอย่างตั้งใจและใช้เวลาในการฝึกหัดไม่นานก็สามารถปฏิบัติได้แสดงออกได้และทำได้ดี

           ผมมักจะดึงตัวเด็ก ๆ คนที่มีความสามารถสูงมา 2-4 คน มักจะเป็นชาย 1-2 คน (ฝึกเป็นพ่อเพลง) และหญิง 1-2 คน (ฝึกเป็นแม่เพลง) คนกลุ่มนี้การนัดหมายง่ายตรงต่อเวลาผมจึงต้องใช้เวลาในตอนเย็นหลังจากการฝึกซ้อมทั้งวงจบลงให้เขาได้เรียนรู้บทเพลงอื่น ๆ ไปด้วย และนัดหมายในวันหยุดมาทำการฝึกซ้อมบทเพลง ฝึกตามครู ฝึกกับรุ่นพี่ (นักร้องนำ) ฝึกหัดร้อง บังคับเสียงร้องให้มีเสน่ห์ ท่องจำบทเพลงให้ได้มาก ๆ รู้จักบทและขั้นตอนการแสดงในภาพรวมทั้งหมดแล้วมาแสดงความสามารถให้ครูดู เพื่อประเมินความสามารถ และปรับปรุงแก้ไข ส่วนมากจะแก้ไขในเรื่องของการบังคับเสียง ระดับเสียง และวิธีการเล่นเสียงให้มีความไพเราะน่าฟัง ถ้าให้ทุกคนมาฝึกพร้อมกัน ก็จะพากันล้มเหลว สู้ทำการพัฒนาเป็นรายบุคคลไม่ได้ เพราะพอมาเต็มวงสิ่งที่ตามมาคือคนที่มีความสามารถน้อยลงไปจะไม่ให้ความสนใจเท่ากับผู้ร้องนำ จึงจำเป็นที่จะต้องแยกกันพัฒนา เมื่อมาซ้อมรวมวงครูจึงได้ชี้แจงให้เห็นว่า เพราะเหตุใดจึงนัดหมายบางคนมาซ้อมนอกเวลา เพราะคนเรามีความสามารถไม่เท่ากัน คนเก่งจะได้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว รับบทเพลงไปท่องจำได้มาก ซ้อมการแสดงลีลาท่าทางได้สวยงาม สามารถทำหน้าที่แทนรุ่นพี่ได้ทันเวลา

กลุ่มที่ 2 พัฒนานักแสดงที่ไม่มีความสามารถให้พอที่จะมีความสามารถเป็นนักแสดงได้

          

           เด็กกลุ่มนี้ เป็นคนที่เสียงไม่ดี-ไม่ดีเอาเสียเลย มือไม่แอ่นแขนไม่อ่อนและไม่กล้าแสดงออกด้วย การฝึกให้เป็นนักแสดงเป็นความหนักหน่วงที่ครูจะต้องให้เวลากับพวกเขาค่อย ๆ ซึมซับความเข้าใจไปวันละเล็กวันละน้อย ผมเคยทดลองสอนให้เด็ก ๆ ที่เสียงไม่ค่อยดีในวงลองร้องเกริ่นเพลงอีแซวตามผม เอาแค่เกริ่นว่า “เอ๊ย...” เราร้องให้ฟังไป 10 เที่ยวแล้วให้แกร้องตามจะว่าแต่ 10 เที่ยวเลย ร้องให้ฟังแล้วร้องตามทั้งชั่วโมง ทั้งวันก็ยังร้องได้ไม่ไพเราะ หรืออย่างการแสดงอารมณ์เพลง เวลาร้องจะต้องฝึกเคลื่อนไหวแสดงสีหน้าท่าทางไปตามบทเพลงที่เราร้อง เด็กกลุ่มนี้ทำได้แต่รำไปด้วยร้องไปด้วย ให้ทำท่าทางตามบทที่ร้องก็จะติดขัดไม่เลื่อนไหลอย่างธรรมชาติขาดอารมณ์เพลง การพัฒนาคนกลุ่มนี้จึงอาศัยทำตาม ๆ กันไปก่อน โดยให้พวกเขาได้แสดงออกทำท่าทางประกอบการแสดง รำประกอบการแสดง เล่นบทตลกขบขันไปก่อนและในการเล่นบทบาทต่าง ๆ ก็เป็นผู้แสดงประกอบเล็ก ๆ น้อย ๆ ยังไม่ให้เป็นตัวนำ เพราะแกจะพูดแบบท่องหนังสือ ไม่เป็นธรรมชาติ ติด ๆ ขัด ๆ ไปหมด บางคนใช้เวลา 1 ปียังออกไปแสดงแถวหน้าไม่ได้ ก็ให้ทำหน้าที่เป็นลูกคู่ต่อไป แต่ก็มีบางคนที่มีพัฒนาการเร็วหน่อย สามารถที่จะร้องเป็นคอรองได้ในปีที่ 2 พอปีที่ 3 ก็เป็นผู้ร้องนำด้วยบทสั้น ๆ เป็นตอน ๆ ได้ เรียกว่าจะต้องให้เวลามากกว่าเด็กที่มีความสามารถมาก ในวงเพลงของผมบางคนเล่นมาปีที่ 6 จำเพลงได้ไม่ถึง 1 หน้ากระดาษ ทั้งนี้เพราะเขามีคุณลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่โดดเด่น ไม่มีความสามารถพิเศษทางเสียง หรือลีลาท่าทาง ในขณะที่นักร้องนำ (พ่อเพลง-แม่เพลง) เขาจำเพลงได้คนละ 30-50 หน้ากระดาษ แต่ผมก็พร้อมที่จะรอคอยการเปลี่ยนแปลงของเด็ก ๆ กลุ่มนี้และให้พวกเขาได้อยู่ร่วมงานกับวงเพลงต่อไปจนจบการศึกษา

กลุ่มที่ 3 พัฒนานักแสดงที่ไม่มีแววทางการแสดงเลยบวกกับความเกเรให้สามารถที่จะร่วมงานการแสดงได้

         

          ถ้าถามผมว่า แล้วทำไมต้องเลือกเอาเด็ก ๆ ที่ไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นนักแสดงได้เลยมาร่วมอยู่ในกิจกรรมนี้ด้วยละ  เหตุผลแรกก็คือ เด็กพวกนี้คงสนใจงานของครูและให้ความรักเคารพครูจึงตัดสินใจมาเรียน ผมจึงอยากที่จะให้พวกเขาได้เปลี่ยนพฤติกรรมมาเป็นคนดี ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เพราะเมื่อเขาได้อยู่ใกล้กับครูคนหนึ่งที่สอนพวกเขา เขาจะได้มีความมั่นใจว่า ยังมีครูให้ความสนใจพวกเขาอยู่ จะได้มีความคิดไปในทางที่ดีมากยิ่งขึ้น อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมจะต้องมีเด็ก ๆ ประเภทนี้อยู่ในวงก็คือ การแสดงบนเวทีจริง ๆ มีงานที่จะต้องหยิบยก หอบหิ้วอุปกรณ์ ต้องปีนป่ายขึ้นไปขึงฉากสูง 3-4 เมตร ติดตั้งไฟส่องเวทีรวมทั้งเครื่องขยายเสียง และ ฯลฯ จึงต้องหาคนที่มีความเข้มแข็งมาเสริมอยู่ในวง ในยุคแรก ๆ คนกลุ่มนี้ผมฝึกหัดให้เขาเป็นผู้ให้จังหวะ ทำหน้าที่ตีตะโพน, กลองบงองโก้, กลองไฟฟ้า ฉิ่ง ฉาบ และกรับ ใช้ผู้ทำหน้าที่ 3 คน ต่อมาก็ฝึกให้ร้องรับด้วย พอมีความพร้อมมากขึ้นก็ฝึกหัดให้ร้องนำโดยท่องจำเนื้อร้องสั้น ๆ มีนักแสดงบางคนมาจากเด็กเกเร แต่พัฒนาไปได้จนถึงผู้ร้องนำได้และพฤติกรรมก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากยิ่งขึ้น แต่ว่าน้ำเสียงของเด็กกลุ่มนี้จะไม่สดใสไพเราะเท่ากับเด็กที่มีคุณลักษณะเฉพาะติดตัวมา

           ด้วยข้อจำกัด ดังที่ได้กล่าวมา เราไม่สามารถที่จะเลือกเด็กจากทั้งโรงเรียน ประมาณ 2,000 คน มาเข้าอยู่ในวงเพลงหรือเข้ามาอยู่ในกิจกรรมการแสดงเพลงอีแซว จำนวน 15-20 คนได้ และครูก็ไม่สามารถที่จะเลือกเด็กเก่ง ๆ เด็กที่มีเสียงไพเราะ รำสวย กล้าแสดงออกมาร่วมงานได้ครบวงเพลง จึงจำเป็นที่จะต้องรับนักเรียนที่สมัครใจจะมาอยู่ในกิจกรรม/ชุมนุม และรับนักเรียนที่พอจะให้ความช่วยเหลือครูในบางสิ่งบางอย่างได้ เข้ามาอยู่ในวงเพลงอีแซวเพื่อให้มีสมาชิกทำหน้าท่าได้ครบทั้ง 3 กลุ่ม คือ ผู้ร้องนำ  ผู้แสดงประกอบ และผู้ที่จะทำหน้าที่ให้จังหวะซึ่งทั้งหมดเริ่มต้นจากไม่มีไม่เป็นอะไรเลยเข้ามาสู่กระบวนการพัฒนานั่นเอง

 

ติดตามตอนที่ 3 การประชาสัมพันธ์ทีมงานให้เป็นที่รู้จัก

หมายเลขบันทึก: 403538เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2010 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2012 20:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับคุณครูชำเลือง

ชื่นชมกับการทุ่มเทและฝึกนักเรียนสายเลือดสุพรรณกับการอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านนะครับ

เคยติดตามน้องๆ ในเว็บนายรอบรู้ชอบครับ ทุกวันนี้ยังจำเพลงได้อยู่เลย

ประทับใจกับเพลงพื้นบ้านภาคกลางครับ ช่วยกันรักษาไว้นะครับ

มีการแสดงโชว์ที่ไหนบอกผมบ้างนะครับ ผมอยากมีโอกาสไปดูน้องๆ ครับ

ขอบคุณครับ

  • ขอบคุณ คุณภควัตคีย์ตา มากครับ ที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจคนรุ่นเก่า (คนแก่)
  • ติดตามชมคลิบการแสดงได้ในเว็บไซต์ youtube.com เพลงอีแซว เพลงฉ่อย ลำตัด และอื่น ๆ อีกมาก ครับ
  • ในช่วงนี้เด็ก ๆ จะไปงานทำขวัญนาคกับผมหลายสถานที่ในต่างจังหวัด

ใน youtube.com ผมเข้าไปหาดูบ่อยครับ

ของแม่ขวัญจิต (ญาติที่ห่างกันมากๆ )

ถ้าผมเป็นเด็กๆ จะไปขอเรียนเพลงด้วยคนเลยครับ ผมชอบมาก

เป็นกำลังใจให้คุณครู และน้องๆ นะครับ

ขอบคุณ คุณภควัตคีย์ตา

  • ใน youtube.com มีหลากหลายความรู้และความบันเทิงให้ชาวโลกได้เข้าไปสัมผัส ครับ อย่างมากมาย
  • พูดถึงการเรียนรู้และการฝึกหัดเพลง มีศิลปิน ดาราบางท่านหลงไหลในเพลงพื้นบ้าน อายุของเขา 40 แล้ว ยังอุทิศเวลาให้กับงานภูมิปัญญาท้องถิ่น แม้แต่ตัวผมเองก็ยังเรียนรู้ต่อไป เก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อย ๆ
  • ขอบคุณอีกครั้ง ที่เป็นกำลังใจให้กับคนทำงานเพลงพื้นบ้าน ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท