ห้องเรียนเคลื่อนที่ในฤดูฝน...ระหว่างรอการเดินทางครั้งที่ ๓ เพื่อทำหนังสือรับรองการเกิดของวิษณุ บุญชา


วันนี้เป็นวันเสาร์ต้นฤดูฝน มีสายฝนปรอยลงมาแต่เช้าตรู่ เป็นไปตามพยากรณ์อากาศของกรมอุตุฯ มันช่างเป็นวันที่เหมาะแก่การนอนอยู่บ้านเสียจริงๆ ในวันที่บรรยากาศเป็นใจกับความขี้เกียจเยี่ยงนี้กลับเป็นวันที่ฉันมีนัดกับครอบครัวป้าสันทีที่บ้านของพวกเขาที่ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ตามกำหนดการในการจัดห้องเรียนเคลื่อนที่(mobile classroom)ฉันจะต้องไปถึงบ่ายๆ แต่ฉันตั้งใจว่าจะออกเดินทางซักสิบโมงเช้าเพื่อจะไปให้ถึงที่โน่นก่อนเที่ยงเพราะมีภาระกิจหลายอย่าง ที่ต้องอธิบาย/จัดการ/ดำเนินการ ให้กับสมาชิกทั้ง ๘ คนในครอบครัวของป้า เพื่อที่งานทั้งหมดจะได้เสร็จก่อนบ่ายโมง และฉันจะได้กลับมาจัดการงานอย่างอื่นที่ค้างอยู่ก่อนจะเดินทางกลับพิษณุโลกในวันพรุ่งนี้

ภารกิจที่ฉันตั้งใจจะทำในวันนี้ประกอบด้วย

๑.  แจ้งข่าวอำเภอไทรโยคส่งหนังสือรับรองการเกิด จากรณีที่ลูกของป้าทั้ง ๔ คน (ปัจจรา หรือบุญมี อำพล สัญชัย อดุลย์ และชาญชัย หรือสัญชัย)เคยไปยื่นคำร้องไว้เมื่อคราวก่อนมาให้แล้ว และนำเอกสารไปให้ครอบครัวป้าสันที

๒.  อธิบายถึงความสำคัญของหนังสือรับรองการเกิด(ท.ร.๒๐/๑)  

อธิบายว่าเป็นเอกสารที่รับรองจุดเกาะเกี่ยวว่าลูกๆหลานๆของป้ามีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทยมาตั้งแต่เกิดเนื่องจากเกิดในประเทศไทย ซึ่งจุดเกาะเกี่ยวนี้เองเมื่อพิจารณาจากวันเดือนปีที่แต่ละคนเกิด จะนำไปสู่การกำหนดสถานะบุคคลของลูกๆหลานๆของป้าว่ามีสถานะตามกฎหมายไทย(ทั้งกฎหมายทะเบียนราษฎร สัญชาติ และคนเข้าเมือง) อย่างไร ซึ่งจะเชื่อมโยงกับสิทธิ-หน้าที่ตามกฎหมายไทยต่อไป เช่น ลูกทั้งสี่คนคนของป้าตกอยู่ภายใต้ ปว.๓๓๗ โดยลูกสาวคนโตเกิดก่อน ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ จึงถูกถอนสัญชาติไทยตามข้อ (๑) ส่วนลูกชายอีกสามคน เกิดหลังวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ จึงไม่ได้สัญชาติไทยตามข้อ (๒) ในขณะที่วิษณุหลานชายน้อยเกิดในปี พ.ศ.๒๕๓๗ จึงไม่ได้สัญชาติไทยโดยผลของมาตรา ๗ทวิ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่๒)  โดย พ.ร.บ.สัญชาติพ.ศ.๒๕๓๕

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่วันที่...พฤษภาคม ๒๕๕๑ เป็นต้นมา ลูกๆทั้งหมดของป้า มีสิทธิยื่นคำร้องลงรายการสัญชาติไทย ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ออกมาเยียวยาปัญหาความไร้สัญชาติให้แก่บุคคลที่ถูกถอนสัญชาติไทย และไม่ได้สัญชาติไทยโดย ปว.๓๓๗ รวมถึงบุตรของคนกลุ่มนี้ด้วย ดังนั้น วิษณุหลายชายตัวน้อยจึงได้อานิสงค์ตามกฎหมายฉบับนี้ในฐานะที่เป็น “บุตรของบุคคลที่ถูกถอนสัญชาติไทยโดย ปว.๓๓๗” ด้วยเหตุนี้ ทั้งลูกและหลานของป้าจะได้รับการขจัดความไร้สัญชาติ หากพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าด้วยจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดในประการนี้ได้

จะเห็นได้ว่าเอกสารชิ้นเดียว ชิ้นนี้ ที่เรียกว่า หนังสือรับรองการเกิด มีความสำคัญต่อการจัดการปัญหาความไร้สัญชาติของลูกๆหลานๆของป้าเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้เอกสารชิ้นนี้มาแล้วก็เท่ากับว่าการต่อสู้ของป้ากำลังเดินทางมาใกล้ถึงปลายทางเต็มทีแล้ว

๓.  อธิบายกระบวนการยื่นคำร้องขอหนังสือรับรองการเกิดของนายบุญชัย 

อธิบายว่าเราจะต้องเตรียมพยานเอกสาร และพยานบุคคลอย่างไร และต้องกลับไปยื่นคำร้องที่เทศบาลท่ามะกา โดยเราจะพาป้าสันที ไปแจ้งเกิดลูกที่เทศบาลท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เหมือนกับที่เคยพาลูกๆของป้า ๔ คน ไปขอหนังสือรับรองการเกิดที่ไทรโยค

๔. อธิบายกระบวนการยื่นคำร้องขอหนังสือรับรองการเกิดของนายวิษณุ 

อธิบายว่าเราต้องกลับไปยื่นคำร้องที่เทศบาลบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยต้องเตรียมเอกสารและพยานบุคคลเช่นเดียวกับน้าชายคนเล็กของเขา

๕. อธิบายกระบวนการยื่นคำร้องขอลงรายการสาติไทย ตามมาตรา ๒๓  

ให้ป้าและลูกๆทราบ/เข้าใจว่า หลังจากลูกๆทุกคน ได้รับหนังสือรับรองการเกิดครบถ้วนแล้วพวกเค้าจะต้องกลับไปที่อำเภอสังขละบุรี เพื่อดำเนินการยืนคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทย ตามมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยทั้งหมดจะต้องเตรียมถ่ายสำเนาเอกสารรับรองการเกิด(หนังสือรับรองการเกิด/สูติบัตร) พร้อมสำเนาทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓ และเอกสารอื่นๆที่แสดงการปรากฏตัวของพวกเขาในประเทศไทย เช่น ทะเบียนผลการเรียน หนังสือสุทธิ ฯลฯ และบัญชีรายชื่อพยานบุคคลที่สามารถยืนยันว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาต่อเนื่อง และมีความประพฤติดี ซึ่งพยานบุคคลที่สามารถยืนยันประเด็นนี้ ได้แก่ ป้าลี่ ป้าทา นายมิตร อาจารย์แหวว อาจารย์ชลฤทัย และฉัน

สามคนแรกรู้จักกับสมาชิกในครอบครัวนี้ตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่พระสมุทรเจดีย์ และจนถึงปัจจุบันก็ยังเป็นเพื่อนบ้านที่ติดต่อและไปมาหาสู่กันมาโดยตลอด

ส่วนสามคนหลังรู้จักเนื่องจากทั้งหมดมาหารือเพื่อขอความช่วยเหลือในการจัดการปัญหาสถานะบุคคลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ เป็นต้นมา ถึงปัจจุบันก็เป็นเวลาเกือบ ๕ ปีแล้ว

นอกจากหกคนที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเพื่อนบ้านสมัยที่ครอบครัวป้าเคยอาศัยอยู่ไทรโยคและยังคงติดต่อกันมาตลอด  เช่น นางตี นายปี นายเมือง และเพื่อนบ้านที่สังขละบุรี สมัยที่เคยสำรวจและจัดทำทะเบียนผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าพร้อมกัน ได้แก่ นางวู๊ด นายศักดา นางบุญมี และนายวันชัย

โดยพยานบุคคลที่รู้เห็นการอาศัยอยู่ในประเทศไทยของครอบครัวนี้มีหลายกลุ่ม หลายช่วงเวลา เนื่องจากครอบครัวนี้มีการย้ายบ้านเรือนหลายครั้ง ซึ่งคณะทำงาน[1]ได้เคยทำบันทึกปากคำพยานของบุคคลที่รู้เห็นการอาศัยอยู่สมัยที่อยู่อำเภอไทรโยค และอำเภอสังขละบุรี ไว้ตั้งแต่การลงพื้นที่ในคราวที่สอง[2]แล้ว

๖.  อธิบายกระบวนการติดตามความคืบหน้าในการพิจารณาสั่งคำร้อง 

อธิบายให้ป้าและลูกๆทราบว่าหลังจากยื่นคำร้องที่อำเภอสังขละบุรีแล้วผู้ยื่นคำร้องต้องติดตามความคืบหน้าในการจัดการปัญหา โดยการส่งหนังสือติดตาม/โทรฯเป็นระยะๆทุกๆ ๗-๑๕ วัน

๗.    ดำเนินการบันทึกคำพยานรับรองการอาศัยอยู่ในประเทศไทย และรับรองความประพฤติดี  บันทึกคำพยานของป้าลี่ ป้าทา เพื่อรับรองการอาศัยอยู่ในประเทศไทยของครอบครัวป้าสันที ให้พยานทั้งสองคนลงลายมือชื่อ และเก็บสำเนาไว้หนึ่งฉบับ

๘.  สแกนเอกสารต้นฉบับ และถ่ายสำเนาเอกสารให้ครอบครัวป้าเก็บไว้ ให้นางปัจจรา และนายชาญชัย ลงลายมือชื่อในเอกสาร ท.ร.๒๐/๑ และสแกนเอกสารฉบับจริงทั้งหมด

๙. ถ่ายรูปครอบครัวป้าสันที

 

 


[1] ประกอบด้วย

[2]

โดย กิติวรญา รัตนมณี

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอนุกรรมการด้านของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

๑. ถอดบทเรียนในการจัดการปัญหาสถานะบุคคล:การรับรองการเกิดกรณีนายวิษณุ บุญชา (ตอนที่ ๑)

๒. ถอดบทเรียนในการจัดการปัญหาสถานะบุคคล:การรับรองการเกิดกรณีนายวิษณุ บุญชา (ตอนที่ ๒)

 


 

หมายเลขบันทึก: 403268เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2010 11:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แล้วไหมวางแผนที่จะดำเนินเรื่องต่อไปแล้วยังคะ

และอยากเตือนให้แจ้งข่าวสื่อมวลชนที่ทำข่าวของครอบครัวนี้นะคะ จะได้มีการแบ่งปันความรุ้กันต่อไป

มาเยี่ยมชมเป็นกำลังใจครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท