กลุ่มกิจกรรมการแสดงเพลงอีแซวต้นแบบ ตอนที่ 2 วันแรกของการขยายผลสู่เครือข่าย


เด็ก ๆ ทุกคนมีความสุขกาย สุขใจกับกิจกรรมนันทนาการด้วยเพลงอีแซว

เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ

กลุ่มกิจกรรมการแสดงเพลงอีแซว

นันทนาการต้นแบบ

ประเทศไทย รุ่นที่ 1

ตอนที่ 2 วันแรกของขยายผลสู่เครือข่ายเพลงอีแซว

วันที 4 กันยายน 2553

1. กลุ่มกิจกรรมการแสดงเพลงอีแซวกับนันทนาการด้านดนตรีที่มีต่อสังคมไทย

    (ประธานกลุ่มกิจกรรมการแสดงเพลงอีแซว)

          กิจกรรมการแสดงเพลงอีแซว จัดอยู่ในนันทนาการด้านดนตรีและการร้องเพลง เป็นการส่งเสริมการแสดงออกความสามารถเฉพาะอย่าง ความถนัดเฉพาะทาง ซึ่งในปัจจุบันการดนตรีจัดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จัดเป็นกิจกรรมที่นำไปใช้ในการบำบัดจิตใจ

          การที่มีผู้ให้ความสนใจในกิจกรรมการแสดงเพลงอีแซว มาร่วมกันกระทำกิจกรรมในยามว่างจากภารกิจงานประจำ ซึ่งผู้ที่ร่วมกิจกรรมกระทำด้วยความสมัครใจและมีความพึงพอใจ โดยกิจกรรมนั้นไม่ขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมและกฎหมายบ้านเมือง ทำให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี

          การใช้กิจกรรมนันทนาการเป็นสื่อ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เกิดสัมพันธภาพที่ดีของชุมชนเป็นสังคมแห่งคุณธรรม สมานฉันท์ มั่นคงทำให้ประเทศชาติพัฒนาอย่างยั่งยืน กิจกรรมดนตรีและการแสดง เป็นกิจกรรมเพื่อสร้างความสนุกสนานและสร้างบรรยากาศที่ดีให้แก่ผู้ร่วมกิจกรรม ผู้แสดง ผู้ชม ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเสียงเพลง ประกอบด้วย การร้องเพลง การเต้นรำ ทำท่าทางเคลื่อนไหว และอื่น ๆ ที่นำมาผสมผสานให้เกิดความพึงพอใจ สุขใจ

        กิจกรรมการแสดงเพลงอีแซว สร้างความสนุกสนาน สร้างสัมพันธภาพที่ดี มีคุณธรรม สมานฉันท์ สร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติอย่างยั่งยืน ด้วยคุณลักษณะที่โดดเด่นของเพลงอีแซว ได้แก่ บทร้อง ทำนองที่สนุกสนานชวนให้น่าติดตาม และลีลาท่าทางของผู้แสดงที่สามารถแสดงออกได้อย่างละคร ทั้งการพูด เจรจา การแสดงความเคลื่อนไหวที่นำมาซึ่งท่าทางที่อ่อนช้อยสวยงาม สง่างามอย่างยิ่ง

        ตัวอย่าง กิจกรรมเพลงอีแซว เพื่อสังคมไทย ได้แก่ 

        - การแสดงเพลงอีแซว ชุดการแก้ไขปัญหาสังคมปัจจุบัน

        - การแสดงเพลงอีแซว ตับนรก-สวรรค์

        - การแสดงเพลงอีแซว ประคารม เล่นเป็นเรื่อง เป็นสำนวนที่มีคติ

        - การแสดงเพลงอีแซวรณรงค์ ส่งเสริมประชาธิปไตย

        - การแสดงเพลงอีแซว ชุดอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย

        เมื่อสมาชิกได้รับทราบหลักการพอสมควรแล้ว ต่อไปสมาชิกทุกกลุ่ม จะต้องแสดงความสามารถในการนำเอาเพลงอีแซวไปใช้ในการนันทนาการ สร้างความสุขกายสุขใจให้กับสังคมไทย โดยสามารถนำเอาศิลปะอื่น ๆ มาผสมผสานกับเพลงอีแซวได้อย่างเหมาะสม กลุ่มสมาชิกร่วมกันคิดวางแผน และนำเสนอผลงานที่รับใช้สังคมไทย กลุ่มละ 10-15 นาที

               

2. แนะนำการเริ่มต้นด้นกลอนสด และวิธีแต่งกลอนในอากาศ

    (ประธานกลุ่มกิจกรรมการแสดงเพลงอีแซวต้นแบบประเทศไทย)

         การแสดงเพลงอีแซว สิ่งจำเป็นในการฝึกหัดคือ บทร้อง หรือเนื้อเพลงที่จะนำมาขับขาน จะต้องมีอยู่ในตัวของผู้ร้องและผู้ร้องจะต้องจำได้อย่างมั่นใจ เมื่ออกไปแสดงความสามารถที่หน้าเวทีย่อมที่จะไม่มีความประหม่าตื่นตระหนกตกใจ หรือถ้ามีก็เพียงเล็กน้อย สามารถควบคุมอารมณ์ของตนได้

         บทร้องเพลงอีแซว มาจากการแต่งกลอน กลอนที่ใช้แต่ง ครูเพลงในยุคก่อนท่านเรียกว่ากลอนทางเดียว “ขึ้นไล ลงไล”  ขึ้นลา ลงลา”  ขึ้นลี ลงลี”  กลอน ไล  กลอนลา  กลอนลี ต่อมานักวิชาการเรียกใหม่ว่า กลอนหัวตัว ความจริงน่าจะเรียกแบบโบราณว่า “กลอนลงเดียว” คือลงสระอะไรไว้เมื่อร้องต่อไป อย่าไปลงคำอื่น จะต้องลงด้วยสระเดิม  แต่คนในยุคก่อนท่านก็มีความรู้ลึกและกว่างขวางท่านเกรงว่าคนฟังจะเบื่อ จึงมีการเปลี่ยนกลอนลง ก่อนที่จะลงด้วยสระใหม่ ท่านจะร้องว่า “ถอยกลอนลงมาย้อยกลับ  จะเปลี่ยนคำรับ เป็นกลอนลา” อย่างนี้ต่อไปก็ร้องลงคำสุดท้ายสระอา หรือร้องประสานกลอนว่า  ช่อมะดกอกดอกมะไฟ  จะเปลี่ยนจากกลอนไล ไปเป็นกลอนลู”

ตัวอย่างบทกลอนเพลงอีแซว     1 บท จะมี 2 วรรค (วรรคหน้ากับวรรคหลัง)

         เอ๊ย.. เพลงอีแซวบ้านฉัน  มีมานาน นับร้อยปี (เอย..) นับร้อยปี

         เขาร้องลง  สระอี             สระอา สระไอ (เอ๊ย...) สระไอ

         จะลงด้วย  สระอะไร         ต้องจำไว้  ให้แม่นยำ

         ต้องเลือกสรร หาถ้อยคำ    ที่งดงาม  นำออกไป 

ผังคำกลอนเพลงลงเดียว

       

         กลอนสดเพลงอีแซว  คือการร้องที่ไม่มีการเตรียมบทร้องเอาไว้ล่วงหน้า ผู้ร้องจะต้องสรรค์คำมาร้องอย่างฉับพลันทันด่วนและมีความเลื่อนไหลอย่างสม่ำเสมอโดยไม่มีติดขัด ดังรั้นกลอนสด ๆ จึงเป็นความพิศวง ที่ท้าทายผู้ฟังได้คิดและติดตามว่า ผู้ร้องในเรื่องนั้น ๆ จะกล่าวถึงอะไรบ้าง คิดได้อย่างไร

         หลักการด้นกลอนสด เพลงอีแซว

         1. เรียนรู้ผังคำกลอน ให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง จำตำแหน่งสัมผัสทุกจุดเอาไว้

         2. ฝึกแต่งกลอนในอากาศ  พยายามหาคำร้องออกมามาก ๆ ในเวลานาน ๆ

         3. หาคำสัมผัสเพื่อที่จะเชื่อมความไพเราะในวรรคเดียวกันและวรรคต่อไปให้ได้

         4. ฝึกร้องทีละวรรค โดยหาคำร้องที่แตกต่างกันและเป็นข้อมูลที่เรามีอยู่มากพอที่จะนำเสนอ

         5. คำสุดท้ายของวรรคหลังเป็นคำลง ถ้าเป็นคำลงจบบท จะต้องหาคมที่จิกหัวใจผู้ฟังให้เกิดอารมณ์

         ในวันนี้ ผมได้จัดเด็ก ๆ ชุดใหม่ในวงเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ ออกไปแสดงความสามารถด้นกลอนสดเพลงอีแซว โดยมีหลักว่า ผู้ร้องจะต้องสรรหาคำเอาออกมาร้องให้ได้อย่างฉับพลันโดยที่ผู้ร้องผูกสัมผัสเพียงจุดเดียว คือ คำสุดท้ายของวรรคหน้า จะต้องไปลงสัมผัสกับคำที่ 3-4 ในวรรคหลังเท่านั้น ต่อจากนั้นก็เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้แสดงความสามารถด้นกลอนสดกันเป็นครั้งแรกในชีวิต หลาย ๆ คนก็ไม่กล้า ผมแนะเคล็ดลับให้ ในที่สุดก็พอทำได้และทำได้ดีกันหลายคน สิ่งที่ได้รับคือ กล้าคิด กล้าทำ นำมาซึ่งการแก้ปัญหา

3. วิธีการแสดงเพลงอีแซวสุพรรณฯ ที่ถูกต้องตามแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น

    (ครูผู้ฝึกสอนในแต่ละโรงเรียนที่มาร่วมกิจกรรม และประธานกลุ่ม)

         จากประสบการณ์ในการแสดงเพลงอีแซว ที่ผมได้เรียนรู้มาจากครูเพลงชาวบ้านหลายท่าน (มากว่า 20 ท่าน) และเป็นเวลานานตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2513 (เริ่มต้นมาก่อน จากน้าชาย ปี พ.ศ. 2505) โดยมีป้าอ้น จันทร์สว่าง ป้าทรัพย์ อุบล  ลุงหนุน  กรุชวงษ์  น้าถุง พลายละหาร  น้าปาน เสือสกุล  แม่บัวผัน จันทร์ศรี และอีกหลายท่าน ผมได้แสดงเพลงร่วมกับนักแสดงรุ่นครูเก่าหลายครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่เข้าประกวดเพลงอีแซวของจังหวัดสุพรรณบุรี บนเวทีในคืนวันที่ 6 เมษายน 2525 คืนนั้นมีป้าอ้น จันทร์สว่างอยู่เป็นลูกคู่ให้วงเพลงอีแซวอำเภอดอนเจดีย์ด้วย โดยมีผมเป็นพ่อเพลงของวงอำเภอดอนเจดีย์ ได้รับถ้วยรางวัลชนะเลิศ เพลงอีแซวด้นสดในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ต่อจากนั้นผมได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์มายาวนานและได้นำเอาความสามารถที่มีเผยแพร่สู่เยาวชนจนถึงวันนี้

         รูปแบบของการแสดงเพลงอีแซว จากประสบการณ์ที่ได้พบเห็นมาจากในอดีตถึงปัจจุบัน

         1. ในอดีตเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2505 เล่นเป็นวง สับเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นวงกลม ร้องว่าโต้ตอบกัน

         2. ต่อมาเล่นเป็นยืน ชายยืน (หญิงนั่งลง) หญิงยืน (ชายนั่งลง) เพลงประยืนพร้อมกันทั้ง 2 ฝ่าย

         3. ต่อมาประมาณ ปี พ.ศ. 2530 ยืนเป็นแถวมีพ่อเพลงแม่เพลงอยูหน้าผู้แสดงประกอบรำอยู่แนวหลัง

         4. ในยุคปัจจุบัน เพลงอาชีพเล่นแบบยืนทั้งหมด มีรำประกอบอยู่แนวหลังเป็นนักแสดงหญิงเท่านั้น

         5. รูปแบบการแสดงเพลงอีแซวของเยาวชน เป็นไปตามความเข้าใจของครูผู้ฝึกสอน บางวงมีอุปกรณ์ประกอบการแสดงมาเสริมบางวงมีการแสดงบทบาทประกอบเรื่อง แยกผู้รำต่างหากจากผู้ร้อง

         สมาชิกเครือข่ายทุกกลุ่ม นำเอาความสามารถออกไปแสดงที่หน้าห้องขยายผล ตามความถนัดหรือตามเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของแต่ละทีม ประมาณ 10-15 นาที

         1. โรงเรียนบางลี่วิทยา  แสดงเพลงอีแซวร่วมกับการแสดงที่สนุกสนานเต้นประกอบ

         2. โรงเรียนศรีประจันต์ “เมธีประมุข” ร้องเพลงอีแซวและเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ผสมผสานกัน

         3. โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 7 ร้องเพลงอีแซวประกอบการแสดงละครที่ได้อารมณ์มาก

         4. โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 แสดงเพลงอีแซวเน้นเสียงร้องลีลาท่าทางประกอบ

                 

         ตลอดเวลาเกือบจะทั้งวัน สมาชิกได้รับความรู้ ได้แสดงความสามารถ ได้แสดงความเห็นของตนเองและความเห็นที่มีต่อการแสดงของเพื่อนสมาชิก เด็ก ๆ ทุกคนมีความสุขกับกิจกรรมนันทนาการด้วยเพลงอีแซวจนถึงเวลาเย็นจะต้องจากกันกลับบ้าน ได้นัดหมายการพบกันในครั้งต่อไปด้วยความอาลัยซึ่งกันและกัน

ติดตาม ตอนที่ 3 วันที่สองของการขยายผลสู่เครือข่ายเพลงอีแซว

หมายเลขบันทึก: 402585เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2010 08:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ขอบคุณมากค่ะ..น่าสนใจมากที่ได้มีการอนุรักษ์และถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง..

ตอบความเห็น คุณนงนาท สนธิสุวรรณ

  • ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมเยือน คนทำงานภูมิปัญญาเพลงพื้นบ้าน ขอบคุณมากครับ
  • ผมดำเนินชีวิตอย่างนี้มานานกว่า 40 ปี แล้ว ภูมิรู้ทั้งหมดผมได้ถ่ายทอดเพื่อฝากเอาไว้เป็นมรดกกับลูกศิษย์ ให้พวกเขาได้สืบสานกันต่อไป

 

ขอชื่นชมในอุดมการณ์ค่ะ

  • ขอบคุณ คุณปภาอร  แก้วสว่าง ที่เข้ามาเยี่ยมบล็อก "เพลงอีแซว" ในช่วงเวลาสุดท้าย
  • ยังมีบุคคลที่ทำงานด้วยอุดมการณ์อย่างนี้อีกหลายคน ครับ ใครจะค้นหาพวกเขาจนพบได้

ดีจัง ที่มีคนเก่งอย่างคุณ

ตอบความเห็นที่ 5 Kruto

  • ขอบคุณ ครูโตที่แวะเข้ามาเยี่ยม
  • ยังมีคนทำงาด้านภูมิปัญญาอีกหลายคนที่ไม่มีใครมองเห็น

ชื่นชมครับ เด็กจะได้พัฒนา EQ. สรรค์สร้างความเป็นคนที่สมบูรณ์มากขึ้น ดนตรีพัฒนาคนได้มากกว่าความสนุกและสุนทรีย์ ขอให้กำลังใจ ครับ

ตอบความเห็นที่ 7 คุณสภา

  • ใช่ครับ ดนตรีและการแสดงช่วผ่อนคลายความเครียด นำไปสู่ความโปร่งใสได้คิด
  • ขอบคุณในกำลังที่ส่งมาให้ และขอให้สิ่งที่ดีย้อนกลับไปยังผู้ที่คิดดีเสมอ นะครับ

ขอเป็นกำลังใจให้ กับคุณที่เป็นหนึ่งในสยามที่จะร่วมกันสืบทอดวัฒนธรรมไทย ถึงแม้จะยากเหลือเกิน

ผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ยังคงรักวัฒนธรรมไทย และก็พยายามต่อสู้กับวัฒนธรรมที่หลั่งไหลมาจากนอกประเทศ

ตอบความเห็น คุณอนวัช

  • ใช่ครับ สิ่งนี้ทำได้ยากเหลือเกิน จึงมีคนเข้าไปสัมผัสไม่มาก มีคนเพียงส่วนน้อยที่มุ่งมั่นอย่างจริงใจ การที่จะหาคนรุ่นใหม่มาสืบสานต่อไปก็หายาก
  • ดี ครับ เรามาช่วยกันคนละแรงจะทำได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับแรงผลักดันหรือต้านของสังคม
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท