อยากให้ครูทำวิจัยกรณีศึกษาจริงๆ


มนุษย์เรียนรู้จากมนุษย์ผ่านงานวิจัย

อยากให้ครูทำวิจัยกรณีศึกษาจริงๆ 

 ทำไมต้องเป็นวิจัยกรณีศึกษา เป็นคำถามที่มีคำตอบจากบุคคลที่มองวิจัยกรณีเป็นงานเล็ก ๆ และแนะนำคุณครูที่เริ่มหัดทำวิจัยด้วยการเขียนวิจัยหน้าเดียวจากงานของครู  และเรียกว่าวิจัยกรณีศึกษาบ้าง  วิจัยในชั้นเรียนบ้าง  ความจริง การเรียกจะถูกหรือจะผิดไม่น่าเสียหาย ถ้า สาระความรู้จากการวิจัย ให้คุณค่าต่อการพัฒนาวิชาชีพ วิชาการ หรือ ประเทืองปัญญาบุคคลได้ ก็ปรับการเรียกให้ถูกต้องเท่านั้นเอง  แต่ถ้างานที่ปรากฏไม่มีคุณภาพ หรือคุณค่า ไม่ว่าจะเรียกอะไรก็ยากแก่การแก้ไข

รายงานวิจัยกรณีศึกษาที่มีคุณภาพ (ความจริงไม่พูดถึงงานที่ด้อย เพราะมันไม่ใช่)  เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่จะก้าวสู่มืออาชีพในแขนงวิชาชีพต่างๆ เช่น การสอนเด็กที่บกพร่องการอ่าน  การแก้ปัญหาเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือ ความสำเร็จของเด็กอัจฉริยะด้านคณิตศาสตร์ เป็นต้น   รายงานในกรณีศึกษา เป็นความรู้ที่ได้จากการติดตาม สังเกต สืบเสาะความจริงในบริบทของวิถีชีวิตจริงของผู้ถูกเลือกเป็นกรณีศึกษา   เป็นบทเรียนที่ทำให้เข้าใจความเป็นมาและเหตุผลของเรื่องราวต่างๆในชีวิตจริง  ผลงานวิจัยกรณีที่มีคุณภาพ สามารถให้คุณค่าต่อการพัฒนาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เช่น การสอน ตั้งแต่ระดับสร้างความเข้าใจ จากการอธิบาย บรรยายกรณีที่ศึกษา จนถึงการสรุปความรู้สู่หลักการได้กว้างและ ชัดเจน   นักวิจัยต้องมีทักษะการตั้งคำถาม การสังเกต และมีเหตุผลในการเชื่อมโยงปรากฏการณ์ สามารถอธิบาย สรุปสาระอย่างถูกต้องตามหลักตรรกะ ไม่ใช่การทำเอกสารที่ 1 หน้า หรือ 5 บท ที่ไม่สามารถสื่อสาระใดๆ  ถ้าครูและผู้บริหารฝึกฝนและนำเทคนิคไปใช้ในกับการทำงานในหน้าที่  จะช่วยเสริมคุณภาพงานและพัฒนาความสามารถในการเขียนสื่อสารที่แสดงความเป็นมืออาชีพของตน

ผู้เขียนได้อ่านบทความของศาสตราจารย์ชาวเดนมาร์กท่านหนึ่ง ชื่อ Bent Flyvbjerg  เขากล่าวถึงคุณค่าด้านบทบาทกรณีศึกษาในการเรียนรู้ของมนุษย์ (The Role of Cases in Human Learning) อย่างน่าสนใจ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นประเด็นที่ควรทำความเข้าใจอย่างมาก จึงขยายความด้วยตัวอย่างที่เรามีอยู่ในวงการศึกษาของเรา 

1. การวิจัยกรณีศึกษาสร้างความรู้บนฐานของบริบทวิถีชีวิต (context-dependent knowledge)  สามารถถอดบทเรียนความจริงแห่งการพัฒนาปัญญามนุษย์  บทเรียนเหล่านี้ได้เป็นครูสอนผู้ครู  เรามักจะเกิดความภูมิใจว่า เราเป็น”ศิษย์มีครู”  บางเรื่องศิษย์หาครูไม่ได้ อาจต้องอาศัย “ผิดเป็นครู”  นั่นแสดงว่า มนุษย์เรียนรู้จากมนุษย์  เมื่อเราทำความเข้าใจและฝึกทักษะการเรียนรู้แบบนักวิจัย ศิษย์ของเราคงก้าวต่อไปสู่ความเชี่ยวชาญ (ที่ไม่จำเป็นต้องรับรองด้วยตราวิทยฐานะเชี่ยวชาญชำนาญการพิเศษ) และเรียนต่อไปที่ไม่ต้องเรียนอย่างผิดๆที่ซ้ำซากแบบไร้อนาคต

2. ในการศึกษาวิถีชีวิตมนุษย์ จะพบบทบาทจริงในสังคมที่มีความซับซ้อน และสับสน จึงเป็นการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง เห็นแง่มุมของการพัฒนาปัญญาที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขตามจริงแห่งชีวิต  การเรียนรู้แบบนี้สร้างปัญญาที่เฉียบแหลม รู้ทัน ผู้เขียนระลึกถึงบทเรียนที่ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์(ปยุตฺโต)สอนเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วด้วยตัวอย่างคำถามว่า   ”พระพุทธเจ้าเป็นคนเห็นแก่ตัวใช่ไหม” เป็นคำถามของผู้ฟังปาฐกถาธรรมของท่านเจ้าคุณที่มหาวิทยาลัยสวอร์ทมอร์ เมื่อ 2519  (พบบันทึกความทรงจำในหนังสือ “ในความทรงจำที่งดงามสดใส ) ท่านตอบคำถามด้วยการแยกแยะประเด็นให้คนถามคิดตามอย่างมีเหตุผล หลักสำคัญคือ การตัดสินพฤติกรรมของคนต้องพิจารณาด้วยบริบทของสังคม วัฒนธรรมในช่วงเวลาเดียวกัน และตามติดพฤติกรรมที่สะท้อนให้เห็นเจตนาที่แท้จริง ผู้เขียนขอสรุปคำตอบของท่าน  ว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้สละความสบายเพื่อแสวงหาความหลุดพ้นความทุกข์ให้แก่ชาวโลก เมื่อตรัสรู้แล้วได้เสด็จไปโปรดพระบิดา มารดาผู้อุปถัมภ์ และวงศาคณาญาติ พระธรรมของพระองค์มีอานุภาพที่สร้างสันติสุขของโลกได้โดยไม่ต้องมีการรบราฆ่าฟันให้เสียเลือดเนื้อ ทุกคนเป็น hero ได้โดยไม่ต้องทำศึกสงครามใดๆ (ขณะนั้นอเมริกากำลังส่งทหารไปทำสงครามที่ประเทศเวียตนาม) ผู้เขียนได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีวิเคราะห์ปัญหาแบบพหุมิติ และยึดเป็นหลักในการพิจาณาเหตุการณ์ก่อนลงความเห็นเสมอ

ตัวอย่างผลงานที่มีคุณภาพที่ยืนยันคุณค่าของการศึกษากรณีในศาสตร์ต่าง ๆ มีมาก จึงเป็นหน้าที่ของครูอาจารย์ที่จะค้นหาและใช้เป็นสื่อการสอนในวิชาต่างๆ ที่เห็นคุณค่าการบูรณาการในวิถีชีวิติ ถ้าหากไม่พบผลงานที่จะเป็นตัวอย่าง  ผู้สอนน่าจะได้ศึกษากรณีบุคคลสำคัญให้เป็นตัวอย่างที่เยาชนได้เรียนรู้  ในแนวความคิดนี้ ผู้เขียนได้นำมาสร้างโครงการวิจัยในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชื่อ “โครงการวิจัยหกสิบปีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์: ศาสตร์แห่งแผ่นดิน”[1]  แล้วเชิญชวนอาจารย์มาร่วมศึกษาภูมิปัญญาผู้สร้างศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีนักวิจัยมาร่วมโครงการประมาณ 40 คน  คณะนักวิจัยได้คัดเลือกภูมิปัญญาเป็นกรณีศึกษา ดำเนินการตั้งแต่ 2546 ขณะนี้มีผลงานปรากฏ 20 เล่ม อาทิ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ กับการสุขาภิบาลไก่   ศาสตราจารย์ระพี สาคริก กับกล้วยไม้ไทย   ศาสตราจารย์สรสิทธิ์ วัชโรทยานกับดินและปุ๋ย  ศาสตราจารย์ปวิณ ปุณศรีกับองุ่น  เป็นต้น  รายงานวิจัยเหล่านี้ ตั้งใจจะให้นิสิตและผู้สนใจได้ศึกษาชีวประวัติและการพัฒนาศาสตร์ของภูมิปัญญา ในเล่มประกอบด้วยการค้นคว้าที่นำเสนอเป็น 3 ตอน คือ ตอนที่ 1 ผลงาน เป็นการนำเสนอผลงาน องค์ความรู้หรือศาสตร์ ประกอบด้วยหัวข้อย่อย บรรยายให้เห็นทฤษฎี แนวคิดที่ค้นพบ โดยมีเหตุการณ์ประกอบการนำองค์ความรู้นั้นไปใช้ หรือแสดงให้รับรู้ในวงวิชาการอย่างเป็นรูปธรรม   ตอนที่ 2 ชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศาสตร์  เป็นการบรรยายให้เห็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับชีวิตในช่วงต่างๆ เช่นวัยเด็ก วัยเรียน และวัยทำงาน ที่มีเหตุการณ์สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์กับการสร้างศาสตร์ ด้านความสามารถ ความสนใจ คุณลักษณะ และ คุณธรรม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อมูลของแต่ละกรณี  ตอนที่ 3 คุณค่าของงานและชีวิตที่ให้ไว้กับแผ่นดิน  เป็นการนำเสนอผลการวิเคราะห์จากตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ในประเด็นของการเป็นแบบอย่างของภูมิปัญญา ในด้านการพัฒนาศาสตร์เยี่ยงนักวิจัยที่มีบุคลิกภาพที่เป็นแบบอย่าง เช่น การถ่ายทอด หรือการสอนที่สืบทอดศาสตร์ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างมีอุดมการณ์ หรือภาพลักษณ์ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อคนยุคใหม่ หรือศิษย์ หรือสังคม   ผู้สนใจติดตามงานเผยแพร่ของมหาวิทยาลัยได้

ผู้เขียนจึงขอเชิญชวนคุณครู และผู้บริหารสถานศึกษามาร่วมกันสร้างการเรียนรู้ด้วยการทำวิจัยกรณีศึกษา โดยเริ่มจากการสอนที่คุณครูเชี่ยวชาญ หรือเทคนิค วิธีบริหารที่ผู้ยริหารเชี่ยวชาญ  ตั้งเป้าหมายความคาดหวังจากการศึกษาว่า จะสร้างคุณค่าแก่ใคร ที่ไหน ด้วยเหตุผลใด  แล้วตั้งคำถามวิจัยที่มีลักษณะคำถาม “ทำไม”  “อย่างไร”  เช่น “ทำไมเด็กชายกบไม่ทำการบ้านเสมอ ๆ “  “ทำไมนักเรียนกลุ่มนี้จึงยกพวกตีกันหลายครั้ง”  “จะช่วยนักเรียน คนนี้ หรือกลุ่มเรียนอ่อนมีความเครียดน้อยลงอ่างไร”   “ทำอย่างไรจึงจะช่วยครูที่เงินเดือนชนเพดานให้มีผลงานเพื่อประเมินให้ได้วิทยฐานะ”  “ทำไมครูจึงไม่ตรวจการบ้านนักเรียน”  ตัวอย่างคำถาม ดูไม่ใหญ่โตพอที่จะทำเป็นผลงาน  แต่ที่แนะนำ เพราะอยากให้ฝึกทำงานที่ใกล้ตัว  ให้มีคุณภาพระดับผลงานวิจัย  หรือท่านจะมีคำถามที่น่าสนใจระดับผู้เชี่ยวชาญ ก็เชิญทำ   เมื่อตัดสินใจแล้ว ลงมือปฏิบัติการ ให้นำกระบวนการวิจัยตามหาคำตอบทุกคำถามย่อยที่ท่านมุ่งให้มีความชัดเจน และให้เกิดประโยชน์กับตัวท่านเองก่อน ว่าได้เห็น ได้ข้อคิด อย่างไร  ถ้าท่านทำอย่างที่ชักชวน  โปรดนำเสนอใน blog ของ gotoknow  มาแลกเปลี่ยนกัน น่าสนุกใช่ไหม  

 

 

 


[1] ภาวิณี ศรีสุขวัฒนานันท์ หัวหน้าโครงการ. คู่มือนักวิจัยโครงการวิจัยหกสิบปีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์: ศาสตร์แห่งแผ่ดิน . 2546

หมายเลขบันทึก: 402569เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2010 00:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • สวัสดีครับ อาจารย์ภาวิณี
  • ตอนนี้กำลังทำเครื่องมือการวิจัยอยู่ครับ "แบบฝึกเรื่องปริมาตรและพื้นที่ผิว"
  • ถ้ามีปัญหาขอปรึกษานะครับ
  • ผมชื่อ ฐานิศวร์  ผลเจริญ  เป็นครูคณิตศาสตร์ ร.ร.กระสังพิทยาคม จ.บุรีรัมย์ ครับ
  • ขอบคุณครับผม

เรียนอาจารย์ที่เคารพ

เมื่อได้อ่านบันทึกนี้ของอาจารย์แล้ว รู้สึกได้ใจมาก ๆ ค่ะ
เพราะครูแอ้กำลังศึกษาผู้เรียนคนหนึ่งที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
และเรียนร่วมกับผู้เรียนปกติ แต่สามารถทำงานที่มอบหมายถูกต้องสมบูรณ์ครบถ้วน
และได้คะแนนดีกว่าผู้เรียนปกติหลาย ๆ คนทั้งที่ตั้งใจเรียนและไม่ตั้งใจเรียน
จึงเป็นข้อสงสัยว่านักเรียนคนนี้มีความคิดเห็นอย่างไรต่อการจัดการเรียนการสอน
แบบเรียนร่วมตลอดจนวิธีการเรียนของเขามีกระบวนการอย่างไร

งานนี้ครูแอ้มั่นใจว่าจะเป็นวิจัยในชั้นเรียนได้แน่นอน
แต่จะเป็นงานวิจัยที่มีความสมบูรณ์ได้หรือไม่คะ
ซึ่งข้อมูลที่ได้น่าจะมีผลต่อการพัฒนาวิธีการเรียนการสอนและการสร้างสื่อที่เหมาะสม

มาชื่นชมและเชียร์การวิจัยครับ

เป็นเรื่องคู่กันกับการเป็นครูครับ

วิไลวรรณ วิภาจักษณกุล

เรียน รศ.ดร.ภาวิณีที่เคารพคะ

บทความของอาจารย์น่าสนใจคะ ให้กำลังใจในการเริ่มตันของผู้เรียนรู้ จะลองใช้กับนักศึกษาที่สอนในเทอมหน้าคะ ถ้ามีปัญหาอะไรหนูเรียนถามอาจารย์นะคะ

“วิจัยเด็กจากงานครูคู่การจัดการศึกษา” จากประสบการณ์ของผู้เขียนเองเห็นว่า ทุกวันนี้การจัดการศึกษาทุกระบบมีความหลากหลายทั้งพหุวัฒนธรรม พหุบริบท พหุนโยบาย และอื่นๆอีกมายหมาย นอกจากนี้ เด็ก ผู้ปกครอง สภาพครอบครัวที่แตกต่างกัน ยังเป็นจุดเริ่มต้นความท้าทายที่ครูจะต้องตระเตรียมองค์ความรู้ ลับสมองเทคนิควิธีการต่างๆ ที่จะนำมาเรียกใช้ได้อย่างทันท่วงที ผู้เขียนจึงคิดว่า การสะสมกรณีศึกษาที่มีคุณภาพไว้เป็นแหล่งเรียนรู้หรือสร้างเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ถือว่าเป็นแนวคิดที่ดีแนวคิดหนึ่ง แต่สิ่งที่ควรตระหนักการนำผลการศึกษาวิจัยของผู้อื่นไปใช้ แม้ว่าจะเป็นปัญหาเดียวกัน สถานการณ์เดียวกัน ก็จะต้องมีการทบทวนสภาพปัญหา บริบทของปัญหา ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหา บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเกิดปัญหา การแก้ไขปัญหา จากนั้นจึงเรียบเรียง คัดกรอง และคัดเลือกแนวทางที่ควรจะเป็นไปได้สำหรับการนำไปใช้แก้ไขปัญหานั้น ๆ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจเพื่อลงมือแก้ไขปัญหานั้นๆ ให้กับเด็กๆ พ่อแม่ผู้ปกครอง ถือว่า เป็นการทำงานร่วมกันอย่างเป็นร่วมระหว่าง เด็ก ครู พ่อแม่ผู้ปกครอง โรงเรียน เพื่อให้ปัญหานั้นทุเลาลงหรือได้รับการแก้ไขให้เจือจาง เบาบางลงไป ตลอดจนหมดสิ้นไปให้มากที่สุด ผลการแก้ปัญหาในแต่ละกรณี หากมีการเชื่อมโยงแนวคิดแก้ปัญหาให้เข้ากับแนวคิด ทฤษฎี หลักการต่างๆ อย่างถูกหลักวิชาการ หากถูกรวบรวมไว้อย่างเป็นหมวดหมู่ ย่อมเกิดประโยชน์สูงสุดแก่แวดวงการศึกษาเป็นอย่างมาก ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอสนับสนุนการนำเนื้องานการแก้ปัญหาเด็กๆนักเรียนมาเขียน เรียบเรียงเป็นงานวิจัยกรณีศึกษา เพราะจะเกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นในวงกว้างและช่วยพัฒนาศาสตร์การสอนได้เป็นอย่างดี

เป็นบทความที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำวิจัยที่เกิดจากปัญหาของนักเรียนจริงๆ เช่น บางครั้งสิ่งที่เรามองข้ามนักเรียนเมื่อนักเรียนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะ แต่ครูอาจมองข้ามและคิดว่าปัญหานั้นเป็นเพียงเล็กน้อยแต่ที่จริงอาจเป็นปัญหาใหญ่สำหรับนักเรียนก็ได้ เราลองมองปัญหาของนักเรียนอาจเป็นการแก้ปัญหาให้นักเรียนหลายๆคนก็ได้ ค่ะ

“ การฝึกตนให้รู้จักสังเกตสิ่งรอบตัว รู้จักเก็บรายละเอียด ก็สามารถทำให้นักเรียนของเราพัฒนาขึ้นได้จริงๆ แม้ปัญหานั้นอาจจะดูเล็กน้อย “ นี่คือความคิดที่ผุดขึ้น หลังจากเห็นคำว่า “ศึกษาสิ่งใกล้ตัว “ จากที่อ่านบทความดีๆนี้ ทำให้ดิฉันหันกลับมามองการทำงานของตน ที่เป็นอาจารย์สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มออทิสติก ที่เราสามารถสังเกตเห็นพฤติกรรมนักเรียนได้ตลอดเวลา ย้อนไปตอนเริ่มทำงาน เดิมทีดิฉันจบด้านจิตวิทยาชุมชน จึงมิได้มีความรู้มากนักในด้านพัฒนานักเรียนกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ แต่วันหนึ่งดิฉันสังเกตเห็นนักเรียนของตน เกิดการเปลี่ยนแปลงบางสิ่ง นักเรียนคนนี้มักนำอวัยวะเพศเกยบนโต๊ะ อาจเป็นเพราะสรีระร่างกายที่เปลี่ยนแปลงตามวัย และด้วยสภาวะออทิสติกที่มีความงุ่มง่าม เพื่อนร่วมห้องไม่ได้สังเกตเห็น ปัญหาของเด็กคนนี้ใหม่มากสำหรับอาจารย์ที่พึ่งทำงาน นี่คือสถานการณ์จริง และครั้งแรกที่เห็นคือตกใจเหมือนกัน แต่ดิฉันรู้สึกโชคดีที่สังเกตเห็นปัญหาตรงนี้ เพราะนี่คือสิ่งที่นักเรียนจะต้องเรียนรู้วิธีรับมือหรือการจัดการตนและจะไม่เป็นปัญหาในอนาคต ทำให้ดิฉันได้ความรู้เพิ่มขึ้นในการหาวิธีสอนนักเรียน และทำให้นักเรียนปฏิบัติตนถูกต้องสมวัย ในอนาคตดิฉันมีโอกาสได้ทำวิจัยอย่างแน่นอน คงเป็นการดีถ้าได้สังเกตเห็นปัญหาที่ดูผิวเผินอาจมองไม่เห็นและสามารถนำมาแก้ไขได้ในรูปแบบการวิจัยและบันทึกเป็นกรณีศึกษา เพื่อช่วยอาจารย์ที่ต้องดูแลนักเรียนที่อาจมีปัญหาหรือนักเรียนคนอื่นต่อไป

การทำวิจัยในชั้นเรียนถือว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง และถ้าจะให้ดีครูผู้สอนต้องทำจริง และทดลองกับผู้เรียนจริง ๆ เพราะถ้ามัวแต่ทำวิจัยเพื่อให้ได้แค่ผลงานแล้วไม่ได้เข้าถึงในตัวผู้เรียนเลย การทำวิจัยนั้นก็ถือว่าไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง การทำวิจัยถือเป็นการฝึกอย่างหนึ่งของครูนั่นก็คือ การฝึกเป็นผู้สังเกต และฝึกศึกษาวิถีชีวิตตามบริบทที่แตกต่างกัน เพื่อให้ได้มาสู่การปรับเปลี่ยน พัฒนาให้ไปสู่เป้าหมายที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท