Dhamma in English (10)


Kamma/Karma

        รายการ Dhamma in English ครั้งที่ ๑๐ นี้  ผู้เขียนขอเสนอคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่อาจกล่าวได้ว่ามีอิทธิพลต่อสังคมไทยมากที่สุดเรื่องหนึ่ง  นั่นคือเรื่อง "กรรม" ฝรั่งนิยมเขียนว่า "Kamma" หรือ "Karma" คำแรกเป็นภาษาบาลี  สะกดแบบไทยว่า "กัมมะ" คำหลังเป็นภาษาสันสกฤต สะกดแบบไทยว่า "กรรม" นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่อย่างน้อยก็มีคำสอนหนึ่งหยั่งรากลึกลงในวิถีชีวิตของคนไทย  จนมีอิทธิพลต่อการกำหนดความคิดความเชื่อของคนในสังคม  แต่ในความน่ายินดีก็มีความน่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย

      บ่อยครั้งที่เราได้ยินคนไทยพูดคำว่า "ก้มหน้ารับกรรม" "ชาตินี้มีกรรม"  "กรรมของสัตว์" "สุดแต่บุญแต่กรรม" สำนวนเหล่านี้บ่งบอกว่าคนไทยเข้าใจเรื่องกรรมในแง่ที่ว่า (๑) มองกรรมในแง่ที่เป็นเรื่องร้ายๆ  (๒) มองกรรมในแง่ที่ผลของการกระทำ เช่นเราเห็นใครบางคนประสบเคราะห์ร้าย ก็มักจะบอกว่า "เป็นกรรมของสัตว์" (๓) มองกรรมในแง่ของผลการกระทำไม่ดีในชาติที่แล้ว เช่น บอกว่า "ชาติที่แล้วเราคงทำไม่ดีกับเขาเอาไว้" สรุปแล้วก็คือการมองกรรมในแง่เป็นผลและเป็นเรื่องร้ายๆ นอกจากนั้น ความเชื่อเรื่องกรรมของคนไทยยังแฝงไว้ด้วยทัศนคติ (attitude) ที่ไม่ดีทั้งต่อตนเองและคนอื่นด้วย  กล่าวคือเมื่อมองว่าตนเองเป็นคนมีกรรมหรือชาตินี้มีกรรม  ก็จะตามมาด้วยท่าทีแบบทอดธุระ  ท้อแท้ถดถอย  ไม่คิดที่จะต่อสู้หรือปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น  เมื่อมองคนอื่นที่ได้รับความเดือดร้อนว่าเป็นกรรมของสัตว์  ก็จะตามมาด้วยท่าทีแบบเพิกเฉย  ปล่อยให้เป็นเรื่องยถากรรมของใครของมัน      

     ทีนี้เรามาดูว่าพระพุทธศาสนาสอนเรื่องกรรมอย่างไร  คำว่า "กรรม" แปลตามศัพท์ว่า "การกระทำ" (action/deed) หมายถึงการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา (volitional action) หรือการกระทำที่มีฐานมาจากความจงใจ (action based on intention) หรือบางครั้งก็มุ่งเอาเจตนานั่นแหละเป็นตัวกรรม  ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย  เรากล่าวว่าเจตนาเป็นกรรม " (Bhikkhus! Intention, I say, is Kamma)  กรรมเป็นคำที่มีความหมายกลางๆ ใช้ในทางดีก็ได้  ไม่ดีก็ได้  มุ่งเอาตัวการกระทำหรือตัวสาเหตุ (causes/conditions) มากกว่าตัวผล (result) ถ้าใช้ในทางดีเรียกว่า "กุศลกรรม" (wholsome action) ถ้าใช้ในทางไม่ดีเรียกว่า "อกุศลกรรม"  (unwholesome action)  ถ้ามุ่งถึงช่องทางที่แสดงออกก็แบ่งเป็น ๓ อย่าง คือ การกระทำทางกาย (กายกรรม-bodily action) การกระทำทางวาจา (วจีกรรม-verbal action) การกระทำทางใจ (มโนกรรม-mental action) 

      การที่จะเข้าใจเรื่องกรรมในพระพุทธศาสนาได้ดี  เราต้องย้อนกลับไปดูภูมิหลังสังคมอินเดียสมัยโบราณว่าเขาอธิบายความเป็นไปในชีวิตของมนุษย์อย่างไร  สมัยนั้นมีแนวคิดที่อธิบายชีวิตมนุษย์อยู่ ๓ แบบหลักๆ คือ-

      ๑. แนวคิดที่ว่าชีวิตของมนุษย์จะสุขหรือทุกข์ จะสูงขึ้นหรือต่ำลง  ล้วนถูกกำหนดด้วยกรรมเก่า เรียกว่า ปุพเพกตวาท (past-action determinism) 

     ๒. แนวคิดที่ว่าชีวิตของมนุษย์จะสุขหรือทุกข์ จะสูงขึ้นหรือต่ำลง  ล้วนถูกกำหนดโดยเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ เรียกว่า อิสสรนิมมานเหตุวาท (theistic determinism) คล้ายกับที่คนไทยพูดว่า "พรหมลิขิต"

    ๓. แนวคิดที่ว่าชีวิตของมนุษย์จะสุขหรือทุกข์ จะสูงขึ้นหรือต่ำลง  ล้วนเป็นความบังเอิญ  ไม่มีเหตุปัจจัย เรียกว่าอเหตุกวาท  (indeterminism/accidentalism)

     พระพุทธศาสนาไม่เห็นด้วยกับการอธิบายชีวิตของมนุษย์ ๓ แบบนี้  ไม่เชื่อว่ากรรมเก่าอย่างเดียว  เทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ หรือความบังเอิญ เป็นตัวกำหนด (determine) ชีวิตของมนุษย์  เพราะการอธิบายแบบนี้เท่ากับว่ามนุษย์ไม่มีอำนาจที่สร้างสรรค์ชีวิตของตนได้เลย  ดังนั้น คำสอนเรื่องกรรมจึงมีฐานมาจากความเชื่อที่ว่า มนุษย์มีอำนาจในตนเอง (autonomous) และมีศักยภาพ (potential) ที่จะสร้างชีวิตของตนให้เจริญขึ้นหรือเสื่อมลงก็ได้  อำนาจกำหนดชีวิตอยู่ในกำมือของเรา  ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร  จะสุขหรือทุกข์  จะเสื่อมลงหรือเจริญขึ้น ล้วนอยู่ที่กรรมหรือการกระทำของเราเอง  ทั้งการกระทำในอดีต  ปัจจุบัน และที่จะมีในอนาคต  โดยนัยนี้ คำสอนเรื่องกรรมในพระพุทธศาสนาเป็นการมอบอำนาจกำหนดชีวิตมาอยู่ในมือของมนุษย์แต่ละคน  เป็นคำสอนที่ส่งเสริมการพึ่งตนเอง (self-reliance) ส่งเสริมความเพียรพยายามของตนเอง (effort)  ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อตนเอง (self-responsibility) เมื่อมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นในชีวิต  ก็ไม่ให้โทษความซวย  โทษโชคลาง  โทษดวงดาว หรือโทษผีสางเทวดา  แต่ให้กลับมาพิจารณาทบทวนการกระทำของตนเอง  แล้วแก้ไขที่การกระทำหรือกรรมของตนเอง 

       รายการ Dhamma in English ครั้งที่ ๑๐ คิดว่าน่าจะพอสมควรแก่เวลาแล้ว ก่อนจากขอฝากพุทธภาษิตเกี่ยวกับการพึ่งตนเองไว้ว่า

อตฺตา หิ อตฺตโน  นาโถ

ตนแล เป็นที่พึ่งของตน

One is one's own master

                               

                                อย่าโทษไทท้าวท่วย      เทวา

                                อย่าโทษสถานภูผา       ย่านกว้าง

                                อย่าโทษวงศา               มิตรญาติ

                                โทษแต่กรรมเองสร้าง  ส่งให้เป็นเอง

 

 

ศิลปะเซนข้างล่างนี้ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้บรรลุธรรม 

ผู้มองเห็นโลกตามเป็นจริง  ด้วยสายตาที่เปล่าเปลือย  ปราศจากม่านแห่งอวิชชา

การใช้สีอย่างเรียบง่าย  ไม่เสริมเติมแต่งจนเกินจริง 

สะท้อนถึงการมองโลกแบบไม่คิดปรุงแต่ง   

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #dhamma in english (10)
หมายเลขบันทึก: 402566เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2010 00:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

นมัสการเจ้าค่ะ กรรมเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ "กรรมดี..ย่อมให้ผลดี กรรมชั่ว..ย่อมให้ผลชั่ว"

หากได้ลงมือกระทำไม่ว่า พูด หรือประกอบการกระทำ ผลย่อมตามมา แล้วทำไม?

คนยุคนี้ชอบพูดว่า "ทำดี ไม่ได้ดี ทำชั่วกลับได้ดี?" ช่วยพิจารณาชี้นำด้วยเจ้าค่ะ

เพราะคนมีปัญญาย่อมกลัวกรรม

"สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม"

ด้วยความเคารพค่ะ

หากผิดขอประทานอภัยด้วยเจ่าค่ะ

ชยานันต์

เดี๋ยวตอนต่อไปจะพูดเรื่องกรรมกับการให้ผลของกรรมนะคุณชยานันท์

กราบพระอาจารย์เจ้าค่ะ

หนูเชื่อเรื่อง.....เราและการกระทำของเราเป็นผู้กำหนดชีวิตของเราเอง

หนูเชื่อเรื่องกรรม และผลของกรรม ตามที่พระพุทธเจ้าสอน

แต่คนมักคิดว่า"เจ้ากรรมนายเวร" เกิดขึ้นเป็นเพราะเราทำกรรมกะเขาไว้

จึงต้องทำบุญให้แก่เจ้ากรรมนายเวร และเพราะจุดนี้เองที่ทำให้ชาวพุทธต้องพยายามหาทางทำบุญเพื่อให้เจ้านายเวร พอใจ

จะได้ตัดกรรมกันไป จึงเป็นจุดอ่อนให้ถูกจูงเพื่อตัดกรรม และพยายามที่จะสร้าง "บุญ" แบบเจ้าบุญทุ่ม

บริจาคทรัพย์มากๆ เพื่อตัดกรรม...อะไรทำนองเนี่ย?

ชีวิตเป็นของเรานะคะ สุข ทุกข์ ก็อยู่ที่เรา

และกรรมหรือการกระทำของเราเอง นั่นแหละคือเจ้ากรรมนายเวรของเราเอง...หนูคิดเช่นนั้น

เช่นหนูท่องและฝึกอ่านเขียนบาลี ไม่ดี จึงสอบตก

กรรมคือต้องเรียนซ้ำชั้น และสอบใหม่

เจ้ากรรมคือใคร? ผู้เซ็นต์ชื่อให้ชยาภรณ์สอบตกมั๊ง?..555 อิ..อิ..หรือใช่

หนูอยากรู้จัง...ในพระไตรปิฏก พระพุทธเจ้าใช้ศัพท์คำว่า"เจ้ากรรมนายเวร" มั๊ยค่ะ

ด้วยความเคารพเจ้าค่ะ

ชยาภรณ์(อ้วน)

ถึงคุณชยาภรณ์

ถูกแล้วที่คิดว่าตัวเราเองเป็นเจ้ากรรมนายเวรที่แท้จริง  เรื่อง "เจ้ากรรมนายเวร" เป็นสำนวนที่พูดกันมากในสังคมไทย  ถ้ามีโอกาสอาตมาจะพูดเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ  แต่ขออธิบายโดยคร่าวๆ ว่า เวลาที่คนไทยพูดถึงเจ้ากรรมนายเวร เรามักนึกถึงอำนาจลึกลับอะไรสักอย่างที่มองไม่เห็นตัว  เป็นเงาดำทะมืนที่ตามจองล้างจองผลาญเราอยู่เรือยไป เราจึงเกิดความกลัวแล้วมักแผ่ส่วนบุญกุศลให้เขา  เพื่อให้เขาเลิกตามราวีเราเสียที  นี่คือความเชื่อของคนไทย ในพระพุทธศาสนาคำว่า "เวร" หมายถึงความแค้นเคืองกัน ความผูกโกรธกัน ความเป็นศัตรูกัน (enimity) เป็นชื่อเรียกกรรมไม่ดีแบบหนึ่งที่มีรากฐานมาจากความโกรธ (Hatred)  เป็นคำที่ใช้ในบริบทของคนสองฝ่ายที่อาฆาตแค้นเคืองกัน  ไม่ยอมลดราวาศอกให้แก่กัน  แล้วก็ล้างแค้นกันกลับไปกลับมา  บางทีก็ล้างแค้นกันข้ามภพข้ามชาติก็มี  ดังนั้น ถ้าจะถามว่า "เจ้ากรรมนายเวร" คือใคร ก็ตอบได้ว่าก็คือทั้งสองฝ่ายที่จองล้างจองผลาญกันนั่นเอง จึงเป็นที่มาของพุทธภาษิตที่ว่า "ในโลกนี้ เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร  แต่ระดับได้ด้วยการไม่จองเวร" (Hatred never ceases through hatred, but hatred ceases by love alone)

ชยาภรณ์ สุขประเสริฐ

กลับถึงบ้าน

ก็รีบเข้ามาอ่าน

ว่าเรื่องนี้หนู คิดถูกหรือไม่

จุดต้นเรื่องเริ่มจากตัวเราเอง นะคะ

จากนั้นก็จะเป็นวังวน...ไปเรื่อยๆ เพราะการผูกเวร (นิทานในธรรมบทมีเป็นตัวอย่างแยะค่ะ)

และเป็นไปตาม การให้ผลของกรรม

ในปัจจุบัน ในภพหน้า ในภพต่อๆ ไป ....ก็ไปเรื่อยตามแรงของกรรม

กราบขอบพระคุณพระอาจารย์เจ้าค่ะ

ชยาภรณ์(อ้วน)

กราบนมัสการพระอาจารย์

ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของคนเราทั้งเรื่องดีและไม่ดี... เป็นวิบากกรรมใช่หรือไม่ คล้ายกับชีวิตถูกเหวี่ยงให้เดินไปตามเส้นทางการเดินของกรรม และทำไมเราถึงไม่สามารถกำหนดทิศทางการเดินด้วยชีวิตของเราได้ด้วยตัวของเราเองล่ะเจ้าค่ะ ? น้ำมนต์

เจริญพร คุณน้ำมนต์

ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเราทั้งดีและไม่ดี ส่วนใหญ่เป็นผลแห่งกรรมหรือการกระทำของเรา แต่ก็ไม่เสมอไปทั้งหมด เช่น เราเห็นคนน้ำตาไหล อาจมาจากกฎแห่งกรรม คือจิตของเขากำลังคิดถึงเรื่องเศร้าๆ อยู่ก็ได้ หรืออาจมาจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น ลมพัดควันเข้าตาเขา หรือพริกกระเด็นเขาตาเขาก็ได้ การที่บอกว่า "ชีวิตถูกเหวี่ยงให้เดินไปตามเส้นทางการเดินของกรรม" นั้น เป็นการยอมรับอยู่ในตัวอยู่แล้วว่าเรากำหนดชีวิตของเราได้ เพราะการบอกว่ากรรมเหวี่ยงชีวิต มีความหมายเท่ากับบอกว่าตัวเราเหวี่ยงชีวิต กล่าวคือกรรมมีต้นเนิดมาจากเรา เราเป็นเจ้าของกรรม เราเป็นคนสร้างกรรม แล้วกรรมนั้นก็สร้างเรา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท